Skip to main content

ความสำคัญและคำสัญญา (วันเดียว?)

คอลัมน์/ชุมชน



นาน ๆ ทีปีหน วันที่เด็กและเยาวชนจะได้พูด ได้แสดงความคิดเห็น ก็มีเพียงไม่กี่วัน โดยมากก็เป็นวันสำคัญ ๆ ที่ลงท้ายด้วยแห่งชาติ เช่น วันเด็กแห่งชาติ วันเยาวชนแห่งชาติ เป็นต้น หรือไม่ก็เป็นวันที่หน่วยงาน องค์กรต่าง ๆ จัดขึ้นซึ่งจะทำให้เสียงของเด็กและเยาวชนได้รับฟังอย่างมีความสำคัญ และบางครั้งก็มีคำสัญญาต่าง ๆ เกิดขึ้น


ในช่วงหลายอาทิตย์ที่ผ่านมา ถือว่ามีเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชนสำคัญ ๆ และมีผู้เกี่ยวข้องได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะทำตามที่เด็ก เยาวชนเสนอ โดยในที่นี้จะขอนำเสนอ สองเรื่องดังนี้


เรื่องที่ ๑ เมื่อวันที่ ๒๕ - ๒๗ ตุลาคม ๒๕๔๗ องค์กร PATH ได้จัดการประชุมวิชาการ เรื่อง "เพศศึกษาเพื่อเยาวชน" ครั้งที่ ๑ ขึ้น โดยมีกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ การจัดบูธ นิทรรศการ ห้องเสวนา ห้องประชุมเชิงปฏิบัติการ การแสดงละคร ฯลฯ สิ่งที่เป็นประเด็นสำคัญของงานคือ การรับฟังเสียงของเยาวชนต่อเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเยาวชนที่เข้าร่วมงานกว่า ๒๐๐ คน ได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนแสดงความคิดเห็นต่อร่างกฎกระทรวง ๙ ข้อ (รายละเอียด ติดตามได้จากบทความเรื่อง "กฎกระทรวง ๙ ข้อ: เด็กและเยาวชนเป็นผู้กำหนดอนาคตของตนเองจริงหรือ")


โดยเยาวชนได้นำเสนอข้อเสนอเรื่องร่างกฎกระทรวงว่าด้วยความประพฤติของนักเรียนและนักศึกษาต่อ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการไว้ว่า แทนที่กระทรวงศึกษาธิการจะออกกฎกระทรวงฯ ๙ ข้อ มาควบคุมเด็ก ควรมีมาตรการเชิงส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนที่เกี่ยวข้องและได้รับผลกระทบจากกฎ ไม่ว่าจะเป็นคนที่เผชิญปัญหา ซื้อขาย จัดหาบริการทางเพศ ยกพวกตีกัน เล่นการพนัน เที่ยวกลางคืน เสพยาเสพติดหรือก่ออาชญากรรม ได้มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา และมีข้อเสนอต่อกฎกระทรวงฯ ทั้ง ๙ ข้อใหม่ดังนี้


๑. ทำโรงเรียนให้น่าอยู่และสร้างการเรียนรู้ในสถานที่ที่เด็กและเยาวชนหนีไปเที่ยว
๒. สร้างทางเลือกในการทำกิจกรรมที่เร้าใจเด็กและเยาวชน โดยให้เห็นทั้งผลดีและร้าย
๓. ส่งเสริมความเข้าใจเรื่องสิทธิและความรับผิดชอบทางเพศแก่เด็กและเยาวชน รวมทั้งสร้างจิตสำนึกให้ผู้ใหญ่ ไม่ละเมิดและซื้อบริการทางเพศจากเด็กและเยาวชน
๔. ขอให้ผู้ใหญ่เป็นแบบอย่างที่ดี
๕. การลงโทษต้องควบคู่ไปกับการสร้างการเรียนรู้ และเด็ก เยาวชนต้องได้รับการคุ้มครองสิทธิแม้อยู่ในพื้นที่ที่ถูกควบคุม
๖. ส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย
๗. จัดการเรียนรู้แบบ คอ วอ ยอ ให้เด็กและเยาวชนได้ คิด วิเคราะห์และแยกแยะ
๘. เมื่อให้การศึกษาแบบ คอ วอ ยอ แล้วต้องเชื่อมั่นว่าเยาวชนมีศักยภาพและเคารพสิทธิให้สามารถใช้ชีวิตโดยไม่ถูกควบคุม
๙ . ควรส่งเสริมภาพลักษณ์เชิงบวกและเลิกสร้างภาพเด็กและเยาวชนเป็นผู้ร้ายเพื่อขายข่าว


จากข้อเสนอดังกล่าว คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ร่างกฎกระทรวงที่เสนอไปนั้นเป็นไปตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก ซึ่งมีเจตนากำหนดกรอบแนวทางการปฏิบัติที่เหมาะสมให้ ไม่ได้มีเจตนาที่จะจำกัดสิทธิ์ เพราะกฎกระทรวงฉบับนี้เปิดกว้างด้านสิทธิของนักเรียนนักศึกษามากกว่าประกาศของคณะปฏิวัติเดิมด้วยซ้ำ และมีบุคคลหลายฝ่ายเข้าร่วมพิจารณาการร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ แต่อย่างไรก็ตามหากมีกฎหรือระเบียบของ ศธ.ที่ขัดขวางการปฏิบัติตามข้อเสนอของเยาวชนก็ให้แจ้งมาที่ ศธ.ได้ ซึ่งพร้อมจะดำเนินการแก้ไขให้



