Skip to main content

วัยรุ่นกับ SEX : ปรากฏการณ์ที่ไม่เป็นไปตามความคาดหวังที่สังคมกำหนด และบทสะท้อนการมีส่วนร่วมของเยาวชน

คอลัมน์/ชุมชน














































































































ยังจำได้ไหมครับ เมื่อ 2 อาทิตย์ที่ผ่านมา ปรากฏการณ์เรื่องวัยรุ่นมีเพศสัมพันธ์หรือแสดงบทรักในที่สาธารณะ ถือว่าเป็นเรื่องราวที่ร้อนมาก ๆ ในสังคมไทย จนทำให้หลายภาคส่วนในสังคม และรัฐบาลออกมาแสดงความรับผิดชอบ เสนอทัศนะความคิดเห็น และให้ความสนใจกับปรากฏการณ์นี้เป็นอย่างยิ่ง
 
เรื่องดังกล่าวนี้สืบเนื่องมาจาก เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2547 หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งได้ระบุถึงกรณีที่มีการอภิปรายในการเสวนาเรื่อง " ทำไมนักเรียน- นักศึกษาไทยจึงไม่รักนวลสงวนตัว" ซึ่งจัดโดยมหาวิทยาลัยสถาบันราชภัฏสวนดุสิต ว่าวัยรุ่นขณะนี้นิยมมีเพศสัมพันธ์ในมุมอับตามห้างสรรพสินค้าและรถเมล์ และเยาวชนนิยมมีเพศสัมพันธ์ในพื้นที่สาธารณะ ถึงขนาดที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประกาศจะดำเนินการศึกษาอายุบุคคลที่ควรมีเพศสัมพันธ์ในพื้นที่สาธารณะ
 
และหลังจากข่าวเผยแพร่ 2 วัน ก็มีการแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมของบุคคลหลากสถาบันว่า ต้องมีการดำเนินการสอนเรื่อง " ปฏิเสธวิทยา" หรือ " ปฏิเสธศึกษา" ในสถาบันการศึกษาเพื่อลดการมีเพศสัมพันธ์ที่ฉาบฉวยของวัยรุ่นและมีการตั้งเครือข่ายนักเรียนรักนวลสงวนตัวทั่วประเทศ
 

ช่วงเวลานั้นได้เห็นถึงความหวังดี ความกระตือรือร้นจากองค์กรทางสังคมทั้งนักวิชาการ รัฐบาลที่ออกมาแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว จนถึงวันนี้ กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงสาธารณสุข ก็ออกแรงกันอย่างมากเพื่อหาแนวทางการแก้ปัญหาดังกล่าว

 

วันที่ 15 กันยายน 2547 ที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการได้จัด การประชุมเชิงปฏิบัติ " การจัดทำแผนปฏิบัติการสร้างเสริมพฤติกรรมเยาวชนและการแก้ปัญหาเอดส์ในสถานศึกษา " โดยมีผู้บริหารสถานศึกษา ครูแนะแนว และนักเรียนจากทั่วประเทศเข้าร่วมกว่า 300 คน เพื่อ หาแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาการมีเพศสัมพันธ์ของวัยรุ่น โดยชี้ว่าปัญหาส่วนใหญ่เกิดจาก ค่านิยมทางเพศที่ทำให้เด็กมีเพศสัมพันธ์เร็วและบ่อย ทำให้เกิดเพศสัมพันธ์สำส่อน และนำไปสู่ความต้องการทางวัตถุและเพศพาณิชย์  

 

โดยกระทรวงศึกษาธิการได้มีนโยบายให้สถานศึกษาดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหา 6 แนวทาง คือ


1. ให้โรงเรียนเปลี่ยนแปลงความคิดจากการควบคุมเป็นการกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด
2. ดึงนักเรียนให้เข้ามาขอคำปรึกษากับครูมากขึ้น ขณะที่ครูจะต้องแสดงออกถึงความรักและความห่วงใยที่มีต่อเด็ก
3. พัฒนาสมองในส่วนความคิดให้เด็กรู้จักพิจารณาก่อนที่จะแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมออกมา
4. ต้องหาทางเลือกให้เด็กได้ปลดปล่อยอารมณ์แทนที่จะมุ่งด้านการเรียนเพียงอย่างเดียว เพื่อให้เด็กรู้สึกมีคุณค่าและภูมิใจในตนเอง เพราะสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้เด็กมีพฤติกรรมทางเพศในแบบผิด ๆ เนื่องจากขาดความภูมิใจในตนเอง
5. โรงเรียนควรให้ความรู้เรื่องเพศศึกษาที่ตรงกับความสนใจ และเหมาะสมกับนักเรียนในแต่ละระดับชั้น และทุกโรงเรียนไม่จำเป็นต้องสอนแนวเดียวกันหมด และ
6. ต้องให้ความรู้เรื่องเพศศึกษากับผู้ปกครองด้วย

