Skip to main content

ชัยชนะที่ยั่งยืน

คอลัมน์/ชุมชน

 


 


ในการอบรมคราวหนึ่ง วิทยากรได้ชูกำปั้นขึ้น และเชิญชวนให้ทุกคนในห้องหาทางทำให้เขาแบมือออกมา    คนแล้วคนเล่าลุกขึ้นมางัดแงะกำปั้นของเขา  พยายามดึงนิ้วของเขาให้ถ่างออก หรือไม่ก็บีบข้อมือของเขาโดยหวังว่าความเจ็บปวดจะทำให้เขาคลายกำปั้น  แต่ก็ไม่ได้ผล


 


ถ้าเป็นคุณ จะทำอย่างไร ?


 


ชายผู้หนึ่งเดินตรงมาหาเขาด้วยหน้าตายิ้มแย้ม แล้วก็พนมมือไหว้  เขายกมือไหว้ตอบทันที   สักพักคนในห้องจึงสังเกตว่ากำปั้นของเขาได้คลายออกแล้ว 


 


โดยไม่ได้ใช้กำลังอย่างคนอื่น ๆ เลย ชายผู้นี้สามารถทำให้วิทยากรคลายกำปั้นออกมาได้  เขาเพียงแต่แสดงไมตรีด้วยการพนมมือไหว้เท่านั้น


 


คุณเป็นคนหนึ่งหรือไม่ที่คิดอย่างชายผู้นี้  ถ้าใช่ คุณเป็นคนส่วนน้อยมาก ๆ  เพราะจากประสบการณ์ของวิทยากร คนส่วนใหญ่คิดแต่การเอาชนะเขาด้วยกำลัง ไม่ว่าหญิงหรือชาย เด็กหรือผู้ใหญ่   มีไม่กี่คนที่คิดจะชนะใจเขา ถ้าไม่ด้วยการไหว้ ก็ด้วยการยื่นดอกไม้หรือยื่นมือมาทักทายเขา


 


กิจกรรมเล็ก ๆ นี้บอกอะไรบ้างไหมเกี่ยวกับวิธีคิดของผู้คนส่วนใหญ่ในเวลานี้   ใช่หรือไม่ว่าเราคิดถึงการใช้กำลังมากกว่าวิธีการที่สันติ  เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นกับใครก็ตาม เราคิดแต่จะเอาชนะด้วยกำลังยิ่งกว่าการชนะใจ  แต่กิจกรรมเดียวกันนี้เองก็บอกเราว่าวิธีการที่สันตินั้นสามารถแก้ปัญหาได้ดีกว่าแม้ในกรณีที่ดูเหมือนว่าต้องใช้กำลังเท่านั้นเป็นทางออก  การใช้ไมตรีนั้นสามารถทำให้อีกฝ่าย "ยอมจำนน"ได้ หรือพูดให้ถูกต้องกว่านั้นก็คือ "ชนะ"ทั้งสองฝ่าย เพราะขณะที่วิทยากรได้มิตรภาพ  อีกฝ่ายก็สามารถคลายกำปั้นเจ้าปัญหาออกมาได้


 


จริงอยู่กิจกรรมนี้เป็นแค่เกม  ในชีวิตจริงเราคงไม่คิดจะใช้กำลังแก้ปัญหากับใคร  แต่ใช่หรือไม่ว่าเมื่อมีข้อขัดแย้งกับใคร คนส่วนใหญ่นิยมใช้วิธี "แรงมาก็แรงไป"  ถ้าเขาโกรธมา ก็โกรธไป ด่ามา ก็ด่าไป   การใช้วิธีที่นุ่มนวลหรือใช้ความดีเข้าเผชิญมักจะถูกมองข้ามไป หรือถูกบอกปัดไปเพราะเข้าใจว่าไม่ได้ผล  แต่ในความเป็นจริงวิธีการดังกล่าวก็ได้ผลไม่น้อยไปกว่าในเกม "คลายกำปั้น"ข้างต้น


 


สตีเวน สปีลเบิร์ก ผู้กำกับและนักสร้างหนังชื่อดังแห่งฮอลลีวู้ด เล่าว่าเมื่ออายุ ๑๓ ปี  ชีวิตของเขาเหมือนตกอยู่ในนรก เพราะที่โรงเรียนมีอันธพาลวัย ๑๕ คนหนึ่งชอบทำร้ายเขา ทั้งทุบตีและขว้างปาระเบิดไข่เน่าใส่เขา  เขาทนสภาพนี้อยู่นาน แล้ววันหนึ่งเขาก็เข้าไปหาอันธพาลคนนั้นและพูดว่า "เธอรู้ไหม ฉันกำลังถ่ายทำหนังเรื่องสู้กับนาซี เธออยากเล่นบทพระเอกไหม?"  ทีแรกอันธพาลหัวเราะใส่เขา  แต่ในที่สุดก็ตกลง  สปีลเบิร์กเล่าว่า หลังจากถ่ายทำวีดีโอเสร็จ อันธพาลคนนั้นได้กลายมาเป็นเพื่อนสนิทของเขา   


