Skip to main content

คืนถิ่นที่แสนรัก

คอลัมน์/ชุมชน

 


 


ทุ่งนา ป่าเขา ไร่ข้าว ไร่ข้าวโพดบนดอยที่เชียงราย คือ ถิ่นเก่าที่ดิฉันได้ใช้ชีวิต ทำงาน เรียนรู้กับพี่น้องชาติพันธุ์ต่างๆ มาค่อนชีวิต เมื่อใดที่ได้กลับไปเยือน จิตใจจะเบิกบาน เปี่ยมสุข ที่ได้พบกับผู้ที่เป็นดั่งญาติสนิท ได้รับรู้ทุกข์สุข ได้เห็นสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป ได้ช่วยแก้ไขปัญหา ได้เกื้อกูลในสิ่งที่ควรทำ


 


ทุ่งนาแถบอำเภอเวียงชัย ที่มีดอยผางามเป็นฉากหลังอันงามเด่น ต้นข้าวกำลังเขียวขจี มีตูบ (กระท่อม) น้อยที่เรียบง่าย ทำด้วยไม้ไผ่ มุงหญ้าคา เป็นที่หลบแดด ฝน พักกินข้าว กินน้ำ ชาวนาเดินเลาะคันนา เพื่อตรวจดูว่า ทุ่งนาอยู่ในสภาพปกติดีหรือไม่ หากมีพืชผัก กุ้งหอยปูปลา ก็เก็บกลับไปกินที่บ้าน เป็นอาหารที่ธรรมชาติให้มาทุกฤดูกาลตลอดปี


 


ช่วงนี้ลูกชาย (ชื่ลูกหว้า) ปิดเทอมกลับมาจากกรุงเทพฯ ดิฉันจึงชวนคุณแม่และลูกหว้า ไปเยี่ยมบ้านปางสา ถิ่นเก่าที่ได้ให้ชีวิตใหม่อันมีคุณค่าแก่สาวกรุงตัวเล็กๆ คนนี้  "อาซึ" ผู้ใหญ่บ้าน (ผู้เคยเป็นลูกศิษย์การศึกษาผู้ใหญ่ภาคค่ำเมื่อ ๓๑ ปีก่อน) บอกว่า  วันนี้ชาวบ้านหลายคนไปเกี่ยวข้าวกันที่บนดอย ดิฉันจึงชวนลูกหว้าและทีมงานอีก ๒ คน ไปเกี่ยวข้าวด้วยกัน ให้คุณแม่อยู่ในหมู่บ้านเพื่อเยี่ยมคนคุ้นเคย สมัยที่คุณแม่ได้มาอยู่เลี้ยง หลานสาว (ลูกสาวคนโตของดิฉันชื่อกอไผ่) ที่นี่ถึง ๕ ปี


 


 


อากาศปลายฝนต้นหนาวที่บนดอยเย็นสบาย ท้องฟ้าเป็นสีฟ้าแจ่มใส ผู้ใหญ่อาซึเดิน นำทางไปบนถนนสายแม่จัน-แม่อาย เห็นเด็กน้อยชาวมูเซอมาเลี้ยงควายกับแม่ ควายบนดอยได้ กินหญ้า กินน้ำอย่างสมบูรณ์ จึงอวบใหญ่ ดำขลับ เขาโค้ง เด็กน้อยโดดขึ้นหลังควายอย่าง คล่องแคล่ว แต่ดูเขินอายเมื่อถูกขอถ่ายรูป


  


ทางเดินแคบ ๆ แอบซ่อนอยู่ข้างถนนใหญ่ ค่อย ๆ เดินไต่ขึ้นไปแค่สิบกว่านาทีก็เห็นทุ่งข้าว เหลืองอร่าม ผู้ใหญ่อาซึส่งเสียงเรียก "จะที" เพื่อนรุ่นเดียวกันว่า ครูแดงมา จะไปเกี่ยวข้าวที่ไร่ของ "อาวู [เป็นคำเรียก อา ในภาษาลีซู (ลีซอ)] บะซู" จะทีจึงเดินมาสมทบ


 


 