 

ในวันเดียวกันนี้ ที่กระทรวงสาธารณสุข ได้มีการจัดเวทีระดมความคิดเห็น " คนรุ่นใหม่ ใส่ใจปัญหาเอดส์" เพื่อแก้ปัญหาเอดส์ในกลุ่มวัยรุ่น ประเด็นส่วนใหญ่คือ เด็กสมควรเรียนเพศศึกษาหรือไม่ ถ้าเรียนต้องเรียนชั้นไหน สมควรมีการตั้งกล่องจำหน่ายถุงยางอนามัยในสถานศึกษาหรือไม่?

 

ประเด็นเรื่องการมีเพศสัมพันธ์เร็วขึ้นของวัยรุ่นเป็นเรื่องที่ผู้เข้าร่วมกว่า 200 คน ให้ความสนใจ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า วันที่ 30 กันยายน 2547 กระทรวงสาธารณสุขจะจัดการประชุมอีกครั้งเพื่อกำหนดแนวทางการแก้ปัญหาวัยรุ่นมีเซ็กส์ เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี

 

ผมไม่แน่ใจว่า กระทรวงใหญ่ทั้งสองกระทรวงคุยเรื่องเดียวกันแล้วทำไมไม่จัดร่วมกัน มาคิดร่วมกัน จะได้ไม่ทำงานแยกส่วน สงสัยประเทศนี้คงมีงบประมาณมากมายที่ให้กระทรวงต่าง ๆ จัดงานตามใจที่อยากจัด ไม่สนที่จะมาทำงานร่วมกัน ( หรือว่าต่างฝ่ายต่างจัดเพราะต้องทำผลงานก่อนรัฐบาลจะหมดวาระ?) แต่ที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งคือ กระทรวงใหญ่ ๆ สองกระทรวงมีฐานคิดคล้ายกัน กล่าวคือ การแก้ปัญหาพฤติกรรมการมีเพศสัมพันธ์ของวัยรุ่น คือ วัยรุ่นไม่ควรมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร

 

จากการแลกเปลี่ยน บทเรียนและประสบการณ์การทำงานระหว่างกลุ่มเยาวชนที่ทำงานด้านเอดส์ในภาคเหนือ ได้มองว่าจุดสำคัญของปัญหาคือ การสะสมผู้ติดเชื้อเอชไอวี / เอดส์รายใหม่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่มาจาก " การมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัยและรับผิดชอบ" หาใช่จะเป็นการตีตราว่าเป็นเรื่องของการมั่ว การมีก่อนวัยอันควร เนื่องจากวัยรุ่นอย่างพวกเรามีพัฒนาการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายและจิตใจซึ่งเรื่องเพศสัมพันธ์เป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ทุกคนที่ต้องเผชิญ แต่เหมือนว่า การมีเพศสัมพันธ์ของวัยรุ่น คือ การมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร ( ซึ่งเหมือนว่าเรื่องการมีเพศสัมพันธ์ต้องมีเฉพาะผู้ใหญ่เท่านั้น เด็กอย่าพึ่งมี!) หรือไม่รักนวลสงวนตัว

 

ทั้งยังพบว่า วัยรุ่นที่ติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และเชื้อเอชไอวี / เอดส์ส่วนใหญ่ เกิดจากการขาดข้อมูลในการป้องกันเอดส์ที่รอบด้าน การสอนให้รักนวลสงวนตัวเพียงอย่างเดียวแก้ปัญหาไม่ได้ เพราะเมื่อต้องถึงสถานการณ์ที่ต้องมีเพศสัมพันธ์ ก็ไม่รู้ว่าจะป้องกันตนเองโดยการใช้อุปกรณ์ป้องกันอย่างถุงยางอนามัยอย่างไร