 


การที่สปีลเบิร์กให้การยอมรับเขาและเปิดโอกาสให้เขาได้เป็นพระเอก มีส่วนสำคัญในการเปลี่ยนเขาจาก "ศัตรู" ให้กลายเป็นมิตรได้  เพราะลึก ๆ วัยรุ่นคนนั้นก็ไม่ได้ต้องการอะไรมากไปกว่าการได้รับความยอมรับ  สปีลเบิร์กชนะใจเขาด้วยการยื่นไมตรีให้แทนที่จะตั้งตัวเป็นศัตรูหรือยอมจำนนต่ออำนาจบาตรใหญ่ของเขา


 


น้ำใจไมตรีไม่เพียงแปรเปลี่ยนความขัดแย้งให้คลี่คลายไปในทางที่ดีเท่านั้น  หากยังสามารถเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาสได้ด้วย


 


นักธุรกิจไทยผู้หนึ่งได้เล่าถึงประสบการณ์เมื่อครั้งไปเรียนหนังสือในเมืองบอสตันว่า  เธอเคยถูกคนผิวดำล็อกคอและเอามีดจี้ขณะรอสัญญาณไฟเขียวบนเกาะหน้ามหาวิทยาลัย   เมื่อโจรพบว่าในกระเป๋าของเธอมีเงินแค่ ๒๐ ดอลลาร์ ก็ไม่พอใจ เขาขุ่นเคืองหนักขึ้นเมื่อพบว่าเธอไม่มีนาฬิกา แหวนและกำไลเลยสักอย่าง  เขาจึงถามเธอว่า  "เป็นคนเอเชียมาเรียนที่นี่ได้ก็ต้องรวยไม่ใช่หรือ ?"   เธอตอบว่า  "สำหรับฉันน่ะไม่ใช่ เพราะได้ทุนมา"  แล้วโจรก็ย้อนกลับมาถามถึงเงิน ๒๐ ดอลลาร์ว่าจะเอาไปทำอะไร  เธอตอบว่า  เอาไปซื้อไข่  เขาถามเธอว่าเอาไข่ไปทำอะไร   "เอาไปต้มกินได้ทั้งอาทิตย์" เธอตอบตามความจริงเพราะตอนนั้นการเงินฝืดเคือง


 


ระหว่างที่โต้ตอบกันอยู่นั้น   ยามหน้ามหาวิทยาลัยเห็นผิดสังเกต จึงยกหูโทรศัพท์เรียกตำรวจ  เธอมองเห็นพอดีก็เลยโบกมือว่า "ไม่ต้องๆ  เราเป็นเพื่อนกัน"  โจรได้ยินเช่นนั้นก็งง ถามว่า "คุณรู้จักกับผมตั้งแต่เมื่อไหร่?"   "ก็เมื่อกี้ไง" เธอตอบ


 


โจรเปลี่ยนท่าทีไปทันที  หลังจากสนทนาพักใหญ่  โจรไม่เพียงแต่จะคืนเงินให้เธอ  หากยังพาเธอไปซื้อไข่และซื้ออาหาร ๓ ถุงใหญ่ พร้อมทั้งหิ้วมาส่งถึงหน้ามหาวิทยาลัย  แล้วยังแถมเงินอีก ๕๐ ดอลลาร์


 


เรื่องนี้ยังไม่จบเพราะวันรุ่งขึ้นเธอนำเงิน ๕๐ ดอลลาร์นั้นไปซื้อเครื่องปรุงอาหารไทย แล้วไปเยี่ยมบ้านเขาเพื่อทำต้มยำกุ้งให้กินกันทั้งครอบครัว   นับแต่นั้นทั้งสองฝ่ายก็ไปมาหาสู่กัน   เธอเล่าว่าทุกวันนี้หากมีธุระไปบอสตันก็จะไปแวะเยี่ยมครอบครัวนี้ทุกครั้ง


 


