Skip to main content

ดอกไม้หายไปไหน

คอลัมน์/ชุมชน




 


    


 



ดอกไม้  ดอกไม้จะบาน บริสุทธิ์กล้าหาญ จะบานในใจ 


สีขาว  หนุ่มสาวจะใฝ่ แน่วแน่แก้ไข จุดไฟศรัทธา 


เรียนรู้  ต่อสู้มายา ก้าวไปข้างหน้า เข้าหามวลชน 


ชีวิต  อุทิศยอมตน ฝ่าความสับสน เพื่อผลประชา


ดอกไม้  บานให้คุณค่า จงบานช้าๆ แต่ว่ายั่งยืน 


ที่นี่ และที่อื่นๆ ดอกไม้สดชื่น  ยื่นให้มวลชน


("ดอกไม้จะบาน" โดย จิระนันท์ พิตรปรีชา)


           


ผู้เขียนขอยืมชื่อเพลงฝรั่งมาแปลเป็นไทย และเอางานของไทยมาจั่วหัว เพื่อให้เห็นถึงว่า "ดอกไม้" ถูกใช้เปรียบเทียบถึง "วัยหนุ่มสาว" ไม่ใช่วัยกลางคนแบบผู้เขียน  แต่วันนี้ผู้เขียนขอบอกว่า "วัยหนุ่มสาว" ของวันนี้ต่างกับ "วัยหนุ่มสาว" ของผู้เขียน และไม่มีเจตนาโจมตีหากแต่มีความเห็นใจกับความเป็นหนุ่มสาวของสมัยนี้ ที่ทำให้เป็น "ดอกไม้ที่ไม่ได้บาน"


 


สมัยครั้งที่เรียนธรรมศาสตร์  ปี ๒๕๒๕ ผู้เขียนโดนฝังหัวจากสังคมรอบข้างว่า "รีบเรียน รีบจบ  รีบเรียนต่อ  และต้องเรียนให้ได้เกียรตินิยม จะได้หาที่เรียนต่อไม่ยาก"  งานกิจกรรมนักศึกษาที่เกี่ยวกับการเมืองไม่ต้องยุ่ง


 


ผู้เขียนยอมรับว่าชีวิตก็ดำเนินด้วยดี  การเป็นเด็กดีในสายตาผู้ใหญ่ทำให้ชีวิตไม่เดือดร้อน  เพราะพ่อแม่ซื้อรถป้ายแดงน่ารักให้ขับ  ให้ไปซัมเมอร์คอร์สที่สหรัฐฯ  มีเงินพอใช้จ่ายไม่เดือดร้อน มีบ้าน มีคนใช้ มีเวลาวิ่งหาแฟน (และในที่สุดก็เหลว)  มีเวลาไปเตรียมตัวเรียนต่อเมืองนอก


 


แม้ไม่ใช่ชีวิตคุณหนูสมบูรณ์แบบ แต่ก็เฉียดๆ  สำนึกในพระคุณพ่อแม่ที่ไม่บีบคั้นตนเองนัก ขอให้เรียนให้ดี แค่นั้นพอ แต่สิ่งที่ขาดหายไปคือ ไม่รู้เลยว่า ไอ้ที่เรียกว่า "สำนึกทางสังคม" มันคืออะไร เพราะดูเหมือนว่าตรงนี้นี่เราไม่ได้เป็น หมายเลขสอง สาม สี่ หรือห้า   เป็นบุคคลที่เรียกง่ายๆ ว่า "นักศึกษาชนชั้นกลาง ไร้สำนึก" (ถ้าจำไม่ผิด อ.เสกสรรค์ใช้คำนี้ก่อนเมื่อราวๆ ปี ๒๕๔๑) ที่ได้เปรียบมากในสังคมไทย


 


