Skip to main content

‘Medical Hub’ แล้วไง?

คอลัมน์/ชุมชน


 


                                                                         


                        


 


เมื่อประมาณไม่กี่วันมานี้เห็นข่าวในหนังสือพิมพ์ เดอะสเตรท ไทมส์ ของสิงคโปร์ ที่ดูเหมือนจะตื่นเต้นว่า ตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป  โรงพยาบาลใหญ่ๆ ของสิงคโปร์ได้รับการรับรองและควบคุมคุณภาพทางด้านการดูแลรักษาตามมาตรฐานอเมริกัน และนี่จะเป็นการดึงให้คนเดินทางเข้ามายังสิงคโปร์เพื่อการแพทย์ หรือที่เรียกว่า "medical tourism" มากขึ้น


 


ดูเหมือนว่าสิงคโปร์ก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่หวังว่าจะเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ หรือ Medical Hub ด้วยเช่นกัน ก่อนหน้านี้ไม่นานก็เคยเห็นข่าวของจากอินเดียว่า ก็เตรียมที่จะเป็น Medical Hub เช่นกัน หรือแม้แต่ประเทศไทยเอง ก็หวังเอาไว้มากเช่นกันในเรื่องนี้ 


 


ตามข่าวนั้น สิงคโปร์ ในฐานะของพวกค้าขายรับไม่ค่อยได้ที่เห็นตัวเลขว่า  โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ของไทยเพียงโรงพยาบาลเดียวเมื่อปี 2001 ได้รักษาคนไข้ต่างประเทศไป 225,000 คน และ เมื่อจนถึงปีที่ผ่านมาจำนวนคนป่วยจากต่างชาติก็ยิ่งเพิ่มจำนวนขึ้นเป็น 335,000 คน มากว่าจำนวนคนต่างชาติที่เข้าไปรักษาในทุกโรงพยาบาลของสิงคโปร์รวมกันเสียอีก (320,000 คน)


 


ทว่า ที่สุดแล้วเราควรจะดีใจกับตัวเลขเหล่านี้ด้วยหรือไม่ และเรื่องการเป็น Medical Hub ของประเทศกำลังพัฒนานั้นจะเกิดประโยชน์จริงๆ หรือ


 


นับเป็นเรื่องที่ดีมากๆ และขอสนับสนุนทั้งตัวและหัวใจ หากแต่ละประเทศจะยกระดับมาตรฐานการรักษาให้ดีขึ้น และทำให้ประชาชนในทุกระดับชั้นในประเทศนั้นได้เข้าถึงการรักษา หรืออาจเผื่อแผ่ไปถึงประเทศที่ด้อยโอกาสกว่าได้พลอยมีโอกาสเข้าถึงการรักษาที่ได้มาตรฐานมากขึ้น


 


แต่เมื่อมาดูเรื่องวัตถุประสงค์ของการเป็น Medical Hub  ก็คงเป็นคนละเรื่องกันกับการเข้าถึงการรักษาของคนในทุกระดับชั้น เพราะนี่คงจะเป็นเพียงเรื่องในเชิงพาณิชย์ที่เชื่อว่าจะเป็นอีกทางหนึ่งในการดึงเงินตราเข้าประเทศ แต่จะได้อะไรเหนือกว่านั้นอีกหรือไม่ คิดไม่ออก ส่วนผลกระทบอื่นๆ ที่ตามมาค่อยมาว่ากัน แล้วเชื่อว่า นี่คืออีกหนึ่งบริการที่มากับโลกาภิวัตน์และการค้าเสรีที่เปิดโอกาสให้คนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดีกว่าเท่านั้นที่จะมีโอกาสเข้าถึงการรักษา


 


หากพูดถึงประเทศสิงคโปร์แล้ว เนื่องจากเป็นประเทศที่เล็กและประชากรก็ไม่มีมาก ฐานะทางเศรษฐกิจก็ดี ประกอบกับบุคลิกลักษณะของสิงคโปร์คือการทำการค้าขาย จึงไม่แปลกอะไรหากสิงคโปร์จะพ่วงการค้าบริการสุขภาพเข้าไปอีกสักอย่างหนึ่ง และที่สำคัญ เชื่อว่า ประชากรในสิงคโปร์เองนั้นก็จะได้รับบริการที่เท่าเทียมกับบรรดา medical tourist ทั้งหลายที่มาจากต่างประเทศ


 


แต่ครั้นมาดูประเทศไทยและอินเดียแล้ว แน่นอนว่า บริการเหล่านี้คงไม่ได้มีสำหรับคนในชาติแน่นอน สำหรับประเทศไทยนั้นก็ดูจะกระเหี้ยนกระหือรือพอสมควรที่จะเป็น medical hub โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคที่เกี่ยวกับสมอง และศัลยกรรมพลาสติก  ไทยประกาศได้เลยว่า มีศูนย์สมองที่ดีมากๆ ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และมีความสามารถในเรื่องของศัลยกรรมพลาสติกเป็นเลิศ  นอกจากนี้โรคอื่นๆ ที่สามารถรักษาได้ ไทยก็มีความสามารถเท่าเทียมกับชาติตะวันตกแน่นอน และที่สำคัญราคาถูกกว่าทั้งในเรื่องของการรักษา และค่าครองชีพสำหรับผู้ที่จะมาพักรักษาตัวเป็นเวลานานๆ