น้ำใจไมตรีและความดีนั้นมีพลังที่สามารถเปลี่ยนร้ายให้กลายเป็นดี  และเปลี่ยนภัยคุกคามให้เป็นสะพานสานมิตรภาพได้  ใช่หรือไม่ว่าการกำจัดศัตรูที่ดีที่สุดก็คือการเปลี่ยนเขามาเป็นมิตรนั่นเอง  นี้คือชัยชนะที่ให้ผลยั่งยืนกว่าชัยชนะด้วยกำลังที่เหนือกว่า  


 


พลังของน้ำใจไมตรีและความดีนั้น อยู่ที่การดึงเอาคุณธรรมและความเป็นมนุษย์ของอีกฝ่ายหนึ่งออกมา แม้จะซ่อนเร้นหรืออยู่ลึกเพียงใดก็ตาม  ในทางตรงกันข้ามการใช้พละกำลังและความรุนแรงมีแต่จะดึงเอาความโกรธเกลียดและคุณสมบัติทางลบของคู่กรณีออกมาปะทะกัน   ผลก็คือความขัดแย้งลุกลามจนกลายเป็นความรุนแรง  หรือทำให้ความรุนแรงไต่ระดับจนยากแก่การระงับ เวรไม่อาจระงับด้วยการจองเวรก็เพราะเหตุนี้


 


น้ำใจและไมตรีไม่เพียงสามารถชนะใจคู่กรณีในความขัดแย้งระหว่างบุคคลเท่านั้น  หากยังมีอานุภาพแม้กระทั่งในความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชนที่ลุกลามจนกลายเป็นสงครามระหว่างกัน การหยิบยื่นน้ำใจและไมตรีให้แก่ผู้จับอาวุธต่อสู้รัฐเมื่อ ๒๕ ปีก่อนมีส่วนสำคัญอย่างมากที่ทำให้รัฐบาลได้รับชัยชนะในการต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) หลังประกาศนโยบาย ๖๖/๒๓   ชัยชนะในระดับประเทศเกิดขึ้นได้อย่างไร คำตอบนั้นสามารถแลเห็นได้จากเรื่องเล่าเกี่ยวกับชัยชนะในพื้นที่แห่งหนึ่งที่จังหวัดน่าน  ซึ่งเคยเป็นฐานที่มั่นของ พคท.


 


พื้นที่แห่งนั้นมีชาวม้งเป็นผู้ปฏิบัติงานและแนวร่วมที่สำคัญ  แล้ววันหนึ่งก็มีข่าวว่าทหารได้ "จับ"แกนนำและแนวร่วมที่เป็นชาวม้งไปหลายคน  อดีตสมาชิก พคท. ผู้หนึ่งเล่าว่าเมื่อได้ยินข่าวนั้นก็มั่นใจว่าชาวม้งเหล่านั้นต้องประสบชะตากรรมที่เลวร้ายแน่ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อ พคท.เพราะจะทำให้มีชาวม้งอีกหลายคนเข้าร่วมกับ พคท.มากขึ้น  แต่ปรากฏว่าไม่กี่วันต่อมาชาวม้งเหล่านั้นก็กลับมาอย่างปลอดภัย  พวกเขาเล่าว่าทหารปฏิบัติกับพวกเขาอย่างดี  อีกทั้งยังพาไปกินก๊วยเตี๋ยวและไปเที่ยวในเมือง  เสร็จแล้วก็ปล่อยกลับมา  ชาวม้งเหล่านั้นพูดว่า "ต่อไปนี้พวกผมไม่ขึ้นเขาอีกแล้ว"  เมื่อได้ยินเช่นนั้นอดีตสมาชิก พคท.ผู้นั้นก็เห็นลางร้าย เขาถึงกับพูดขึ้นว่า "เราแพ้ทางเขาแล้ว"


 


ใช่หรือไม่ว่ายิ่งรัฐใช้ความรุนแรงมากเท่าไรในการปราบผู้ก่อความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็ยิ่ง "เข้าทาง" ของเขามากขึ้นเท่านั้น   การหยิบยื่นน้ำใจไมตรีและใช้สันติวิธีเท่านั้นที่จะทำให้เขา "แพ้ทาง"   เพราะถึงจะยังชนะใจเขาไม่ได้  แต่ก็สามารถชนะใจและดึงประชาชนที่เป็นแนวร่วมของเขาให้กลับมาเป็นมิตรกับเจ้าหน้าที่รัฐได้  นี้คือปัจจัยแห่งชัยชนะที่ยั่งยืนซึ่งอาวุธปืนไม่สามารถสร้างขึ้นได้


 


(บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกใน นสพ.โพสต์ทูเดย์)