Skip to main content

สิทธิบัตรยา ฆ่าคนจน

คอลัมน์/ชุมชน




 


1


 


ในขณะที่โลกกำลังวิตกเรื่องไข้หวัดนก และคาดการณ์กันว่าจะมีผู้คนอีกจำนวนมากที่ล้มตายด้วยโรคดังกล่าว  ขณะเดียวกัน ก็มีคนอีกจำนวนหนึ่งของโลกที่กำลังค่อยๆ ตายลงไปด้วยโรคเอดส์ และโรคเบาหวาน รวมทั้งโรคเรื้อรังอื่นๆ  ซึ่งอาจจะถูกละเลยไปเพราะไม่อยู่ใน "trend" 


 


อันที่จริงแล้วทุกๆ โรคที่พบในปัจจุบันนั้น แม้บางโรคอาจไม่สามารถรักษาให้หายขาด แต่หากคนสามารถเข้าถึงยาและเข้าถึงการรักษาแล้ว ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะมีชีวิตยืนยาวได้ โดยไม่ต้องเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ทว่า เรื่องกลับไม่ง่ายขนาดนั้นสำหรับคนจนๆ และประเทศยากจน


 


ตัวอย่างเรื่องโรคเอดส์ โครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติ  หรือ UNAIDS และองค์การอนามัยโลก (WHO) ประมาณการว่าในปี 2004  มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีทั้งหมดประมาณ 39.4 ล้านคน เด็กติดเชื้อ 2.2 ล้าน โดย 95% ของผู้ติดเชื้ออยู่ในประเทศกำลังพัฒนา โดยในปี 2004 ปีเดียว มีผู้ติดเชื้อ 4.9 ล้านคน ตัวเลขการเสียชีวิตอันเกี่ยวเนื่องจากเอดส์มีถึง 3.1 ล้านคน โดยตัวเลขในประเทศร่ำรวยลดลง ขณะที่ในประเทศยากจนกลับเพิ่มขึ้นและคาดว่าจะมีเด็กกำพร้าจากเอดส์ถึง 18 ล้านคน


 


อะไรคือเหตุผลที่ทำให้อัตราการเสียชีวิตของประเทศร่ำรวยลดลง เราอาจคิดถึงเรื่องวิทยาการที่ก้าวหน้า หรือยารักษาโรคที่สามารถนำมาใช้ในการรักษา  ก็ "ใช่"  นะ   แต่ว่าทำไมสิ่งเหล่านี้ถึงไม่สามารถนำมาช่วยคนจนได้ด้วยล่ะ เพราะทุกวันนี้หากผู้ติดเชื้อเอชไอวีได้รับการดูแลด้วยยาต้านไวรัสเมื่อถึงเวลาต้องใช้ยา ก็จะสามารถยืดชีวิตให้ยืนยาวขึ้นได้อย่างที่เกิดขึ้นกับคนในประเทศร่ำรวย  คำตอบก็คือ  เพราะ "ยามีราคาแพง"


 


ที่ยามีราคาแพงนั้น เกิดจากต้นทุนผลิตที่สูงกระนั้นหรือ ความจริงคือ "เปล่า" หรอก แต่เป็นเพราะการติดสิทธิบัตร ทำให้เกิดการผูกขาดทางการตลาด  ผู้ทรงสิทธิ์หรือเจ้าของสิทธิบัตรที่เป็นบริษัทผู้ผลิตยามักใช้ข้ออ้างในการที่ตั้งราคาไว้สูงว่า เพราะได้ทุ่มงบลงทุนไปกับการวิจัยและพัฒนาตัวยาเหล่านี้เป็นจำนวนมหาศาล  อันที่จริง นี่คือเหตุผลที่เรียกได้ว่า "ลวงโลก" เพื่อหวังเอากำไรของผู้บริษัทยาเท่านั้นเอง  เพราะนักวิชาการทั่วโลกรวมทั้งนักวิชาการจากสหรัฐฯ เองพบว่า อุตสาหกรรมยาใช้งบประมาณในการวิจัยน้อยมาก  งบส่วนใหญ่ที่ใช้คือ งบด้านการตลาด การโฆษณา และการบริหารจัดการ


