Skip to main content

ปลดพนักงานไฟฟ้าสหรัฐอเมริกา:บทเรียนที่พนักงานไฟฟ้าไทยต้องรับรู้

คอลัมน์/ชุมชน

 


 


 


 


"ทั้งๆที่ความต้องการไฟฟ้าของชาวอเมริกันเพิ่มสูงขึ้น 25%


นับจากเริ่มการปฏิรูปกิจการไฟฟ้าในปี 1990


แต่จำนวนพนักงานกลับลดลงจากเดิมถึง 24%


หรือ 1 แสน 5 พันคน ในปี 2000"


 


บทความนี้จะนำผลการศึกษาวิจัยในการปลดพนักงานไฟฟ้ากว่า 1 แสนคนในประเทศสหรัฐอเมริกาหลังการปฏิรูประบบการกำกับดูแลระบบไฟฟ้าในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1990-2000 มาเตือนสติพนักงานการไฟฟ้าไทยทั้งระบบ ท่ามกลางกระแสการคัดค้านการแปรรูปการไฟฟ้าในบ้านเราในปัจจุบัน


 


เมื่อพูดถึงพนักงานการไฟฟ้าเราหมายรวมถึง พนักงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ทำหน้าที่การผลิตและส่งกระแสไฟฟ้า พนักงานการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และพนักงานการไฟฟ้าภูมิภาค (กฟภ.) ซึ่งพนักงานในสองส่วนหลังนี้ทำหน้าที่ให้บริการประชาชนในเขตของตนเอง  แต่ที่กำลังถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในบ้านเราก็คือพนักงานของ กฟผ. เพราะได้รับอนุญาตให้ซื้อหุ้น กฟผ. คิดเป็นมูลค่ากว่า 5 พันล้านบาท ในราคาพาร์ซึ่งมีราคาเพียงประมาณ 1 ใน 3 ของราคาเข้าตลาดเท่านั้น


 


ความจริงแล้วพนักงานการไฟฟ้าทั้ง 3 หน่วยงานข้างต้นได้ร่วมกันคัดค้านการแปรรูป กฟผ.มาตลอด แต่อาจจะเป็นเพราะคิดเอาเองว่า "ต้านไม่ไหวแล้ว" หรือเพราะ "ผลประโยชน์ที่ทางรัฐบาลหยิบยื่นให้" ก็ไม่อาจทราบได้ พนักงาน กฟผ. ส่วนใหญ่จึงได้ยุติการคัดค้านร่วมกับประชาชนกลุ่มต่างๆ ในขณะนี้


 


นอกจากนี้ ทางรัฐบาลอาจจะมีคำมั่นสัญญาลับๆ กับพนักงาน กฟผ.ว่าในอนาคตจะไม่ปรับลดจำนวนพนักงานลง  ซึ่งประเด็นนี้เป็นสิ่งที่พนักงานทุกคนทุกหน่วยงานต่างก็รู้สึกกลัวกันทั้งนั้น


 


บทความนี้ผมจะนำเสนอข้อมูลบางส่วนที่ได้มีการศึกษาวิจัยในประเทศสหรัฐอเมริกาในเรื่องที่คล้ายกัน แต่ได้เกิดขึ้นมาก่อนแล้ว เพื่อเป็นการเตือนสติว่า "คำมั่นสัญญา" ของรัฐบาลที่มีฐานคิดเพื่อกำไรของนายทุนนั้นเชื่อถือไม่ได้


 


ข้อมูลส่วนใหญ่ต่อไปนี้มาจาก Monthly Labor Review ฉบับเดือนพฤษภาคม 2546 (2003) เรื่อง "Regulatory reform and labor outcomes in the U.S. electricity sector" เขียนโดย M. Scott  Niederjohn ท่านที่สนใจสามารถค้นได้ google.com ครับ


 


