Skip to main content

บางแง่มุมของเรื่องบุคคลชายขอบ

คอลัมน์/ชุมชน


สองสามวันที่ผ่านมา เหนื่อยใจกับเหตุการณ์รอบข้างจริงๆ เหตุมาจากคนในเหตุการณ์นั่นแหละ มาจากความไม่รู้และความเห็นแก่ตัวทั้งนั้น แก้ได้ยาก บ่นก็ไม่มีประโยชน์เพราะว่าไม่มีอะไรดีขึ้น ไม่มีใครฟังใคร บ่นไปก็รังแต่ทำให้ตนเองกลายเป็นคนแก่จู้จี้ไปอีก สรุปมานั่งวิเคราะห์ให้ท่านผู้อ่านรับทราบเพื่อนำไปคิดต่อกันดีกว่า


 


เป็นเรื่องความมักง่ายและฉวยโอกาสของนักศึกษาคนหนึ่ง  สัปดาห์ก่อนนักศึกษาที่อยู่ในความรับผิดชอบของผู้เขียนและได้เดินทางไปเรียนอีกประเทศหนึ่ง ได้ก่อเรื่องขึ้นโดยการโทรหาครอบครัวหนึ่งในเมืองนี้ที่นักศึกษาคนนี้ทำงานด้วย   และบอกว่าขอบคุณมากที่ให้โอกาสได้รู้จัก ได้ทำงานด้วย  แต่บังเอิญเป็นการฝากข้อความไว้ในเครื่องตอบรับอัตโนมัติ แล้วร้อยวันพันปีก็ไม่เคยโทรหา  ทำให้ครอบครัวนี้ตกใจคิดว่านักศึกษาคนนี้ไปตกระกำลำบากต่างแดน


 


ครอบครัวนี้ได้โทรมาหาผู้บริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัย และผู้บริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัยจึงได้ติดต่อไปยังเพื่อนร่วมงานผู้เขียนที่ร่วมกันจัดส่งให้ไปเรียนต่างประเทศ  โดยถามว่าเกิดอะไรขึ้น ชี้แจงด้วย  ทำให้เพื่อนร่วมงานและผู้เขียนต้องวิ่งกันพล่าน บังเอิญที่เราได้รับอีเมล์จากเด็กคนนี้ว่าประสบปัญหาเงินขาดมือ เพราะเงินที่กู้ไว้กับมหาวิทยาลัยยังไปไม่ถึง กดเงินไม่ได้ ทำให้เราเข้าใจกันในทันทีว่าเธอต้องการให้เรามาช่วยเธอ ตามลักษณะประวัติบางอย่างของเธอที่เคยมีมาก่อน


 


สิ่งที่ผู้เขียนเสียใจเป็นที่สุดคือ เด็กคนนี้ไปเที่ยวชายทะเลในต่างประเทศในช่วงก่อนหน้านี้เป็นเวลาอย่างน้อยสองอาทิตย์ และคงหมดเงินไปหลาย ทำให้เงินก้อนแรกที่ได้มาเป็นจำนวนหลายพันเหรียญหมดไป ภายในสองเดือนแรก ตอนนี้จึงต้องวิ่งหาเงินก้อนใหม่ แล้วทำการแบบนี้เพื่อให้ทุกคนมาสนใจ   โดยหารู้ไม่ว่าคนที่เดือดร้อนคือตัวผู้เขียนและเพื่อนร่วมงานคนนั้น   ทั้งที่ก่อนหน้านี้เด็กคนนี้เองมาอ้อนวอนให้ผู้เขียนช่วยดำเนินการให้ไปเรียนต่างประเทศในวินาทีสุดท้าย เพราะตนเองมัวเปลี่ยนใจไปมาตลอดกว่าสามเดือน


 


