Skip to main content

กฎกระทรวง ๙ ข้อ : เด็กและเยาวชนเป็นผู้กำหนดอนาคตตนเองจริงหรือ ?

คอลัมน์/ชุมชน


มานับถอยหลังร่วมกันนะครับ !!!


…. อีกไม่กี่เดือน ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยความประพฤติของนักเรียนและนักศึกษา พ . ศ … ( จะขอเรียกโดยย่อ ว่า ร่างกฎกระทรวง ๙ ข้อ ) ซึ่งออกตามมาตรา ๖ และ มาตรา ๖๔ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ . ศ . ๒๕๔๖ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการออกกฎกระทรวงไว้ จะมีผลบังคับใช้ตามกฎหมายกันเสียที เพราะกว่าจะออกมาเป็นกฎ ๙ ข้อ ทั่นรัฐมนตรี ศธ . ต้องเอากลับไปทบทวนหลายรอบ กว่าคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติจะเห็นชอบในหลักการ เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา


สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง นี้คือ การส่งเสริมให้เด็ก นักเรียน นักศึกษา ที่อายุไม่เกิน ๑๘ ปีซึ่งไม่รวมผู้ที่บรรลุนิติภาวะด้วยการสมรส ที่กำลังรับการศึกษาขั้นพื้นฐานระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอุดมศึกษา ทั้งประเภทสามัญ อาชีวศึกษา หรือสถานศึกษาของรัฐและเอกชน ได้มีพฤติกรรมที่เหมาะสม ปลอดภัย มีคุณภาพชีวิตที่ดี ตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก ที่เป็นกฎหมายคุ้มครอง สงเคราะห์สวัสดิภาพ สิทธิ และ ส่งเสริมความประพฤติของเด็กให้มีพฤติกรรมที่เหมาะสม โดยคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของเด็ก และการไม่เลือกปฏิบัติ ตลอดจน สร้างความตระหนักให้ทุกภาคส่วนในสังคม ทั้งสถาบันการศึกษา ครอบครัว ภาคเอกชน มาให้ความสำคัญในการปกป้องคุ้มครองสิทธิของเด็กร่วมกัน


ในร่างกฎกระทรวง ๙ ข้อ นี้ กำหนดไว้ว่า " นักเรียน นักศึกษาต้องไม่ประพฤติตนดังต่อไปนี้ "


๑ . หนีเรียน หรือออกนอกสถานที่โดยไม่ได้รับอนุญาตในช่วงเวลาเรียน
๒ . เล่นการพนัน หรือจัดให้มีการเล่นการพนันที่ผิดกฎหมาย
๓ . พกพาอาวุธ หรือวัตถุระเบิดหรือวัตถุซึ่งไม่เป็นอาวุธโดยสภาพแต่สามารถใช้ประทุษร้ายแก่ร่างกายอย่างอาวุธ
๔ . ซื้อจำหน่ายแลกเปลี่ยนหรือเสพสุราสิ่งมึนเมา บุหรี่หรือยาเสพติด
๕ . ลักทรัพย์ กรรโชกทรัพย์ ข่มขู่ หรือบังคับขืนใจ หรือรีดไถบุคคลอื่น
๖ . ก่อเหตุทะเลาะวิวาท ทำร้ายร่างกายผู้อื่น หรือกระทำการใด ๆ อันน่าจะก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย หรือขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน
๗ . แสดงพฤติกรรมทางชู้สาว ซึ่งไม่เหมาะสมในที่สาธารณะ
๘ . เกี่ยวข้องกับการค้าประเวณี
๙ . ออกนอกสถานที่พักเวลากลางคืนเพื่อเที่ยวเตร่หรือรวมกลุ่ม อันเป็นการสร้างความเดือดร้อนให้แก่ตนเองหรือผู้อื่น


