Skip to main content

รักไม่เป็น

คอลัมน์/ชุมชน


ผู้เขียนได้ยินได้ฟังข่าวที่มีคนฆ่าตัวตายเพราะรักไม่สมหวังในสังคมไทยอยู่บ่อยๆ  ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ และไม่กี่วันมานี้ก็มีข่าวนิสิตสถาบันโด่งดังกระโดดตึกเรียนตกลงมาตาย เพราะเกิดปัญหาในรัก  ผู้เขียนจึงถามตัวเองว่าทำไมเดี๋ยวนี้คนเราถึงได้มองชีวิตเป็นของไม่มีค่าได้ถึงขนาดนี้ ขนาดผู้เขียนป่วยนิดๆ หน่อยๆ ที่ผ่านมา ยังรู้สึกแย่ ไม่อยากป่วย  ไม่อยากตาย ยังตายไม่ได้  เพราะมีอะไรให้ทำอีกแยะ


 


ผู้เขียนถามต่อไปว่า ทำไมคนไทยถึงได้คิดได้แบบนี้ ทำไมมองชีวิตไม่สำคัญ สามารถคิดต่อไปได้หลายแง่ แต่จุดแรกที่มองคือคนไทย (ที่มีปัญหา) คือพวกเขารักไม่เป็น


 


ต้องขอออกตัวก่อนว่าผู้เขียนไม่ใช่ผู้ประสบความสำเร็จในชีวิตคู่ หรือแม้กระทั่งชีวิตรักแต่อย่างใด อีกทั้งยังเคยมีปัญหาเรื่องแบบนี้มาแล้ว แต่อาศัยว่าเรียนมาแบบกรอบฝรั่ง เลยทำให้เข้าใจอะไรได้มากขึ้น จึงนำมาเล่าสู่กันฟัง แล้วมาช่วยกันคิดต่อไป (ดีกว่าเอาข่าวมาเล่า และตัดสินคนในข่าว)


 


การที่เรียกว่า "รักไม่เป็น"นั้น ควรมาเริ่มพิจารณาขั้นแรกในเรื่องความเข้าใจในพัฒนาการของความสัมพันธ์ก่อน ฝรั่งเองบอกว่าพัฒนาการของความสัมพันธ์นั้นสามารถมองได้เป็นสองมุมมอง มุมมองแรกคือมองว่าระดับความสัมพันธ์นั้นพัฒนาเป็นเส้นตรง คือเริ่มจากที่รู้จักกันน้อยๆ มารู้จักกันมากๆ แล้วก็สนิทกัน แลกเปลี่ยนข้อมูลส่วนตัวกัน จากนั้นก็มีความใกล้ชิดกันมากขึ้น อันนี้ไม่พูดว่าต้องนอนกันรึเปล่า แล้วแต่ความสมัครใจทั้งสองฝ่าย จากนั้นก็มีพันธะสัญญาความผูกพันกันมากขึ้น จากเพื่อนก็กลายเป็นคนสนิท คู่รักหรือแฟน แล้วก็สามีภรรยา ถ้าหากแต่งงาน แบบไทยอาจประหลาดหน่อยที่ว่าอาจจากเพื่อนก็เป็นแฟนกัน  ในขณะที่ฝรั่งนั้นเขาเดทกันจนฉ่ำปอดแล้วจนรู้ว่า ตนเองต้องการอะไรจริงๆ   เขาจึงรู้ว่าเอาล่ะถ้าเจอคนแบบนี้ๆ มันต้องเป็นคู่กันแน่ๆ (แต่กระนั้นก็ยังพลาดกันมากมาย)


 


คนไทยเองเดี๋ยวนี้ก็ทำกัน แต่หลายคนไม่เข้าใจเรื่องนี้แบบฝรั่งว่า "ลองก่อนแต่ง" นั้น ไม่มีภาระ ห้ามคาดหวังมาก แต่คนไทยทำใจไม่ได้ รักแบบอมตะ ตัวตายแต่รักไม่ตาย


 