ไร่ข้าวของอาวูบะซูมีเพื่อนบ้านเกือบสิบคนช่วยกันเกี่ยวข้าวอยู่ กำลังจะกลับ เพราะห้าโมงเย็น กว่าๆ แล้ว เดี๋ยวจะมืดเสียก่อน มองไม่เห็นทาง ดิฉันบอกจะที ให้สอนลูกชายเกี่ยวข้าว (ลูกหว้าเคยไปช่วยดำนาที่บ้านห้วยหินลาดใน อำเภอเวียงป่าเป้าเมื่อปีที่แล้ว แต่ยังไม่เคยเกี่ยว ข้าว) เพื่อจะได้รู้ว่ากว่าจะได้กินข้าวแต่ละเม็ด ชาวไร่ชาวนาเหนื่อยยากแค่ไหน


 


เสียดายที่ความเคารพแม่โพสพของชาวไทยจางหายไป   ตามกระแสวัตถุนิยม   คนไทย รุ่นใหม่ จึงไม่ไหว้แม่โพสพก่อนกินข้าว เพลงเปิบข้าว ของน้าหงา คาราวาน (สุรชัย จันทิมาธร) ก็ไม่ค่อยได้เปิดตามสถานีวิทยุ หรือทีวีช่องต่าง ๆ คนในเมืองจึงรู้จักแต่ข้าวสุกกับข้าวสาร ไม่ซาบซึ้งกับคุณค่าของการได้มาซึ่งเมล็ดข้าว อันมีทั้งมิติทางจิตวิญญาน และมิติทางสังคม คือ ความร่วมมือกันปลูกข้าว เกี่ยวข้าว กองข้าว ตีข้าว ฝัดข้าว จนถึงแบกข้าวเข้ายุ้ง


 


 


 


เกี่ยวข้าวที่ไร่นี้เสร็จแล้ว ดิฉันอยากดูสภาพการทำไร่ข้าวบนดอยนี้โดยรวม จึงชวนกันเดิน ไปดูแปลงอื่น ๆ เพื่อให้เห็นภาพกว้าง จะทีพาลูกหว้าแวะไปดูรังนก ซึ่งมีลูกอ่อนอยู่ ๔ ตัว อยู่บน ต้นไม้ในไร่ข้าวของจะที ลูกหว้าจึงถ่ายภาพมาฝาก เป็นภาพน่ารักของลูกนกน้อย ๆ ขนกำลังขึ้น เบียดตัวอยู่ในรัง ซึ่งเจ้าของไร่ก็ช่วยดูแลด้วยจิตเมตตา


 


จะทีเล่าว่า ชาวลีซู (ลีซอ) บ้านปางสา ยังปลูกข้าวไร่ โดยใช้พันธุ์ข้าวพื้นเมืองที่สืบทอดกัน มาหลายชั่วคน มีสิบกว่าสายพันธุ์ เป็นการปลูกตามวิถีชีวิตเดิม เมื่อถางไร่แล้ว ก็ทำพิธี ขอขมาต่อเจ้าป่า เจ้าเขา ผีไร่ ขอใช้พื้นที่เพื่อยังชีพ ครั้นเกี่ยวข้าว ตีข้าวเสร็จแล้ว ก็ทำพิธี "กินข้าวใหม่" ระลึกถึงบุญคุณของเทพไท้เทวดา ที่เมตตาให้ได้ข้าวและพืชผลต่าง ๆ อย่างสมบูรณ์ รวมทั้งบันดาลให้ผู้คนอยู่เย็นเป็นสุข


 


เจ้าหน้าที่ป่าไม้ไม่ต้องการให้ชาวบ้านทำไร่ข้าวบนดอยอีก เพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าให้มากขึ้น ชาวบ้านจึงขอใช้พื้นที่เพียงบางส่วน ทำเฉพาะพอกินในครอบครัว ไม่ทำเป็นผืนใหญ่ทั้งดอยและ ไม่ใช้สารเคมี


 


ระหว่างทางกลับจากไร่ ชาวบ้านแวะเก็บพริก  ผัก  ยอดฟักทอง  ถั่วพู  ถั่วฝักยาวและผัก อื่น ๆ ที่ปลูกไว้ใกล้ ๆ กระท่อมที่พัก มีตูนกอใหญ่ ใบเขียวขจี ซึ่งชาวบ้านใช้ก้านตูนเป็นอาหาร ตัดมาก้านเดียวก็กินได้อิ่มทั้งครอบครัว ลูกหว้ามีสายตาที่เป็นศิลปะ จึงบอกให้แม่ไปยืนข้างกอตูน แล้วถ่ายภาพงามแห่งความสุขไว้ชื่นชม