เมื่อมาเรียนปริญญาโท จึงเริ่มเปิดหูตาตนเอง วิชาที่เปิดมากคือ "วาทศิลป์แห่งยุค ๑๙๖๐-๑๙๖๙" (Rhetoric of the 1960’s) จึงได้รู้ว่า "ยุคดอกไม้บาน"ของสหรัฐฯ เป็นอย่างไร แต่ก็เรียนไปโง่ไป บังเอิญเพื่อนฝรั่งมาช่วยติวให้ (ต้องขอบคุณเพื่อนกลุ่มนี้มากๆ) ทั้งห้องมีหน้าเอเชี่ยนอยู่คนเดียว เหตุเกิดในปี ๑๙๘๗ ตอนนั้นบอกกับตัวเองว่า เรียนๆ ไปให้จบๆ แต่เรียนๆ ไปแล้วเริ่มติดใจ อยากเรียนต่อๆ ไปอีก เพราะมันทำให้รู้ว่าไอ้ที่เราเห็นข้างนอกน่ะ ไม่ได้เหมือนข้างในเอาซะเลย  คนดูโดนหลอกซะทั้งนั้น แต่ที่น่าสนใจที่สุดคือ เรื่องของ "บุคคลชายขอบ" ตอนนั้น ใช้คำว่า "subcultures"  ไม่ใช่ "marginalized groups" 


 


จึงติดใจจนกระทั่งเมื่อทำภาคนิพนธ์ขอจบ ได้ทำหัวข้อเกี่ยวกับ บุคคลรักเพศเดียวกันในชาย และกระบวนการเปิดเผยตนในสังคม พอเล่าให้แม่ฟัง แม่ช็อค อีกทั้งก่อนจบ เขียนบทความ "ซุกอกอุ่น" ลงใน "สตรีสาร" ใช้นามปากกว่า "แพ็ท โรเจ้อร์"  ราวเดือนสิงหาคม ปี ๑๙๘๘ เป็นที่ฮือฮามาก เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับเกย์ที่ชัดเจน เหมือนเป็น "manifesto" ผู้อ่านที่รับไม่ได้ เขียนไปท้วงมากมาย ได้เกิดเลยคราวนั้น


 


ยอมรับว่า สหรัฐฯ สอนให้เริ่มรู้จักว่า การเป็นบุคคลชายขอบนั้นเป็นอย่างไร เริ่มรู้สึกว่าอยู่นิ่งไม่ได้ แต่ก็รู้อีกว่าทำอะไรไม่ได้มากเหมือนกัน เพราะกระแสทุนนิยมหลังสมัยใหม่มาแรงมาก และมันเข้ามาแล้วในไทยตอนนั้นสมัยรัฐบาลชาติชาย


 


ต่อมาเมื่อกลับถึงไทยแล้ว ก็ไปสมัครงานที่ธนาคารตราดอกไม้แห่งหนึ่ง ช่วงที่สัมภาษณ์โดนยิงคำถามว่า "ทำไมทำวิจัยเรื่องเกย์" ด้วยความมั่นใจจึงตอบไปว่า "ก็เป็นกับเค้าด้วยนี่ครับ"   จากนั้นก็รู้ว่าไม่ได้เข้ารอบ  พี่ที่น่ารักคนหนึ่งข้างในมาบอกว่า ไม่น่าไปบอกตรง เลี่ยงได้น่าเลี่ยง  ผู้เขียนบอกว่า ดีแล้ว ก็ถ้าไม่พอใจจุดนี้ ก็ไม่ต้องรับ ไม่ต้องมาปกปิดอะไร ทุกวันนี้ไม่ติดใจ เวลาที่ต้องทำงานร่วมกับธนาคารนั้นเป็นบางครั้ง ก็ไม่คิดมาก ได้แต่หวังว่า อะไรตรงนั้นน่าจะเปลี่ยนไปบ้าง


 