อีกมุมหนึ่งเป็นการขยายจากที่บอกแต่ต้น แต่บอกว่าเน้นว่าความสัมพันธ์ไม่เป็นเส้นตรงแต่ซิกแซกได้  ดังนั้น วันนี้เป็นแฟน อีกสองเดือนอาจบอกว่าเรามาเป็นแค่เพื่อนกันดีกว่า อีกสามเดือนอาจบอกว่าเป็นเพื่อนสนิท แล้วอีกสองเดือนอาจบอกว่าเราอยากจะแต่งงาน ของลองก่อนแต่ง พอลองแล้วอาจบอกว่าไม่ไหว ขอกลับไปเป็นแค่เพื่อนสนิทใหม่ อะไรแบบนี้ แล้วสุดท้ายจะลงเอยที่แต่งงานหรือไม่ ก็ไม่จำเป็นต้องตอบ


 


จะเห็นได้ว่า ถ้าเรามองจากแนวคิดสองอันที่ว่ามา โดยเฉพาะอันที่สองจะเห็นได้ว่า ฝรั่งเข้าใจอธิบายความสัมพันธ์เชิงคู่รักของมนุษย์ได้ชัดเจนกว่า  เมืองไทยเราไม่มีการอธิบาย ไม่สอน ไม่พยายามบอกว่าเป็นเรื่องปกติที่คนเราจะสร้างสัมพันธ์กัน จะรักระหว่างเพศเดียวกัน หรือรักต่างเพศ ก็ไม่ได้ต่างกันนัก มีปัญหาได้ทุกอย่าง แถมบ้าไปกับความรักแบบวิคตอเรียนที่ผู้เขียนได้เคยกล่าวไปบ้างแล้วในงานชิ้นก่อนหน้านี้


 


ที่น่าสังเวชคือ มีพวกอนุรักษ์นิยมสุดโต่งแบบไทยๆ มานั่งบอกว่าเพศสัมพันธ์เป็นเรื่องไม่ดี เพราะแยกแยะไม่ออกว่าเพศสัมพันธ์นี่มันมาตามวัยตามธรรมชาติ แต่ที่มันเป็นผลร้าย เพราะเราไม่ได้สอนกันตรงๆว่า การมีเพศสัมพันธ์นั้นมันมีผลที่เกิดขึ้นตามมา ซึ่งมักจะบั่นทอนพัฒนาการสังคมอื่นๆ เช่นหากท้องก่อนแต่ง หรือเกิดไปติดโรคร้าย ทำให้ชีวิตอาจซับซ้อนเกินความจำเป็น  ไม่ใช่เพศสัมพันธ์คือปิศาจ แต่ต้องใช้ให้ถูกต้อง การมีเพศสัมพันธ์ที่ดีในวัยรุ่นจะนำไปสู่เรื่องดีๆ ก็ได้ เช่น รู้ว่าธรรมชาติของมนุษย์เป็นอย่างไร รู้จักตนเองในรสนิยมทางเพศที่นำไปสู่ความพึงพอใจในเรื่องนี้   รู้ว่าจะพอหรือไม่พออย่างไรเมื่อโตขึ้น เรียกว่ามีวุฒิภาวะทางเพศ เพียงแต่จะใช้กันอย่างไร ผู้ใหญ่เองอย่าดัดจริตอายที่จะพูดเรื่องนี้   แต่ควรอธิบายแบบไม่อายและตรงไปตรงมา เป็นวิชาการที่หนักแน่น


 


การที่เราสามารถสอนเพศศึกษาได้อย่างเสรี จะช่วยทำให้คนเข้าใจความจริงมากขึ้น ในเรื่องความรัก ความสัมพันธ์ของมนุษย์


 


จากที่มีข่าวต่างๆ ที่เกริ่นไว้แต่ต้น เป็นเรื่องของความไม่เท่าทันเรื่องพัฒนาการความสัมพันธ์ นอกจากนี้ยังมีรายละเอียดต่ออีกว่า ในทุกความสัมพันธ์ย่อมมีปัญหา ความกดดัน  เช่นบางครั้งก็อยากอยู่กับคู่รัก บางครั้งก็อยากอยู่คนเดียว บางครั้งก็อยากมีความลับส่วนตัว บางครั้งก็อยากแบ่งปันความในใจหลายๆ อย่างๆ เป็นคู่ๆ ที่เน้นความขัดแย้งแบบนี้ นับเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นและแก้ไขได้


