Skip to main content

โจ๊กในแวดวงนักวิชาการ

คอลัมน์/ชุมชน


 



เหรียญฟิลด์ส (Fields Medal): รางวัลสูงสุดของคนคณิตศาสตร์



นักคณิตศาสตร์คือใคร



วันหนึ่งนักท่องเที่ยวกลุ่มหนึ่งได้เดินทางล่องลอยไปกับบอลลูนเพื่อชมทิวทัศน์ แต่เกิดหลงทางขึ้นในเวลาต่อมา   อย่างไรก็ตาม เมื่อบอลลูนเคลื่อนตัวลงสู่ระดับใกล้พื้นดินมากขึ้น ทันใดนั้นนักท่องเที่ยวก็สังเกตเห็นชายคนหนึ่งบนพื้นดิน เขาจึงร้องตะโกนถามไปเพื่อขอความช่วยเหลือว่า
"ลุงๆ ขณะนี้พวกเราอยู่ที่ไหน?"
ชายบนพื้นดินครุ่นคิดอยู่นานแล้วตะโกนตอบกลับไปว่า
"พวกคุณอยู่ในบอลลูน"
หนึ่งในคณะนักท่องเที่ยวเมื่อได้ฟังดังนั้นแล้วก็บอกกับเพื่อนๆ อย่างมั่นอกมั่นใจว่า


 "ลุงคนนั้นเป็นต้องนักคณิตศาสตร์แน่นอนเลย"
เพื่อนๆ ในบอลลูนต่างก็งงกันใหญ่ จึงถามว่า


"รู้ได้อย่างไรว่าเขาเป็นนักคณิตศาสตร์?"
"รู้ซิ! เพราะลุงเขามีคุณสมบัติครบถ้วน 3  ประการด้วยกันคือ


หนึ่ง เขาเป็นคนคิดนานมากกว่าจะได้คำตอบ


สอง คำตอบของเขาถูกต้องตรงเผงทุกประการ และ


สาม คำตอบของเขาใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้เลย"  
 
นักวิชาการคือใคร


 


ทุกวันนี้มีคนพูดถึงบทบาทของนักวิชาการกันมาก บางคนก็เป็นที่ปรึกษาให้กับนักการเมือง
บ้างก็รับศึกษาปัญหาสังคม
ในการประชุมครั้งหนึ่ง ชาวบ้านคนหนึ่งได้ลุกขึ้นถามว่า
"ไอ้ที่เขาเรียกกันว่านักวิชาการ นักวิชาการนี่นะ คือใครกันละ ฉันไม่เข้าใจ?"
"อ๋อ! นักวิชาการก็คือผู้ที่มีความสามารถมาก"  
ใครคนหนึ่งพยายามตอบ
"คือสามารถที่จะทำให้ใครคนหนึ่งที่กำลังเอาขาข้างหนึ่งของตนเองแช่ในอ่างน้ำเดือด และอีกข้าง


หนึ่งแช่ในถังน้ำแข็งแล้วผู้นั้นยังคงมีความรู้สึกเป็นปกติได้"
"อะไรนะ!"
 ชาวบ้านคนเดิมร้องถามอย่างเสียงหลง
"ก็ลองใช้หลักสถิติเพื่อหาอุณหภูมิเฉลี่ยของร่างกายของเขาดูซิ เราจะพบว่ายังคงปกติอยู่ คือ


37 องศาดีอยู่นิ"
หมายเหตุ น้ำเดือดอุณหภูมิ=100 องศา, น้ำแข็งอุณหภูมิ = -26, องศา ดังนั้นอุณหภูมิเฉลี่ย = (100-26)/2 = 37 องศา


      


คำแนะนำของนักแนะแนว


นักเรียน 2 คนเดินตรงเข้าไปหาอาจารย์แนะแนว
"อาจารย์คับ พวกผมไม่แน่ใจว่าต่อไปจะเป็นอะไรดี?"
"งั้นเธอมาเข้าทดสอบความถนัด"
อาจารย์ก็ชวนเข้าไปในห้องทดลอง
"นี่นะ โต๊ะทดลอง นี่เตาไฟฟ้าและนี้คือกาน้ำ เวลาจะต้มน้ำก็ให้ยกกาขึ้นวางบนเตา  แล้วก็เปิด สวิชท์ไฟ"   อาจารย์อธิบายพร้อมแสดงให้นักเรียนทั้งสองดู
"เมื่อครูสั่งว่าต้มน้ำก็จงทำตามนะ" อาจารย์บอก