 
การให้วัยรุ่นตระหนักในการรักนวลสงวนตัวเป็นทางเลือกหนึ่ง แต่ต้องไม่ลืมว่าการป้องกันมีอีกหลายทาง อาทิ การช่วยเหลือตัวเอง การใช้ถุงยางอนามัย หรือแม้แต่การไม่มีเพศสัมพันธ์ สิ่งเหล่านี้คือการสื่อสารเรื่องเพศ ที่ต้องให้ข้อมูลที่รอบด้าน เช่น เรื่องทัศนคติทางเพศ ความสัมพันธ์ทางสังคม การเคารพในบทบาทหญิงชาย อนามัย
 
การเจริญพันธุ์ทั้งในระดับครอบครัวและสถาบันการศึกษา
 

อยากจะย้อนไปช่วงงานเอดส์นานาชาติ 2004 เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2547 ที่เครือข่ายเยาวชนที่ทำงานด้านเอดส์จากทั่วประเทศ จำนวน 200 กว่าคน ได้นำเสนอแนวทางการดำเนินการ เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้เรื่อง เพศศึกษา มีสิทธิ์ ในการเข้าถึงบริการที่เป็นมิตรและมีทางเลือกในการมีเพศสัมพันธ์ ที่ปลอดภัยและรับผิดชอบ แก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ตัวแทนคณะกรรมการสิทธิ ผู้แทนจากองค์กรยูนิเซฟ ประเทศไทย ตัวแทนสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และ สมาชิกวุฒิสภา ซึ่งสรุปได้ ดังนี้

 

1. ต้องเร่งสร้างความเข้าใจให้ผู้ใหญ่และผู้รับผิดชอบนโยบายที่เกี่ยวข้องกับเยาวชน ยอมรับความแตกต่างหลากหลายและเข้าใจธรรมชาติของเยาวชน ปราศจากการตัดสินแบบถูกผิด เพื่อร่วมกันสร้างทางเลือกให้เยาวชนมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยโดยการจัดอบรมบุคลากร การรณรงค์ทางสังคม การใช้สื่อสาธารณะ สร้างกิจกรรมให้เยาวชนมีส่วนร่วมกับครอบครัวและสังคม

 

2. มีการสอนและมีระบบการให้ข้อมูลเรื่องเพศศึกษาที่รอบด้านแก่เด็กและเยาวชนทั้งในและนอกโรงเรียน อย่างจริงจังต่อเนื่อง โดยมีหลักสูตรการเรียนการสอนเพศศึกษาที่ชัดเจน มีการพัฒนาความรู้ทัศนคติของผู้สอน ผู้ให้บริการ ให้ตระหนักถึงความจำเป็นในการสื่อสารเรื่องเอดส์ เพศศึกษา และมีทัศนคติที่ดีต่อถุงยางอนามัย เพื่อส่งเสริมทางเลือกในการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย และรับผิดชอบของเยาวชน

 

3. ต้องสนับสนุนให้เด็กและเยาวชนมีส่วนร่วมในระดับชุมชนถึงระดับชาติ เช่น การวางแผนหลักสูตรการสอนเรื่องเพศศึกษา นโยบายที่เกี่ยวข้องเยาวชน การมีส่วนร่วมในการใช้สื่อสาธารณะ มีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การรวมกลุ่มทำกิจกรรมเป็นแหล่งการเรียนรู้ในโรงเรียน ชุมชน รวมถึงการสนับสนุน สภาเด็กและเยาวชน ในระดับท้องถิ่นจนถึงระดับชาติ

 

4. มีการพัฒนาระบบการให้บริการ / แหล่งบริการที่เป็นมิตรต่อเด็กและเยาวชน ที่มีบริการอุปกรณ์ที่หลากหลาย ได้แก่ ถุงยางอนามัย ยาคุมกำเนิด เจลหล่อลื่น เข็มฉีดยาสำหรับผู้ใช้ยา และยาต้านไวรัส และสนับสนุนให้กลุ่มเด็กและเยาวชนในพื้นที่ เป็นผู้ดำเนินการหรือร่วมดำเนินการศูนย์การเรียนรู้เรื่องเอดส์และเพศศึกษา ในโรงเรียนและชุมชน

 

