Skip to main content

เราจะคุยกันด้วย "ภาษาแม่" ที่หลากหลายเชื้อชาติ ศาสนา ความเชื่อ

คอลัมน์/ชุมชน

 


อย่างที่ได้บอกไว้ว่า  ที่เรานำตัวเองเข้ามาร่วมวง "สันติทรรศน์" เพราะเราคิดว่าเราจะได้มีโอกาสศึกษาและพัฒนาความเป็นศาสนิกของตัวเองและลูกด้วย  และจากการแสวงหาของเรา คราวนี้เราได้งานเขียนมาชิ้นหนึ่งที่เราอ่านแล้วรู้สึกว่ามีความหมายกับแนวทางการดำเนินชีวิตของเราในวันนี้มากๆ  ด้วยความอนุเคราะห์ของ "คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อความยุติธรรมและสันติ" เราได้บทความเรื่อง "การใช้ชีวิตในประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิม:อินโดนีเซีย"  เขียนโดยบาทหลวงอิกญาซิอุส  อิสมาร์โตโน  พระสงฆ์คณะเยสุอิต  เราขอแบ่งปันสิ่งที่เราได้จากการอ่านบทความนี้สู่ผู้อ่านประชาไทก็แล้วกันนะ


 


ถึงแม้ว่าในประเทศไทย ประชาชนเกือบทั้งประเทศได้ชื่อว่าเป็นผู้นับถือศาสนาพุทธ  ชาวมุสลิมเป็นคนส่วนน้อย  ชาวคริสต์ยิ่งน้อยนิดลงไปใหญ่ แต่เมื่อเราลงไปที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย คนที่มิได้นับถือศาสนาอิสลามก็จะกลายเป็นคนส่วนน้อยไปทันที  แต่นั่นไม่ใช่ปัญหาน่าห่วงใยอะไรเลย  เพียงแต่เห็นว่าด้วยมุมมองเช่นนี้น่าจะพาเราไปสู่การสร้างสันติสุขในหมู่พี่น้องร่วมสังคมเดียวกันได้


 


ครั้งก่อนเคยเขียนไว้ว่า  ความรักและความเข้าใจสร้างสันติภาพ     ความรักต้องการความเข้าใจ  ความเข้าใจต้องการการเปิดใจกว้างที่จะเรียนรู้    มาครั้งนี้ขอต่อว่า  การจะเรียนรู้กันได้ก็ต้องสื่อสารกัน  บาทหลวงอิกญาซิอุส  อิสมาร์โตโน บอกไว้ว่า   การสื่อสารระหว่างชนต่างศาสนา…สะท้อนให้เห็นบรรยากาศที่อาจเป็นได้ใน 4 ลักษณะคือ การเป็นศัตรูกัน   การอดกลั้น  การเสวนา  และการเป็นพี่น้องกันอย่างแท้จริง


 


จากการเป็นศัตรู สู่การเป็นพี่น้อง


 


ทุกศาสนาสอนว่า ต้องหลีกเลี่ยงการเป็นศัตรูกับผู้นับถือศาสนาอื่น  กระนั้นก็ดี ในปัจจุบันยังคงมีความขัดแย้งที่ใช้ความรุนแรงกันอยู่บ่อยๆ   แต่ไม่มีความขัดแย้งที่ใช้ความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากการขับเคลื่อนทางศาสนาเพียงอย่างเดียว จากประสบการณ์ในพื้นที่การทำงาน  เรารู้ว่าความขัดแย้งที่ใช้ความรุนแรงเกิดจากสาเหตุอื่นที่มิได้เกี่ยวกับเรื่องศาสนาเลย นั่นคือจากปัจจัยทางเศรษฐกิจและการเมือง ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ  


 


