Skip to main content

สอนหลานให้อ่านอังกฤษ (ตอนที่ 7)

คอลัมน์/ชุมชน

 


 


วิธีสอนภาษาอังกฤษ (3)


 


อ่านหนังสือให้ฟัง  ในช่วงแรกที่เริ่มเข้าโรงเรียน อาจารย์ของหลานทั้งสองคนก็ช่วยเหลือมากเลยครับ  อย่างหนึ่งก็คือให้ยืมหนังสือของชั้นต่ำกว่ามาอ่านที่บ้าน หนังสือพวกนี้จะมีทั้งเรื่อง  ศัพท์  ปริศนา  เกม  หลายอย่างหลายแนวล่อหรอกเด็กให้อ่าน  เนื่องจากเจ้าหลานน้อยทั้งสองคนยังอ่านภาษาอังกฤษไม่ได้ ผมก็เลือกบางเรื่องมาอ่านให้พวกเขาฟัง  ไม่ยาวหรอกครับ เพราะหนังสือเด็กเขาพิมพ์ด้วยตัวหนังสือขนาดใหญ่กว่าปกติ และมีรูปประกอบทุกหน้า  บางครั้งก็ให้พวกเขาเลือกเรื่องที่อยากฟังเองแล้วผมเป็นคนอ่าน  ในการอ่านผมก็พยายามเน้นจังหวะ มีเสียงหนักเบา หรือใส่อารมณ์ตามเรื่องนิดหน่อย  เด็กๆสนใจดีครับ และมารยาทดีด้วย ตั้งใจฟังโดยไม่เคยวิพากษ์วิจารณ์ภาษาอังกฤษสำเนียงไทยๆของผมเลย  พอเจอคำที่ผมคิดว่าเขาน่าจะต้องใช้ ผมก็จะชี้ให้เขาดู และอาจจะแปลให้ฟังเป็นระยะๆ  เมื่อจบเรื่องก็จะถามเขานิดหน่อยเพื่อทดสอบว่าพวกเขาจับความได้บ้างหรือเปล่า


 


วิธีนี้ได้ผลดีครับ  พวกเขาเรียนรู้บางอย่าง เนื่องจากเป็นเรื่องง่ายๆ มีรูปประกอบชัดเจน จึงตามเรื่องได้ไม่ยาก  นักวิชาการศึกษาของสหรัฐฯสนับสนุนให้ผู้ปกครองที่มีลูกหลานตัวน้อยๆทำเช่นนี้บ่อยๆจนเป็นกิจวัตรประจำวันเพื่อปลูกฝังให้เด็กรักการอ่าน  ผมเห็นด้วยครับ ถ้าทำได้  ปัญหาที่คงจะมีสำหรับคนไทยก็คือ หายืมหนังสือฟรีได้ยาก  แม้จะซื้อก็คงจะไม่ง่ายนัก และราคาหนังสือก็ไม่ถูกนะครับสำหรับเราๆท่านๆ  แต่ที่สำคัญ เราไม่ค่อยมีเวลาครับ  อ่านเรื่องสั้นเรื่องหนึ่ง รวมทั้งพูดคุยกัน ก็ใช้เวลาร่วมครึ่งค่อนชั่วโมงแล้ว  และคนที่กล่องเสียงไม่แข็งแรงก็คงจะเจ็บคอบ่อย คุณพ่อบ้านบางคนอาจจะชอบให้คออักเสบก็ได้ จะได้ใช้เป็นข้ออ้างในการหาแอลกอฮอล์มาทาฆ่าเชื้อ แต่ทาภายในลำคอนะครับคุณแม่บ้าน  ผมทนทำกิจกรรมนี้อยู่ได้ไม่ถึงสองเดือนก็ต้องหยุดแล้วไปเน้นวิธีอื่น


 


ปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นอีกอย่างจากการอ่านหนังสือให้ลูกหลานฟังก็คือ พวกเขาอาจจะจำภาษาอังกฤษสำเนียงไทยๆของเราไปก็ได้  คงเป็นเรื่องธรรมดาของคนต่างชาติ โดยเฉพาะคนเอเชียที่มีสำเนียงเฉพาะตัวเวลาพูดภาษาอังกฤษ  ผมเองก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรให้ลิ้นอ่อนขึ้นเพื่อให้พูดภาษาอังกฤษได้เหมือนฝรั่ง เคยได้ยินผู้สันทัดกรณีบอกว่า ให้เอาขนมปังปิ้งถูลิ้น พร้อมกับกาแฟร้อนลวกลิ้นทุกเช้า จะพอช่วยให้ลิ้นอ่อนได้  เขาบอกให้ดูจากฝรั่งที่ทำอย่างนี้ทุกวันจึงพูดภาษาอังกฤษได้ดี  แต่ผู้ที่มีประสบการณ์บอกว่าให้เอาแอลกอฮอล์ทาลิ้นทุกเย็น ช่วยได้แน่นอน 100% เขาบอกว่าให้ดูจากวงเหล้าที่มีฝรั่งกินด้วยสิ คนที่ปกติพูดอังกฤษไม่ได้ แต่พอเหล้าเข้าปากก็พูดอังกฤษได้ปร๋อจนฝรั่งงง


 


กลับมาเข้าเรื่องของเราต่อดีกว่าครับ หากเครื่องคอมพิวเตอร์ที่บ้านของคุณผู้อ่านต่อเข้ากับอินเตอร์เน็ทได้ ก็สามารถหาเปิดหนังสือเด็กมาอ่านให้ลูกหลานฟังได้นะครับ  ผมขอแนะนำให้เปิดอ่านเฉพาะของฟรีเท่านั้นก็พอครับ  การอ่านจากคอมพิวเตอร์คงช่วยดึงดูดความสนใจของเด็ก "ดิจิทัล" ได้มากขึ้น  และคงจะได้รสชาติไปอีกแบบหนึ่ง คือในการเปิดแต่ละหน้า ต้องรอให้เครื่องโหลดมาเป็นนาที ก็เหมือนกับมีเวลาให้เราลุ้นไปกับตัวละครในเรื่อง  นี่เป็นการคิดในแง่บวกนะครับ จะได้ไม่เครียด  ส่วนผมเป็นเฒ่า "แอนะล็อก" ชอบที่จะเปิดอ่านจากหนังสือจริงๆมากกว่าครับ


 


ลอกคำศัพท์  ประมาณปลายเทอมต้น มีผู้มีจิตอันเป็นกุศลเอาดิกฯมาแจกนักเรียนทุกคนที่โรงเรียนของเจ้าหลานชายคนเล็ก  อาจารย์เขาเลยให้นักเรียนแต่ละคนเลือกลอกศัพท์จากดิกฯมาใส่สมุดทุกวัน วันละห้าคำ  ให้ลอกคำศัพท์รวมถึงคำแปลทั้งหมด โดยหวังว่านักเรียนจะเรียนรู้ศัพท์เพิ่มขึ้นพอสมควรจากการทำวิธีนี้  อาจารย์เขาให้ทำแค่วันจันทร์ถึงศุกร์ เราเห็นชอบด้วยเลยให้ทำของวันเสาร์และอาทิตย์เพิ่มขึ้น แล้วขอยืมวิธีนี้มาใช้กับเจ้าคนโตด้วย


 


เจ้าหลานคนเล็กพอเลือกลอกคำศัพท์และคำแปลภาษาอังกฤษเสร็จแล้วก็ต้องมาเปิดดิกฯอังกฤษ-ไทย เพื่อให้รู้ว่าแปลเป็นภาษาไทยว่าอย่างไร  ส่วนเจ้าคนโตลอกจากดิกฯอังกฤษ-ไทย ก็เลยง่ายหน่อย พอทำไปได้สักระยะหนึ่งเขาคงจะเบื่อ ก็เลยขอเปลี่ยนเป็นแต่งประโยคจากคำศัพท์ที่เขาเลือกเอง  เมื่อเขาขอทำมากกว่าที่คาดหวัง ผมก็รีบอนุมัติทันทีเลยครับ  ต่อมาเรารวมกิจกรรมนี้เข้ากับการอ่านหนังสือ นั่นคือ ให้พวกเขาเอาคำศัพท์ที่ไม่รู้จักในหนังสือมาเขียนใส่ในสมุดพร้อมกับคำแปล โดยหวังว่าจะช่วยให้พวกเขาอ่านและเข้าใจเนื้อหาในหนังสือได้ดีขึ้น