5. สนับสนุนทรัพยากรแก่กลุ่มเด็กและเยาวชน ได้แก่ ทุนในการทำกิจกรรม บุคลากรที่มีความรู้ ข้อมูลที่ทันต่อสถานการณ์ อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง เช่น ถุงยางอนามัย เข็มฉีดยา

 

6. สนับสนุนให้เกิดสภาวะแวดล้อมและกลไกการทำงานที่เอื้อต่อการป้องกันเอดส์ โดยการบังคับใช้ นโยบายที่เกี่ยวข้องให้นำไปสู่การปฏิบัติ ในการแก้ปัญหาเอดส์ โดยมีการติดตามประเมินผลอย่างต่อเนื่อง

 

" ให้เยาวชนไปหากระบวนการ และจะพัฒนาโปรแกรมสำหรับคนรุ่นใหม่ไม่ให้รับเชื้อ และพัฒนาให้เป็นหลักสูตร "

 

" จะให้มีการตั้งอนุกรรมการฝ่ายเยาวชน เพื่อหาแนวทางเสนอต่อผู้ใหญ่ แล้วเดือนหน้ามาเจอกัน"

 

คุณสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ รั ฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้กล่าวในเวทีฯ ซึ่งเป็น สิ่งที่ยืนยันว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาการติดเชื้อเอชไอวี / เอดส์รายใหม่ ในกลุ่มเด็กและเยาวชน

 

ขณะที่ปัจจุบัน ปรากฏการณ์ที่เยาวชนมีพฤติกรรมทางเพศที่ไม่ค่อยถูกหูถูกตา หรือไม่ได้เป็นไปตามที่สังคมคาดหวังหรือกำหนด ทั้งกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข ต่างหาทางแก้ไขอย่างเป็นการด่วน มีระเบียบนโยบายออกมาจัดการปัญหาอย่างเร็วพลัน ซึ่งหากให้ความสำคัญอย่างจริงจังกับข้อเสนอจากเยาวชนครั้งนั้นแล้ว ก็คงไม่ต้องกำหนดมาตรการใหม่ ๆ เพื่อแก้ปัญหา เพราะข้อเสนอในวันนั้นไม่ใช่พิธีกรรมที่เยาวชนสร้างขึ้น ( หรือทำพอเป็นพิธี) หากแต่เป็นสัญญาณสะท้อนให้เห็นว่า เยาวชนพร้อมมีส่วนร่วมสรรค์สร้างสังคมกับรัฐบาลและสาธารณชนแล้ว

 

ผู้ใหญ่ ( บางคน) ในรัฐบาลคำนึงแต่เพียงว่า จะแก้ปัญหาเพื่อเด็กและเยาวชน แต่ไม่สนใจ ( และไม่ตระหนัก) ที่ต้องให้เยาวชนมามีส่วนร่วม กำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เยาวชนเป็นผู้เผชิญ ซึ่งไม่แปลกที่วัยรุ่นหลายคนปฏิเสธการเคอร์ฟิว การแก้ปัญหาแก๊งวัยรุ่นไม่เป็นผลและต่อต้านความหวังดีจากผู้ใหญ่และรัฐบาล ก็เนื่องมาจากการแก้ปัญหาที่ไม่ได้เกิดจากจุดที่เยาวชนเป็น หากแต่เป็นการที่ผู้ใหญ่อยากให้เยาวชนเป็นไปตามความหวังมากกว่า

 

สิ่งที่สาธารณชนและ รัฐบาลโดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ หรือกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชนอื่น ๆ ต้องให้ความสำคัญอันดับแรก คือ การทำงานร่วมกับเยาวชน ฟังเสียงเยาวชนโดยให้เยาวชนมีส่วนร่วมในการคิดแนวทาง ร่วมตัดสินใจและรับผิดชอบ ในเรื่องที่เกี่ยวข้องและส่งผลกระทบต่อตนเองและเพื่อนคนอื่นๆ

 

เพราะเงื่อนไขสำคัญที่ระเบียบหรือนโยบายต่าง ๆ ไม่สามารถป้องกันแก้ไขแก้ปัญหาเยาวชนได้จริง ก็เนื่องมาจากขาดเสียงของเยาวชนและขาดความเชื่อมั่นในศักยภาพว่า " เยาวชน คือพลังในการเปลี่ยนแปลงสังคม"