สาเหตุหลักของความขัดแย้งมิได้เกิดจากศาสนา แต่เนื่องจากเป็นที่ยอมรับกันว่า  ศาสนามีบทบาทสำคัญในชีวิต  ดังนั้น เมื่อมีความขัดแย้งเกิดขึ้น ผู้นำทางศาสนาต่างถูกเชิญให้มาแสดงความเสียใจในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น  และเรียกร้องให้ศาสนิกของตนแสดงความอดทนและหลีกเลี่ยงที่จะไม่ตอบโต้อย่างเหี้ยมโหด ตลอดจนเรียกร้องให้รัฐบาลดูแลความปลอดภัยแก่ประชาชน   พวกเขาอาจ (หรือเราเองก็น่าจะ) ตระหนักว่าการใช้ความรุนแรง มิได้ส่งผลร้ายแต่เฉพาะคนบางกลุ่มชนเท่านั้น  แต่ทุกๆ คนต่างก็ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงด้วยกันทั้งสิ้น


 


ลักษณะที่สอง คือบรรยากาศของความอดกลั้น  โดยทฤษฎี ความอดกลั้นคือพื้นฐานที่สังคมเจริญแล้วพึงมี   แต่ความคิดเรื่องความอดกลั้นมักจะขึ้นอยู่กับความตั้งใจจริงของคนหนึ่งๆ  และความรู้ที่คนๆ นั้นมีเกี่ยวกับศาสนาอื่นๆ   ต่ลำพังความอดกลั้นเพียงอย่างเดียวยังไม่เพียงพอ เพราะมันอาจทำให้การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกันไม่เกิดผล  เนื่องจากความอดกลั้นอาจเป็นเพียงแค่การยินยอมให้ผู้อื่นเดินผ่านไปโดยไม่มีการสื่อสารกันเลย  แม้ว่าจะไม่เพียงพอ แต่เราจะพยายามฝ่าฟันข้อจำกัดนี้ด้วยการสร้างการสื่อสารที่เชื้อเชิญให้ผู้คนขยายเส้นขอบฟ้าระหว่างกันให้กว้างขวางยิ่งๆ ขึ้น


 


ลักษณะที่สามได้แก่การเสวนา   การเสวนาจำเป็นต้องมีการสื่อสารและความสัมพันธ์ต่อกัน  แนวคิดเรื่องการเสวนาเรียกร้องให้ศาสนิกของแต่ละศาสนา เลิกคิดและเลิกรู้สึกว่า ศาสนาที่ตนนับถืออยู่ดีกว่าศาสนาอื่น แต่ให้ใช้แนวคิดที่ว่าความหลากหลายมีบทบาทสำคัญ  ศาสนิกที่นับถือศาสนาต่างกันต้องเข้าใจว่า  ศาสนาต่างๆ ที่มีบันทึกอยู่ในประวัติศาสตร์นั้น ล้วนมีข้อดีและข้อจำกัดแตกต่างกัน และได้กระทำในสิ่งที่ดีและไม่ดีเหมือนๆ กัน   พวกเขาควรเข้าใจว่า ศาสนิกของศาสนาหนึ่ง สามารถรับฟังเรื่องดีๆ ของศาสนาอื่นได้  เพราะแม้ว่าแต่ละศาสนาจะแตกต่างกัน  แต่ทุกศาสนาต่างก็มีสิ่งที่ละม้ายคล้ายกันอยู่ไม่น้อย


 


ลักษณะที่สี่ คือบรรยากาศการเป็นพี่น้องกันอย่างแท้จริง  บรรยากาศเช่นนี้จะมีสีสันมากยิ่งขึ้นด้วยมิตรภาพและความร่วมมือกัน  หากว่าในบรรยากาศของการเสวนา ศาสนิกต่างศาสนาต่างก็เอาใจใส่ในการแลกเปลี่ยนความคิดและแรงบันดาลใจซึ่งกัน ในบรรยากาศที่สี่นี้เอง ความสมานฉันท์จะแสดงออกโดยผ่านการทำงานร่วมกัน   นี่เป็นความเชื่อที่ช่วยสร้างสิ่งดีๆ มีประโยชน์ให้แก่ผู้อื่น


 


