Skip to main content

การศึกษาเพื่อครู เพื่อเด็ก หรือเพื่อใคร

คอลัมน์/ชุมชน


เห็นข่าวการโกนหัวประท้วงของครูไม่ยอมให้มีการโอนสถานศึกษารวมทั้งบุคลากร (ครู) ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  แล้วทำให้ต้องคิดว่าทำไม  


 


สิ่งที่ได้ยินได้ฟังก็คือว่าครูไม่มั่นใจว่าองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นหรือชัดๆ คือ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และเทศบาล ไม่มีศักยภาพพอในการบริหารการศึกษารวมถึงฟังน้ำเสียงแล้วมีดูแคลนหน่อยๆ ว่า องค์กรเหล่านี้มีน้ำยาแค่ไหนที่จะเอาครูไปสังกัดอยู่ภายใต้เขา  โดยมีการอ้างถึงในรัฐธรรมนูญว่าไม่มีมาตราใดระบุว่าต้องโอนการศึกษาให้ท้องถิ่น ฟังดูก็เป็นสิ่งที่ครูเองเป็นห่วงเรื่องคุณภาพการศึกษา


 


ในขณะที่การปฏิรูประบบการศึกษาภายใต้กระทรวงศึกษาธิการเองที่มีการออกพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติมากว่า 5 ปีแล้วก็ไม่มีความคืบหน้า ยังมีกระแสข่าวออกมาตลอดว่า เมื่อเอาเด็กไทยไปสอบแข่งขันกับเด็กเพื่อนบ้านโดยเฉพาะเวียดนามนั้น เรายังสู้เขาไม่ได้  ยังมีเสียงบ่นเรื่องการจัดการแบ่งเขตพื้นที่การศึกษา ครูเป็นหนี้สินล้นพ้นตัวจนรัฐบาลต้องออกมาหาทางแปลงหนี้ ยกหนี้ให้  ขณะที่เสียงชาวบ้านก็บ่นมากขึ้นทุกวันว่า รัฐบอกว่าให้เรียนฟรี 12  ปีตามรัฐธรรมนูญกำหนดนั้นไม่ฟรีจริง  รัฐปล่อยให้โรงเรียนเรียกเก็บเงินอื่นๆ อย่างเสรี ไม่ว่าจะเป็นค่ากิจกรรม เข้าค่าย ติวเข้ม ค่าคอมพิวเตอร์ ค่าห้องแอร์ ค่าทัศนศึกษา จิปาถะ จนผู้ปกครองหมุนเงินมาจ่ายไม่ทันไปตามๆ กัน


 


ท่ามกลางสถานการณ์ปัญหาต่างเหล่านี้ ถามว่าได้เอื้อต่อการพัฒนาเด็กซึ่งเป็นอนาคตของชาติเพียงใด หากคิดกันอย่างเป็นจริง  เมื่อให้องค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นบริหารจัดการศึกษาเอง ซึ่งเป็นการศึกษาสำหรับลูกหลานของเขาเองในพื้นที่ จะเป็นไปได้หรือว่าเขาจะละเลยไม่ใส่ใจพัฒนาการศึกษาให้ดีที่สุด  เขาน่าจะทุ่มเททรัพยากรให้เต็มที่เพราะเป็นการทำให้ลูกหลานของเขามีคุณภาพ สามารถออกไปสอบแข่งขันภายนอกได้ สามารถนำเอาความรู้ความสามารถกลับมาพัฒนาบ้านเกิดของตนเอง เกิดจิตสำนึกรักท้องถิ่น เพราะหลักสูตรการศึกษาได้รับการพัฒนาโดยคนในท้องถิ่นเอง  ทั้งนี้เป็นการคิดตามทฤษฎีที่ควรจะเป็น


 


อย่างไรก็ตาม สภาพความเป็นจริงในปัจจุบัน  เรามี อบต.กว่าเจ็ดพันแห่งทั่วประเทศ  ซึ่งนับว่ามีจำนวนมากเกินไป  บางแห่งดูแลประชากรจำนวนน้อย  บางแห่งในพื้นที่อาจมีเด็กไม่ถึง 50 คนที่ต้องการโรงเรียนประถม  บางแห่งไม่มีงบประมาณมากพอสำหรับบริหารจัดการบริการขั้นพื้นฐานให้กับประชาชน  เหล่านี้ทำให้น่าเป็นห่วงจึงไม่แปลกใจที่กลุ่มครูจะตั้งคำถามว่าสมควรที่จะโอนระบบการศึกษาให้ไปอยู่ภายใต้องค์กรบริหารที่ยังไม่มีความเข้มแข็งเพียงพอหรือ และแม้แต่ความวิตกกังวลลึกไปกว่านั้นคือ อบต.เองนั้นเป็นอิสระจากรัฐส่วนกลางมากน้อยเพียงใด ยังอยู่ภายใต้การกำกับของมหาดไทยเพียงใด ครูเองก็มีศักดิ์ศรีในฐานะเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาเด็กนักเรียน ต้องการความอิสระในการจัดการเรียนการสอน และไม่ควรถูกลากเข้าไปสังกัดกระทรวงอื่นที่ไม่ใช่กระทรวงศึกษาธิการ


