Skip to main content

เรื่องของขี้ยา ที่คนทั่วไปควรรู้ (หรือเปล่า...!?!?)

คอลัมน์/ชุมชน


 


พุทธศักราช 2548 มีการประมาณตัวเลขของประชากรในประเทศไทยที่เป็นผู้ติดเชื้อ และผู้ป่วยเอดส์สะสมว่ามีประมาณ 1,092,327 ราย นอกจากนี้ยังคาดว่าในปี 2549 จะมีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นอีก 17,000 ราย (ข้อมูล : การประชุมคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์)


 



 


โดยพฤติกรรมเสี่ยงของการติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ส่วนใหญ่จะมาจากการมีเพศสัมพันธ์  รองลงมาคือ การใช้เข็มฉีดยาร่วมกันในกลุ่มผู้ใช้ยาเสพติดชนิดฉีดเข้าเส้น ซึ่งตามรายงานขององค์การอนามัยโลกพบว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ในกลุ่มผู้ใช้ยาฯ ของประเทศไทยไม่เคยลดลงเลยเป็นเวลานานกว่า 10 ปี


 


หากจะกล่าวถึงโอกาสของการเสี่ยงต่อการรับเชื้อเอชไอวี/เอดส์ทั้งสองกลุ่มเสี่ยง จะพบว่า โอกาสที่กลุ่มผู้ใช้ยาฯ จะติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ จากการใช้เข็มฉีดยาร่วมกันมีสูงถึง 100 %  ซึ่งก็หมายถึงว่า การใช้เข็มฉีดยาร่วมกันกับผู้อื่นเพียงครั้งเดียวก็อาจทำให้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ได้  กลับกันโอกาสเสี่ยงในการติดเชื้อเอชไอวีจากการมีเพศสัมพันธ์มีเพียงแค่ 1 %    


 


คำถาม  ทำอย่างไรจึงจะสามารถลดการแพร่ระบาดของเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ในกลุ่มผู้ใช้ยาเสพติดได้


คำตอบ  ไม่ใช้เข็ม, กระบอกฉีดยา (อุปกรณ์ในการเสพยา) ร่วมกันกับผู้อื่น เพราะว่า การใช้เข็มฉีดยาร่วมกันเพียงแค่ครั้งเดียวก็อาจทำให้ติดเชื้อเอชไอวีได้


 


จากคำถามถึงคำตอบ อ่านแล้วรู้สึกเหมือนจะทำได้ง่ายๆ  แท้ที่จริงแล้วในทางปฏิบัติกลับเป็นเรื่องที่ทำยากเสียเหลือเกิน โดยกฎหมายของประเทศไทย ยังไม่เอื้อให้มีการแจกเข็ม หรืออุปกรณ์ที่ใช้ในการเสพยาแก่ผู้ที่ต้องการ เพราะถือว่าเป็นการส่งเสริมให้มีการใช้ยาเสพติดเพิ่มมากขึ้น  ต่างจากบางประเทศ อาทิ อังกฤษ, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, เดนมาร์ค, เนเธอร์แลนด์ ที่นำเอาแนวคิดของการแจกเข็ม และกระบอกฉีดยาที่สะอาดมาใช้กับผู้ใช้ยาฯ ที่ยังไม่คิดที่จะเลิกใช้ยาเสพติด หรือพยายามเลิกแล้วแต่ก็ไม่สามารถที่จะเลิกได้อย่างเด็ดขาด  และก็มีอีกหลายรายที่เข้ารับการบำบัดแล้ว แต่ก็หวนกลับไปเสพอีก


ในระหว่างที่ผู้ใช้ยาฯ ยังไม่สามารถเลิกใช้ยาเสพติดได้  จะทำอย่างไรจึงจะลดผลกระทบต่างๆ ในเชิงลบอันเนื่องมาจากการใช้ยาเสพติดได้  เป็นการประวิงเวลาไปจนกว่าผู้ใช้ยาฯ จะเกิดความคิดที่จะเลิกใช้อย่างจริงจังจึงค่อยเริ่มให้การบำบัดรักษาด้วยโปรแกรมที่เหมาะสมต่อไป  ซึ่งยุทธศาสตร์ที่ว่านี้คือ การลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติด หรือชื่อที่เรียกกันติดปากตามภาษาอังกฤษว่า Harm Reduction


 


และเพื่อลดอัตราการติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ของกลุ่มผู้ใช้ยาฯ  ควรมีการพัฒนานโยบายลดอันตรายจากการใช้ยาระดับชาติที่ชัดเจน โดยมีการปรึกษาหารือกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงในกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ปปส.) สำนักนายกรัฐมนตรี ตลอดจนองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์และยาเสพติด หรือหน่วยงานที่ทำงานเกี่ยวข้องในเรื่องดังกล่าว เพื่อให้เกิดการจัดทำโครงการแลกเปลี่ยนเข็มฉีดยา การใช้เมธาโดน และโครงการลดอันตรายจากการใช้ยาอื่น  ๆ พร้อม ๆ กับโครงการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ในประชากรกลุ่มเสี่ยงอื่นๆ เช่น กลุ่มผู้ขายบริการทางเพศ และกลุ่มชายรักร่วมเพศ นอกจากนี้ต้องมีการพิจารณาประเมินอุปสรรคทางกฎหมายที่มีอยู่ ซึ่งขัดขวางการเข้าถึงบริการลดอันตรายจากการใช้ยา อย่างเช่น กฎหมายที่เอื้ออำนวยให้เจ้าหน้าตำรวจที่จับกุมผู้ใช้ยาฯ ซึ่งครอบครองเข็มฉีดยา


 