 


ทั้งนี้ เคยมีการศึกษาพบว่า บริษัทสำคัญๆ ของสหรัฐฯ ใช้งบวิจัยและพัฒนาอยู่ที่ 5–19 % หรือเฉลี่ยแล้วอยู่ที่ 11% ของรายได้ทั้งหมดของบริษัทเท่านั้น นอกจากนั้นเป็นการทำวิจัยแบบต่อยอดทั้งสิ้น ซึ่งใช้งบประมาณน้อยมาก กล่าวคือเป็นการวิจัยต่อสถาบันของรัฐโดยใช้งบประมาณของรัฐ


 


เมื่อยามีราคาแพง แน่นอนว่า โอกาสของการเข้าถึงยาก็อยู่ที่คนรวยๆ เท่านั้น ดังนั้น อัตราการเสียชีวิตของคนในประเทศร่ำรวยจึงลดลง ในขณะที่ตัวเลขของคนที่อยู่ในประเทศยากจนยังเพิ่มขึ้น   ลองดูตัวเลขของผู้ที่สามารถเข้าถึงยาต้านไวรัสเป็นตัวอย่างก็ได้


 


ปัจจุบัน ผู้ติดเชื้อที่ต้องการใช้ยาต้านไวรัสในโลกนี้มีประมาณ 6.5 ล้านคน แต่มีผู้ที่เข้าถึงยาต้านไวรัสเพียง 15% เท่านั้น  โดยร้อยละ 84 ของผู้ติดเชื้อในสหรัฐฯ สามารถเข้าถึงยา  ในขณะที่อัฟริกามีผู้ที่ได้รับยาเพียงร้อยละ 2  ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีร้อยละ 7  สำหรับประเทศไทยนั้นมีผู้ติดเชื้อที่ต้องการใช้ยา 2 แสนราย มีผู้ได้รับยา 60,000 ราย  ประมาณการว่า คนไทยประมาณ 50,000 รายจะเสียชีวิตด้วยเอดส์ และ 90% จะเป็นผู้ที่มีอายุอยู่ระหว่าง 20-44 ปี ซึ่งเป็นวัยทำงานที่สำคัญที่สุด


 


2


 


ที่หยิบยกเอาตัวอย่างตัวเลขของผู้ติดเชื้อมาให้เห็น เพราะอาจจะดูเป็นรูปธรรมที่สุดที่จะทำให้เห็นว่า การสูญเสียชีวิตของผู้คนอันเนื่องจากการเข้าไม่ถึงการรักษานั้นอยู่ในระดับใด ตัวเลขการเข้าถึงยาต้านไวรัสของผู้ติดเชื้อในสหรัฐฯ อยู่ที่ 84% ขณะที่ค่าเฉลี่ยของโลกอยู่ที่ร้อยละ 15 เท่านั้นย่อมมีนัยสำคัญ


 


นอกจากนั้น ไม่ใช่เพียงเรื่องเอดส์เท่านั้นที่คร่าชีวิตคนไปเนื่องจากเข้าไม่ถึงยา ยังมีโรคต่างอีกมากมายที่มียารักษาได้ แต่ ยานั้นมีราคาที่แพงเกินไป  ผู้ป่วยในประเทศยากจนจึงต้องสูญเสียชีวิตไปก่อนวัยอันควร


 


