Skip to main content

การศึกษามรณะ ตอนที่ 4

 


 


เก็บความจากบทความ ข้อสอบมฤตยู ในคอลัมน์วาไรตี้ทูเดย์ ของเอเอฟพี หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์    25 ตุลาคม 2548


 


 "เด็กหญิงสวาดี วัยเพียง 18 ปี หนึ่งในเด็กหัวกะทิของโรงเรียนแห่งหนึ่งในอินเดีย  ต้องจมอยู่กับความหวาดระแวง ความเครียด และความกังวลทุกครั้ง  เมื่อฤดูแห่งการสอบมาถึง  และเธอจะหมกตัวอยู่ในห้องคนเดียวนานหลายชั่วโมงเพื่อทำใจกับผลสอบที่ออกมา  ซึ่งปรากฏว่าเธอผ่านแบบฉลุย


 


ขณะที่อรุนา เด็กหญิงวัย 17 ปี    ดื่มยาฆ่าแมลงปลิดชีวิตตนเอง  ทันทีที่รู้ว่า เธอสอบตก...


 


เรื่องราวฆ่าตัวตายของเด็กนักเรียนที่ผิดหวังและกลัดกลุ้มแสนสาหัสในการสอบ  มีให้เห็นแทบทุกวันบนหน้าหนังสือพิมพ์อินเดีย...


 


...เด็กทุกคนจะถูกตัดสินด้วยคะแนนสอบ  คนไหนคะแนนดีก็ได้รับการชมเชยว่าเป็นเด็กดี  แต่เด็กที่เรียนไม่เก่ง  คะแนนน้อย  ถือเป็นความล้มเหลวและสร้างอัปยศอดสูแก่วงศ์ตระกูล…


 


โอกาสที่เด็กคนหนึ่งจะย่างเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยในอินเดีย  สถานที่ที่จะสร้างอนาคตในหน้าที่การงานและชีวิต    ขึ้นอยู่กับว่าทำคะแนนสอบได้ในระดับ 90-100%หรือไม่...


 


...แม้แต่เพื่อนที่สนิทกันมากๆก็คือศัตรูสำคัญ อากริตี เด็กคอนแวนต์วัย 16 ปีกล่าว


 


ด้านนิดลี เด็กหญิงวัย 16 ปี เล่าว่า...เพื่อนของเธอที่ผิดหวังในการสอบ  มักเลือกจบชีวิตตนเองด้วยการดื่มยาพิษเป็นส่วนใหญ่  และไม่ลืมที่จะทิ้งจดหมายขอโทษขอโพยผู้ปกครองเอาไว้ด้วย


 


อีกกรณีที่แย่ไปกว่านั้นคือ  มีแม่บางคนที่รู้ดีว่า ลูกตัวเองคงทำสอบไม่ได้หรือทำได้ไม่ค่อยดี    ก็ตัดสินใจฆ่าตัวตายเสียเอง…


 


 ‘ความกังวลของพ่อแม่  ความกดดันจากเพื่อนและญาติ  และความหวาดกลัว  คือสิ่งที่ทำให้ชีวิตเราเศร้าสลด   เราต้องอับอายขายหน้าคนรอบข้าง   หากทำข้อสอบไม่ได้อย่างที่หวังไว้’  มิธเรยี เด็กหญิงวัย 12 ปีกล่าว


 


แอนเดรีย ราชะยอมรับว่า  เธออาจจะกดดันลูกชายเรื่องการเรียนมากเกินไป   แต่นั่นก็มาจากที่เธอต้องอาบเหงื่อต่างน้ำหาเงินมาส่งลูก    ทั้งเรียนในโรงเรียนและกวดวิชา


 


 ‘เพราะฉันไม่มีการศึกษา  จึงทำให้คนรอบข้างดูถูกอยู่เรื่อย   บางคนเห็นฉันเป็นแค่คนใช้  ดังนั้น  ทางเดียวที่จะสร้างความภูมิใจให้ฉันได้  คือผลักดันลูกให้เรียนสูงๆ  เป็นวิศวกร  ฉันไม่อยากให้ใครมาดูถูกลูกของฉัน’    แอนเดรียบอก"


