Skip to main content

ไม่มีกองทุนไหนกระตุ้นเศรษฐกิจรากหญ้าได้หรอก ! (เชื่อฉันเหอะเจ้านาย...)

คอลัมน์/ชุมชน

 


 


ไม่ว่ายุคนี้หรือยุคก่อน หน่วยงานภาครัฐต่างก็แก้ปัญหาความยากจนของชาวบ้านในชนบทด้วยการใส่ "Input" หรือให้ "กองทุน" ต่างๆ ลงมายังหมู่บ้าน เพราะเชื่อว่าชาวบ้านยากจนเนื่องจาก "ไม่มีเงิน" ดังนั้น ถ้าภาครัฐส่งเงินลงมาจะทำให้เกิดการใช้จ่าย และการหมุนของเงินด้วยกลไกตลาดเสรีจะเป็น "ตัวคูณ" (Multiplier) ที่จะทำให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจรากหญ้าได้ในที่สุด (ดูง่ายจังแฮะ !)


 


แต่ความจริง มันบ่ง่ายอย่างนั้นหรอกนาย !


 


ตัวอย่างเช่นกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ที่มีเม็ดเงินปล่อยลงสู่หมู่บ้าน 7 หมื่นกว่าล้านบาท ซึ่งถูกโฆษณาว่าประสบความสำเร็จเพราะ (1) สมาชิกส่งครบกำหนดชำระคืนเงินงวด มีเพียงร้อยละ 1 เท่านั้นที่ไม่สามารถส่งคืนเงินได้ตามกำหนดเวลา ซึ่งถือว่าหนี้เสียต่ำมาก  (2) กว่าร้อยละ 90 ของผู้ที่ได้รับเงินกู้รู้สึกพอใจจนถึงพอใจมากในโครงการ (3) ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้น (4) เงินกู้ถูกนำไปใช้ในการลดหนี้นอกระบบซึ่งมีดอกเบี้ยแพงมาก คือร้อยละ 10 – 20 บาทต่อเดือน (ศอกกลับคนรู้ทัน, 2547. ข้าแผ่นดิน(เขียน))


 


แต่ทว่าความสำเร็จข้างต้น คือ หนี้เสียต่ำ และความพอใจดังกล่าวเป็นคนละเรื่องกับการแก้ปัญหาความยากจน


 


ในความเป็นจริงจากพื้นที่ (ที่ไม่ใช่รายงานสวยหรูของหน่วยงานต่างๆ) พบว่าโครงการดังกล่าวแก้ไขปัญหาความยากจนได้ค่อนข้างน้อย  สาเหตุเพราะความยากจนของชาวบ้านเป็นปัญหาการจนโอกาสและอำนาจ โดยเฉพาะโครงสร้างเศรษฐกิจของหมู่บ้านเป็นโครงสร้างแห่งการพึ่งพาปัจจัยการผลิตและตลาดที่ชาวบ้านไร้อำนาจการต่อรองแทบจะทุกด้าน  รวมทั้งการปลูกพืชเชิงเดี่ยวชนิดเดียว ทำให้ต้องซื้ออาหารและของกินของใช้จากที่อื่นๆ มาบริโภค  ไม่ได้ผลิตเอง  การเข้ามาของรถขายกับข้าวในหมู่บ้านวันละ 2 รอบ รถขายของเร่ รวมทั้งตลาดนัดในตำบลที่มีแทบทุกวัน เป็นตัวอย่างชัดเจนที่สะท้อนให้เห็นว่าชาวบ้านต้องพึ่งพาการบริโภคจากภายนอก


 


ด้วยโครงสร้างแห่งการพึ่งพาการตลาดแบบนี้ เมื่อเม็ดเงินกองทุนหมู่บ้านถูกใส่ลงไป ผู้เขียนจึงพบว่าเงินดังกล่าวอยู่หมู่บ้านได้ไม่ถึงเดือน หลังจากนั้นมันจะหมุนออกไปที่ร้านเคมีภัณฑ์การเกษตร พ่อค้าคนกลาง โรงสี/ท่าข้าว หยง ผู้ส่งออก บางครั้งไปเที่ยวที่ห้างสรรพสินค้า ร้านขายโทรศัพท์มือถือ ร้านเครื่องใช้ไฟฟ้า ร้านขายมอเตอร์ไซค์ และแล้วเงินที่หมุนออกไปก็ไม่หมุนกลับมาหมู่บ้าน....