การแจกจ่ายเข็มฉีดยาสะอาด และให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับผู้ใช้ยาฯ เป็นวิธีป้องกันการติดเชื้ออย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพมากที่สุดอย่างหนึ่ง  ในหลายประเทศที่มีโครงการแลกเปลี่ยนเข็มฉีดยา เปิดโอกาสให้ผู้ใช้ยาฯ สามารถนำเข็มเก่ามาแลกกับเข็มฉีดยาสะอาดได้ แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จในการลดความเสี่ยงของโรคติดต่อในบรรดาผู้ใช้ยาเสพติดชนิดฉีด โดยไม่เพิ่มอัตราการเสพยาหรืออาชญากรรมเนื่องจากการใช้ยาเลย (Injecting Reason: Human Rights and HIV Prevention for Injection Drug Users, vol. 15, no. 2(G) (2003), หน้า 12-17; M. Ainsworth et al., Thailand’s response to AIDS, หน้า 44)


 


สำหรับการใช้เมธาโดน (ยาที่ใช้รักษาผู้เสพติดเฮโรอีน หรือผงขาว เพื่อบรรเทาอาการขาดยา หรือที่เรียกว่าอาการลงแดง เมธาโดนมีทั้งรูปแบบเป็นยาเม็ด และยาน้ำ การใช้เมธาโดนนิยมใช้ในรูปแบบยาน้ำ เนื่องจากรับประทานได้ง่ายกว่า) เพื่อบรรเทาความอยากยา สามารถช่วยลดความเสี่ยงได้เช่นกัน เพราะทำให้ผู้ใช้ยาฯ ไม่ต้องพึ่งกับการใช้เข็มฉีดยา รวมทั้งช่วยเพิ่มโอกาสที่ผู้เสพจะเข้ารับการบำบัดอย่างต่อเนื่อง (WHO/UNODC/UNAIDS position paper: Substitution maintenance therapy in the management of opioid dependence and HIV/AIDS prevention," หน้า 18, paras. 33-34, หน้า 32, ย่อหน้า 6)


 


ข้างต้นเป็นยุทธศาสตร์ที่ตรงกันข้ามกับนโยบายการให้เลิกและห้ามเสพอย่างเด็ดขาด เป็นวิธีแก้ปัญหาการเสพยาที่ทำโดยการบังคับ และความพยายามที่ให้ผู้เสพเลิกพฤติกรรมดังกล่าวอย่างเด็ดขาด  ซึ่งมักเป็นวิธีการที่ไม่มีประสิทธิภาพ เพราะมาจากความไม่เต็มใจของตัวผู้บำบัดเอง แม้ว่าโครงการลดอันตรายจากการใช้ยาจะแสดงให้เห็นประโยชน์อย่างชัดเจนต่อผู้ใช้ยาฯ แต่รัฐบาลยังไม่สนับสนุนงบประมาณเพื่อพัฒนาบริการเหล่านี้  ที่ผ่านมา มีโครงการแลกเปลี่ยนเข็มฉีดยา อยู่แห่งเดียวในประเทศไทย เป็นโครงการนำร่องขนาดเล็กในจังหวัดเชียงราย ด้วยทุนสนับสนุนจากรัฐบาลออสเตรเลีย ซึ่งต้องปิดตัวลงไปเมื่อขาดเงินทุนสนับสนุน


 


นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลของการติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ในกลุ่มผู้ต้องขังคดียาเสพติดในเรือนจำมีอัตราสูงเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี สาเหตุก็เนื่องมาจากการเข้าถึงเข็มฉีดยาที่สะอาดในเรือนจำมีน้อยมาก ทำให้มีการนำเข็มฉีดยาที่ใช้แล้วมาใช้ใหม่ หรือใช้ร่วมกันหลายคนในบรรดาผู้ต้องขัง  แต่ผู้ที่เกี่ยวข้องกลับออกมาปฏิเสธว่า ไม่มีการระบาดของเชื้อเอชไอวี/เอดส์  ทั้งที่มีผู้ใช้ยาฯ หลายต่อหลายคนที่พ้นโทษออกมาจากเรือนจำพร้อมกับการติดเชื้อเอชไอวี  


 


ประเทศไทยภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เลือกที่จะใช้มาตรการรุนแรงในการแก้ไขปัญหายาเสพติด หรือที่รู้จักกันในชื่อ ปฏิบัติการพลังแผ่นดิน ร่วมกวาดล้างยาเสพติด ซึ่งดำเนินการมาเป็นครั้งที่ 4 แล้ว โดยมีระยะเวลา 3 เดือน คือเริ่มตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ถึง 31 ธันวาคม 2548  มีเป้าหมาย คือ 1) สกัดกั้นยาเสพติดตามแนวชายแดน  2) ปราบปรามควบคู่กับผสมผสานมาตรการอื่นๆ ในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดใน 61 จังหวัด  3) ปราบปรามผู้ค้ายาเสพติดระดับแพร่ระบาดที่สำคัญ 300 ราย โดยการประกาศใช้มาตรการแก้ไขปัญหายาเสพติดที่ผ่านมาทั้งสามครั้งของรัฐบาล สามารถลดการแพร่กระจายของยาเสพติดได้ก็จริง  แต่ไม่สามารถลดอัตราการติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ในกลุ่มผู้ใช้ยาฯ ลงไปได้  เพราะมากกว่าสามในสี่ของผู้ใช้ยาฯ ต่างพากันหลบซ่อนตัว เนื่องจากกลัวปัญหาเรื่องความปลอดภัยของชีวิต  การเข้าถึงการรักษาหรือการบำบัดก็ลดน้อยลงไป  ทั้งนี้ ยังไม่รวมการเข้าถึงเข็มฉีดยา หรืออุปกรณ์ที่มีความสะอาดปลอดเชื้อ จึงทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อเพิ่มขึ้นไปโดยปริยาย