เพราะความใจดีและเห็นว่านักศึกษาคนนี้เป็นชนกลุ่มน้อยที่ด้อยโอกาสในสังคมอเมริกัน อีกทั้งเห็นว่านักศึกษาคนนี้ได้ล้มเหลวมาตลอดในชีวิต   ผู้เขียนจึงพยายามช่วยเต็มที่ แต่แล้วเหมือนกับทะเลที่ถมไม่เต็ม นักศึกษาคนนี้ไม่มีความรับผิดชอบ ไม่มีความเข้าใจว่าการกระทำของตนเองได้ส่งผลกระทบต่อคนอื่นอย่างไร ขาดวุฒิภาวะอย่างที่สุด


 


บทเรียนนี้ทำให้ผู้เขียนเรียนรู้อย่างหนึ่งว่า การที่ใจดีกับบางคนไม่ได้ทำให้คนนั้นดีขึ้นมาเลยในชีวิต และยังทำความเดือดร้อนมาถึงตัวผู้เขียนเองด้วย ในขณะนี้ก็ทราบมาว่านักศึกษาคนนี้กำลังมีปัญหาเรื่องนอนไม่ตื่น  ไปเข้าเรียนไม่ทัน และมีปัญหาในเรื่องการเรียนทั้งที่ไปเรียนในสถาบันที่ไม่ได้แข็งด้านวิชาการแต่ประการใด หอพักก็แค่เดินห้านาทีถึง สะดวกสบายทุกอย่าง  ที่น่ากลัวคือว่าถ้าได้เกรดไม่ดี นักศึกษาคนนี้จะต้องมีปัญหาด้านเกรดมาทับซ้อนอีกด้านหนึ่งด้วย


 


เมื่อมามองแบบวิเคราะห์แล้วนั้น นักศึกษาคนนี้ไม่ใช่คนเดียวที่มีปัญหาแบบนี้ แต่เกิดจากการที่เป็นคน "ชายขอบ" ในสังคมสหรัฐฯ และแน่นอนมีลักษณะที่ไม่ดีเป็นส่วนตัวอยู่ด้วยคือขี้เกียจ แต่ผู้เขียนเชื่อว่าเกือบทั้งหมดมาจากความเป็น "ชายขอบ" ที่ทำให้เด็กคนนี้มีโอกาสน้อยลงๆ ที่จะเติบโตได้หรือประสบความสำเร็จได้ในชีวิต ซึ่งผู้เขียนไม่คิดว่าตีตรามากไปที่กล่าวเช่นนี้สำหรับคนนี้


 


ในเรื่องของความเป็นชายขอบนั้นสามารถแยกข้อเสียเปรียบออกได้เป็นสามด้านใหญ่ๆ 1. ต้นทุนทางเศรษฐกิจ 2. ต้นทุนทางวัฒนธรรม 3. ต้นทุนทางสังคม 


 


ต้นทุนทางเศรษฐกิจ หมายถึง ฐานะทางเศรษฐกิจ คือรวยหรือจนนั่นเอง  บุคคลชายขอบมักไม่ค่อยมีเงิน มีฐานะต่ำกว่าคนที่ไม่ใช่ชายขอบ การที่จะเข้าถึงบริการหลายอย่างต้องการเงิน เช่นการมีการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย ต้องใช้เงินมาก บุคคลชายขอบอาจไม่มีโอกาสได้เข้าศึกษา เพราะอาจไม่มีเงินส่งเสียตนเอง และอาจต้องทำมาหากินไปด้วยเรียนไปด้วย ทำให้ไม่สามารถเรียนได้ดีอย่างที่ควรเป็น


 