 


ที่สำคัญ ต่อให้ชาวบ้านขยันทำมาหากินแทบตาย กู้เงินกองทุนฯไปลงทุนทำกิน ก็ได้ประโยชน์ตอบแทนน้อย ผู้เขียนพบมาหลายรายแล้ว ที่กู้เงินกองทุนหมู่บ้านฯไปทำนา หรือปลูกถั่วในฤดูแล้ง แล้วได้ผลตอบแทนต่ำมาก คือเมื่อหักกลบลบหนี้แล้วเหลือวันละ 3.33 – 12 บาท เท่านั้น (ป้าด...ด...ด น้อยแท้!)


 


ด้วยเหตุนี้ จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าจะมีชาวบ้านจำนวนไม่น้อยนำเงินกองทุนหมู่บ้านฯ มาซื้อสิ่งของบริโภค เช่น โทรศัพท์มือถือ VCD ดูหมอลำซิ่งสบายใจกว่า เพราะชาวบ้านบอกว่าทำนา ทำถั่วแทบตายได้เงินแค่ 3.33 บาท ไม่คุ้ม ซื้อ VCD คุ้มกว่าเพราะเอาไปขาย ไปจำนำได้ (เนอะ) ซึ่งสอดคล้องกับข้อค้นพบของ รศ.ดร.มาฆะสิริ เชาวกุล คณะวิทยาการจัดการ ม.นเรศวร ที่สำรวจโครงการกองทุนหมู่บ้านฯ ใน 5 ชุมชนของจังหวัดพิจิตร  ภายใต้โครงการ "การตรวจสอบโดยสังคม: เครื่องมือด้านบริหารจัดการเพื่อลดความยากจนและเพิ่มความเข้มแข็งท้องถิ่น" ที่ว่า คณะกรรมการกองทุนฯประเมินว่ามีผู้กู้ถึงร้อยละ 9.5 นำเงินไปใช้ไม่ตรงกับที่ระบุไว้ในคำขอกู้เงิน  


 


และนี่คือเหตุผลที่ว่า ทำไมไม่กี่เดือนภายหลังจากเงินลงไปในหมู่บ้าน ยอดขายโทรศัพท์มือถือของบริษัทใครบางคนก็พุ่งขึ้น มอร์ไซด์ก็ขายดี ห้างสะดวกซื้อต่างๆ ก็ขายดี ร้านเคมีภัณฑ์การเกษตรก็ขายดี  และ ฯลฯ ซึ่งเป็นเศรษฐกิจของ "คนข้างบน" ก็ขายดี


 


…แล้วอย่างนี้มันเรียกว่าเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจรากหญ้าตรงไหน(วะ) แต่ถ้ากระตุ้นการบริโภครากหญ้าสิ...ไม่แน่!


 


ท่านผู้นำประเทศจะรู้มาก่อนเสนอนโยบายนี้ลงมาสู่รากหญ้ารึเปล่าน้า...า...า ว่าเงินนี้จะทำให้บริษัทมือถือ และ ฯลฯ ขายดี


 


ถ้าท่านผู้นำไม่รู้มาก่อนและหวังดีจะช่วยชาวบ้านจริงๆ  ก็ขอให้รู้ไว้ว่าเวลาทำโครงการอะไรลงมาแก้ปัญหาชาวบ้าน อย่าคิดและทำอะไรง่ายๆ แค่นี้ และ "ตัวคูณ" ของท่านน่ะ มันคือตัวคูณที่ไปกระตุ้นเศรษฐกิจข้างบน  เศรษฐกิจเบี้ยบน  ไม่ใช่เศรษฐกิจของคนเบี้ยล่างแบบนี้


 