 


อนิจจาสังคมไทยไม่เคยสอนเรื่องนี้ มักบอกว่าความรักที่ดีต้องราบเรียบ ไม่มีการทะเลาะ มีบ้างหรอกที่พูดว่าลิ้นกับฟันต้องกระทบกัน  แต่ลืมมองไปว่า กระทบแล้วต้องแก้ไข ต้องมาเคลียร์กันจริงๆ ไม่ใช่ปล่อยมันไป จนในที่สุดก็แก้ไม่ได้ ยิ่งเกิดในเด็กวัยสิบท้ายๆ ยี่สิบต้นๆ ไม่ต้องพูดเลย แรงๆ ทั้งนั้น ตนเองผ่านมาแล้วก็เข้าใจ  แต่ขอสังเกตว่าเด็กรุ่นใหม่แรงมากกกกก ใครๆ ก็รั้งไม่ได้ เตือนไม่ได้ อันมาจากที่ว่าไม่ได้สอนกันจริงๆ จังๆ แต่ต้น เพราะมัวแต่ดัดจริตกันแบบสังคมไทยสวมชุดวิคตอเรียน กระโปรงสุ่มไก่


 


นอกจากนี้ พวกที่แก่เกินยี่สิบห้า ก็มีปัญหา หลายคนไปเกาะเสาไฟฟ้าบ้าง ป้ายโฆษณาบ้าง เรียกร้องความสนใจจากชาวบ้าน สังคมและคู่รัก อันนี้นี่กลายเป็นปัญหาสังคมไปแล้ว พื้นฐานก็คือรักไม่เป็นอีกเหมือนกัน   แต่เมื่อแก่ขึ้น จึงทำอะไรเริ่มซับซ้อนขึ้น   การพยายามฆ่าตัวเองจึงเอิกเกริกขึ้น เพราะใจจริงก็ไม่ได้อยากตายแต่อยากประชดรัก  (อันนี้น่าผ่าสมองออกดูถ้าหากเกิดทำลายตนเองสำเร็จ อยากดูว่ามีรอยหยักหรือไม่ และมีสีเทาหรือสีขาว)


 


นอกจากปัจจัยที่สังคมไทยไม่เปิดเผยตรงไปตรงมาเรื่องการมีความรักความสัมพันธ์ตามธรรมชาติมนุษย์แล้ว  อีกอย่างหนึ่งที่มีปัญหามากคือ ละคอนและนิยายรักหวานแหวว ที่คนอ่านคนดูแยกแยะไม่ได้ว่าอะไรคือความจริงหรือแฟนตาซี ตัวละคอนอย่าง "หญิงกีรติ" ไม่ใช่เรื่องปกติ หรือ ตัวละครอื่นๆ ที่ต้องมีรักแท้แบบวิคตอเรียน ซึ่งเป็นเรื่องไม่ทำให้เกิดความเข้าใจในความจริงของธรรมชาติความสัมพันธ์ของมนุษย์


 


ความจริงในเรื่องชีวิตรักของมนุษย์นั้นไม่ได้จบแบบในหนังสองชั่วโมงหรือนิยายสองเล่มจบ หรือยาวหน่อยก็หลายเล่ม หลายตอน เอากันตั้งแต่รุ่นพ่อที่เป็นญี่ปุ่น จนรุ่นลูกที่มาตายแบบวีรชน รักแท้แบบวิคตอเรียนทั้งนั้น  ถ้าบ้าฝรั่งก็ "มนต์รักเรือล่ม" ที่พระเอกยอมเป็นตะพ้านแล้วแข็งตายแบบลูกเป็ดพิการกลางมหาสมุทรแอตแลนติก หรือบ้าซินเดอเรลล่า แต่ลืมมองไปว่าตอนแก่ของนางซินไม่มีใครเขียน นางซินอาจระทมทุกข์เพราะมารู้ภายหลังว่าผัวเจ้าชายเป็นเกย์ก็ได้ (ผัวของฉัน แต่เป็นเมียคนอื่น)


