Skip to main content

ประกันสังคมกับสิทธิประโยชน์ที่ดูดีขึ้น

คอลัมน์/ชุมชน


แรงงานในระบบหรือแรงงานที่มีนายจ้างแน่นอน มีสถานประกอบการชัดเจนที่อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติประกันสังคม ต่างได้เฮกันเมื่อมีการเพิ่มสิทธิประโยชน์มากขึ้นในการดูแลสุขภาพ


 


คือ การรับบริการเกี่ยวกับฟัน จากเดิมให้เป็นค่าใช้จ่ายได้ปีละไม่เกิน 400 บาท โดยสามารถเบิกได้ครั้งละ 200 บาท  แต่ปัจจุบันสามารถไปถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูน และทำฟันปลอมที่มีฐานฟันเป็นพลาสติกได้ไม่จำกัดครั้งและค่าบริการ ยกเว้น การรักษารากฟันกับการทำฟันปลอมด้วยวัสดุอื่น  รวมถึงการคลอดบุตรที่เดิมเมื่อลูกจ้างหรือคนงานตั้งครรภ์ต้องจ่ายเองทุกอย่างทั้งค่าฝากครรภ์ การดูแลระหว่างตั้งครรภ์ ค่าทำคลอด เมื่อเสร็จสิ้นแล้วจึงจะไปขอรับเงินแบบเหมาจ่ายได้จำนวน 4,000 บาทแล้วเพิ่มเป็น 6,000 บาท แต่ตอนนี้สิทธิคือได้รับบริการเกี่ยวกับการคลอดทุกขั้นตอน รวมทั้งได้ค่าชดเชยเมื่อหยุดงานเลี้ยงลูกอีก 45 วัน  นอกจากนี้ยังได้รับเงินสงเคราะห์บุตรในแต่ละเดือนอีก 350 บาทต่อลูก 1 คนแต่ไม่เกิน 2 คนที่จะได้รับการสงเคราะห์นี้   ที่สำคัญกว่าคือการได้รับสิทธิประโยชน์เป็นเงินชดเชยเมื่อป่วยไม่สามารถไปทำงานได้ เงินชดเชยเมื่อทุพพลภาพ เงินชดเชยเมื่อตกงาน และเงินชดเชยเมื่อชราภาพ


 


นับเป็นสิทธิประโยชน์ที่ช่วยลดภาระลูกจ้างที่มีเงินเดือนไม่สูงมากนัก จะได้มีเงินเหลือไปใช้จ่ายในสิ่งจำเป็นอื่นๆ โดยเฉพาะการหาบ้านพักอาศัยเป็นของตนเอง การให้การศึกษาลูกที่นอกเหนือจากที่รัฐจ่ายให้ และการหาความบันเทิงให้กับชีวิตเพื่อการผ่อนคลายและการเสริมสร้างสุขภาพจิต


 


แต่นี่เป็นเพียงคนกลุ่มน้อยมากในสังคมไทยที่ได้รับประโยชน์นี้ คือ ราว ๆ 8 ล้านกว่าคนเท่านั้น ส่วนที่นอกเหนือจากนี้  ตัดคนรวยมีความสามารถดูแลตนเองได้สัก 5 ล้านคน ก็ยังคงมีคนไทยอีกราวๆ 48 ล้านคนที่ไม่มีหลักประกันทางสังคมเช่นลูกจ้างเหล่านี้


 


สิ่งที่ดูเป็นความชอบธรรมที่ลูกจ้างมีโอกาสมากกว่าคนอื่นๆ คือเป็นเพราะว่าลูกจ้างได้จ่ายเงินจากเงินเดือนตัวเองเดือนละ 5 เปอร์เซ็นต์ของเงินเดือน เพื่อสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม โดยมีนายจ้างสมทบอีกเท่ากับลูกจ้างคือ 5 เปอร์เซ็นต์  และรัฐบาลสมทบอีก 2.75 เปอร์เซ็นต์  ถามว่าประชาชนไทยคนอื่นๆ ซึ่งไม่มีรายได้ประจำเป็นรายเดือน  เช่น เกษตรกร แรงงานรับจ้างเคลื่อนที่ไปตามแหล่งงานต่างๆ แรงงานรับจ้างภาคเกษตร แรงงานที่รับงานไปทำที่บ้าน (เหมาเย็บผ้า ผลิตอุปกรณ์ ฯลฯ) แรงงานรับจ้างในบ้าน แรงงานรับจ้างในร้านอาหาร แผงลอย รวมถึงผู้ประกอบการค้าขายรายเล็กรายน้อย (หาบเร่ แผงลอย รถเข็น ฯลฯ) เหล่านี้ไม่สมควรได้รับสิทธิประโยชน์ด้านสังคมเหล่านี้บ้างหรือ ทั้งที่คนเหล่านี้ก็เป็นแหล่งผลิตงานและขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจเช่นกัน เพียงแต่ไม่ได้รับการรับรองและไม่มีนายจ้าง หรือนายจ้างหลีกเลี่ยงจะปรากฏตัวเพราะไม่ต้องการรับผิดชอบใดๆ เช่น กรณีเหมาช่วงต่อๆ กันไปจนหานายจ้างไม่เจอ


 