 


กลับมาถึงหมู่บ้านปางสาแล้ว เห็นเด็กหนุ่มสาวสัก ๓๐ คน กำลังเล่นกีฬากันอยู่ที่ลานริม น้ำแม่จัน จะทีกล่าวด้วยความเป็นห่วงว่า ต่อไปเด็กรุ่นนี้จะทำอาชีพอะไร เพราะเรียนหนังสือก็ได้ ไม่ถึงสุดยอด ทำไร่ทำนาตามอย่างพ่อแม่ก็ไม่เป็น รัฐบาลคิดถึงอนาคตของเยาวชนบนดอยและลูก ชาวไร่ชาวนาในชนบทอย่างไร


 


จากนั้น จะทีชวนแวะเยี่ยมบ้านของเขา บ้านของจะทีปลูกใหม่เป็นทรงบ้านลีซู ทำด้วยปูนซีเมนต์ มุงกระเบื้อง กับห้องครัวที่แยกจากตัวบ้านทำด้วยฝาไม้ไผ่ มุงหญ้าคา จะทีบอกว่าเป็นห้อง ที่สบายที่สุดในบ้าน หน้าหนาวก็อุ่นด้วยเตาไฟ หน้าร้อนก็เย็นดี แม้จะมีบ้านแบบสมัยใหม่แต่ก็ ชอบอยู่ในห้องครัวที่เป็นธรรมชาติมากกว่า


 


ลูกสะใภ้กับนาบูสี ภรรยาของจะที กำลังตำ "ถั่วเน่า" โดยเอาถั่วเหลืองที่ปลูกเองมานึ่ง แล้วหมักไว้สามวัน แล้วเอามาตำในครกไม้ผสมกับรากหอมชู ขิง พริก เกลือ เมื่อตำละเอียดได้ที่ ก็เอามาปั้นเป็นแผ่นแบน ๆ ผึ่งไว้บนใบไม้ชนิดที่มีขน เพื่อที่แผ่นถั่วเหลืองจะได้ไม่ติดหนึบบนใบไม้ แห้งแล้วก็เก็บไว้กินได้นานหลายเดือน จะทีบอกว่า ถั่วเน่าวันนี้อร่อยมาก ฝากให้เอาไปกินเป็นอาหารมื้อเย็นด้วย


 


วงอาหารมื้อเย็นที่บ้านอาวูบะซู มีญาติมากินกันหลายคน บ้านของอาวูบะซูเป็นบ้านแบบลีซูดั้งเดิม คือปลูกติดดิน ฝาเป็นไม้ไผ่สานกัน หลังคามุงหญ้าคาโดยวางโครงแข็งแรง ใช้หญ้าคา เป็นกำวางเรียงกันเป็นตับ เป็นหลังคาที่ประณีต สวยงามอยู่ทนทานได้นับสิบปี แต่ต้องใช้หญ้าคา ปริมาณมาก ปัจจุบัน ทั้งหมู่บ้านปางสาจึงยังคงมีบ้านแบบลีซูดั้งเดิมอยู่แค่ ๓-๔ หลัง เพราะ หญ้าคาหายาก ต้องไปหาเกี่ยวเอาจากที่ไกล ๆ และชาวบ้านกลัวไฟไหม้ในช่วงฤดูแล้ง เนื่องจาก หญ้าคาติดไฟง่าย


 


เตาไฟที่ใช้ฟืนวางไว้ใต้วงเหล็กสามขา ให้ความอบอุ่นและให้ความร้อนในการหุงต้มอย่างดี มีขี้เถ้าใช้ย่างพริก มะเขือ เผือก มัน กล้วย ใช้ประโยชน์ได้หลากหลายกว่าเตาแก๊ส ซึ่งราคา สูงขึ้นเรื่อย ๆ ชาวบ้านจึงนิยมใช้เตาฟืนมากกว่า เพราะหาได้จากกิ่งไม้แห้งทั่วไปในป่า หรือจาก ต้นไม้ที่ปลูกไว้ในไร่ เวลาไปไร่ก็แบกฟืนกลับมาด้วย ไม่ต้องจ่ายเงินเพื่อซื้อแก๊สเหมือนคนในเมือง


