Skip to main content

คู่มือสำหรับนักชมเทศกาลดนตรีมือใหม่

คอลัมน์/ชุมชน

 


 


น่าสังเกตว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา  แฟชั่นการจัดเทศกาลดนตรีกำลังเฟื่องฟูในสังคมไทย ดังที่เราจะได้เห็นว่าบรรดาหลากหลายหน่วยงานลุกขึ้นมาจัดเทศกาลดนตรีกันอย่างเอิกเกริก ตั้งแต่หน่วยงานของรัฐ คลื่นวิทยุ รายการโทรทัศน์ และอะไรต่อมิอะไร จนเผลอๆ เราจะมีเทศกาลดนตรีให้ชมกันทุกเดือนกันซะอย่างนั้น


 


ซึ่งปรากฏการณ์แบบนี้ อาจทำให้บรรดานักชมเทศกาลคอนเสิร์ตเกิดอาการตั้งตัวไม่ถูก ทำอะไรก็ดูงกๆ เงิ่นๆ อาจทำให้เที่ยวชมเทศกาลดนตรีไม่สนุกเอาเสียได้


 


ดังนั้น ในฐานะที่ผมเองก็เขียนบทความเกี่ยวกับดนตรีในเว็บนี้ และพอจะมีประสบการณ์ในการเข้าชมเทศกาลดนตรีอยู่บ้าง จึงขอทำตัวเป็น "กูรู้" (Guru)  แนะนำวิธีการชมเทศกาลดนตรีฉบับย่นย่อให้ท่านผู้อ่านได้นำไปใช้เป็นแนวทางในการชมเทศกาลดนตรีอย่างสนุกสนาน


 


ว่าแล้วก็เริ่มต้นเลยครับ


 


บทที่ ๑. เริ่มเตรียมตัวก่อนออกเดินทาง


๑.๑. การแต่งกาย


การแต่งกายสำหรับผู้เตรียมตัวชมเทศกาลดนตรีนั้น ขอแนะนำให้คำนึงถึงความสะดวกในการลุก-นั่ง-เดิน-วิ่งเป็นสำคัญ


 


เสื้อ ขอแนะนำให้สวมเสื้อยืด หรือเสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี เนื่องจากเทศกาลดนตรีส่วนใหญ่มักจะจัดกลางแจ้ง ประกอบกับประเทศไทยเป็นเมืองร้อน การใส่เสื้อหนาๆ พร้อมเครื่องแต่งกายพะรุงพะรังจึงไม่ใช่เรื่องฉลาดนัก


 


กางเกง/กระโปรง สำหรับคุณสุภาพบุรุษคงไม่มีปัญหาอะไรมากนัก แต่สำหรับคุณสุภาพสตรี...กระโปรงสั้นเป็นสิ่งต้องห้ามสำหรับการชมเทศกาลดนตรี เนื่องจากคุณอาจต้องพบกับเวทีการแสดงที่ไม่มีเก้าอี้นั่งชมอย่างมีกิจจะลักษณะ รวมทั้งความไม่สะดวกในการนั่งที่ต้องพะวงว่าจะ "โป๊" หรือเปล่า...ขอแนะนำกางเกงขายาว หรือสามส่วนจะเหมาะกับทั้งชายและหญิงครับ


 


รองเท้า ไม่แนะนำให้ใส่รองเท้าที่เพิ่งซื้อมาใหม่ๆ เพราะการถูกรองเท้ากัด ทั้งๆ ที่ต้องเดินทั้งวันนั้นนับเป็นเรื่องทรมานเหลือคณานับ  แต่ผมขอแนะนำให้ใส่รองเท้าผ้าใบคู่ที่คุ้นเคยกับเท้าดีแล้ว เพราะรองเท้าผ้าใบเป็นรองเท้าที่คล่องตัว  เหมาะกับการเดิน-วิ่งเป็นอย่างยิ่ง  โดยเฉพาะในยามต้องเดิน-วิ่งให้ห่างจากบรรดากองกำลังไม่ทราบฝ่าย ที่นิยมมาฟาดปากกันกลางงานอยู่ในหลายๆ งาน เฮ้อ...


 


อื่นๆ  ควรจะเตรียมย่ามหรือเป้ขนาดพอสมควร ไว้ใส่เครื่องใช้เล็กๆ น้อยๆ อาทิ  ลูกอมสำหรับแก้คอแห้ง น้ำดื่มขวดเล็กๆ เครื่องสำอาง ฯลฯ (จริงๆ แล้วบางงานจะไม่ให้เอาอาหารเข้างาน แต่ตราบใดที่เราไม่ได้เอาอาหารมื้อหนักเข้าไป ก็ไม่เป็นปัญหาหรอกครับ)


 


สิ่งที่ไม่ควรเอาไป!  ไม่แนะนำให้นำอาวุธ วัตถุมีคม หรืออะไรก็ตามที่สามารถเป็นอาวุธได้ (เช่น เข็มขัดหัวใหญ่ๆ, ร่ม เป็นต้น) เข้าไปในงาน เพราะสิ่งของเหล่านี้มีโอกาสจะพรากจากคุณได้ง่ายๆ ด้วยฝีมือของการ์ดรักษาความปลอดภัย


 