ลองมาดูราคายากันเล่นๆ ว่า ยาที่ติดสิทธิบัตรอยู่กับที่ไม่ติดสิทธิบัตรนั้นมีราคาแตกต่างกันอย่างไร ทุกวันนี้ที่เราพูดได้ว่า รัฐบาลไทยสามารถจัดยาให้กับผู้ติดเชื้อที่ต้องการยาต้านไวรัสได้ถึง 60,000 คน ก็เป็นเพราะราคายาที่ลดลง อันเนื่องมาจากการผลิตยาขององค์การเภสัชกรรมที่สามารถคิดค้นยาตัวใหม่ที่หลุดออกมาจากสิทธิบัตร ทำให้จากเดิมที่ผู้ติดเชื้อต้องเสียค่าใช้จ่าย 20,000 บาทต่อคนต่อเดือนสำหรับยาต้นตำรับของบริษัทยาจากต่างประเทศ  ลดค่าใช้จ่ายลงเหลือแค่เดือนละ 1,200 บาทต่อคนต่อเดือนเมื่อใช้ยาชื่อสามัญที่ผลิตขึ้นในประเทศ  อย่างไรก็ตาม หากเชื้อดื้อยาตัวนี้ไปแล้ว ยาที่เป็นสูตรสำรอง (Second line) ก็ล้วนเป็นยาที่ติดสิทธิบัตรทั้งสิ้น ซึ่งจะต้องเสียค่าใช้จ่ายถึง 20,000-30,000 บาทต่อคนต่อเดือน


 


 


ส่วนยาชนิดอื่นๆ  เช่น ฟลูโคนาโซล 200 มิลลิกรัมใช้รักษาเชื้อรา ยาต้นตำรับเม็ด 250 บาท ยาชื่อสามัญเม็ดละ 9 บาท หรือยาไกลเบนคลาไมน์ 5 มิลลิกรัม รักษาเบาหวาน ยาต้นตำรับเม็ดละ 2.90 บาท ยาชื่อสามัญเม็ดละ 20 สตางค์ หรือยารักษาหอบหืด ยาต้นตำรับเม็ดละ 2.20 บาท  ยาชื่อสามัญเม็ดละ  80 สตางค์เท่านั้น


 


แน่นอนว่า การมีสิทธิบัตรถือเป็นการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาให้แก่ผู้ที่สามารถคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ทว่า เมื่อมาโยงกับสิ่งที่เกี่ยวข้องต่อชีวิตมนุษย์แล้ว ความสมดุลในเรื่องนี้ควรจะอยู่ที่ตรงไหน การผูกขาด หรือการทรงสิทธิบัตรยาอยู่ถึง 20 ปีนั้นเหมาะสมแล้วหรือไม่  เป็นธรรมกับประเทศยากจนหรือไม่ หรือจริยธรรมอยู่ตรงจุดไหน ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากเอดส์ถึง 3.1 ล้านคนในปี 2547 นั้น มากพอที่จะมาทบทวนเรื่องสิทธิบัตรด้านสาธารณสุขหรือไม่ ทางบริษัทยา ซึ่งถือเห็นแก่ธุรกิจเป็นหลักอาจจะไม่เห็นด้วย แต่จะสามารถทำอย่างไรกับเรื่องนี้ได้บ้าง


 


จริงๆ แล้วหากจะเล่นตามกติกาสากลก็ยังพอไหว เพียงแต่จะกล้าพอที่จะต่อกรกับการข่มขู่โดยมหาอำนาจที่อยากจะเล่นนอกกรอบนี้หรือเปล่า เพราะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาภายใต้บัญญัติขององค์การการค้าโลก-WTO ปีที่ 2537 ว่าด้วยข้อตกลงว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้า หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า ทริปส์ (Trade-Related Aspects of Intellectual Property Rights, TRIPS) นั้น ก็ได้พยายามที่จะสร้างสมดุลระหว่างผลประโยชน์ระหว่างผู้คิดค้นกับผลประโยชน์ของมวลมนุษยชาติ กำหนดให้มาตรฐานขั้นต่ำในทรัพย์สินทางปัญญาคือให้สิทธิบัตรผลิตภัณฑ์ยาอายุ 20 ปี มีการกำหนดระยะเวลาบังคับใช้ตามระดับการพัฒนาของประเทศ และตั้งเงื่อนไขที่เป็นข้อยืดหยุ่นในการใช้  ซึ่งขณะนั้นไม่ค่อยชัดเจนนัก


 