การศึกษานับเป็นปัจจัยพื้นฐานในการส่งเสริมพัฒนามนุษย์ให้มีศักดิ์ศรีในการดำรงชีวิต การศึกษาจึงเป็นไปเพื่อพัฒนาคุณภาพมนุษย์  นักเรียนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา ครู องค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น กระทรวงศึกษาธิการ เป็นกลไกให้การศึกษามีระบบมีคุณภาพที่จะทำให้ประเทศบรรลุวัตถุประสงค์ของการพัฒนาคน จึงน่าจะกลับมาทบทวนว่าการศึกษาเพื่อใคร และทุกฝ่ายควรร่วมกันพิจารณาด้วยใจมุ่งมั่นเพื่อเด็กไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์ของใครฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง การให้ท้องถิ่นมีส่วนรับผิดชอบการจัดการศึกษานับว่าเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนา


 


ขณะเดียวกันก็ต้องมีการปรับปรุงรูปแบบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้มีพัฒนาการของคนที่เข้ามาบริหารที่มีความรู้ความสามารถไม่ใช้เพื่อแสวงหาผลประโยชน์และอำนาจ การพิจารณาถึงขอบเขตทางด้านกายภาพของพื้นที่ปกครองดูแลไม่เล็กเกินไป ไม่ใหญ่เกินไป การเป็นอิสระอย่างแท้จริงจากรัฐส่วนกลาง การได้รับการจัดสรรงบประมาณที่เพียงพอและเหมาะสม การมีระยะเปลี่ยนผ่านให้องค์กรท้องถิ่นที่พร้อมเริ่มดำเนินการก่อน  องค์กรท้องถิ่นที่ยังไม่พร้อมต้องพิสูจน์ตนเองหรือมีการปรับรูปแบบไปเป็นลักษณะร่วมกันหลายแห่งบริหารจัดการด้วยกัน เช่น ทุก อบต.ในอำเภอหนึ่งๆบริหารโรงเรียนร่วมกัน  เป็นต้น


 


ครูเองก็คงมีความคิดหลากหลาย  จำนวนครูหลายแสนคนนั้นคงมีทั้งที่พร้อมและไม่พร้อมจะทำงานร่วมกับองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น  จึงควรมีการหาทางออกร่วมกันให้ครูมีโอกาสพิจารณาทบทวนและเลือกการทำงานที่เหมาะสม โดยยืนอยู่บนพื้นฐานว่าการศึกษาเพื่อเด็ก  การรับประกันว่าครูจะได้รับเงินเดือนและสวัสดิการที่มั่นคงเช่นเดียวกับข้าราชการสังกัดกระทรวงอื่นๆ เพียงแต่ว่าเม็ดเงินนั้นจะผ่านมาทางกระทรวงศึกษาธิการหรือผ่านมาทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในระยะเปลี่ยนผ่านควรมีการสำรองเงินกองทุนเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า


 


กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งจะมีขนาดเล็กลง ก็จะทำหน้าที่ทางวิชาการ การพัฒนารูปแบบ เทคโนโลยี การจัดการศึกษา การควบคุมคุณภาพและมาตรฐานการจัดการศึกษา การควบคุมคุณภาพของครู การจัดสอบใบประกอบวิชาชีพครู  การพัฒนาความเป็นเลิศทางวิชาการเฉพาะด้านเพื่อการพัฒนาประเทศ ไม่ต้องมาเป็นภาระดูแลจัดการศึกษาของเด็กทั้งประเทศที่มีความแตกต่างกันทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ความเชื่อ ความหลากหลายของชาติพันธุ์ 


 


เพราะการพัฒนาคนเป็นภารกิจร่วมกันของคนทั้งประเทศ อยากเห็นข้อมูล ข้อเท็จจริง ทั้งจากกลุ่มครูที่ออกมาประท้วง จากกระทรวงศึกษาธิการ จากรัฐบาล ว่าอะไรคือความโปร่งใสของสถานการณ์ปัญหานี้