Skip to main content

สอนหลานให้อ่านอังกฤษ (ตอนที่ 5)

คอลัมน์/ชุมชน

วิธีสอนภาษาอังกฤษ (1)


 


อย่างที่ผมพูดไว้ก่อนหน้านี้ เมื่อไม่สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้หลานชายทั้งสองคนเห็นความสำคัญของการเรียนหนังสือ โดยเฉพาะภาษาอังกฤษได้ ไม่ว่าจะใช้วิธีไหนก็ตาม  ผมจึงต้องหันกลับไปเน้นการสร้างสภาพแวดล้อมเป็นหลัก พูดอีกอย่างก็คือบังคับ โดยทำให้พวกเขารู้สึกว่ากิจกรรมเกี่ยวกับภาษาอังกฤษเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวันของเขา เหมือนกินข้าวเช้าหรือเข้าห้องน้ำ  อย่างน้อยก็ในช่วงที่อยู่สหรัฐฯ  ไม่อย่างนั้น พวกเขาจะอยู่อย่างไม่ปกติสุข เพราะจะคุยกับเพื่อนไม่ได้ ทำให้เล่นไม่สนุก  หรือดูโทรทัศน์ไม่รู้เรื่อง


 


เรา หมายถึงผมกับเมียนะครับ จัดกิจกรรมต่างๆ ให้หลานชายทั้งสองคนทำ เป็นเรื่องๆ ดังนี้ครับ


 


ใช้พจนานุกรม  เมื่อไปถึงสหรัฐฯ สิ่งแรกที่เราจัดการให้ก็คือ แต่ละคนมีพจนานุกรมหรือดิกฯ ภาษาอังกฤษ-ไทยประจำตัวคนละเล่ม แต่ก็ให้ใช้ร่วมกันได้  แล้วเราก็ค่อยๆ สอนวิธีใช้ดิกฯ ในการหาคำแปล  ในตอนแรกเมื่อเขาถามคำศัพท์ เราก็ช่วยกันเปิดดิกฯ  แต่เมื่อเวลาผ่านไป ก็จะช่วยเขาน้อยลง แต่จะบีบให้หาเองมากขึ้นเรื่อยๆ  จนเมื่อเวลาผ่านไปร่วมครึ่งปี ถ้าเขามาถามความหมายของศัพท์สุ่มสี่สุ่มห้า เราก็จะด่ากลับไป  ทำอย่างนี้ช่วยได้เยอะครับ ทั้งความสามารถในการหาคำและความหมายที่เพิ่มขึ้น เพราะศัพท์หลายคำมีความหมายมากกว่าหนึ่งความหมาย  พวกเขาต้องพอเข้าใจเนื้อเรื่องที่อ่านจึงจะเลือกความหมายที่เหมาะสมได้  การทำอย่างนี้ช่วยเจ้าหลานน้อยในเรื่องการอ่านได้มาก ทั้งหนังสือและจดหมายหรือข่าวที่ทางโรงเรียนส่งมาถึงผู้ปกครอง  นอกจากนี้ เวลาที่เราต้องช่วยพวกเขาในเรื่องการหาความหมายของคำก็ลดลงไปได้มาก  แต่สิ่งหนึ่งที่เราไม่ได้เน้นก็คือ เรื่องการออกเสียงอ่าน  เพราะคิดว่าพวกเขาคงจะยังรับไม่ได้


 


ดิกฯ ที่เราเอาติดตัวไปด้วย แม้จะเก่า แต่ดูแล้วก็ยังรู้ว่าเป็นหนังสือ  ในช่วงเวลาหนึ่งปีที่ผ่านไป เจ้าหลานชายทั้งสองคนแปรสภาพดิกฯ ทั้งสองเล่มกลายเป็นเศษกระดาษสองกอง เพราะสภาพหลุดลุ่ยยับเยินไปหมด  หนังสือช้ำเพราะเปิดบ่อยก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่สาเหตุหลักเนื่องจากเด็กไม่รู้จักรักษาของมากกว่า ดังนั้น หากใครจะซื้อ "ดิกฯพูดได้" ให้ลูกหลานใช้ก็ควรจะดูนิสัยของเด็กด้วยนะครับ จะได้ไม่รู้สึกเสียดายเงินเมื่อเวลาผ่านไป  ผมว่าใช้ดิกฯธรรมดานี่ก็ดีพอแล้วครับสำหรับในขั้นแรกนี้  เอาไว้เมื่อเด็กโตขึ้นหน่อย และมีความสนใจจะเรียนภาษาอังกฤษอย่างจริงจัง จึงค่อยหาดิกฯที่มีรายละเอียดมากขึ้นมาใช้ก็ไม่สายเกินไปหรอกครับ


 