ต้นทุนทางวัฒนธรรม  หมายถึงสิ่งแวดล้อมทางความคิด ค่านิยม วิถีการดำเนินชีวิตที่จะช่วยให้ดำรงอยู่ได้ในชีวิตทั่วไป ในสังคมไทยมีสำนวนว่า "สำเนียงส่อภาษา กิริยาส่อสกุล" คนที่มีชาติสกุลคือคนที่ได้เปรียบในจุดนี้ ในกรอบของการศึกษา จะพบได้ว่าหากพ่อแม่มีการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย ลูกหลานมักจะได้ร่ำเรียนระดับมหาวิทยาลัยเช่นกัน และไม่ค่อยประสบปัญหามากนักเพราะพ่อแม่ได้ถ่ายทอดประสบการณ์ให้ลูกได้


 


ตัวอย่างผู้เขียนเองที่พ่อจบแค่มัธยมสอง แม่จบแค่ ป.4  มีปัญหามากในการที่จะไต่มาจนจบปริญญาเอก  เป็นเพราะขาดต้นทุนทางวัฒนธรรม พ่อแม่ไม่รู้เลยว่าการเรียนการสอนและชีวิตมหาวิทยาลัยเป็นอย่างไร ถ่ายทอดไม่ได้เพราะไม่รู้ ลูกแต่ละคนก็สู้กันหืดขึ้นคอทั้งนั้น (แต่พ่อแม่ปลื้มมาก คุยได้ตลอด สามบ้านแปดบ้านรู้ไปทั่ว แถมวันดีคืนดีมาทวงบุญคุณอีกว่า เนี่ยฉันอุตส่าห์ส่งเสีย แต่ผู้เขียนก็ปลง ทำใจว่าดีกว่าไปขอทุนชาวบ้านเค้า อาจโดนกดขี่มากกว่านี้)  ผู้เขียนเองนึกว่าจะเดี้ยงตั้งแต่ มศ.ต้นเพราะไปเรียนโรงเรียนดังเข้า ไม่รู้วัฒนธรรมแบบแข่งขัน "วิ่งสู้ฟัด" (แบบที่คุณหมอประเสริฐ ท่านเขียนอยู่) แต่ก็กัดฟันจนมาวันนี้ได้ แต่ก็ยังเป็น "นักวิชาการชายขอบ"เพราะขาดพื้นฐานวัฒนธรรม "วิ่งสู้ฟัด" แบบนักวิชาการอีกเช่นกัน


 


เรื่องนี้เองที่ทำให้ผู้เขียนมีปณิธานว่าจะช่วยคนที่ด้อยโอกาสให้มีโอกาสมากขึ้น ไม่ว่าไทยหรือเทศ ถ้าเค้าคิดช่วยตนเองด้วย แต่หลายหนที่ปรากฏว่าหลายคนไปไม่ถึงดวงดาวกันเลย


 


ต้นทุนทางสังคม คือ เครือข่ายทางสังคม เช่น คนรวยก็จะคบกันเฉพาะคนรวย เป็นการเอื้อโอกาสให้กันและกัน แต่คนด้อยโอกาสก็ไม่มีอะไรจะเอื้อกัน เหมือนเตี้ยอุ้มค่อม  ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือพวกสมาคมศิษย์เก่าทั้งหลาย ที่พยายามให้ลูกศิษย์เก่าเรียนต่อในสถาบันที่พ่อแม่จบมา ดังนั้น จะเห็นได้ว่าในเมืองไทยและเมืองนอก สมาคมศิษย์เก่าดังๆ ก็จะดังอยู่ไมกี่แห่ง  นอกจากนี้ เราก็มักจะเห็นพวกไฮซ้อที่พยายามยกระดับตนเอง เพื่อลูกหลานด้วย ไม่ใช่แค่เพื่อตนเองเท่านั้น


 


เมื่อมามองให้ครบสามด้าน ก็จะเห็นว่า คนด้อยโอกาสหรือบุคคลชายขอบส่วนมากหันไปทางไหน ก็ทางตันเสียทั้งนั้น


 


