Skip to main content

สอนหลานให้อ่านอังกฤษ (ตอนที่ 6)

คอลัมน์/ชุมชน

 


 


วิธีสอนภาษาอังกฤษ (2)


 


ฟังวิทยุ  เจ้าหลานชายทั้งสองต้องตื่นแต่เช้าทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ครับ ก็จะมีเวลาประมาณครึ่งชั่วโมงที่เขาเตรียมตัวเพื่อไปรอขึ้นรถโรงเรียน  ก่อนปลุกพวกเขาลุกขึ้นมา ผมจะเปิดวิทยุไว้ก่อน โดยเลือกสถานีที่มีการพูดมากๆ เช่น รายการข่าวหรือทอล์กโชว์  และจะเปิดเอาไว้จนเขาเดินออกจากบ้าน 


 


ที่ผมทำอย่างนี้ก็เพื่อช่วยสร้างสภาพแวดล้อมครับ อย่างน้อยก็หวังว่าแก้วหูของพวกเขาจะมีความไวต่อคลื่นเสียงภาษาอังกฤษมากขึ้น แล้วระบบประสาทน่าจะจับความได้ง่ายขึ้นตามมา  ผมก็หวังว่าจะช่วยให้พวกเขาฟังภาษาอังกฤษได้รู้เรื่องเร็วขึ้น และน่าจะช่วยให้พูดได้ใกล้เคียงฝรั่งมากขึ้นด้วย ก็ได้แต่หวังล่ะครับ เพราะจริงๆ จะเป็นอย่างไรก็พิสูจน์ไม่ได้ 


 


สิ่งที่ควรระวังสำหรับการเปิดวิทยุในตอนเช้าก็คือ อาจจะรบกวนเพื่อนบ้านนะครับ โดยเฉพาะคุณผู้อ่านที่อยู่ห้องแถวทาวน์เฮาส์ เพราะเพื่อนบ้านอาจจะเพิ่งเข้านอนก็ได้


 


คุณผู้อ่านอาจจะถามว่าทำไมพวกผมไม่คุยกันเป็นภาษาอังกฤษล่ะ?  เป็นคำถามที่ดีมากครับ และเหมือนกับที่นักวิชาการอเมริกันบางคนแนะนำให้ผู้ปกครองต่างชาติพูดภาษาอังกฤษในบ้าน เพื่อช่วยให้ลูกหลานพัฒนาด้านภาษาได้เร็วขึ้น  ในความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ ผมว่าวิธีนี้ทำได้ยากสำหรับคนไทย เพราะว่าภาษาอังกฤษของผู้ปกครองก็ไม่ดีพอที่จะเป็นตัวอย่างให้เด็กเลียนแบบได้  การเรียนภาษานี่เป็นเรื่องการเลียนแบบใช่ไหมครับ?  ผมไม่อยากให้เจ้าหลานน้อยทั้งสองคนพูดอังกฤษแบบไทยๆ อย่างผมที่เขาเรียกว่า Tinglish ครับ (ถ้าอยากรู้ว่าเป็นอะไรก็ลองเปิดอ่านดูที่ http://en.wikipedia.org/wiki/Tinglish) อีกอย่างก็คือ เราจะรู้สึกเขินอายกันเองที่พูดคุยกันด้วยภาษาอื่น ทั้งๆ ที่เรามีภาษาที่เคยใช้กันมาตั้งแต่จำความได้  ขอโทษนะครับ เราไม่ชอบคนกระแดะใช่ไหมครับ?


 


บางคนอาจจะแนะนำให้เปิดโทรทัศน์ไว้ ก็น่าจะดีครับถ้าเด็กมีความรับผิดชอบสูง ปัญหาก็คือ เจ้าหลานน้อยทั้งสองคนนี้จะหันไปดูโทรทัศน์อย่างจริงจังโดยลืมสิ่งที่ต้องทำไปเกือบทันที  ในช่วงอาหารเย็นเราก็เคยเปิดโทรทัศน์ไว้ค่อนข้างบ่อย  อย่างที่ว่าแหละครับ เด็กจะหันความสนใจไปที่โทรทัศน์เกือบหมด ทั้งๆ ที่เมื่อก่อนหน้านี้บอกว่าหิวข้าว  อย่างนี้ นักการศึกษาอเมริกันบอกว่าไม่ควรทำอย่างยิ่ง  เขาแนะนำว่าควรปิดโทรทัศน์ในขณะกินอาหาร และควรคุยกับลูกหลานในเรื่องการเรียนหรือทั่วๆ ไปที่สร้างสรรค์จะดีกว่า  ดังนั้น การที่ผมเปิดวิทยุไว้ในช่วงอาหารเช้าก็คงจะไม่เข้าข่ายนี้นะครับ


