Skip to main content

สอนหลานให้อ่านอังกฤษ (ตอนที่ 4)

คอลัมน์/ชุมชน

 


 


ทักษะเกี่ยวกับภาษา


 


ทักษะหลักๆที่เกี่ยวกับการเรียนภาษาคงจะมีสี่อย่างคือ การฟัง  อ่าน  พูด  และเขียน  ผมเรียงจากยากน้อยมายากมากนะครับ  คุณผู้อ่านที่มีประสบการณ์ในการเรียนภาษาอังกฤษมาก่อนคงจะเห็นด้วยกับผมที่ว่า ทักษะสองอย่างแรกง่ายกว่าทักษะสองอย่างหลัง  เพราะการฟังและอ่านเป็นการรับเข้ามา เราไม่ต้องคิดมาก  ส่วนการพูดและเขียนที่ต้องส่งออกไปรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ยากเย็นแสนเข็ญหลายเท่า  คิดแล้วคิดอีกก็พูดไม่ได้หรือเขียนไม่ออก  สำหรับคนที่เรียนภาษาอังกฤษในโรงเรียนมาแล้วอาจจะรู้สึกว่าการอ่านง่ายกว่าการฟัง  เหตุผลก็คือ เรารู้จักศัพท์และเคยอ่านภาษาอังกฤษมาบ้าง  ตัวหนังสือไม่ค่อยเปลี่ยน ไม่ว่าคนอเมริกันหรือออสเตรเลียนก็ใช้คำและประโยคทำนองเดียวกัน เราจึงเข้าใจได้ค่อนข้างง่าย  ในขณะที่สำเนียงพูดไม่ใช่อย่างนั้น ต้องเรียกว่าร้อยพ่อพันแม่เลยครับ


 


คุณๆท่านๆที่เรียนหนังสือในเมืองไทยมาตั้งแต่เด็ก ต้องเคยฟังภาษาอังกฤษสำเนียงไทยๆจากอาจารย์ของเราในระดับประถม  มัธยม  หรืออุดมศึกษา ก็เป็นสำเนียงที่เราคุ้นหูจนจำมาใช้ถึงบัดนี้  บางคนโชคดีได้ยินจากเจ้าของภาษา คือคนอังกฤษ ก็แปลกไปอีกแบบหนึ่ง หลายคนมักบอกว่าฟังยาก เพราะเรามักจะคุ้นเคยสำเนียงอเมริกันมากกว่า แหม ก็พี่ใหญ่นี่ครับ หันไปทางไหนก็เจอ  ตัวอย่างเช่น หนังกลางแปลงสมัยก่อนจะต้องมีหนังข่าวของอเมริกันฉายก่อนหนังเรื่อง  หนังฮอลลีวู๊ดก็มักมีเสียงในฟิล์มหลุดออกมาเป็นประจำ เพราะคนพากย์ไม่ทัน  ในจังหวัดใหญ่ๆก็มีสำนักข่าวสารอเมริกันที่มีหนังสารคดีให้ดู รวมทั้งสมาคมนักเรียนเก่าอเมริกันที่เปิดสอนภาษาอังกฤษ  เล่นปูพรมกันต่อเนื่องยาวนานอย่างนี้จะไม่ให้คนไทยคุ้นเคยสำเนียงอเมริกันได้อย่างไร  พอได้ฟังคนชาติอื่นพูดภาษาอังกฤษก็เลยคิดว่าสำเนียงไม่ถูกต้อง  อย่างนี้ภาษาการตลาดเขาเรียกว่า "แบรนด์ลอแยลตี้" หรือเปล่าครับ?