" ผมใช้เวลามาก กว่าจะออกร่างกฎกระทรวงและร่างระเบียบเพื่ออยากให้สามารถปฏิบัติได้ ดังนั้น กระบวนการทั้งหมดคิดว่าถ้าจัดการได้ดีเชื่อว่าจะทำให้เกิดการป้องปรามเด็กที่ค่อนข้างจะอยู่นอกระเบียบต่าง ๆ แต่ต้องระวังว่าทั้งหมดเป็น พ . ร . บ . คุ้มครองเด็กที่อยากให้เด็กดีและไม่ประพฤติตามข้อกำหนด ต้องห้าม การลงโทษต้องมีประสิทธิภาพไม่เกิดความเดือดร้อนให้กับเด็ก ซึ่งเด็กที่ออกทำงาน เที่ยวเตร่เป็นกลุ่มไม่สร้างความเดือดร้อนให้ใคร ก็สามารถออกจากบ้านได้ และจากนี้ร่างกฎกระทรวงและร่างระเบียบ


ก็จะเข้าการพิจารณาของคณะกรรมการร่วมที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นประธานพิจารณา และส่งต่อไปยังคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีก่อนให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติ และประกาศใช้ ซึ่งผมคิดว่าใช้เวลาไม่นาน " นายอดิศัย โพธารามิก รมว . กระทรวงศึกษาธิการกล่าวในหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง



ก่อนหน้านี้ ระหว่างที่สาธารณชนได้ถกเถียงถึงความเหมาะสม ความเป็นไปได้ เห็นด้วย ไม่เห็นด้วยกับร่างกฎกระทรวงดังกล่าว จนทำให้กระทรวงศึกษาธิการต้องยุติการจัดประชาพิจารณ์เกี่ยวกับร่างกฎกระทรวงไปแบบเงียบ ๆ เครือข่ายเด็กและเยาวชนภาคเหนือตอนบน ได้ยื่นข้อเสนอต่อกระทรวงศึกษาธิการ โดยระบุว่า


เครือข่ายเด็กและเยาวชนภาคเหนือตอนบน เห็นว่าเนื้อหาของร่างกฎกระทรวงดังกล่าวไม่ได้เป็นการคุ้มครองหรือสนับสนุนให้เด็ก เยาวชน และชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาเด็กและเยาวชน แต่ เป็นการควบคุม ลงโทษ ทั้งยังเป็นการเปิดช่องทางให้เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจ หน้าที่ เพื่อการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของเด็กและเยาวชนมากขึ้น และไม่มีการกำหนดแนวทางควบคุม หรือกำหนดโทษกับสถานประกอบการ และมีข้อเสนอดังนี้


๑ . ให้มีการร่าง ( ร่าง ) กฎกระทรวง ขึ้นใหม่ โดยให้มีส่วนร่วมของเด็ก และเยาวชนที่หลากหลาย
๒ . พัฒนา ศักยภาพของครู อาจารย์ และบุคลากรที่เกี่ยวข้องใน พ.ร.บ . คุ้มครองเด็ก พ . ศ . ๒๕๔๖ ให้มีความเข้าใจสภาพปัญหาสังคม เข้าใจธรรมชาติของเด็ก เยาวชน และมีทักษะเพียงพอในการทำงาน ส่งเสริมพฤติกรรมของเด็ก เยาวชนได้อย่างสอดคล้องเหมาะสม
๓ . ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเด็ก เยาวชน โดย
ก) สนับสนุนเด็ก และเยาวชนรวมกลุ่มทำกิจกรรมทั้งในโรงเรียนและชุมชน เพื่อให้เด็กและเยาวชนตระหนักในสิทธิ บทบาท หน้าที่ และสามารถปกป้องคุ้มครองสิทธิของตนเองได้อย่างยั่งยืน
ข ) ดำเนินการเผยแพร่ข้อมูล ความรู้เรื่อง พ.ร.บ . คุ้มครองเด็ก พ . ศ . ๒๕๔๖ แก่เด็ก เยาวชน และองค์กรภาครัฐ องค์กรพัฒนาเอกชนที่เกี่ยวข้องกับเด็ก และเยาวชน โดยเน้นการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชนอย่างจริงจัง
ค) ให้มีตัวแทนของเด็กและเยาวชนที่ทำกิจกรรมในระดับต่าง ๆ เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการทุกคณะใน พ.ร.บ . คุ้มครองเด็ก พ . ศ . ๒๕๔๖