เมื่อได้ยินคำสั่งว่า "ต้มน้ำ"
นักเรียนทั้งสองคนก็ยกกาน้ำขึ้นวางบนเตาไฟฟ้าแล้วเปิดสวิชท์
"ดีมาก" อาจารย์รู้สึกพอใจ


คราวนี้อาจารย์ยกกาน้ำลงวางที่พื้นห้อง แล้วออกคำสั่งว่า "ต้มน้ำ"
นักเรียนคนแรกก็ยกกาน้ำขึ้นไปวางบนเตาแล้วเปิดสวิชท์
ส่วนนักเรียนคนที่สองก็ยกกาน้ำขึ้นวางบนโต๊ะ จากนั้นก็ยกกาน้ำขึ้นวางบนเตาไฟฟ้า แล้วจึงเปิด สวิชท์
อาจารย์เห็นดังนั้นก็แนะนำนักเรียนทั้งสองว่า
"คนแรกเธอควรจะไปเป็นวิศวกร เพราะรู้จักประยุกต์ดี ส่วนเธอคนนี้ครูว่าควรจะเป็นนักคณิตศาสตร์  เพราะว่าเธอมีความสามารถในการทำตามสิ่งที่ได้พิสูจน์มาแล้วได้ดีมาก"


 


เพราะคำถามชี้นำ


 


เรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้ ไม่ใช่โจ๊ก แต่เป็นความจริงทุกประการครับ


"น้องแทน" เป็นเด็กอนุบาลอายุประมาณ 4 ขวบ พ่อของเธอเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยระดับด๊อกเตอร์ทางวิศวกรรมศาสตร์ แถมมีคุณตาเป็นครูที่เกษียณราชการแล้ว ด้วยเหตุที่น้องแทนเป็นทั้งลูกและหลานคนแรกของนักวิชาการ  เขาจึงมักจะถูกสอนให้คิดอยู่เรื่อยเมื่อมีโอกาสที่เหมาะ


วันหนึ่ง คุณตาซึ่งเป็นอดีตครูคณิตศาสตร์ก็เขียนตัวเลขออกมา 2 ตัว คือเลข 7 และ 12 แล้วถามน้องแทนว่า "ตัวไหนมากกว่า"
น้องแทนก็ชี้ไปที่ตัว 12  คุณตาก็รู้สึกดีใจมากพร้อมชมหลานรักว่า


"น้องแทนเก่งมากครับ"  แต่ด้วยความเป็นครูก็ตั้งคำถามต่อว่า "เพราะอะไร?"
น้องแทนตอบว่า "เพราะ 12 มีสองตัว ส่วน 7 นั้นมีตัวเดียว"  


อีกวันหนึ่ง คราวนี้เป็นบทของนักวิชาการผู้เป็นพ่อบ้าง ด้วยความที่ตัวเองเป็นวิศวกรโยธาที่เชี่ยวชาญด้านการสำรวจ  วันหนึ่งเขาสอนน้องแทนว่า  


"ทิศนี้คือทิศตะวันออกนะลูก" พร้อมชี้มือชี้ไม้และให้เหตุผลว่า  "เพราะว่าตะวันมันออกมาทางทิศนี้เขาจึงเรียกว่าทิศตะวันออก  เข้าใจไหม?"


น้องแทนพยักหน้า


คุณพ่อมีท่าทีรู้สึกพอใจพร้อมตั้งคำถามต่อว่า


"แล้วทิศที่อยู่ตรงกันข้ามกับทิศตะวันออกคือทิศอะไร" พร้อมชี้มือประกอบ
น้องแทนตอบอย่างฉะฉานว่า


"ทิศตะวันเข้า ครับพ่อ"