ที่เล่ามาคือกำลังจะบอกว่า สภาพสังคมปัจจุบันไม่ได้เอื้อแต่อย่างใด ที่จะทำให้ดอกไม้บาน  คนที่ตำหนิหนุ่มสาวปัจจุบันต้องถามตนเองดูก่อนว่า ตนเองได้ให้โอกาสเค้าแค่ไหน เท่าที่เห็นทำกันก็มีแต่เหตุผลที่นำไปสู่ผลประโยชน์ตนเองทั้งนั้น  ที่เห็นชัดก็เป็นพวกประกวดหนุ่มสาวหน้าตาดี หรือไม่งั้นก็ลีดเด้อร์ ตกลงมาคอหักตาย ที่อเมริกานี่มีจริงแบบนี้ทุกอย่าง แต่พวกนี้ก็กำลังประสบปัญหาเหมือนกัน เพราะเด็กอเมริกันตอนนี้ก็ไม่ได้ให้ความสนใจกับกิจกรรมทางสังคมสักเท่าไร เอาเป็นว่าพี่ไทยเอามาครบ แต่ไม่เคยดูเลยว่าอันไหนดีไม่ดีอย่างไร แถมกระบวนการฝึกที่นี่ก็ซับซ้อนกว่าแยะ


 


สมัยหลังเหตุการณ์เดือนตุลาฯ  ภาพของความเป็นเด็ก "หัวก้าวหน้า"  คือเด็กที่รู้เรื่องเทคโนโลยี และวิทยาศาสตร์ต่างๆ  แต่สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์นั้น ไม่ได้รับการเหลียวแล นอกจากจะปั๊มกันออกมาเพียงให้เด็กได้ติดปริญญาเท่านั้น  เพราะต้นทุนต่ำ ซึ่งจริงๆ แล้วการเรียนสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์นั้นต้องใช้วิธีคิดที่มากกว่า "หนึ่งบวกหนึ่งเป็นสอง หรือ ถ้าไม่ขาวก็ต้องดำ"   ผู้เรียนต้องมีการฝึกฝนในการอ่าน เขียนชั้นสูง และการวิเคราะห์ต้องแม่นยำ ทุกวันนี้ที่ปริญญาตรีไทย นี่แทบไม่ได้อะไรเลย (อันนี้ฝรั่งอเมริกันก็ตามมาติดๆเหมือนกัน) ยิ่งปริญญาโทนี่เหมือนมีไว้ปรับวุฒิเสียเป็นส่วนมาก เคยไปช่วยสอนปริญญาเอกบางแห่ง เล่นเอาอึ้ง เพราะเรื่องที่ควรรู้ตั้งแต่ปริญญาตรีก็ไม่ได้  ถามว่าเรียนทำไม  ก็บอกว่า "เก๋ดี จะได้มี ดร.นำหน้า"  เอาเป็นว่าเงินง้างกันอีกก็แล้วกัน


 


กระบวนการสร้างดอกไม้บานมีมากกว่าที่จะบอกว่าให้คนมีโอกาสได้เรียน ได้เข้าสู่สถาบันทรงเกียรติ แต่อยู่ที่ว่า ในกระบวนการกล่อมเกลาทางสังคมทั้งหมด หรือวัฒนธรรมกระแสหลักนี่แหละ จะเอื้อแค่ไหน ถ้าคนในสังคมเองยังไหลไปตามกระแสหลักแบบไม่ลืมหูลืมตา แม้กระทั่ง "ดอกไม้ที่เคยบาน" ในอดีต วันนี้ก็ยังเลิกบานไปแล้วหลายต่อหลายดอก


 


ดอกไม้ที่จะบานในอนาคต จะมีเหลือกี่ดอก หากสังคมกระแสหลักมีแต่ความขาดหวัง และไม่คิดจะเปลี่ยนแปลงตนเอง (รายละเอียดต่อเนื่องอาจตามมาต่อไป)  ดอกไม้ตูมๆ ที่มีอยู่จะไม่เป็นดอกไม้ที่พึงปรารถนา อาจไม่ได้หายไปไหน แต่ไม่บาน อาจเป็นเพราะบานเองไม่ได้ หรือบางทีก็ขี้เกียจบานเสียเอง


 


หยุดหลอกกันได้มั้ย  แล้วมาช่วยกันทำให้ดอกไม้บานกันเถอะ นี่คือหน้าที่ของทุกคน