 


ในการทำกิจกรรมนี้ พวกเขาไม่ได้ทำทุกวันหรอกครับ ขึ้นอยู่กับว่ามีการบ้านจากโรงเรียนมากหรือน้อย  หากไม่เตือน พวกเขาก็จะทำเป็นลืม  พอครบเจ็ดวันในวันอาทิตย์ ผมก็เรียกตรวจงานชิ้นนี้  โดยให้ทีละคนมาอ่านออกเสียงคำศัพท์ แล้วแปลหรืออธิบายความหมายเป็นภาษาไทย  พวกเขามักจะมีปัญหาในการออกเสียง โดยเฉพาะคำยาวๆ  ผมคิดว่านี่คงเป็นปัญหาปกติของคนไทย ซึ่งรวมทั้งผมด้วย ที่เวลาเปิดดิกฯก็จะดูแต่ความหมายแต่ไม่ดูการออกเสียง จึงทำให้ออกเสียงไม่ค่อยใกล้เคียงของจริง  ส่วนงานแต่งประโยคของเจ้าหลานคนโต ผมก็จะอ่านตรวจพร้อมกับเขียนแก้ไขให้ แล้วให้เขาลอกมาส่งใหม่


 


ผมลองคำนวณคร่าวๆ ในช่วงเวลาที่ทำเช่นนี้ หลานแต่ละคนได้เคยลอกคำศัพท์ไปแล้วร่วม 1,000 คำ เพิ่มขึ้นหลายเท่าจากการเรียนรู้ในโรงเรียนที่อาจารย์สอนคำศัพท์ได้เพียงประมาณปีละ 200 คำเท่านั้น  ในความเป็นจริง เด็กนักเรียนอเมริกันทั่วไปจะเรียนรู้คำได้หลายพันคำในแต่ละปี แต่ส่วนใหญ่เป็นการเรียนรู้เองจากนอกโรงเรียนครับ ที่ว่ามานี้ไม่ใช่ผมไปนั่งนับมาหรอก มีนักวิชาการฝรั่งเขาบอกไว้ครับ


 


ผมไม่แน่ใจว่าวิธีนี้จะมีประโยชน์มากน้อยแค่ไหน แต่คิดว่าต้องดีกว่าไม่ทำแน่นอน เพราะอย่างน้อยก็เคยมีคำศัพท์ใหม่ๆจำนวนหนึ่งผ่านหูผ่านตาพวกเขาอย่างใกล้ชิด  คำเหล่านี้จำนวนหนึ่งคงจะติดค้างอยู่ในหัวพวกเขาบ้าง จึงน่าจะทำให้คลังศัพท์ของพวกเขาใหญ่ขึ้นกว่าเดิม  นอกจากนี้ พวกเขายังเกิดความคุ้นเคยในการใช้ดิกฯมากขึ้น  การได้ฝึกเขียนตัวหนังสืออังกฤษ (ที่จริงเป็นตัวหนังสือโรมันนะครับ) บ่อยๆ น่าจะทำให้ภาพตัวหนังสือเหล่านั้นติดตาและสมองพวกเขาดีขึ้น  ปัญหาของเด็กคงจะไม่มี เพราะพวกเขาก็ทำได้เรื่อยๆ  แต่ปัญหาของผู้ใหญ่ก็คือไม่ค่อยมีเวลาตรวจ จึงทำให้การให้คำแนะนำไม่มีคุณภาพเท่าที่ควร  เจ้าหลานน้อยทั้งสองทำกิจกรรมนี้ได้ประมาณครึ่งค่อนปี แล้วก็ค่อยๆเลือนหายไป