แต่ก็นั่นแหละ ท่านเจ้านายก็จะบอกอีกว่า อย่างน้อยที่สุด แม้ว่ากองทุนฯจะไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจรากหญ้าและสร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้านได้ ก็ยังเป็นกลไก "บรรเทา" ปัญหาดอกเบี้ยแสนโหดจากนายทุนเงินกู้นอกระบบได้อยู่ดี เพราะดอกเบี้ยเงินกองทุนหมู่บ้านมีราคาถูกเพียงแค่ร้อยละ 6 บาท/ปี หรือร้อยละ 0.50 บาท/เดือน เท่านั้น แต่ขอโทษเหอะ หากท่านลงมาดูสภาพการณ์จริงในพื้นที่ จะพบว่าชาวบ้านในชนบทมีวิถีชีวิตอยู่ได้เพราะการ "หมุนหนี้" โดยการกู้กองทุนนั้น มาโปะกองทุนนี้ และกู้กองทุนนี้ไป โปะกองทุนโน้น กู้กองทุนโน้น ไปโปะกองทุนนู้น...น...น   


 


ด้วยเหตุนี้เมื่อถึงกำหนดการชำระคืนเงินกู้จากกองทุนหมู่บ้านฯ ชาวบ้านจำนวนไม่น้อยจึงต้องกู้เงินจากบรรดาเสี่ยเงินกู้นอกระบบ ร้อยละ 5 – 20 บาทต่อเดือน มาคืน เพื่อได้สิทธิในการกู้กองทุนฯ อีกครั้ง ซึ่งจากการสังเกตของผู้เขียนก็สอดคล้องกับงานสำรวจของ รศ.ดร.มาฆะสิริ และคณะ ที่พบว่าร้อยละ 21 ของชาวบ้านต้องยืมเงินจากแหล่งอื่นมาชำระคืนกองทุนฯ


 


เป็นไงล่ะ สะใจมั้ย? ไหนใครว่ากองทุนหมู่บ้านช่วยบรรเทาหนี้ดอกเบี้ยโหดได้


 


แล้วอย่างนี้คณะกรรมการกองทุน และท่านเจ้านายทั้งหลายจะคุยโตโอ้อวดว่ากองทุนหมู่บ้านประสบความสำเร็จ เพราะกองทุนแทบไม่มีหนี้เสีย (หรือ NPL) ได้อย่างไร  หรือท่านทนเห็นให้ชาวบ้านเอาเงินมาคืน โดยไม่สนใจว่าเขาจะเดือดร้อนจากการกู้ดอกเบี้ยแสนโหดจากนายทุนได้  นี่หรือ…ตัวชี้วัดชุมชนเข้มแข็งของหลวงท่าน? "กองทุน(ทั้ง)เข้ม(ทั้ง)แข็ง แต่ชาวบ้าน(โคตร)อ่อนแอ"


 


ย้อนกลับไปเรื่องผลตอบแทนต่อการลงทุน คำถามคือว่าเราควรทำอะไรที่มีผลตอบแทนสูงกว่า 3.33 - 12 บาท/วัน คำตอบก็คือต้อง "สร้างอาชีพทางเลือก" ที่ชาวบ้านมีอำนาจต่อรองในเรื่องปัจจัยการผลิตหรือใช้ปัจจัยการผลิตในพื้นที่ที่ไม่ต้องซื้อหา รวมทั้งมีอำนาจในการตลาด (ตลาดที่ไม่ต้องขายผ่านพ่อค้าคนกลางหลายๆทอด) แต่อาชีพทางเลือกจะเป็นจริงได้อย่างไร ในเมื่อ ชาวบ้าน "จน" เพราะขาดอำนาจในการต่อรองกับระบบตลาด และขาดโอกาสในการพัฒนาอาชีพทางเลือก แม้ลูกหลานเขาจะเรียนจบสูงกว่าพ่อแม่ก็ตาม (แสดงว่าการศึกษาในระบบไม่เกี่ยวข้องอะไรกับการพัฒนาเศรษฐกิจครัวเรือนในชนบทเลย แม้จะทางการท่านจะลงทุนบังคับให้เด็กเรียนถึง 12 ปีก็ตาม แต่ขอโทษเหอะ จบไปไม่ได้ทำให้ฐานะครอบครัวดีขึ้น ตรงข้าม มีหนี้สินเพิ่มขึ้นอีก)