นับตั่งแต่ปี พ.ศ.2533 (1990) เป็นต้นมา หลายมลรัฐในสหรัฐอเมริกาได้เริ่มต้นแผน "การปรับโครงสร้างกิจการไฟฟ้า" เหตุผลหลักที่ใช้อ้างในการปฏิบัติการตามแผนดังกล่าวก็คล้ายกับในบ้านเราบางส่วนคือ "เพื่อกระตุ้นการแข่งขันสำหรับการขายส่งในตลาดกิจการไฟฟ้า"


 


สำหรับรายละเอียดและผลสัมฤทธิ์ด้านอื่นๆ เราจะไม่สนใจ แต่บทความนี้จะสนใจเฉพาะที่เกี่ยวกับการปลดพนักงานและเงินเดือนพนักงาน รวมทั้งที่เกี่ยวกับกิจการสหภาพแรงงานเท่านั้น


 


ตอนเริ่มต้นการปฏิรูป ทั่วประเทศสหรัฐอเมริกามีพนักงานการไฟฟ้า (ที่ทำหน้าที่เหมือนกับ 3 หน่วยงานของบ้านเรา) รวมกันประมาณ 4 แสน 5 หมื่นคน  ในปีถัดมามีการปลดพนักงานออกเพียงเล็กน้อย เมื่อผ่านไป 2 ปี พนักงานถูกปลดไปถึง 25,000 คน และก็ถูกปลดต่อมาเกือบทุกปี เมื่อนับจำนวนพนักงานไฟฟ้าจนถึงปี 2543 พนักงานของกิจการไฟฟ้าลดลงถึง 1 แสน 5 พันคน หรือลดลงถึง 24% ของจำนวนพนักงานในตอนเริ่มต้นปฏิรูป  ทั้งๆ ที่ในช่วงเวลาดังกล่าว คนอเมริกันใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 25% (ข้อมูลจาก Energy Information Administration)


 


ในด้านรายได้ของพนักงาน ผลการศึกษาพบว่า ผลจากการปฏิรูปดังกล่าวไม่ได้ทำให้รายได้ของพนักงานลดลง กล่าวคือรายได้ที่แท้จริงเพิ่มจากสัปดาห์ละ $482 ในปี 2335 เป็น $529 ในปี 2543   หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 1.2% เท่านั้นหลังจากหักค่าเงินเฟ้อไปเรียบร้อยแล้ว


 


ในด้านเปอร์เซ็นต์ของพนักงานการไฟฟ้าที่เป็นสมาชิกของสหภาพแรงงานก็ลดลงมาอยู่ที่ 30% จากเดิมที่เคยมีถึงเกือบ 40% ของจำนวนพนักงานทั้งหมด


 


จำนวนสมาชิกของสหภาพแรงงานย่อมสะท้อนอำนาจในการต่อรองของพนักงานกับเจ้าของกิจการนั่นเอง          


 


ในปี 2544 คนอเมริกันทั่วประเทศ (293 ล้านคน) ใช้พลังงานไฟฟ้า 3.8 ล้านล้านหน่วย โดยมีกำลังการผลิตติดตั้งทั้งหมด 9 แสน 5 พันเมกกะวัตต์  มีพนักงานไฟฟ้าทั้งสิ้น 339,000 คน


 


ลองนำมาเปรียบเทียบกับประเทศในปี 2547 แม้ข้อมูลคนละปีกันแต่ก็พอจะเห็นอะไรได้บ้าง 


 


คนไทยทั่วประเทศ (63 ล้านคน) ใช้พลังงานไฟฟ้า 1.25 แสนล้านหน่วย โดยมีกำลังการผลิตติดตั้งประมาณ 26,000 เมกกะวัตต์  มีพนักงานไฟฟ้าที่เป็น กฟผ. (25,700 คน) กฟน. (9,913 คน) และ กฟภ. (26,970 คน) รวมทั้งสิ้นรวม 62,583  คน (ไม่นับพนักงานของบริษัทผลิตไฟฟ้าของเอกชน-เพราะผมไม่ทราบ ในการวิเคราะห์ต่อไปจะถือ พนักงานไฟฟ้าทั้งประเทศมี 64,000 คน)


