Skip to main content

สิ้นหวัง

 


 


เดือนพฤศจิกายนนับเป็นเดือนเยาวชนแห่งชาติได้เลย


 


มีการเผยแพร่งานวิจัยที่บ่งชี้ว่ารายการทีวีประเทศไทยเป็นอันตรายต่อเยาวชนอย่างชัดแจ้ง  ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหาที่หมกมุ่นทางเพศ   เวลาที่เยาวชนใช้ไปกับหน้าจอทีวี  หรืออันตรายต่อสุขภาพกายคือโรคอ้วน


 


นิสิตจุฬาฯ ฆ่าตัวตาย 2 คน  เป็นการกระโดดตึกทั้งคู่  นั่นคือใช้วิธีที่เฉียบขาดและรุนแรงหนึ่งในนั้นเป็นนักศึกษาแพทย์


 


รัฐมนตรีกระทรวงพัฒนาสังคมฯ ออกนโยบายไฟส่องหน้า  อันที่จริงมิใช่นโยบาย  เป็นเพียงการอ้างว่าสามารถป้องกันเยาวชนมิให้เสียตัวในคืนลอยกระทง


 


สุดท้ายคือวัยรุ่นในฝรั่งเศสก่อจลาจล     ข่าวว่ากลุ่มที่ก่อการจลาจลเป็นวัยรุ่นมุสลิมซึ่งได้รับการเลือกปฏิบัติจากรัฐเสมอมา


 


ข่าวสุดท้ายหลายคนอาจจะคิดว่าไม่เกี่ยว    แต่ผมว่าเกี่ยว   ด้วยความเชื่อว่าวัยรุ่นไทยที่ด้อยโอกาสก็จะก่อจลาจลในเวลาไม่นานหากรัฐยังเพิกเฉยกับการปฏิรูปการศึกษา


 


เช่น ไม่โอนอำนาจการศึกษาให้ส่วนท้องถิ่น  (อ้าว!)


 


หรือ ให้ภรรยากราบเท้าสามีก่อนนอน (อ้าว!)


 


สองเรื่องหลังอาจจะไม่เกี่ยวกับเยาวชนโดยตรง  แต่ก็เกี่ยวอยู่บ้าง  เรื่องสถาบันการศึกษาและสถาบันครอบครัวจะไม่เกี่ยวกับเยาวชนได้อย่างไร


 


เรื่องโอนอำนาจการศึกษาไปส่วนท้องถิ่นเป็นเรื่องใหญ่และสำคัญมาก   หากทำได้ผลและถูกวิธี  นี่คือการปฏิรูปโครงสร้างการศึกษาขนาดใหญ่ที่สามารถช่วยให้เยาวชนของเรามีสติปัญญาดีขึ้นและปัญหาเยาวชนลดลง     เปรียบเหมือนการปฏิรูประบบสาธารณสุขด้วยระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า      หากไม่แก้ไขโครงสร้างใหญ่ของระบบก็ยากที่จะส่งผลสะเทือนถึงผู้ป่วยและนักเรียนเป็นรายบุคคลได้


 


เรื่องภรรยากราบเท้าสามีก็เกี่ยว    หากไม่เปลี่ยนรัฐมนตรีบางคนเห็นท่าสถานการณ์เยาวชนและสังคมจะลำบาก   เพราะไม่มีคนทำงานด้านนโยบาย


 


อันที่จริงยังมีข่าวเล็กๆ อีกข่าวคือเรื่องกระทรวงไอซีทีคิดควบคุมการ์ตูนลามก    แต่ครั้งนี้จะรวมถึงการ์ตูนญี่ปุ่นชื่อดังหลายเรื่องที่วางจำหน่ายอย่างถูกลิขสิทธิ์    เพราะหลายเรื่องที่ว่านั้นมีภาพล่อแหลมเอาการอยู่   เดือดร้อนถึงเยาวชนจำนวนมากออกมาต่อต้านคัดค้าน


 


สุดท้ายคือข่าวน่าเสียใจเมื่อร้านสะดวกซื้อขนาดใหญ่แห่งหนึ่งดื้อรั้นจะแสดงบุหรี่ ณ จุดขาย     โดยยกข้อกฎหมายขึ้นมาอ้าง    โดยละเลยจิตสำนึกทางสังคม    เป็นวิธีการเดียวกับที่ผู้มีอำนาจทุกองค์กรทุกที่ประชุมนิยมใช้นั่นคือเมื่ออยากได้อะไรก็ยกกฎหมายขึ้นอ้าง    เมื่ออยากหลบเลี่ยงกฎหมายก็จะยกวลี "รัฐศาสตร์สำคัญกว่านิติศาสตร์" ขึ้นอ้าง    เดือดร้อนถึงเยาวชนจำนวนมากออกมาต่อต้านคัดค้าน


 


จะเห็นได้ว่าเพียง 1-2 สัปดาห์มีเรื่องราวที่เกิดแก่เยาวชนเกิดขึ้นมากมาย     การแก้ไขปัญหาไปทีละเรื่องคงเป็นหน้าที่ของใครบางคน     แต่การแก้ไขระดับนโยบายเคลื่อนสังคมต้องเป็นหน้าที่ของใครบางคนด้วย     ซึ่งมีปัญหาทั้ง 2 กรณี


 


การแก้ไขปัญหาทีละเรื่องมักเกิดความขัดแย้ง   เกิดคู่ตรงข้าม   เกิดความแตกแยกทางความคิด  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องไร้สาระอย่างไฟส่องหน้าเยาวชนก่อนเข้าโรงแรม  หรือเรื่องมีสาระอย่างการตั้งบุหรี่ ณ จุดขาย


 


ที่บ้านเราขาดแคลนคือ "กลไกการพูดคุย"     เราไม่มีกลไกการพูดคุยให้เกิดทางออกเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย    เราไม่มีวิธีจัดการให้เกิดการพูดคุยนั้น   หลายๆครั้งคล้ายจะมีการพูดคุยแต่ก็มักเป็นการพูดคุยโดยที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอยู่ไม่ครบองค์    หรือครบองค์แต่เป็นการพูดคุยที่มีวัฒนธรรมเชิงอำนาจแฝงอยู่


 


กล่าวคือพูดได้พูดไป    ผู้มีอำนาจตัดสินใจจะเอาแบบนี้ก็ต้องแบบนี้


 


การแก้ไขปัญหาระดับนโยบายก็มีปัญหาในตัวของมันเอง    หากยึดถือโครงสร้างสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขาของอาจารย์ประเวศว่าการใหญ่ใดๆต้องอาศัยการเมือง   วิชาการ  และภาคประชาชนร่วมมือกัน    นโยบายเยาวชนก็น่าจะใช้โครงสร้างนี้ได้    ประเด็นคำถามจึงเป็นว่าการเมืองคิดอย่างไร    วงวิชาการคิดอย่างไร    และภาคประชาชนคิดอย่างไร


 


ปัญหาเยาวชนจำนวนทั้งหมดสามารถไล่กลับไปได้ถึงระบบการศึกษาที่พิการแล้วของบ้านเราทั้งสิ้น     เรื่องปฏิรูปการศึกษาหรือการถ่ายโอนอำนาจการศึกษาจึงเป็นคานงัดใหญ่ในการแก้ไขปัญหาเยาวชน


 


ที่เห็นและเป็นอยู่    ไม่รู้ว่าฝ่ายการเมืองจะเอาอย่างไร