ในปี 2544 มีข้อตกลงทริปส์และการสาธารณสุขขึ้น รู้จักกันในนามของปฏิญญาโดฮา (Doha Declaration) เพื่อร่วมกันสร้างระบบการเข้าถึงยาที่ทั่วถึงและเท่าเทียมให้สมาชิกให้มาตรการบังคับใช้สิทธิ (Compulsory Licensing-CL)  และการนำเข้าซ้อน (Parallel Import) รวมทั้งให้ประเทศที่ไม่มีศักยภาพในการผลิตยา สามารถใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิ เพื่อให้ประเทศอื่นผลิตยาชื่อสามัญส่งมายังประเทศนั้นได้


 


ที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าบริษัทยาจะเห็นว่ามีคนที่เสียชีวิตไปมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากเอดส์  ด้วยเหตุว่ายาแพง และประชาชนในประเทศยากจนไม่อาจเข้าถึงได้ แต่ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะมีการยืดหยุ่นใดๆ ให้กับประเทศยากจน


 


3


 


บราซิล หนึ่งในตัวอย่างของการต่อสู้ ในตอนต้นๆ ที่รัฐบาลออกโรงเองที่จะไปขอใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิ แต่ บริษัทยากลับขอลดราคาให้แทน ทำให้ยาบางตัวในบราซิลถูกลง  แต่แม้จะลดลงแล้วก็ยังแพงอยู่ดีเมื่อเทียบกับยาชื่อสามัญ คนจนก็ยังไม่สามารถซื้อได้ หรือถ้ารัฐจัดสรรให้ก็ต้องใช้งบประมาณของประเทศมหาศาลมาก


 


ส่วนประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ เช่น อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ซึ่งเคยเห็นการต่อสู้เรียกร้องจากภาคประชาสังคมของไทย และเคยรับยาสูตรพื้นฐานที่ผลิตจากไทย ก็เห็นว่าควรจะใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิเพื่อให้ยาถูกลง ซึ่งทั้งสองประเทศได้ทำสำเร็จไปแล้วกับยาบางตัว ด้วยความมุ่งมั่นของรัฐบาลที่จะทำให้ประชาชนเข้าถึงยา


 


ในขณะที่ประเทศไทย ยังไม่เคยปรากฏว่า มีรัฐบาลใด หรือรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขคนใดกล้าที่ออกมาแสดงความกล้าหาญที่จะประกาศว่าประเทศไทยเราจะใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิเลย ทั้งๆ ที่ในเชิงกติกาแล้วทำได้ แม้ว่าในภาคประชาชนจะเรียกร้องและชี้ให้เห็นถึงความจำเป็น และความพร้อมขององค์การเภสัชกรรมที่จะสามารถผลิตได้ รวมทั้งนายกรัฐมนตรีเองก็ได้ประกาศในแถลงการณ์เพื่อพิธีเปิดการประชุมเอดส์นานาชาติ (11 ก.ค.2547) ว่า ประเทศไทยจะจัดหายาต้านไวรัสเอดส์ให้กับผู้ป่วยทุกคน พร้อมทั้งสั่งให้องค์การเภสัชฯ ผลิตยาต้านไวรัสราคาถูก และเรียกร้องให้ประเทศอื่นทำเช่นเดียวกันด้วย


 


ทว่า ล่าสุด รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวหลังจากการกล่าวเปิดการปาฐกถาพิเศษในการสัมมนาวิชาการ เวทีเอดส์โลก สู่การเข้าถึงยา : บังคับใช้สิทธิ  เมื่อปลายเดือนตุลาคมว่า "ยังไม่ถึงเวลาที่เราจะทำ เพราะต้องดูให้ถ้วนถี่ หากเราทำ CL กันบ่อยๆ ต่อไปใครจะมาค้าขายกับเรา"


 


ความหวั่นเกรงอย่างที่รัฐมนตรีช่วยกล่าวนั้น ก็เป็นคำขู่ที่บริษัทผู้ผลิตยาข้ามชาติและประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ใช้อยู่เสมอโดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐฯ ใช้ขู่ประเทศยากจนเสมอ ๆ ในยามที่มีใครบอกว่าจะใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิ เช่น จะไม่ยอมให้สิทธิพิเศษทางการค้าบ้าง จะไม่ยอมให้สินค้าบางตัวอันเป็นสินค้าออกหลักของประเทศเข้าไปขายในสหรัฐฯ บ้าง  หรือจะไม่ไปลงทุนในประเทศนั้นๆ บ้าง ซึ่งหลายประเทศก็ต้องก้มหน้ากลับไป