การสร้างระบบสวัสดิการสำหรับประชาชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีเป็นภาระหน้าที่โดยตรงของรัฐ และควรเป็นระบบที่เท่าเทียมกันและทั่วถึง ไม่ใช่เฉพาะกลุ่มคนที่มีศักยภาพในการร่วมจ่ายเท่านั้น ณ ปัจจุบันสิ่งที่รัฐรับประกันให้ประชาชนอย่างเท่าเทียมกันมีเพียง 2 เรื่องเท่านั้นคือ การให้การศึกษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย 12 ปี และระบบหลักประกันสุขภาพที่ให้การรักษาพยาบาลทุกคนโดยจ่ายค่าธรรมเนียม 30 บาท  แต่หลักประกันสำหรับค่าเลี้ยงดูบุตร ค่าทุพพลภาพ ค่าไม่มีงานทำ ค่าที่อยู่อาศัย และค่าใช้จ่ายยามชราภาพยังไม่มีหลักประกันสำหรับทุกคน  อย่างนี้จะทำให้คนจนหมดไปจากสังคมไทยได้อย่างไร ในเมื่อคนยังไม่มีหลักประกันทางสังคมที่จะช่วยลดภาระ และพอมีรายได้เหลือเก็บไว้สร้างสรรค์คุณภาพชีวิตดีๆ ทั้งกาย ใจ สติปัญญา และจิตวิญญาณ   


 


กลับมาดูสิทธิประโยชน์ของลูกจ้างในระบบประกันสังคมที่มีการเพิ่มสิทธิประโยชน์ด้านการดูแลรักษาฟัน  ทั้งนี้ เป็นไปเพื่อให้เกิดการทัดเทียมกับสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพที่ประชาชนอื่นได้รับ ถือเป็นข้อดีของการแข่งขันกันระหว่างสองระบบนี้ แต่อย่ามองว่านี่เป็นสิ่งที่ฟ้าประทานหรือเป็นเพราะกรรมการประกันสังคมมีน้ำใจดี แต่มันคือสิทธิประโยชน์ที่ควรได้รับนานแล้วแต่ถูกกีดกันไว้ ทั้งที่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ควรได้รับการดูแล 


 


ลูกจ้างอย่ายินดีปรีดากันจนลืมที่จะดูว่าสิทธิประโยชน์อื่นที่สำคัญกว่าคือ เรื่องเกี่ยวกับภาวะตกงาน และภาวะชราภาพ ซึ่งขณะนี้สิทธิที่ลูกจ้างได้รับเมื่อชราภาพยังถือว่าต่ำมาก ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ เช่น สิทธินี้จะเกิดขึ้นได้เมื่อจ่ายเงินสมทบรายเดือนครบ 180 เดือน โดยได้รับเป็นรายเดือนจำนวนเท่ากับ 15 เปอร์เซ็นต์ของเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย ซึ่งหากเอาเงินเดือนสูงสุดที่ประกันสังคมใช้คำนวณคือ 15,000 บาท ก็จะได้รับ 2,250 บาทต่อเดือน  ซึ่งนับว่าน้อยสำหรับค่าเลี้ยงชีพยามชราภาพในแต่ละเดือน  ข้ออ้างปัจจุบันนี้คือเงินกองทุนไม่พอหากจ่ายมากกว่านี้ และเมื่อมีคนเข้าสู่ระยะชราภาพจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ  กองทุนจะหมดไปทันทีได้


 


ข้อมูลเหล่านี้ลูกจ้างควรได้ทำการศึกษาและร่วมพิจารณาตัดสินใจ เช่น ลูกจ้างอาจตัดสินใจว่าจะให้สิทธิประโยชน์ใดเป็นหลัก ระหว่างการรักษาพยาบาล การสงเคราะห์บุตร หรือตกงาน หรือชราภาพ  หากคิดว่าสิทธิเมื่อชราภาพมีความจำเป็น ก็อาจต้องทบทวนว่าพร้อมจะจ่ายเงินสมทบแต่ละเดือนเพิ่มขึ้นหรือไม่  หรือหากไม่พร้อมจะจ่ายมากไปกว่า 5 เปอร์เซ็นต์ของเงินเดือน จะมีวิธีการจัดปรับอย่างไร เช่น อาจโอนสิทธิการรักษาพยาบาลไปร่วมกับระบบหลักประกันสุขภาพ  แล้วเอาส่วนสมทบที่เกี่ยวกับการรักษาพยาบาลมาโปะลงไปในส่วนสบทบเกี่ยวกับชราภาพ หรือการเสนอให้รัฐมีส่วนร่วมจ่ายมากขึ้นหรือเท่ากับที่ลูกจ้าง นายจ้างได้จ่าย คือฝ่ายละ 5 เปอร์เซ็นต์เท่าๆ กัน ไม่ใช่รัฐร่วมจ่ายเพียง 2.75 เปอร์เซ็นต์เช่นปัจจุบัน


 


ทั้งนี้ทั้งนั้น ลูกจ้างควรมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและทิศทางของกองทุนประกันสังคมมากกว่านี้ ไม่ใช่ให้รัฐโดยสำนักงานประกันสังคม ที่เป็นหน่วยงานที่บริหารภายใต้ระบบราชการเป็นผู้กำหนดทิศทางหรือรัฐมนตรีที่หมุนเวียนเปลี่ยนไปของกระทรวงแรงงานเป็นผู้มีอิทธิพลหลักในการดำเนินการและตัดสินใจ  โดยหวังว่าการขับเคลื่อนของลูกจ้างในการพัฒนาหลักประกันทางสังคมอื่นๆ ที่นอกเหนือจากการรักษาพยาบาลจะเป็นเส้นทางนำร่องให้เกิดระบบประกันทางสังคมให้กับประชาชนอีกกว่า 50 ล้านคนที่ไม่มีโอกาสได้รับสวัสดิการเช่นเดียวกับลูกจ้างต่อไปด้วย