Skip to main content

เรื่องจริงในความหลอกลวง ตอน otop

คอลัมน์/ชุมชน


 



 


เรื่องจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ในสังคมไทยของเรา  คือเรากำลังยืนอยู่บนเรื่องจริงในความหลอกลวงกันทั้งนั้น อยู่ที่ว่าเราจะยอมรับความจริงกันหรือไม่  แต่จะยอมรับไม่ยอมรับอย่างไร เราก็หนีไม่พ้น   ดังนั้นแทนที่จะปฏิเสธ เรามาร่วมค้นหาความจริงกันดีกว่า  แต่หากจะให้คุยทุกเรื่องคงแย่เหมือนกัน เพราะไอ้เรื่องจริงในความหลอกลวงนี่มีเย๊อะมากๆ ผู้เขียนจึงเลือกหยิบเรื่องที่รัฐบาลไทยรักไทยใช้หากิน เอ้ย.......หาเสียงทั้ง ๒ สมัย  นั่นคือเรื่อง OTOP  เพราะหากจะไม่เขียนถึงเลย มันก็จะกระไรอยู่ เพราะตัวผู้เขียนเองก็คลุกคลีอยู่ในแวดวงนี้เหมือนกัน  เรื่องราวจะจริงหรือหลอกลวงอย่างไรต้องติดตาม


 


ว่ากันจริงๆ การที่ชาวบ้านรวมตัวกันผลิตสินค้าชุมชนมีมาช้านานแล้ว  จะมีด้วยราชการผลักดัน หรือมีด้วยตัวชุมชนเองก็ว่ากันไป  แต่ก่อน กลุ่มที่ทำมีน้อย ไม่มากมายเหมือนในปัจจุบัน  ดังนั้น ไม่ว่าผลิตอะไรออกมาก็ขายได้  (ขายได้ดีกว่าปัจจุบันอีก) ซึ่งเรื่องราวเหล่านี้ ถูกกลืนหายไปกับกระแส  ๑ ตำบล ๑ ผลิตภัณฑ์ หรือ OTOP ที่รัฐบาลพยายามที่จะตีฆ้องร้องเป่า ให้ผู้คนเห็นถึงความสำเร็จของนโยบายรัฐบาลที่มีต่อรากหญ้า  หากมองที่เบื้องหน้าก็ดูดีอยู่หรอก แต่เรื่องจริงมันไม่ได้มีแค่สิ่งที่เห็น ยังมีอีกหลายเรื่องราวของความจริงที่ถูกซ่อนเร้น  ที่ผู้เขียนจะนำเสนออีกมุมหนึ่ง ซึ่งเป็นที่มาของบทความนี้  


 


เริ่มต้น OTOP หากกลุ่มชาวบ้านต้องการเข้าร่วมโครงการนี้ (มีเงินล่อไว้หากใครเข้าร่วมโครงการ จะได้เงินช่วยเหลือแน่ๆ ) กลุ่มอาชีพที่มีอยู่แล้วต่างต้องดิ้นรนเพื่อให้ตนเองเข้าร่วมโครงการให้ได้  ช่วงแรกๆ การคัดเลือกผู้เข้าร่วมโครงการก็เข้าท่าดี โดยมีการวางระเบียบไว้ว่า


๑.      กลุ่มที่จะได้เข้าโครงการ  ต้องเป็นกลุ่มจริงๆ


๒.        กลุ่มต้องมีผลิตภัณฑ์ของกลุ่มที่เป็นที่ยอมรับ


๓.      กลุ่มที่จะได้เข้าโครงการต้องผ่านการคัดเลือกจากประชาคมตำบลเท่านั้น


 


กลุ่มที่ได้รับคัดเลือกจะได้รับการสนับสนุนจากหน่ายราชการทุกรูปแบบ ทั้งเรื่องเงินทุน ความรู้ การขยายตลาด เรียกว่าสนับสนุนกันให้ถึงฝั่งฝันให้ได้  แต่สิ่งที่น่าตกใจคือทุกหน่วยราชการ ทำเหมือนกันหมด และทำในเรื่องเดียวกัน ทั้งพัฒนาชุมชน สหกรณ์ พานิช  เกษตร การค้าภายใน และภาคธุรกิจเอกชน ฯลฯ  ต่างคนก็ต่างทำผลงานของตนเอง กลุ่มเองก็ชุลมุนวุ่นวายและงงไปหมด ไม่รู้ว่าชีวิตตนเองจะไปทางไหนดี  เดี๋ยวหน่วยงานโน้นก็เรียกประชุม  หน่วยงานนี้ก็เรียก ปฏิเสธใครก็ไม่ได้ เพราะเดี๋ยวเขาโกรธ และไม่ช่วยเหลืออีก