 


ยัง...ยังไม่พอ...คนที่จนจริงๆ ก็ยัง "เข้าไม่ถึง" กองทุนหมู่บ้านฯ อีก คนเหล่านี้มักเป็นชนชั้นสามของหมู่บ้าน ชนชั้นแรกคือชาวนารวย กลุ่มคนเหล่านี้มักเป็นผู้นำหมู่บ้าน คณะกรรมการกองทุนต่างๆ รวมทั้งกองทุนหมู่บ้านด้วย ชนชั้นแรกนี้มักได้รับอนุมัติเงินกู้เต็ม หรือเกือบเต็มตามจำนวนที่ขอกู้  ชนชั้นที่สอง คือชาวนาทั่วไป กลุ่มคนเหล่านี้เมื่อขอกู้เงินแล้วจะได้น้อยกว่าจำนวนที่ขอกู้ เช่น ขอกู้ 20,000 จะได้รับ 5,000 บาท เป็นต้น และชนชั้นสามของหมู่บ้าน คือผู้ไร้ที่ทำกิน ต้องรับจ้างรายวัน หรือเช่านาคนอื่นทำกิน กลุ่มคนเหล่านี้บางคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่ากองทุนหมู่บ้านมาถึงหมู่บ้านของตัวเองแล้ว บางคนรู้แต่ก็ไม่มีสิทธิได้กู้เพราะคณะกรรมการมักออกกฎ-ระเบียบในการกู้เงินว่าคนที่จะกู้เงินได้จะต้องมีอาชีพที่มั่นคง


 


บางหมู่บ้านมีหลังคาเรือนมาก ตั้ง 400 กว่าเรือน จำนวนเงินกู้เมื่อต้อง "หารแบ่ง" กันแล้วก็จะได้จำนวนน้อย บางคนได้แค่ 2,000 – 4,000 บาท ซึ่งน้อยเกินกว่าจะไปประกอบอาชีพได้ ชาวบ้านบางคนขอกู้เงิน 10,000 บาท แต่ได้แค่ 2,000 บาท ไม่รู้ว่าจะเอาไปทำอะไร ก็เลยเอาไปกินเหล้า (โลด!) หรือซื้อ VCD (โลด!)


 


สรุปว่าเงินกองทุนหมู่บ้าน (1) คนจนจริงๆ เข้าไม่ถึง (2) ช่วยเพิ่มสภาพคล่อง (ให้หมุนหนี้คล่องขึ้น) แต่ดอกเบี้ยก็เพิ่มมากขึ้น หนี้สินก็เพิ่มพูน (3) แทบไม่ได้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจรากหญ้าให้ดีขึ้น เพราะโครงสร้างเศรษฐกิจชุมชนเป็นโครงสร้างแห่งการ "พึ่งพา" ภายนอกเกือบทั้งหมดตั้งแต่การผลิต การตลาด  และการบริโภค (ดังได้กล่าวแล้ว) แต่ (4) ถ้ากระตุ้นการบริโภคหรือการใช้จ่ายของคนรากหญ้านี่ซิ! แน่นอนกว่า  ดังนั้น (5) จึงเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจข้างบน เช่นร้านขายเคมีภัณฑ์การเกษตร พ่อค้าคนกลางในตลาดสินค้าเกษตร ร้าน VCD บริษัทโทรศัพท์มือถือ และ ฯลฯ


 


และไม่ว่าจะกองทุนหมู่บ้าน กองทุน SML หรือกองทุนไหนๆ จะถูกส่งลงมาอีกเท่าไรก็ตาม ถ้าเจ้านายท่านไม่ทำงาน "เชิงความคิด" ก็ไม่มีวันแก้ปัญหาความยากจนหมู่บ้านได้หรอก...ฟันธง !!


 


...หรือว่า เจ้านายอยากทำ "แค่" คะแนนนิยมกับผลประโยชน์เท่านั้น !