๑.๒. ศึกษารายละเอียดก่อนไปงาน


ถ้ามีโอกาส ควรศึกษาถึงรายละเอียดของสถานที่แสดง (เช่น รถเมล์สายที่ผ่านหน้างาน รวมทั้งเวลาที่รถเมล์หมด รวมถึงร้านค้า-ร้านอาหารที่อยู่ใกล้ที่จัดงาน), ตารางการแสดง เพื่อประโยชน์ในวันงาน


 


บทที่ ๒. ในวันงาน


 


เมื่อคุณถึงงานแล้ว สิ่งที่คุณควรทำคือการหาตารางการแสดงมาไว้กับตัว เพื่อกำหนดเวลาว่าควรจะทำอะไร เวลาไหนควรจะดูดนตรี  เวลาไหนควรจะเป็นเวลาทำธุระส่วนตัว  แต่อย่างไรก็ตาม  เวลาในการแสดงอาจมีการเปลี่ยนแปลงในวันงาน ดังนั้น จึงควรฟังประกาศจากฝ่ายประชาสัมพันธ์ของงาน มิเช่นนั้นอาจเกิดกรณีที่คุณตั้งใจจะไปดูคอนเสิร์ตของวงสาวๆ น่ารัก แต่กลับไปเจอวงฮาร์ดคอร์สุดโหดซะอย่างงั้น


 


 ในกรณีที่บางเทศกาลมีบูธจำหน่ายผลงานของค่ายเพลงต่างๆ  แล้วคุณกลัวว่าจะใช้เงินกับสินค้าเหล่านั้นจนเกินงบ ผมขอแนะนำ "วิธีประหยัดแบบเอ๋" ("เอ๋" คือรุ่นน้องนิเทศจุฬาฯ ของผม เขาเป็นคนแนะนำวิธีนี้ให้ผม ผมจึงขอตั้งชื่อวิธีประหยัดแบบนี้ไว้เพื่อเป็นเกียรติแก่เอ๋ครับJ)  วิธีที่ว่าคือ การเตรียมเงินที่จะใช้ในหนึ่งวันให้พอดี โดยทิ้งบัตรเอทีเอ็ม และสิ่งอื่นที่จะเอื้อต่อการเสียตังค์เพิ่มไว้ที่บ้าน  วิธีนี้จะทำให้คุณคิดกับการใช้เงินมากขึ้น ทำให้ปลอดภัยต่อกระเป๋าสตางค์ในช่วงปลายเดือนดีแท้ J


 


สำหรับเรื่องอาหารการกิน  แม้ว่าในงานเหล่านี้จะมีอาหารจำหน่าย แต่ด้วยปริมาณคนที่เยอะ ประกอบกับอาหารภายในงานมักจะแพง ถ้าเป็นไปได้ จึงขอแนะนำให้กินก่อนเข้างาน หรือไม่ก็ออกมากินข้าวข้างนอกงาน แล้วค่อยเดินกลับเข้าไปในงานก็ไม่เสียหาย


 


การมีเพื่อนไปเป็นกลุ่มนั้นมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อเสียคืออาจต้องตกลงกันดีๆ ว่าจะไปดูอะไรกัน เพราะอาจเกิดอาการเสียงแตกกันกลางงานได้ แต่การมีเพื่อนไปเยอะๆ (โดยเฉพาะเพื่อนที่บ้านอยู่ละแวกเดียวกัน) ก็มีข้อดีตรงที่สามารถประหยัดค่ารถแท็กซี่ได้มาก (นัยว่าคนไปเยอะ ก็ยิ่งแชร์ค่ารถได้ยิ่งมากนั่นเอง)


 


ชาร์ตแบตฯ โทรศัพท์มือถือให้เต็ม อีกทั้งควรมีเศษเหรียญไว้สำหรับโทรนัดหมายที่นัดพบในกรณีพลัดหลง


 


จะทำอะไรก็แล้วแต่ ขอให้คำนึงถึงคนที่มางานเหมือนเราด้วย (จะกินเหล้า สูบบุหรี่บ้างก็ไม่ว่ากันหรอกนะ แต่ขอให้อย่าไประรานชาวบ้านเขา เป็นโอเค)


 


สำหรับผู้ปกครองที่ไปงานกับบุตรหลาน  ขอให้เข้าใจในพฤติกรรมที่อาจจะดูแปลกๆ ของวัยรุ่น ที่แม้อาจจะดูพิลึกพิลั่นไปบ้าง (อาทิ การแต่งกายแบบ Hip Hop หรือบรรดาขาพังค์หัวเม่น เป็นต้น) แต่ขอให้แยกแยะความ "แปลก" ออกจากความ "เลว" ("เลว" ที่ว่า  ก็อาทิพวกที่กะไปโชว์พลังด้วยการตีกันกลางงานคอนเสิร์ต เป็นต้น) และพยายามทำความเข้าใจกับพฤติกรรมของวัยรุ่น เพราะเด็กๆ ที่เรามองเขาว่าดื้อก็ต้องการอะไรแบบนี้แหละครับ


 


อย่าทำตัวแบบ "หน่วยงานเฝ้าระวัง" ของกระทรวงแถวๆ ปิ่นเกล้า ที่มองว่าวัฒนธรรมที่ดีคือการจับเด็กมารำไทยเลยครับ ผมขอร้อง...