 


ชาวบ้านที่เป็น OTOP จึงต้องเป็นคนที่มีความอดทนสูงมาก  เพราะต้องทนฟังเรื่องเดียวกัน  เพียงแต่ต่างวันต่างสถานที่ จนครบทุกหน่วยงานที่สนับสนุน (คิดดูเถอะว่าชาวบ้านต้องใช้ความอดทนเพียงไร) เพียงเพื่อหวังผลว่าสินค้าของตนเองจะขายได้มากขึ้น และจะได้รับการผลักดันไปสู่ระดับอินเตอร์  ในหัวของชาวบ้านช่วงนั้นมีแต่ความหวังเรื่องการส่งออก เพราะหากส่งออกได้ชาวบ้านจะร่ำรวย สบาย เป็นที่รู้จักในวงกว้าง 


 


จริงๆ ช่วงนั้นชาวบ้านไม่ได้ถูกหลอกเสียทีเดียว เพราะเงินทองก็ไหลมาเทมา แต่ไม่ได้มาจากการขายสินค้า  แต่มาจากรัฐบาล ทั้งเรื่องเงินอุดหนุน การปรับปรุงสถานที่ผลิต เกิดทุนหมุนเวียน เรียกว่าอัดฉีดกันเต็มที่ นอกจากเรื่องเงินทุนแล้ว เรื่องตลาดก็เป็นเรื่องหลักของนโยบายนี้  ทุกหน่วยราชการก็ได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการจัดงานเพื่อให้ชาวบ้านได้จำหน่ายสินค้า  และเรื่องโฆษณาประชาสัมพันธ์ก็เป็นอีกเรื่องที่ใช้งบประมาณมหาศาล อาจจะมากกว่างบที่อัดฉีดสู่กลุ่มอาชีพเสียอีก


 


ผลของการโฆษณาทำให้กระแส OTOP ยิ่งขยายออกไปในวงกว้าง โดยเฉพาะกลุ่มชุมชนต่างๆ  ๑ ปีผ่านไปกลุ่มที่เป็น OTOP กลุ่มที่มีอยู่เดิมเริ่มล้า และงงในตัวเองมากขึ้น แต่การขายสินค้ามียอดเพิ่มขึ้น นโยบายของรัฐบาลยังดำเนินต่อไปด้วยความเข้มข้น โดยเฉพาะเรื่องการประชาสัมพันธ์ขายนโยบายที่หรูเลิศ จนทำให้มีกลุ่มชาวบ้านรวมตัวกันผลิตสินค้าเพิ่มขึ้น  การเปิดรับกลุ่มอาชีพเข้ามาในระบบ OTOP เพิ่มขึ้นจึงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายที่ต้องการขยายกลุ่ม OTOP ออกไปในวงกว้าง ให้สมกับเป็นโยบายหลักของรัฐบาล


 


แต่การรับสมัครครั้งนี้ ไม่ต้องผ่านกระบวนการคัดสรร จากชุมชนเหมือนช่วงแรก แต่เป็นการรับสมัครทั่วไป ไม่เว้นแม้แต่บริษัทห้างร้านก็สามารถสมัครเข้าเป็นกลุ่ม OTOP ได้ ทั้งสินค้าที่ซ้ำแบบเดิม และสินค้ารูปแบบใหม่ๆ ไม่เว้นแม้แต่คนในชุมชนเดียวกัน ทำให้สิ่งที่ไม่ควรจะเกิดก็เกิด นั่นคือการแข่งขันและการแย่งชิง 


 


โดยศึกการแย่งชิงครั้งนี้แบ่งออกเป็นสองส่วน  คือส่วนของหน่วยงานราชการ และส่วนของกลุ่มชุมชน ราชการที่ช่วงแรกๆ ก็มุ่งหวังในการสร้างเครือข่าย แต่สุดท้ายคือแย่งชิงกลุ่มชุมชน เพื่อผลงานของตนเอง  กลุ่มที่ควรจะเป็นเครือข่าย ก็กลายเป็นการแข่งขันและแย่งชิง  ทั้งในเรื่องการผลิตสินค้า แย่งชิงพื้นที่ตลาดเพราะกลุ่มเพิ่มขึ้นแต่ตลาดยังไม่เพิ่ม และสุดท้ายคือแย่งชิงงบประมาณ


 


ตอนแรกนี้เป็นเพียงการเกริ่นนำ เรื่องหลอกลวงต้องรอดูตอนต่อไป ใครหลอกใคร และหลอกอย่างไร   ต้องติดตาม