 


สำหรับคุณผู้อ่านที่อยากลองเปิดวิทยุภาษาอังกฤษกรอกหูลูกหลานทุกวัน อาจจะลองหมุนหาคลื่นดูนะครับ เผื่อในท้องถิ่นของท่านอาจจะมีก็ได้ โดยเฉพาะแถวกรุงเทพฯและจังหวัดใหญ่ๆ  คุณผู้อ่านที่อยู่ต่างจังหวัดไกลปืนเที่ยงอาจจะต้องหาวิทยุที่มีคลื่นสั้น แล้วเปิดรับจากต่างประเทศ ส่วนมากมักเป็นตอนหัวค่ำ  แต่ปัญหาก็คือ ไม่รู้จะเลือกฟังสถานีไหนดี  เพราะมีภาษาอังกฤษหลายสำเนียงให้เลือก  เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน รักใครชอบใคร หรือฟังของใครได้ชัดที่สุด ก็ติดตามฟังคนนั้นแล้วกันครับ  ส่วนใครที่มีคอมพิวเตอร์ที่บ้านและต่ออินเตอร์เน็ตไว้ก็อาจจะเลือกเปิดฟังภาษาอังกฤษได้เช่นกัน แต่ผมรู้สึกว่าเสียงจากคอมพิวเตอร์ค่อนข้างเพี้ยนไปจากปกติ  ระวังนะครับ ลูกหลานฟังรายการจากเน็ตบ่อยๆ อาจจะพูดภาษาอังกฤษสำเนียงหุ่นยนต์ก็ได้


 


อ่านหนังสือให้ฟัง  ในช่วงแรกที่เริ่มเข้าโรงเรียน อาจารย์ของหลานทั้งสองคนก็ช่วยเหลือมากเลยครับ  อย่างหนึ่งก็คือให้ยืมหนังสือของชั้นต่ำกว่ามาอ่านที่บ้าน หนังสือพวกนี้จะมีทั้งเรื่องศัพท์  ปริศนา  เกม  หลายอย่างหลายแนวล่อหลอกเด็กให้อ่าน  เนื่องจากเจ้าหลานน้อยทั้งสองคนยังอ่านภาษาอังกฤษไม่ได้ ผมก็เลือกบางเรื่องมาอ่านให้พวกเขาฟัง  ไม่ยาวหรอกครับ เพราะหนังสือเด็กเขาพิมพ์ด้วยตัวหนังสือขนาดใหญ่กว่าปกติ และมีรูปประกอบทุกหน้า 


 


บางครั้งก็ให้พวกเขาเลือกเรื่องที่อยากฟังเองแล้วผมเป็นคนอ่าน  ในการอ่านผมก็พยายามเน้นจังหวะ มีเสียงหนักเบา หรือใส่อารมณ์ตามเรื่องนิดหน่อย  เด็กๆ สนใจดีครับ และมารยาทดีด้วย ตั้งใจฟังโดยไม่เคยวิพากษ์วิจารณ์ภาษาอังกฤษสำเนียงไทยๆ ของผมเลย  พอเจอคำที่ผมคิดว่าเขาน่าจะต้องใช้ ผมก็จะชี้ให้เขาดู และอาจจะแปลให้ฟังเป็นระยะๆ  เมื่อจบเรื่องก็จะถามเขานิดหน่อยเพื่อทดสอบว่าพวกเขาจับความได้บ้างหรือเปล่า


 