ขอแถมอีกหน่อยนะครับ เขาว่าดิกฯเป็นเพื่อนคู่คิดมิตรคู่กายที่ขาดไม่ได้เลยในการเรียนภาษาอะไรก็แล้วแต่  ดิกฯสำหรับเรียนภาษาอังกฤษหาซื้อได้ง่ายมากครับในเมืองไทย และมีมากมายหลายยี่ห้อให้เลือก  ราคาก็ไม่แพงเมื่อเทียบกับประโยชน์ที่ได้รับ  คุณๆท่านๆช่วยดูหน่อยนะครับว่าลูกหลานมีดิกฯใช้หรือยัง?  ถ้ายัง ก็ช่วยซื้อให้เป็นของขวัญวันลูกวันหลานด้วยนะครับ รับรองว่าเกิดชาติหน้าจะรู้คำศัพท์ภาษาอังกฤษทั้งหมดเลย


 


คัดลายมือ  เด็กอเมริกันชั้นประถมเขามีหนังสือคัดลายมือมาตรฐานครับ คล้ายๆกับหนังสือคัดลายมือของเด็กไทยที่ผมเดาว่าคงไปเอาแนวคิดของเขามาปรับใช้ แต่คงทำได้ไม่เท่าเขา  อย่างไรหรือครับ?  ลองสังเกตนะครับ ลายมือฝรั่งอเมริกันที่เราเห็นมักจะคล้ายๆ หรือใกล้เคียงกัน แสดงว่าเขาคงบังคับให้เด็กคัดลายมือกันอย่างจริงจังตั้งแต่ต้น  ลองสังเกตในหนังฮอลลีวู๊ดที่มีฉากห้องเรียนเด็กๆ นะครับ จะมีตัวหนังสือมาตรฐานทั้งสี่แบบ คือ ตัวเขียนใหญ่และเล็ก และตัวพิมพ์ใหญ่และเล็ก ติดเอาไว้เหนือกระดานดำหรือที่ข้างฝาห้องเป็นตัวอย่างและเตือนความจำนักเรียน  แล้วกลับมาดูลายมือตัวหนังสือไทยของพวกเราสิครับ เห็นได้เลยว่าหลากหลายจริงๆ  ผมว่าก็ดีไปอีกอย่าง เพราะอาจารย์ผู้สอนจะได้ไม่รู้สึกจำเจครับ


 


แต่อาจารย์อเมริกันคงไม่คิดอย่างผมในเรื่องนี้  พอเห็นลายมือเจ้าหลานคนเล็กที่ยุ่งยิ่งกว่าไก่เขี่ย เขาก็เลยให้หนังสือคัดลายมือมาเล่มหนึ่ง  ทั้งๆ ที่ไม่ใช่วิชาในเกรด 3 ที่เขาเรียนอยู่ก็ตาม  เราเป็นผู้ปกครองที่ดีก็รับลูกตามสิครับ  ตอนเย็นเกือบทุกวันก็เลยสั่งให้เจ้าหลานทั้งสองคนคัดลายมือตัวเขียนทั้งใหญ่และเล็กมาส่ง  ตอนแรกก็ดูเหมือนว่าลายมือของทั้งสองคนจะพอดูได้ เพราะคัดตามตัวหนังสือที่เป็นรอยจุดประและเขียนไม่มากนัก  แต่เมื่อเวลาผ่านไปไม่กี่อาทิตย์ก็มีการบ้านอื่นเพิ่มขึ้น ทำให้ต้องลด แล้วงด งานคัดลายมือในที่สุด เพราะไม่มีเวลา


 


ลายมือทั้งภาษาอังกฤษและไทยของพวกเขาตอนนี้ไม่รู้จะเรียกว่าอย่างไร  หากอาจารย์ดูลายมือทั้งหลายมาเห็นเข้าก็คงเบือนหน้าหนีแหละครับ  งานคัดลายมือที่เราฝันไว้ว่าจะช่วยพวกเขาในเรื่องการเขียนภาษาอังกฤษจึงไม่มีความก้าวหน้าเลยครับ อาจจะถอยหลังด้วยซ้ำ  ผมเลยสรุปว่าถ้าต้องการให้ลูกหลานมีลายมือพอดูได้ หากไม่มีพรสวรรค์หรือยีนติดตัว ก็ต้องบังคับฝึกฝนกันตั้งแต่เด็กครับ ตั้งแต่ยังเป็นไม้อ่อนจริงๆ มีแต่เปลือกสีเขียวๆ นั่นแหละครับจึงจะพอไหว  หากโตขึ้นมาระดับประถมแล้วผมว่าฝึกยากครับ ลายมือเป็นอย่างไรก็คงเป็นอย่างนั้นจนตาย 


 


และอีกอย่าง ผมว่าเด็กก็คงไม่ชอบกิจกรรมนี้ เพราะเป็นเรื่องซ้ำซาก ไม่สนุกเหมือนดูโทรทัศน์หรืออ่านหนังสือ  แต่ผมคิดว่าเราไม่ต้องกังวลในเรื่องนี้มากนักก็ได้ เพราะต่อไปคนคงจะไม่ต้องเขียนแล้ว พิมพ์หรือจิ้มใส่เครื่องก็ได้ตัวหนังสืออย่างที่ต้องการ  อย่างตัวผมเองนะครับ ซื้อปากกามาร่วมห้าปี สิบปีแล้วยังใช้ไม่หมดน้ำหมึกเลย เพราะเอาไว้เซ็นชื่อในใบกู้เงินเท่านั้นเอง