 


อาหารมื้อเย็นวันนี้แสนอร่อย เพราะบรรยากาศดี อบอุ่นด้วยญาติสนิท บนโตกมีข้าวไร่ที่หุงสุกร้อน ๆ น้ำพริกใส่มะเขือเทศ ผักชี รากหอมชู ต้มผักกาดดอยใส่ขิง ผักกูดผัดใส่ถั่วเน่า ไข่เจียว กับปลาทูที่ซื้อมาจากตลาดแม่จัน ทั้งคุณแม่ ลูกหว้า ครูแดง น้องผ่อง-ผู้ช่วยของครูแดง และพี่น้อง บ้านปางสา กินอย่างมีความสุขกับอาหารที่เป็นธรรมดาธรรมชาติ


 


ในวงข้าว เราคุยกันเรื่องชีวิตที่เปลี่ยนไปของชาวบ้านปางสา ลูกศิษย์หญิงของครูแดง หลายคนแต่งงานกับชายต่างชาติ คนหนึ่งแต่งงานกับชาวอาหรับเอมิเรต มีลูกแล้ว ๒ คน เดิมสามี ไปมาหาสู่ปีละ ๒-๓ ครั้ง เมื่อลูกโตได้ ๔-๕ ขวบ จึงรับทั้งแม่และลูกไปอยู่ที่เอมิเรตแล้ว


 


ลูกสาวสองคนของจะที ได้สามีชาวมาเลเซีย คนหนึ่งไปทำงานที่สิงคโปร์ อีกคนอยู่มาเลย์ เมื่อลูกสาวมีหลาน จึงขอให้แม่ไปช่วยเลี้ยงลูก นาบูสีจึงนั่งเครื่องบินไปเลี้ยงหลานได้ ๒ เดือน แล้วกลับมาอยู่บ้านปางสาตามเดิม เพราะอยู่ในเมืองอย่างสิงคโปร์ มีแต่ห้อง มีแต่ตึก ไม่มี ป่า ไม่มีเขา ไม่มีชีวิตที่อยู่กับธรรมชาติอย่างที่คุ้นเคย จึงอยู่อย่างไม่มีความสุข


 


สามสิบเอ็ดปีของการเข้าสู่กระแส "การพัฒนา" ของบ้านปางสา เป็นตัวอย่างของความ เปลี่ยนแปลงที่คนรุ่นเก่าอยากอยู่อย่างมีรากเหง้า ขณะที่คนรุ่นใหม่ถูกกระแสสังคมพาไปไกลจาก วัฒนธรรมเดิม


 


เช้านี้ (๓๐ ตุลาคม ๒๕๔๘) ฟ้าหม่นมัวตั้งแต่เช้าตรู่ หลังจากที่ฝนตกตลอดทั้งคืน แม้ว่า เป็นช่วงฤดูหนาวแล้ว พี่เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ กวีซีไรต์ ได้พูดในงาน ๑๐๐ ปีแห่งชาตกาลของท่าน พุทธทาส ที่ศูนย์ประชุมสิริกิติ์ว่า โลกกำลังป่วย ทั้งสังคมป่วยและธรรมชาติป่วย ฝนฟ้าจึงแปร ปรวน เพราะธรรมชาติต้องการสอนให้มนุษย์ ใช้ชีวิตอย่างมีศีลธรรม มีปัญญารู้เท่าทัน ไม่เป็น เหยื่อลัทธิบริโภคนิยม ดังที่ท่านพุทธทาสได้ตั้งปณิธานไว้


 


กลิ่นหอมของดอกกรรณิการ์ ดอกปีบขาว ดอกรสสุคนธ์ รวยรินมาตามลม ธรรมชาติ หล่อหลอมให้มนุษย์เข้าสู่สัจธรรมเสมอ


 


ทุกครั้งที่ได้กลับถิ่นที่รัก คือชนบทและธรรมชาติ ใจดิฉันจึงเบิกบาน ขอแผ่เมตตาให้มนุษย์ทั้งหลาย หล่อเลี้ยงใจด้วยธรรมะและธรรมชาติตลอดไป