วิธีนี้ได้ผลดีครับ  พวกเขาเรียนรู้บางอย่าง เนื่องจากเป็นเรื่องง่ายๆ มีรูปประกอบชัดเจน จึงตามเรื่องได้ไม่ยาก  นักวิชาการศึกษาของสหรัฐฯ สนับสนุนให้ผู้ปกครองที่มีลูกหลานตัวน้อยๆ ทำเช่นนี้บ่อยๆ จนเป็นกิจวัตรประจำวันเพื่อปลูกฝังให้เด็กรักการอ่าน  ผมเห็นด้วยครับ ถ้าทำได้  ปัญหาที่คงจะมีสำหรับคนไทยก็คือ หายืมหนังสือฟรีได้ยาก  แม้จะซื้อก็คงจะไม่ง่ายนัก และราคาหนังสือก็ไม่ถูกนะครับสำหรับเราๆ ท่านๆ  แต่ที่สำคัญ เราไม่ค่อยมีเวลาครับ  อ่านเรื่องสั้นเรื่องหนึ่ง รวมทั้งพูดคุยกัน ก็ใช้เวลาร่วมครึ่งค่อนชั่วโมงแล้ว  และคนที่กล่องเสียงไม่แข็งแรงก็คงจะเจ็บคอบ่อย คุณพ่อบ้านบางคนอาจจะชอบให้คออักเสบก็ได้ จะได้ใช้เป็นข้ออ้างในการหาแอลกอฮอล์มาทาฆ่าเชื้อ แต่ทาภายในลำคอนะครับคุณแม่บ้าน  ผมทนทำกิจกรรมนี้อยู่ได้ไม่ถึงสองเดือนก็ต้องหยุดแล้วไปเน้นวิธีอื่น


 


ปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นอีกอย่างจากการอ่านหนังสือให้ลูกหลานฟังก็คือ พวกเขาอาจจะจำภาษาอังกฤษสำเนียงไทยๆ ของเราไปก็ได้  คงเป็นเรื่องธรรมดาของคนต่างชาติ โดยเฉพาะคนเอเชียที่มีสำเนียงเฉพาะตัวเวลาพูดภาษาอังกฤษ  ผมเองก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรให้ลิ้นอ่อนขึ้นเพื่อให้พูดภาษาอังกฤษได้เหมือนฝรั่ง เคยได้ยินผู้สันทัดกรณีบอกว่า ให้เอาขนมปังปิ้งถูลิ้น พร้อมกับกาแฟร้อนลวกลิ้นทุกเช้า จะพอช่วยให้ลิ้นอ่อนได้  เขาบอกให้ดูจากฝรั่งที่ทำอย่างนี้ทุกวันจึงพูดภาษาอังกฤษได้ดี  แต่ผู้ที่มีประสบการณ์บอกว่าให้เอาแอลกอฮอล์ทาลิ้นทุกเย็น ช่วยได้แน่นอน 100% เขาบอกว่าให้ดูจากวงเหล้าที่มีฝรั่งกินด้วยสิ  คนที่ปกติพูดอังกฤษไม่ได้ แต่พอเหล้าเข้าปากก็พูดอังกฤษได้ปร๋อ จนฝรั่งงง


 


กลับมาเข้าเรื่องของเราต่อดีกว่าครับ หากเครื่องคอมพิวเตอร์ที่บ้านของคุณผู้อ่านต่อเข้ากับอินเตอร์เน็ตได้ ก็สามารถหาเปิดหนังสือเด็กมาอ่านให้ลูกหลานฟังได้นะครับ  ผมขอแนะนำให้เปิดอ่านเฉพาะของฟรีเท่านั้นก็พอครับ  การอ่านจากคอมพิวเตอร์คงช่วยดึงดูดความสนใจของเด็ก "ดิจิทัล" ได้มากขึ้น  และคงจะได้รสชาติไปอีกแบบหนึ่ง คือในการเปิดแต่ละหน้า ต้องรอให้เครื่องโหลดมาเป็นนาที ก็เหมือนกับมีเวลาให้เราลุ้นไปกับตัวละครในเรื่อง  นี่เป็นการคิดในแง่บวกนะครับ จะได้ไม่เครียด 


 


ส่วนผมเป็นเฒ่า "แอนะล็อก" ชอบที่จะเปิดอ่านจากหนังสือจริงๆ มากกว่าครับ