เราต้องตระหนักว่า รัฐบาลสามารถริเริ่มการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างศาสนิกของศาสนาต่างๆ กัน แต่ความสัมพันธ์จะเป็นจริงและพัฒนาขึ้นได้ย่อมขึ้นอยู่ที่ศาสนิกนั้นเอง ทัศนคติที่เปิดกว้างและจิตวิญญาณแห่งการร่วมมือกันย่อมมิใช่กลวิธีเพื่อสร้างความปลอดภัย  แต่ในฐานะที่เป็นพลเมืองของประเทศ ทัศนคติที่เปิดกว้างและจิตวิญญาณแห่งการร่วมมือกัน เป็นสิ่งจำเป็นในการก่อร่างและพัฒนาความเป็นหนึ่งเดียวของคนในชาติ และในฐานะที่เป็นคริสตชน สิ่งนี้ก็เป็นการปฏิบัติตามความเชื่อคาทอลิก (ความห่วงใยและความหวัง, สารสภาพระสังฆราชอินโดนีเซียในเทศกาลมหาพรต, หน้า 11-12)


 


ทุกศาสนารวมทั้งศาสนาอิสลาม ต่างตระหนักมากยิ่งขึ้นกว่าเดิมว่า ในความเป็นจริงเราอาศัยอยู่ในโลกที่มีความแตกต่างหลากหลาย  นี่คือความท้าทายใหม่สำหรับทุกคน คือการที่แต่ละคนจะเข้าใจว่าความแตกต่างมีความหมายว่าอย่างไร ในอดีต ความแตกต่างถูกเข้าใจเพียงว่า จะทำอย่างไรจึงสามารถกำจัดผู้ที่แตกต่างออกไป แต่ในปัจจุบัน ความแตกต่างสะท้อนออกมาในแนวความคิดเรื่องความหลากหลาย  การมีอยู่ของความต่างถูกมองจากสายตาแห่งการร่วมไม้ร่วมมือกัน จากการสรรหาวิธีการเสริมสร้างกันและกันให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น อาศัยความเคารพในกันและกัน เพื่อบรรลุพันธกิจร่วมกัน ก่อนที่จะการร่วมมือกันจะเกิดขึ้นได้ จะต้องมีการยอมรับเรื่องความหลากหลายที่มีอยู่ร่วมกันเสียก่อน   การร่วมมือกันจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับประชาชนที่มีภูมิหลังแตกต่างกัน  การร่วมมือกันจะช่วยให้พวกเราสามารถปั้นแต่งโลกให้เป็นสถานที่ซึ่งมนุษย์จะดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี


 


นี่แหละสิ่งที่เราได้เรียนรู้ได้ข้อคิดจากบทความของบาทหลวงอิกญาซิอุส  อิสมาร์โตโน 


 


ทีนี้ก็มาถึงขั้นการปฏิบัติ  ระหว่างวันที่ 14 – 16 พฤศจิกายนนี้ จะมีงานมหกรรมสันติภาพที่ปัตตานีนะ  เราจะไปร่วมงานด้วย  ในฐานะที่เราเป็นผู้หญิงและเป็นแม่  เราก็จะห่วงใยผู้หญิงและบรรดาแม่ๆ เป็นพิเศษ  เราจึงจะไปร่วมแบ่งปัน แลกเปลี่ยน  สื่อสาร กับบรรดาผู้หญิงและแม่ๆ ที่มาจากหลายๆ ที่ทั่วประเทศไทย  อาจมีคำกล่าวว่า "หากยังมีความรู้สึกระแวงสงสัย  ก็ขอให้เราเอาชนะความรู้สึกด้วยการหันหน้าเข้าหากัน และพูดคุยกัน"   


 


แต่ที่เราจะไปร่วมงานครั้งนี้  เราไม่ได้ไปด้วยความรู้สึกระแวงสงสัยนะ แต่เราไปด้วยความห่วงใยและความหวังที่จะสร้างความเป็นพี่น้องกันอย่างแท้จริงต่างหาก


 


แล้วจะกลับมาเล่าให้ฟังนะ