Skip to main content

จริงหรือที่ว่า...รอยสัก คือ สัญลักษณ์ของอาชญากร ?

คอลัมน์/ชุมชน

 


 


มาตรา 31 ของ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนกำหนดไว้ว่า


บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย การทรมาน ทารุณกรรม หรือการลงโทษด้วยวิธีการโหดร้าย หรือไร้มนุษยธรรม จะกระทำมิได้...


การจับ คุมขัง ตรวจค้นตัวบุคคล หรือการกระทำใดอันกระทบต่อสิทธิ และเสรีภาพตามวรรคหนึ่ง จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย


 


นอกจากนี้...มาตรา 33 ระบุไว้ว่า


ในคดีอาญา ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด ก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้


 


ที่กล่าวถึงบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญทั้งสองมาตราเพราะว่า มีรายงานข่าวภาคดึกของสถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่ง นำเสนอข่าวอาชญากรรม มีผู้ต้องหาจำนวน 3 คน กำลังถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจสอบปากคำ โดยมีสื่อมวลชนมาทำข่าวถ่ายภาพ ซึ่งภาพที่ปรากฏอยู่บนหน้าจอโทรทัศน์ก็คือ ผู้ต้องหา 2 ใน 3  คน ไม่สวมเสื้อ


 


 "ก็ไม่เห็นมันจะแปลกหรือน่าสนใจตรงไหนเลย ที่ผู้ต้องหาจะไม่สวมเสื้อในระหว่างการการสอบปากคำ" หลายคนอาจจะคิดอย่างนั้นเพราะที่ผ่านมา ภาพของผู้ต้องหาที่ไม่สวมเสื้อในขณะที่ถูกควบคุมตัวหรือสอบปากคำ มักจะถูกนำมาเผยแพร่ผ่านทางสื่อแขนงต่างๆ อยู่เสมอ จนเป็นภาพที่ชินตาของใครหลายคน


 


แต่จะมีใครเคยคิดบ้างไหมว่า ทำไมตำรวจจึงให้ผู้ต้องหาถอดเสื้อ ขณะสอบปากคำ โดยเฉพาะกับผู้ต้องหาที่มีรอยสักบนร่างกาย


 


ในภาพข่าวยังมีภาพของนายตำรวจผู้หนึ่งกำลังชี้ไปตามรอยสักบนตัวผู้ต้องหาทั้งสองคนที่ถอดเสื้ออยู่ เหมือนกับพยายามที่จะสื่ออะไรสักอย่างออกมาก็มิอาจทราบได้ และภาพของนายตำรวจคนเดิมที่พยายามถอดเสื้อผู้ต้องหาอีกคน (แต่ถอดไม่ได้) เพราะเขาสวมกุญแจมือติดอยู่กับผู้ต้องหาอีกคน ตำรวจเลยเปลี่ยนมาเป็นถลกเสื้อขึ้นไปแทน และเช่นกันผู้ต้องหารายนี้ก็มีรอยสักอยู่บนร่างกายเหมือนกับอีกสองคน พร้อมชี้ให้ผู้สื่อข่าวบันทึกภาพ โดยที่ผู้ต้องหาคนดังกล่าวไม่สามารถขัดขืน หรือปฏิเสธการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เลย


 


ถึงแม้ว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจอาจจะไม่ได้เป็นการการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของผู้ต้องหาทั้งสามคนโดยตรง หากแต่บนพื้นฐานของสิทธิมนุษยชน เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ไม่สมควรที่จะปฏิบัติกับผู้ต้องหาเหมือนกับเขาเหล่านั้นไม่ใช่คน โดยมองแค่รอยสักที่ปรากฏบนร่างกายว่าเป็นเสมือนมาตรวัดความเลวร้ายของบุคคลเสมอไป


 


การสักมีมานานกว่าห้าพันปี และการสักยังปรากฏตามกลุ่มชนทั่วทุกมุมโลก โดยส่วนมากการสักเพื่อให้ได้มาซึ่งรอยสักจะเกิดมาจากความเชื่อ วัฒนธรรม ขนบประเพณีของแต่ละกลุ่มชน เช่นเดียวกับประเทศไทย ก็มีกลุ่มคนที่นิยมรอยสักอยู่มาก ปัจจุบันการสักนิยมทำกันที่ร้านรับสัก หรือที่อื่นๆ ไม่เว้นแม้แต่ในเรือนจำ โดยการสักในเรือนจำจะใช้เข็มและหมึกที่หาได้ง่าย อย่างเช่น เข็มเย็บผ้า หมึกปากกา โดยการสักจะทำด้วยตนเอง หรือให้เพื่อนสักก็แล้วแต่ความสะดวก


 


การสักในเรือนจำเป็นการสักที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อต่างๆ มากมาย เช่น เชื้อเอชไอวี/เอดส์ รวมไปถึงไวรัสตับอักเสบชนิดบี และซี ที่ติดต่อผ่านทางเลือด  เนื่องจากในเรือนจำ โอกาสของการใช้เข็มที่สะอาดหรือปราศจากเชื้อเป็นไปได้ยาก และการครอบครองอุปกรณ์ของมีคมในเรือนจำถือว่าเป็นความผิดขั้นร้ายแรง จนทำให้ต้องมีการหลบซ่อนหรือแอบสักกันอย่างไม่เปิดเผย และนี่ก็คงเป็นอีกหนึ่งสาเหตุกระมังที่หลายต่อหลายคนจะมองผู้ที่มีรอยสักว่า อาจจะมาจากเรือนจำก็เป็นได้


 


รอยสักที่หลายคนมองเห็นว่าเป็นสิ่งสวยงาม เป็นศิลปะ หรือมองว่าเป็นเรื่องเท่ก็ดี อาจจะกลายเป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพได้เช่นกัน ซึ่งนายจ้างส่วนใหญ่มักไม่ค่อยกล้าจ้างคนที่มีรอยสัก (ที่เห็นได้อย่างชัดเจน) เข้าทำงาน เพราะส่วนใหญ่คิดว่า คนที่มีรอยสักเป็นคนที่ไม่น่าไว้ใจ จนเกิดเป็นอคติ และมองพวกที่มีรอยสักไปในทางลบ เพราะว่าภาพของผู้ที่มีรอยสักมักจะมาในภาพของนักเลงอันธพาล ผู้มีอิทธิพล ผู้ที่ชอบในเรื่องของการใช้ความรุนแรง ชอบใช้อำนาจบาตรใหญ่ จึงทำให้หลายคนมองว่า คนที่มีรอยสักเป็นคนไม่ดี เป็นขี้ยา หรืออาจเลวร้ายถึงขั้นเป็นอาชญากรเลยก็มี


 


บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย การสักหรือมีรอยสัก ก็เป็นสิทธิของบุคคลที่จะกระทำได้โดยเสรี ยิ่งไปกว่านั้นการมองคนแต่เพียงภายนอกพร้อมกับตัดสินว่าเป็นเช่นโน้น เช่นนี้ ก็ดูจะเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องซะทีเดียว ซึ่งก็คงเปรียบได้กับการพิพากษาด้วยสายตา ซึ่งผลกระทบที่ตามมาจากการกระทำเช่นนั้นอาจจะมากกว่าที่คิดไว้ก็เป็นได้