Skip to main content

ศาลปกครองระงับการขายหุ้น กฟผ.!

สัปดาห์ที่ผ่านมา ศาลปกครองได้ระงับการขายหุ้นการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) หลังจากที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและประชาชนที่เกี่ยวข้อง ๑๑ ราย ยื่นฟ้องต่อ นายกรัฐมนตรี  สำนักนายกรัฐมนตรี  รมต.กระทรวงพลังงาน กระทรวงพลังงาน และคณะรัฐมนตรี


 


โดยข้อหาว่าออก พ.ร.ฎ.กำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และออก พ.ร.ฎ.กำหนดอำนาจและสิทธิประโยชน์ของบริษัท กฟผ. พ.ศ. ๒๕๔๘   ทำให้เกิดความเสียหายต่อผู้ยื่นฟ้องและประชาชน


 


ถือว่าเป็นชัยชนะของฝ่ายคัดค้านเป็นครั้งแรก  เพราะที่ผ่านมาไม่ได้รับการตอบรับจากรัฐบาลแต่ประการใด


 


ขอเรียนว่า วุฒิสภาได้สรุปเรื่องของการแปรรูป กฟผ. และส่งให้รัฐบาลรับทราบถึงความไม่พร้อมในการแปรรูป กฟผ.  ซึ่งประชาชนจะได้รับผลกระทบ หากมีการแปรรูปอย่างรีบเร่งเช่นนี้ !


 


เช่น อำนาจผูกขาดของสายส่งไฟฟ้ายังคงเป็นของ กฟผ.   การไฟฟ้าจะขึ้นค่าไฟ โดยอ้างค่าเอฟที  อ้างว่าค่าเชื้อเพลิงขึ้น  ค่าใช้จ่ายขึ้น โดยไม่มีการคุ้มครองต่อผู้บริโภค หรือประชาชนแต่ประการใด เหมือนที่ ปตท. ขึ้นค่าผ่านท่อก๊าซธรรมชาติ ทำให้ได้กำไรเป็นแสนล้าน โดยอ้างว่ากำไรมาจากบริษัทลูก 


 


กรรมาธิการแปรรูปวุฒิสภา ได้ข้อมูลมาปรากฏว่า ปตท.คลอดบริษัทลูกนับสี่สิบบริษัท


กรรมการบริหารบางคนเป็นกรรมการในบริษัทเหล่านั้นนับสิบบริษัท  ท่านลองคิดดูว่า ปันผลโบนัสเป็นเท่าไร


 


ถามว่าวุฒิสภาทำอะไรบ้าง


 


เราก็ได้แต่ทำรายงาน ตั้งญัตติ ตั้งกระทู้ ซึ่งรัฐมนตรีไม่ต้องมาตอบ เพราะสามารถผลัดการตอบกระทู้ของ ส.ว.ได้เรื่อยๆ จนกระทู้ค้างตอนในวุฒิสภากว่า ๖๐ กระทู้ในขณะนี้


 


ผมเรียนว่าหน้าที่ของวุฒิสภา คือกลั่นกรองกฎหมาย ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล แต่งตั้งและถอดถอนบุคคลในองค์กรอิสระ  ล่าสุด ที่กรรมาธิการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.คุณสมบัติกรรมการรัฐวิสาหกิจวุฒิสภา ได้มีการเสนอว่า คนที่จะมาเป็นกรรมการบริหารรัฐวิสาหกิจ เป็นได้ไม่เกินสามบริษัท รวมทั้งบริษัทลูก!


 


ก็ต้องดูว่า เมื่อ พ.ร.บ.คุณสมบัติของกรรมการรัฐวิสาหกิจเข้าสู่ที่ประชุมวุฒิสภาจะเป็นไปตามที่กรรมาธิการเสนอหรือไม่ ที่สำคัญสภาผู้แทนราษฎรจะเห็นด้วยกับการแก้ไขของวุฒิสภาหรือไม่


         


สิ่งที่วุฒิสภาเคยเสนอ คือการที่ต้องมีองค์กรกำกับดูแล ที่เป็นกลางในการคิดค่าไฟฟ้า  ค่าสายส่ง เพราะไม่อยากให้กระทรวงพลังงานคิดค่าไฟฟ้าตามอำเภอใจ หรือเอาใจคนซื้อหุ้น กฟผ.อย่างเดียว !


 


เหมือนปลัดกระทรวงพลังงานเป็นประธาน ปตท.แล้วจะไป ดูแล ปตท.หรือ จะดูแลไม่ให้ ปตท.คิดค่าผ่านท่อก๊าซแพงเกินไป  คนบริหารปตท.ก็ต้องคิดให้ ปตท.ได้กำไรสูงสุด  แล้วอำนาจการผูกขาดในรัฐวิสาหกิจ ใครจะเป็นผู้กำกับ ?


        


สิ่งที่รัฐบาลจะต้องทำคือเรื่องกำกับการผูกขาดของรัฐวิสาหกิจเป็นอันดับแรก และจะต้องมีระยะเวลาแน่นอน ว่าจะให้ผูกขาดกี่ปี


 


เหมือนการวางท่อก๊าซธรรมชาติ ปตท.ผูกขาดอยู่ จะให้มีการแข่งขันอย่างไร  ถ้าไม่มีการแข่งขัน จะต้องมีกรรมการกำกับดูแลที่ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน ต้องเป็นอิสระ ไม่ใช่เอาปลัดกระทรวงไปเป็นกรรมการ แล้วให้กำกับดูแลด้วย


      


ถัดมาที่ต้องทำคือ ต้องปรับปรุงประสิทธิภาพในการแข่งขัน  ที่ผ่านมารัฐวิสาหกิจที่แปรรูปไป ไม่ได้เพิ่มประสิทธิภาพแต่เพิ่มค่าบริหาร  ประชาชนมีแต่รับภาระเพิ่มขึ้น  ที่ประชุมวุฒิสภาฟันธงไปแล้วว่า การแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องกับสาธารณูปโภคผูกขาดไม่สมควรแปร


 


การขยายงานสามารถทำได้โดยการกู้ และสามารถใช้วิธีอื่นขยายงานได้  และใครๆ ก็อยากให้กู้ โดยไม่ต้องอ้างถึงหนี้สาธารณะ การแปรรูปเอารัฐวิสาหกิจเข้าตลาดหลักทรัพย์เป็นข้ออ้าง ที่จะทำให้มีหุ้นในตลาดหลักทรัพย์เยอะ 


 


คนที่ได้รับผลประโยชน์โดยตรงคือคนลงทุนในตลาดหลักทรัพย์  แต่คนที่รับกรรมคือผู้บริโภค ที่ต้องรับภาระการขึ้นค่าบริการ เนื่องจากการผูกขาดของรัฐวิสาหกิจ เช่น ไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ ทางด่วน ก๊าซ


 


โอ้ละหนอ น้องต้องรออีกนานแค่ไหนรัฐบาล ถึงจะได้ตื่นได้สติหนอ ........


 


ขอขอบคุณ องค์กรเอกชนทั้ง ๑๑ องค์กรที่ช่วยกันฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อให้สติรัฐบาลว่า อย่าทำอะไรตามอำเภอใจ


 


ยกแรกนี้ผมให้สิบคะแนนเต็มครับ สำหรับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ทำได้ดีกว่าวุฒิสภาหรือองค์กรที่เรียกว่าองค์กรอิสระเสียอีก


 


ยอมรับว่า  ตามองไม่เห็นขนตาครับ ลืมช่องทางนี้เสียสนิทจริงๆ