 


อย่างไรก็ตาม แม้จะถูกแค่ไหนก็ตาม แต่ก็ยังแพงอย่างแน่นอนสำหรับประชาชนผู้มีรายได้น้อย ซึ่งส่วนใหญ่รัฐบาลได้จัดสรรบริการ 30 บาทรักษา (บ้างไม่รักษาบ้าง) บางโรคเอาไว้ให้แล้ว แต่ไม่รู้ว่าหากคนจนต้องผ่าตัดสมองจะได้มีโอกาสใช้เครื่องมือที่ทันสมัยที่สุดในโลกที่มีอยู่ในประเทศไทยรักษาได้หรือไม่ แน่นอนว่า ถ้าหากเป็นต่างชาติที่แม้ว่าการรักษาในประเทศของตนเองก็สามารถรักษาได้ แต่จะไม่ยอมใช้บริการเนื่องจากแพงกว่า จึงเลือกมาที่นี่ เหมือนที่อินเดีย ที่มีชาวสวนแอปเปิ้ลที่เลิกกิจการแล้วจากอเมริกา ที่ยอมนั่งเครื่องบินมารักษาโรคเข่าเสื่อมที่มุมไบ เนื่องจากว่า ทั้งค่าเดินทาง และค่ากินอยู่นั้นยังถูกกว่าการเข้าไปผ่าตัดเพียงอย่างเดียวในประเทศของตัวเอง  เรียกว่า เป็นการสมประโยชน์กันทั้งสองฝ่าย ทั้งผู้ให้บริการที่ต้องการเงินมากกว่า และผู้รับบริการที่ได้จ่ายถูกกว่า


 


แต่ส่วนประชาชนผู้ยากไร้ ทั้งไทย และอินเดียก็คงจะไม่ต่างกัน จะเข้าถึงบริการชั้นเลิศขนาดนั้นได้หรือไม่ก็คงจะรู้ๆ อยู่ คงไม่ต้องให้หมอดูมาฟันธงหรอกว่าจะเป็นอย่างไร


 


มีเพื่อนชาวอินโดนีเซียบอกว่า ปัจจุบันนี้ผลพวงจากการค้าเสรีก็คือที่อินโดนีเซียนั้นมีโรงพยาบาลใหญ่ๆ และทันสมัยมากมายแต่เป็นการลงทุนจากต่างชาติ ขณะเดียวกันเราก็ได้เห็นภาพชายคนหนึ่งมีอาชีพเก็บขยะ อาศัยเพิงอยู่ ต้องอุ้มลูกที่ปอดบวมไปหาหมอที่โรงพยาบาลหลายแห่ง แต่ไม่มีใครยอมรับรักษาเพราะไม่มีเงินจนกระทั่งเด็กต้องเสียชีวิตลง ชายคนนี้ต้องอุ้มลูกกลับไปหาที่ฝังเพียงลำพัง


 


ดังนั้น จึงไม่แน่ใจนักว่าเราควรจะยินดีกันหรือไม่ หากประเทศของเรา ได้ชื่อว่า เป็น Medical Hub แต่เราก็ยังมีคงต้องเสียชีวิตด้วยโรคที่รักษาได้และมีเครื่องมือที่จะรักษา แต่ก็ไม่มีใครรักษาให้เพราะว่า "ไม่มีเงิน" ค่ารักษา  หรือเราจะยังคงดีใจกันหรือไม่ ถ้าเรายังเห็นว่ายังมีเด็กปากแหว่ง เพดานโหว่อยู่ ทั้งๆ ที่เรามี ศัลยกรรมพลาสติกที่เป็นเลิศที่สุด


 


กล่าวโดยสรุป medical hub  เป็นเพียงแค่การเปิดให้คนมีเงินได้มีทางเลือกในการรักษามากขึ้น และอีกส่วนหนึ่งทางโรงพยาบาลก็จะได้รักษาเฉพาะคนมีเงินมากขึ้นเท่านั้น คงจะไม่ได้ให้ประโยชน์แก่คนทั่วๆ ไปในประเทศหรอก มิหนำซ้ำอาจจะทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ ย่อมไม่ใช่บริการแบบถึงก่อนมีสิทธิ์ก่อนแน่ แต่น่าจะเป็นเงินมากกว่ามีสิทธิ์มีสิทธิ์เหนือกว่า เสียมากกว่า ส่วนคนยากไร้ก็ยังคงจะไม่ได้รับประโยชน์ใดๆ กับการเป็น medical hub และอาจยังคงต้องยึดสโลแกน "โง่ จน เจ็บ" เหมือนเดิม