 


แต่มีตัวแทนจากมาเลเซียบอกว่า รัฐมนตรีสาธารณสุขมาเลเซียเองก็ถูกกดดันจากสหรัฐฯ ด้วยเช่นกัน เช่น จะไม่มาลงทุนในมาเลเซีย หรือจะไม่ตั้งโรงงานผลิตยาในมาเลเซีย หากมาเลเซียทำอย่างนั้น แต่มาเลเซียก็ไม่ถอยประกาศให้นำเข้ายาชื่อสามัญภายใต้มาตรการบังคับใช้สิทธิ


 


ในบราซิล หลังจากที่พยายามต่อรองที่จะให้บริษัทยาอนุมัติให้ใช้สิทธิโดยสมัครใจ แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ บราซิลคิดว่าอาจจะทำมาตรการที่รุนแรงขึ้นกว่านั้น 


 


บราซิล มีผู้ติดเชื้อ 600,000 คน มีผู้ต้องการใช้ยาถึง 178,000 คน ซึ่งทางการจะต้องรับผิดชอบค่ายาของผู้ป่วยทั้งหมดตามคำสั่งศาลแม้ว่ายาบางตัวจะแพง  และจากบทเรียนของบราซิลนั้น นับตั้งแต่มีโครงการเอดส์ เมื่อปี 2539 เป็นต้นมา พบว่าการตายลดลงถึง 54%  นอกจากจะสามารถรักษาชีวิตคนซึ่งเป็นกำลังสำคัญของชาติแล้วยังสามารถประหยัดงบประมาณถึง 7,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งปีนี้ปีเดียว บราซิลต้องได้ใช้งบประมาณซื้อยาต้านไวรัสให้ผู้ติดเชื้อไปแล้วถึง 17,247 ล้านบาท  บราซิลจึงมีความตั้งใจอย่างมากที่จะต้องลดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้โดยที่ประชาชนจะยังคงได้รับอย่างทั่วถึง  ซึ่งทางเดียวที่เป็นไปได้ก็คือ "ยาต้องถูกลง"


 


ดังนั้น บราซิลคิดว่าหากการเจรจาไม่สำเร็จ เมื่อไม่มีการยอมให้สิทธิในการผลิตแล้ว บราซิลจะไม่ยอมให้สิทธิบัตรมาเป็นตัวการขัดขวางการเข้าถึงยาของประชาชนอีกต่อไป บราซิลจะผลิตยาเองอย่างแน่นอน ถึงแม้ว่าบริษัทยาจะมาลดราคาให้ก็ตาม เพราะคิดว่านั่นก็ยังคงต้อง "พึ่งพิง" บริษัทข้ามชาติอยู่ ที่สำคัญการข่มขู่ก็เกิดขึ้นเช่นกัน เช่น น้ำส้มที่ผลิตในบราซิลแม้แต่ขวดเดียวก็ไม่ยอมให้เข้าไปขายในสหรัฐฯ แต่บราซิล ก็บอกว่า ไม่กลัว เพราะไม่ยอมให้สิทธิบัตรมาทำให้โลกต้องเจ็บป่วยอีกต่อไป


 


การเจ็บป่วยเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่การรักษาก็ใช่ว่าจะไม่มี หากเป็นคนรวยก็อาจสามารถเข้าถึงการรักษาที่ดีได้ เพราะค่ารักษาและค่ายาที่ทำให้คนจนนั้นเข้าเอื้อมไปไม่ถึง  และที่สำคัญ ยาก็ไม่ได้แพงโดยตัวของมันเอง  เอาเข้าจริงๆแล้ว เรื่องที่ว่าผู้คนต้องเสียชีวิตไปเพราะโรคร้ายกลับไม่ใช่สาเหตุหลัก หากมองกันให้ลึกซึ้ง เพราะอันที่จริงแล้ว สิทธิบัตรต่างหากที่กำลังเอาชีวิตคนจนๆ อยู่