จากการถกเถียงในวงกว้างโดยกระบวนการโยนหินถามทางมาสู่ความเงียบในการออกกฎกระทรวง ( ที่มีคนรู้เรื่องนี้เพียงไม่กี่คน ) แม้จะมีการปรับเปลี่ยนจากกฎ ๑๖ ข้อ เหลือเพียง ๙ ข้อนั้น ผมเห็นว่า ผู้ออกกฎกระทรวงนี้ ได้นำประสบการณ์ บทเรียนชุดเดิมที่ตัวเองได้เผชิญมาแต่ครั้งยาวนาน มาเป็นบรรทัดฐานในการวางระเบียบแบบแผนการปฏิบัติต่อเด็กรุ่นใหม่ เพราะบางเนื้อหาในร่างกฎกระทรวง ๙ ข้อ ไม่ต่างจากเนื้อหาเดิมในกฎกระทรวง พ . ศ . ๒๕๑๕ ออกตามความในประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๙๔ ( ลงวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๑๕ ) เมื่อ ๓๐ กว่าปีที่แล้ว



หนุ่มสาวสมัยนั้น ต่างจากหนุ่มสาวสมัยนี้ และมีฐานการดำรงชีวิตที่แตกต่าง ทั้งวัฒนธรรม ประเพณี ค่านิยม และมีวิถีทางเพศแตกต่าง ได้เรียนรู้สารจากสิ่งรอบข้างในสภาวะแวดล้อมที่เอื้ออำนวย ไม่ว่าจะผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ โทรทัศน์ อินเทอร์เน็ต ซึ่งมีความแตกต่างและเปลี่ยนแปลงไปมากจากสมัยเผด็จการทหาร


เพราะยุคนี้ ทุนนิยมซึ่งมองเด็กและเยาวชนเป็นตลาดใหญ่ในการสร้างและขยายต้นทุนการผลิตทางธุรกิจ ได้เสนอสารผ่านสื่อรูปแบบต่าง ๆ ด้านเดียว สร้างค่านิยมให้ใช้จ่ายสูง สิ่งที่เป็นความต้องการ อาทิ รถ อุปกรณ์สื่อสาร เสื้อผ้าตามสมัยนิยม อาหารหลากสีสันเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ หรือมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อวิถีชีวิต สิ่งเหล่านี้เป็นประเด็นสำคัญในการร่างกฎกระทรวงนี้ขึ้นมา แต่การร่างนั้นยังขาดการประเมินสภาวะทางสังคมและความสำคัญในการให้เด็กมีส่วนริเริ่ม คิดและตัดสินใจในการกำหนดกฎกระทรวงนี้ เพราะเผด็จการทางความคิด ยังคงมีอยู่ในปัจเจกบุคคลกลุ่มหนึ่ง


ความหวัง ( ดี ) ว่า เด็กจะมีพฤติกรรมที่เหมาะสม มีวิถีการดำเนินชีวิตที่ปลอดภัย และมีคุณภาพชีวิตที่ดี จากการตั้งกฎข้อห้าม ๙ข้อ ( ซึ่งอาจจะรวมเรื่องอื่น ๆ ที่ไม่ได้กำหนดในร่างกฎกระทรวงด้วย ) ไม่สามารถเป็นไปได้จริง เพราะในแนวปฏิบัติ ซึ่งคนที่ใช้ ( ครู - อาจารย์ในโรงเรียน ) ไม่ได้คิด ( คนคิดอาจจะใช้บางส่วน ) ไม่สามารถใช้ดุลยพินิจในการตัดสินว่า แบบไหนถึงจะผิดกฎ แบบไหนถูก และ การห้าม ป้องปรามไม่ได้นำมาซึ่งทางออกที่แก้ปัญหาได้อย่างจริงจัง คือ เมื่อห้ามไม่ให้ทำแล้วจะให้พวกเรา ( เด็ก ) ทำอะไร ? เมื่อไม่มีอะไรมาส่งเสริม ทางเลือก ? เราก็จะทำอย่างที่ห้าม ? ….. กฎกระทรวงที่ร่างมา จึงอาจมีปัญหาในแนวปฏิบัติ