 


ทั้งหมดที่ยกมาเป็นเรื่องเล่าจากอินเดีย     คล้ายบ้านเรามั้ย   


 


การกล่าวโทษพ่อแม่ว่ากดดันลูกเป็นเรื่องที่ไม่ควร เพราะอะไรที่พ่อแม่ทำไปก็ทำไปในนามแห่งความรัก   ประการหนึ่งเป็นจริงที่ว่าทางออกจากความจนและสถานะของตนคือเรียนให้เก่ง    เช่น ชีวิตของผู้เขียน เป็นต้น  แต่ข้อไม่ดีของวิธีนี้คือผู้ชนะมีจำนวนน้อยกว่าผู้แพ้   คำถามคือผู้แพ้ไปไหน     และเมื่อสะสมผู้แพ้มานานสามสิบปี     ขณะนี้มีจำนวนผู้แพ้เท่าไร


 


เหตุการณ์วันนี้ก็ไม่เหมือนสามสิบปีก่อน    แต่ก่อนเด็กทุกคนในห้องเรียนมีโอกาสเท่ากันในวันสอบไล่ของโรงเรียนและเท่ากันในวันสอบเข้าโรงเรียนใหม่หรือมหาวิทยาลัย     อยู่ที่ใครฉลาดกว่าใครและใครขยันกว่าใคร     ไม่มีตัวกลาง    แต่ปัจจุบันมิใช่เด็กทุกคนที่มีโอกาสเท่ากัน    เด็กที่มีเงินจ่ายค่ากวดวิชามีความได้เปรียบในสนามสอบมากกว่า   ทั้งวันสอบไล่ของโรงเรียนและวันสอบเข้าโรงเรียนใหม่หรือมหาวิทยาลัย      จึงว่าเอ็นทรานซ์ช่วงหลังไม่ยุติธรรม


 


เพราะแพ้ชนะตัดสินกันตั้งแต่ยังไม่ถึงวันสอบ


 


วัยรุ่นมีหน้าที่ทางจิตวิทยา 2 เรื่อง  1.คือรู้ว่าตนเองเป็นใคร 2.คือรู้ว่าตนเองจะไปไหน  ปัจจุบันวัยรุ่นไม่รู้ว่าตนเองเป็นใคร  เหตุผลหนึ่งเพราะหากไม่ได้เกรด 4.0 ก็จะไม่ได้รับการ recognized    จึงหาอัตลักษณ์กันด้วยมือถือ แบรนด์เนม หรือพฤติกรรมกวนเมือง  ปัจจุบันวัยรุ่นไม่รู้ว่าตนเองจะไปไหน   เพราะไม่มีที่เรียน   ถึงมีที่เรียนก็รู้ว่าเรียนไปงั้นๆ   จบมาก็หางานที่ดีไม่ได้   ต้องยากจนอยู่ดี


 


วัยรุ่นจึงซึมเศร้าซ่อนเร้นทั้งเมือง     อัตราการฆ่าตัวตายเพิ่มรวดเร็วจน(ไม่)น่าแปลกใจ


 


บทความการศึกษามรณะทั้ง 4 ตอนมองปัญหาวัยรุ่นในแง่ร้าย   เพราะคิดว่าสถานการณ์ปัจจุบันนั้นร้ายจริง     


 


ผมพบเด็กที่ซึมเศร้าหรือป่วยเป็นโรคจิตคนใหม่ๆทุกวันๆละหลายคน วันจันทร์และวันพุธพบที่โรงพยาบาล      วันอังคารพบที่สำนักงานคุมประพฤติจังหวัด      วันพฤหัสพบในเรือนจำกลางจังหวัดซึ่งใช้เป็นสถานที่ควบคุมตัวเด็กติดยา      วันศุกร์พบที่สถานพินิจเด็กฯ   


 


ไม่มีสัปดาห์ใดเลยที่จะไม่มีเพื่อนร่วมงานเอาปัญหาวัยรุ่นมาปรึกษา


 


จึงไม่ทราบว่าจะประนีประนอมกับความร้ายกาจเหล่านี้ไปทำไม