 


จากข้อมูลดังกล่าว พบว่า ทุกๆ หนึ่งหน่วยเมกกะวัตต์ของกำลังการผลิต สหรัฐอเมริกาว่าจ้างพนักงานเพียง 0.37 คนเท่านั้น(ในประเทศญี่ปุ่นเท่ากับ 0.5 คน) ในขณะที่ของประเทศเราใช้พนักงานถึง 2.46 คน


 


หรือทุก ๆ หนึ่งเมกกะวัตต์ของกิจการไฟฟ้าไทยใช้พนักงานมากเป็นเกือบ 7 เท่าของสหรัฐอเมริกา


 


จริงอยู่ครับว่า ลักษณะทางภูมิศาสตร์ของประเทศเรากับของสหรัฐอเมริกามีความแตกต่างกันในการกำหนดจำนวนพนักงานในการบริการประชาชนในชนบท แต่ตัวเลขที่แตกต่างกันขนาดนี้ย่อมเป็นเงื่อนไขให้เจ้าของกิจการไฟฟ้าอ้างได้


 


ที่ผมกล่าวมาทั้งหมดนี้ไม่ได้มีเจตนาจะทำลายเครดิตของพนักงานการไฟฟ้าแต่อย่างใด ตรงกันข้ามผมกลับยกย่องว่าองค์ทั้ง 3 นี้เป็นองค์กรชั้นเลิศของประเทศไทยเมื่อเทียบกับองค์กรอื่นๆ 


 


ปัญหาประสิทธิภาพที่ต่ำไปเมื่อเทียบกับสหรัฐอเมริกานั้นเป็นเพราะปัจจัยต่างๆ มากมาย รวมทั้งการแทรกแซงของนักการเมืองในการจัดซื้อ จัดจ้าง และนโยบายด้านเชื้อเพลิงที่เป็นปัจจัยสำคัญทำให้ค่าไฟฟ้าแพงมากกว่าค่าแรงงานของพนักงานหลายเท่านัก 


 


แม้ว่าค่าแรงมีสัดส่วนไม่ถึง 6% ของต้นทุนค่าไฟฟ้าทั้งหมด แต่ด้วยแนวคิดของผู้ประกอบการที่มีเป้าหมายเพื่อกำไรสูงสุดของผู้ถือหุ้น  วิธีการปลดพนักงานที่เกิดขึ้นแล้วในสหรัฐอเมริกาผู้เป็นต้นแบบ ทำไมเรื่องแบบนี้จะไม่เกิดขึ้นอีกในประเทศไทยผู้เดินตามลูกพี่ใหญ่เกือบทุกกระเบียดนิ้ว


 


แต่ที่ต่างกันอย่างชัดเจน ก็คือดัชนีความโปร่งใสในการบริหารประเทศของไทยเราต่ำกว่าของสหรัฐอเมริกามาก กล่าวคือ ในปี 2547 สหรัฐได้คะแนน 7.5 แต่ไทยได้ 3.6 จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน


 


ในสถานการณ์ที่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญยิ่งที่ประชาชนร่วมกันคัดค้านและยื่นต่อศาลปกครองเพื่อให้รัฐบาลระงับการขายกิจการไฟฟ้า พนักงาน กฟผ. ควรจะต้องเก็บรับบทเรียนจากสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่นๆ มาพิจารณาผลประโยชน์ที่ทางรัฐบาลหยิบยื่นมาให้นั้น เป็นเพียงเพื่อให้วัตถุประสงค์ของเขาได้บรรลุไปก่อนเท่านั้น  หลังจากนั้นเขาก็ถีบไสไล่ส่งพวกท่านอย่างแน่นอน  ผมคิดคร่าวๆ จากข้อมูลที่ได้กล่าวมาแล้วว่าน่าจะมากกว่า 24% เยอะเลย