 


คุณผู้อ่านที่เคยได้ยินภาษาอังกฤษสำเนียงคนชาติต่างๆ ไม่ว่าอินเดียไปจนถึงแถวอาฟริกาใต้  นิวซีแลนด์ไปจนถึงแคนาดา  คงจะรู้สึกพิศวงงงงวยว่าทำไมภาษาอังกฤษจึงมีหลากหลายสำเนียงได้ขนาดนี้ นี่คงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้บางคน รวมทั้งผมด้วย มีปัญหาในการฟังและพูดภาษาอังกฤษมาโดยตลอด เพราะไม่รู้ว่าจะพูดเลียนสำเนียงของใครดี  แม้หลายคนจะบอกว่าสำเนียงอเมริกันมาตรฐานที่สุดเพราะแพร่หลายไปทั่วโลก ดูได้จากข่าวโทรทัศน์  หนัง  และเพลง ที่เป็นของอเมริกาเป็นส่วนใหญ่ แต่คนอเมริกันเองก็ยังบอกว่าพวกเขาที่อยู่ในแต่ละภาคพูดคนละสำเนียงนะครับ  ใครที่ว่าคุ้นเคยกับสำเนียงอเมริกันดีลองมาฟังชาวบ้านคนดำในภาคใต้ของอเมริกาพูดซิครับ ถ้าฟังเข้าใจในครั้งแรก ผมจะยอมรับเลยว่าสำเนียงอเมริกันมาตรฐานที่สุด


 


กลับมาเรื่องทักษะทางภาษาต่อนะครับ ผู้รู้เขาว่าในการเรียนภาษาใหม่ควรจะเริ่มที่การฟังก่อน การอ่านจึงค่อยตามมา  ผมว่าก็น่าจะจริงนะครับ อย่างน้อยก็เริ่มที่เรื่องยากน้อยก่อน คือเป็นการรับเข้ามา จับใจความได้มากหรือน้อยก็ไม่ค่อยเครียดนัก โดยเฉพาะถ้าเราไม่ต้องพูดตอบออกไป  แต่ในสภาพความเป็นจริงที่เจ้าหลานทั้งสองต้องเจอในโรงเรียนที่ประเทศสหรัฐฯก็เลือกไม่ได้ พวกเขาต้องเรียนรู้ทักษะทั้งสี่อย่างไปพร้อมกัน ยกเว้นการเขียนที่มีน้อยหน่อย  ในการสอนภาษาอังกฤษให้พวกเขาผมจึงเน้นทักษะสองอย่างแรกเป็นพิเศษ คือ การฟังและอ่าน  ผมทำแบบมวยวัดครับ ไม่มีวิธีที่ชัดเจนหรือมาตรฐาน คว้าอะไรได้ก็ทำเลย  อย่างที่เขาว่าคงจะดีกว่าอยู่เฉยๆ  และผมพยายามให้กิจกรรมที่ทำมีส่วนสนับสนุนการพัฒนาทักษะอย่างใดอย่างหนึ่งในสี่อย่างข้างต้น  ผมมองอย่างนี้ครับ ความรู้โดยทั่วไปก็เหมือนตัวต่อสามมิติ เราอาจจะไม่เห็นความสัมพันธ์ของแต่ละเรื่องแต่ละชิ้นที่เราเรียนรู้ในตอนนี้  แต่ต่อไปเมื่อเราเรียนรู้มากขึ้นเรื่อยๆ ความรู้แต่ละเรื่องที่กระจัดกระจายอยู่ในตอนแรก จะมาเกาะเกี่ยวยึดโยงกันมั่นคงขึ้น ทำให้เราเห็นภาพรวมชัดเจนและสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้


 


คุณผู้อ่านต้องไม่ลืมนะครับว่าการที่ผมสอนภาษาอังกฤษให้หลานทั้งสองเป็นการสอนเสริมทางโรงเรียน  ผมถือว่าทางโรงเรียนเป็นขาประจำที่กำลังปูพื้นฐานด้วยวิธีที่ถูกต้องมาตรฐาน คือทำตามลำดับขั้นตอน  ส่วนผมเป็นแค่ขาจร คอยช่วยขนดินยกหินถมที่บ้าง  หรือเก็บขยะที่เกะกะออกบ้าง  หรือช่วยเดินย่ำบดอัดดินในบางครั้ง


 


เห็นแล้วใช่ไหมครับว่างานผมมั่วไปมั่วมา แต่ก็มีวัตถุประสงค์ชัดเจนนะครับ คือ ช่วยเสริมในการปูพื้นฐานทักษะภาษาอังกฤษให้เจ้าหลานน้อยทั้งสองคน