Skip to main content

อาชญากรรมทางความคิดตอน 10

คอลัมน์/ชุมชน

ต้องขอโทษท่านผู้อ่านด้วยที่หายไป 1 อาทิตย์ ไม่ไหวช่วงนี้นี้งานเย๊อะจริงๆ ที่เคยพูดว่าพบกันเมื่อชาติต้องการ แต่ขณะนี้รู้สึกว่าทำไมชาติต้องการเราถี่จัง ขออภัยอีกครั้งที่มาบ่นเรื่องส่วนตัวให้ท่านผู้อ่านฟัง


มาเข้าเรื่องกันต่อเลยดีกว่า ตอนที่แล้วดูเหมือนชาวบ้านกำลังจะสิ้นท่าไปไม่รอดเพราะโดนอำนาจมืดของท่านผู้นำที่เป็นอภิมหาอำนาจ แต่ถึงอย่างไร ชาวบ้านก็บอกว่าต้องสู้ ถึงแม้จะเป็นการสู้แบบไร้ทางชนะก็ตาม


การดำเนินการหาข้อมูลและเผยแพร่ข้อมูลจึงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง เพราะชาวบ้านคิดว่าการหาแนวร่วมเป็นเรื่องสำคัญ ความตั้งใจจริงของชาวบ้าน ทำให้คณะอาจารย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่เคยติดต่อให้ไปออกงานเห็นใจและรู้สึกผิดต่อชาวบ้าน จึงได้จัดประชุมอีกครั้งที่จุฬาฯ เพื่อให้ชาวบ้านได้มีเวทีระบายความในใจ ที่มันคับแค้นแน่นอยู่ในอกออกมาบ้าง


แม้เวทีที่จุฬาฯ จะไม่ได้ส่งผลดีผลเสียให้กับชาวบ้านมากนักก็ตาม แต่ชาวบ้านก็ดีใจอย่างน้อย ๆ ก็ยังมีคนกลุ่มหนึ่งที่ยังเห็นว่า ข้อมูลที่ชาวบ้านต้องการนำเสนอนั้น เป็นข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงพอสมควร


และเวทีเดียวกันนี้ทางคณะอาจารย์ได้เชิญ รองประธานบอร์ด สนข . ที่เป็นโต้โผในการดำเนินงานเรื่องเส้นทางลัดสู่ภาคใต้ ให้ร่วมรับฟังข้อมูลของชาวบ้าน โดยชาวบ้านได้นำเสนอข้อมูลที่พวกเขารวบรวมมาจากประสบการณ์จริง เชื่อมโยงกับข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ตามที่พวกเขาจะหาได้ ให้ที่ประชุมฟังอย่างละเอียดทุกขั้นตอน ปรากฎว่า ท่านรองฯ ไม่สนใจข้อมูลของชาวบ้านพร้อมกล่าวหาว่าเป็นข้อมูลทางไสยศาสตร์เชื่อถือไม่ได้ เพราะข้อมูลที่น่าเชื่อถือต้องเป็นข้อมูลที่ได้จากการวิจัยของนักวิชาการเท่านั้น


ความตั้งใจของชาวบ้านคือการนำเสนอข้อมูลต่อข้าราชการที่มีหน้าที่โดยตรง เพื่อนำเสนอข้อมูลเหล่านี้ต่อให้กับผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจ แต่เขาไม่สนใจ ชาวบ้านเองก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ได้แต่บ่นว่าราชการเดี๋ยวนี้ไม่เหมือนสมัยก่อน เดี๋ยวนี้ข้าราชการเขาทำงานเพื่อสนองความต้องการของนักการเมือง โดยที่ไม่ใช้สมองเลย ทั้งที่เงินเดือนของพวกเขาก็มาจากภาษีของพวกเราทั้งนั้น


เมื่อพึ่งใครไม่ได้ชาวบ้านก็กลับมาตั้งหลักกันใหม่ ใจนะยังไงก็ไม่ยอมแต่ก็ไม่มีอำนาจอะไรจะไปต่อรอง แม้จะหาแนวร่วมอย่างไร รัฐก็ไม่ฟัง ยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เช่น จ้างคณะอาจารย์จากจุฬาฯ ไปออกแบบสะพานใหม่ เพื่อจะได้ดำเนินการก่อสร้างตามเวลาที่กำหนดไว้แล้ว ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น สผ . จะผ่านไหม ชาวบ้านบริเวณนั้นจะคิดอย่างไร ก็ไม่สนใจตั้งหน้าตั้งตาจะสร้างอย่างเดียว


แม้จะมีคนติติงว่าเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้ม เพราะเส้นทางลัดเส้นนี้ย่นระยะเวลาการเดินทางเพียง 20-30 นาที เท่านั้น แต่เงินลงทุนมากมายถึง 60,000-70,000 ล้านบาท ก็ไม่ยอมฟัง เราก็ไม่รู้ว่า การดันทุรังที่จะสร้างถนนเส้นนี้ให้ได้เขาทำเพื่ออะไรเพื่ออะไร มีอะไรแอบแผงอยู่เบื้องหลังหรือไม่ ? และทำไมไม่ทำถนนบนฝั่งหากต้องการไปเร็ว ก็ควรยกระดับจากถนนเดิมให้เป็นทางด่วน การลงทุนจะถูกกว่าการไปสร้างถนนในทะเลมากกว่าเท่าตัว ทำไมรัฐจึงไม่ทำ หรือผู้บริหารประเทศไม่ได้มีญาติพี่น้องทำประมง จึงไม่รู้ถึงความเจ็บปวดที่ชาวประมงจะได้รับจากการทำเส้นทางนี้


เพราะหากมีสะพาน พวกเขาต้องเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากแค่ไหน ผลกระทบที่จะเกิดต่อสิ่งแวดล้อมทั้งในทะเลทั้งทางขึ้นทางลง คิดแบบชาวบ้านคือมีเงินจะสร้างสะพานสักกี่เส้นก็ได้ แต่หากสิ่งแวดล้อมเสียหาย มีเงินเท่าไรก็ไม่สามารถซื้อคืนกลับมาได้ ดังนั้นแนวคิดที่ต้องการสร้างสะพานนี้โดยไม่ฟังเสียงคล่ำครวญของชาวบ้าน แม้จะเกิดผลกระทบหลายด้านอย่างไร ก็ไม่ฟังยังคงเดินหน้าที่จะทำให้ได้


ชาวบ้านขอประณามว่า มันคืออาชญากรรมทางความคิด ที่มุ่งแต่ทำลายล้างทั้งชีวิตและทรัพย์สินของชาวบ้าน ตลอดจนการทำลายทรัพยากรที่ล้ำค่าของประเทศอย่างใหญ่หลวงอย่างไร้จิตสำนึกของการเป็นผู้นำ ชาวบ้านจะจดจำว่า นี่แหละฆาตกรตัวจริง


เรื่องนี้ยังไม่มีข้อสรุปการต่อสู้ของชาวบ้านยังดำเนินต่อไป แต่ผู้เขียนคงต้องจบเรื่องไว้เพียงเท่านี้ก่อน หากมีอะไรคืบหน้าจะเขียนมาเล่าให้ฟังใหม่


ตอนหน้าพบกันเรื่อง ไม่พอ อย่าลืมติดตามนะว่า อะไรคือไม่พอ