ในสังคมสหรัฐฯ ที่พยายามลดช่องว่างในจุดนี้ เช่นให้โอกาสในการเรียนต่อสำหรับบุคคลชายขอบมากขึ้นโดยการให้เงินกู้พิเศษ แต่บุคคลชายขอบเองก็ไปไม่ค่อยถึงดวงดาวเพราะพื้นด้านอื่นไม่ส่งเสริม เช่น คุณธรรมด้านการรับผิดชอบงาน (Work ethics) ค่านิยมในการเล่าเรียน และแม้กระทั่งการมีบุคคลตัวอย่างหรือโรล โมเดล (Role model) ก็ไม่ได้ช่วย เพราะพวกไอ้โรล โมเดลนี่แหละพอมันได้ดี มันก็ไม่ใช่บุคคลชายขอบต่อไป มันไม่มาช่วยคนตกทุกข์ได้ยากกันสักเท่าไร


 


หลายครั้ง เราจึงยังเห็นบุคคลชายขอบไม่ว่าในสหรัฐฯ หรือไทยไม่ไปไหนเลย  หลายครั้งก็ต้องโทษตัวบุคคลชายขอบเองด้วยที่ไม่พยายามเอาเลย และหลายครั้งที่ต้องโทษกระแสหลักที่พยายามกีดกันบุคคลชายขอบทุกวิถีทางเช่นกัน


 


เรื่องของนักศึกษาที่มีปัญหาคนนี้ทำให้เกิดการวิเคราะห์ออกมาได้ น่าเสียดายในกรณีนักศึกษาคนนี้ ที่ทุกฝ่ายผนึกกำลังเต็มที่ที่จะช่วย แต่ดูเหมือนเจ้าตัวไม่คิดจะช่วยตนเองบ้างเลย แม้จะขยับบั้นท้ายก็ไม่เคยแม้แต่จะคิด มีแต่คิดหาข้อบ่ายเบี่ยง เหมือนกับที่คนไทยเรียกว่า "คนดีชอบแก้ไข คนจัญไรชอบแก้ตัว" ดังนั้นต่อให้สิบพระอินทร์ลงมาช่วย คงไม่ได้เกิดอะไรขึ้น


 


การยกระดับบุคคลชายขอบไม่ใช่แค่"การเอื้ออาทร" แต่เป็นการพัฒนาคนและสังคมอย่างยั่งยืน เพื่อให้ยืนได้ด้วยตนเอง หลายครั้งที่บุคคลที่ทำงานเพื่อบุคคลชายขอบจำเป็นต้องเข้าใจอย่างยิ่งว่า บุคคลชายขอบเองนั่นแหละคืออุปสรรคในการพัฒนาตนเอง


 


การพัฒนาคนให้รู้จักคิดนั้นไม่ใช่แค่มองในด้านดีด้านเดียว แต่ต้องมองว่ามีบางคนเหมือนกันที่พัฒนาอย่างไรก็ไม่ได้ เปรียบเหมือนบัวประเภทสุดท้ายของพุทธ ที่ในท้ายสุดคนอื่นๆ ก็ได้แต่มองตาปริบๆ เมื่อบัวพวกนี้ไม่มีโอกาสโผล่เหนือน้ำ และกลายเป็นอาหารของเต่าและปลา หรืออาจกลายเป็นบัวพันธุ์ใหม่ คือ "พันธุ์เต่าถุย" คือไม่มีใครรับทานอีกต่างหาก


 


ผู้เขียนเชื่อว่าปัญหาคนเห็นแก่ตัว คนขี้เกียจ ที่มักใช้ความเป็นบุคคลชายขอบมาตักตวงประโยชน์ มาหลอกใช้คน คงมีต่อไป แต่คนทำงานด้านนี้คงต้องพิจารณาต่อไปมากขึ้นว่าควรทำอย่างไร ปัญหานี้เป็นปัญหาที่น่าคิดและยากที่จะแก้ไข 


 


ผู้เขียนเชื่อว่าหลายคนที่ทำงานคงเจอมาแล้วแต่อาจไม่กล้าพูดดังๆ เท่านั้นเอง