 


อันนี้ในความเห็นของผู้เขียน ถือเป็นหน้าที่ของผู้แต่ง ผู้ทำละคร  ที่ต้องบอกย้ำให้ชัดเจนว่านี่เป็นเรื่องแต่ง ให้อ่านเพลินๆ ดูเพลินๆ เท่านั้น   ไม่ใช่เน้นมุ่งแค่เรทติ้งหรือแค่ขายได้เท่านั้น


 


ความสามารถในการแยกแยะความจริงกับเรื่องแต่ง หรือ ค่านิยมที่ไม่เข้าท่า เป็นเรื่องที่สังคมไทยต้องนำมาคิดและพิจารณาอย่างชัดเจนและจริงจัง ไม่ใช่แค่ปล่อยผ่านแบบนี้ นอกจากนี้ผู้ที่รับผิดชอบโดยตรงเช่น นักการศึกษา นักจิตวิทยาสังคม นักวิชาการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ต้องเข้ามาชี้แจงมากขึ้นกว่านี้


 


ส่วนสื่อมวลชน ไม่ว่าสื่อรูปแบบใดก็ตาม กรุณาพยายามทำร้ายสังคมน้อยกว่านี้ ยิ่งรายการละคอน รายการสัมภาษณ์คนดัง อย่าตอกย้ำความไม่จริงในเรื่องของความสัมพันธ์ของมนุษย์มากนัก ไม่มีคู่ไหนดีพร้อมหรือเสียไปหมด การสร้างภาพดีพร้อมไม่ได้ช่วยอะไรเลย การบอกความเลวร้ายในทุกด้านก็ไม่ดีแน่นอน เน้นความจริงที่เกิดขึ้นและนำเสนอ  ห้ามบอกว่าก็สองอันนี่แหละขายได้ ธรรมดาขายไม่ได้ เพราะในความจริงแล้วทุกความสัมพันธ์มีความเด่นในตัวเอง เพียงแต่ว่าสื่อนี่แหละมีปัญญาดึงออกมาให้เห็นรึเปล่าเท่านั้น


 


นอกจากนี้ สถาบันครอบครัวเองนี่แหละที่จะช่วยได้มาก ปัญหาคือว่าสถาบันครอบครัวก็ป่วย เพราะหานิยามให้ตนเองไม่ได้ ไม่ได้พัฒนาตนเองไปตามความจริงในชีวิต อีกทั้งผู้รับผิดชอบเรื่องนี้หลายคนก็ใจแคบในเรื่องการมองสถาบันครอบครัว และพยายามบอกว่า "ครอบครัวที่ดี" ต้องเป็นแบบนี้แบบนั้น  ในสหรัฐฯ เองก็บอกว่าต้องเป็นแบบครอบครัวหนูน้อยบีเว่อร์  ซึ่งเพราะคิดแบบนี้แหละ แนวคิดคำว่าครอบครัวของสหรัฐฯก็พังป่นปี้มาจนบัดนี้เช่นกัน   แต่นักวิชาการไทยก็คิดว่านั่นแหละคือสิ่งที่ถูกต้อง พยายามเลียนแบบไม่ลืมหูลืมตา (เค้าเรียกว่าเอามาแบบไม่ครบ รู้ไม่จริง?)


 


คงมีเรื่องได้คิดต่อไปว่า ถึงเวลารึยังที่ต้องมา "รื้อสร้าง" แนวคิดความสัมพันธ์ทางสังคมเหล่านี้ เพราะนี่แหละคืออีกปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยสร้างภูมิปัญญาทางสังคมอย่างแท้จริง เพื่อที่คนไทยจะได้ไม่ขยันทำลายตัวเองขนาดนี้ด้วยเรื่องที่แก้ไขได้ไม่ยากนัก  เพราะการกระทำเหล่านี้คือการทำลายสังคมด้วยเช่นกัน