มากกว่านั้น พัฒนาการทางร่างกายและจิตใจของเด็กในปัจจุบัน เปลี่ยนแปลงเร็ว ต้องการการดำรงชีวิตที่มีความอิสระที่จะเลือกโดยไม่ละเมิดสิทธิผู้อื่น โอกาส พื้นที่แสดงออก แสดงอัตลักษณ์ และพื้นที่ทางสังคม เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องคำนึงว่านั้นคือ จุดที่พวกเราเป็น


แต่สิ่งที่ปรากฏในกฎ ๙ ข้อ คือ การคิดและกำหนดกรอบทางเดินที่ผู้ใหญ่ หวังดี และอยากให้เป็น ซึ่งมีความขัดแย้งกัน และ ไม่สอดคล้องกับความต้องการของเด็กโดยสิ้นเชิง



กฎกระทรวงที่น่าจะเป็นคือ เป็นการส่งเสริมการรวมกลุ่มทำกิจกรรม เช่น ค่าย การผลิตสื่อ งานศิลปะ ทำนิตยสาร ฝึกอาชีพ มีกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต มีทางเลือกที่หลากหลาย มีกิจกรรมพัฒนาทักษะ ความคิด การปลูกฝังเรื่องสิทธิ การเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของตนและผู้อื่น ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมในการดูแลสังคม และสร้างความรับผิดชอบต่อการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสมานฉันท์ และเป็นการปกป้องคุ้มครองสิทธิของเด็ก ได้ในระยะยาวและยั่งยืน


หรือไม่แล้ว … อาจถึงเวลาที่เด็กหลายคนจะเสนอให้มีกฎข้อห้าม ๙ ข้อสำหรับผู้ใหญ่บางคน ที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ละเมิดสิทธิผู้อื่น ไม่เคารพศักดิ์ศรีความเท่าเทียมทางเพศ หนีสอน สูบบุหรี่ต่อหน้าสาธารณะ เล่นการพนัน


วันนี้เด็กได้มีส่วนร่วมมากเพียงใด ดูได้จากรูปธรรมของการกำหนด กฎกระทรวง 9 ข้อ ซึ่งยังไม่ได้กล่าวรวมถึงนโยบายอื่นอีกมากมายที่ผุดออกมาในแต่ละครั้ง แล้ววันข้างหน้าการมีส่วนร่วมของเด็กจะเป็นอย่างไร ในเมื่อทุกครั้งที่ต้องคิดเพื่อแก้และพัฒนาเด็กและเยาวชนนั้น มักเกิดจากการคิด ความห่วงใยและหวังดี จากผู้ใหญ่บางคน … ที่คิดและกำหนดเพื่อเด็กเพียงอย่างเดียว โดยไม่ได้มาคิดร่วมกันกับเด็ก


ลองนึกถึงภาพอนาคตของสังคมไทยใน ๑๐ – ๒๐ ปีข้างหน้า ที่ปัจจุบันทุกวันนี้ เด็ก เยาวชน คนหนุ่มสาว ( ที่กล่าวกันมาโดยตลอดว่าเป็น ทรัพยากรและอนาคตของชาติ ) ไม่ได้เป็นผู้กำหนดชะตาชีวิตของตนเอง


ดูเถิดว่าจะเป็นอย่างไร ?