เรื่องที่ ๒ เมื่อวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๗ คณะกรรมาธิการกิจการสตรี เยาวชน และผู้สูงอายุ วุฒิสภา ร่วมกับเครือข่ายคณะทำงานด้านเด็กจัดเวทีสิทธิเด็ก ครั้งที่ ๑๕ เด็ก คือ วาระแห่งชาติ เรื่อง พันธะสัญญา (พรรคการเมือง) เพื่อสุขภาวะของเด็ก โดยเชิญผู้แทนจากพรรคการเมืองมาร่วมเสนอนโยบายสาธารณะด้านเด็ก และเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนได้แสดงความคิดเห็น โดยการนำเสนอนโยบายด้านเด็กของผู้แทนจากพรรคการเมือง ๔ พรรค ประกอบด้วย พรรคไทยรักไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทย และพรรคมหาชน โดยส่วนใหญ่นโยบายที่นำเสนอนั้นสอดคล้องกันทั้งในเรื่องการส่งเสริมสถาบันครอบครัวให้ เข้มแข็ง การส่งเสริมการศึกษา การสร้างสวนสาธารณะ ลานชีวิตส่งเสริมกิจกรรมสำหรับเด็กและเยาวชน เร่งกระตุ้นและสร้างเสริมคุณธรรมจริยธรรม การลดความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชน สร้างสุขภาวะที่ดีและเพิ่มความปลอดภัยในการดำเนินชีวิต และมีบางพรรคเสนอนโยบาย จัดตั้งสภาเด็กและเยาวชนระดับจังหวัดและระดับชาติ


คำสัญญาจากสองเหตุการณ์ เรื่องหนึ่งเป็นคำสัญญาจากหน่วยงานราชการ อีกเรื่องจากพรรคการเมือง คำสัญญาจากแต่ละฝ่ายล้วนมีผลต่อการนำไปสู่การปฏิบัติ ฝ่ายแรกสามารถที่จะดำเนินการได้หากมีการประกาศใช้กฎกระทรวงขึ้น อีกฝ่ายสามารถนำไปสู่การปฏิบัติเมื่อได้รับคะแนนความไว้วางใจในการเลือกตั้งจากประชาชนในต้นปีหน้า ความแตกต่างของทั้งสองสถาบันนี้มีผลต่อการให้ความสำคัญในการลงทุนเพื่อเด็กและเยาวชนที่แตกต่างกัน ซึ่งเรื่องเหล่านี้ไม่ใช่พันธะสัญญาของพรรคการเมือง หรือหน่วยงานราชการเท่านั้น แต่เรื่องเหล่านี้กลายเป็นพันธะสัญญาทางสังคมที่เยาวชนหลายคน ประชาชนทุกฝ่ายได้รับรู้ และเฝ้าติดตามว่า จะนำไปสู่การปฏิบัติได้มากขนาดไหน


ประเด็นที่น่าสนใจอย่างหนึ่งคือ คำสัญญาจากสองสถาบันเป็นเพียงเหตุการณ์ย่อยที่มักจะพบอยู่สม่ำเสมอในวันแห่งชาติสำคัญ ๆ อาทิ วันเด็กแห่งชาติ วันเยาวชนแห่งชาติ วันสิทธิเด็ก เป็นต้น เมื่อถึงวันสำคัญต่าง ๆ หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็ออกมาประชาสัมพันธ์ ออกมาจัดเวทีให้เด็กได้แสดงความคิดเห็น บางเวทีก็ให้รางวัลยกย่องเชิดชูเยาวชน โดยหัวใจคือให้ความสำคัญกับคนที่มีความเกี่ยวข้องกับวันนั้น ๆ กล่าวคือ วันเด็กแห่งชาติ ก็จะให้ความสำคัญกับเด็ก วันเยาวชนแห่งชาติก็จะให้ความสำคัญกับเยาวชน วันยุติความรุนแรงก็ให้ความสำคัญที่จะลดความรุนแรง


น่าเสียดายที่วันที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชนมีน้อยมากในปี ๆ หนึ่ง วันที่เด็กจะได้แสดงความคิดเห็น แสดงออกในด้านต่าง ๆ ก็มีน้อย วันที่เด็กจะได้พูดก็คือวันเด็กหรือไม่ก็วันสิทธิเด็ก วันที่เยาวชนจะได้พูดก็คือวันเยาวชน เรื่องที่เด็กและเยาวชนนำเสนอก็คือ ปัญหา ทางออก ข้อเสนอต่อการแก้ไข ต่อผู้ใหญ่และสังคม หรือคนเกี่ยวข้องให้ได้รับรู้ว่าเด็กต้องเผชิญอะไรและมีความคิดเห็นอย่างไรบ้าง ซึ่งพองานวันนั้นจบทุกอย่างก็เข้าสู่เหตุการณ์ปกติ


หากใครจำได้ ช่วงก่อนจะมีข่าวด้านลบต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับเยาวชนมากมาย เช่น กรณีที่ถูกมองว่าติดการมีเพศสัมพันธ์จากผลงานวิจัย การกล่าวหาว่าไม่รักษาวัฒนธรรมอันดีงามของชาติ และอื่น ๆ อีกมากมายที่มีผลกับเยาวชนซึ่งรวมถึงนโยบายที่จะมาใช้ เช่น ร่างกฎกระทรวง ๙ ข้อ การกำหนดชั่วโมงการเล่นอินเตอร์เน็ต ซึ่งการกำหนดนโยบายเหล่านี้เป็นไปโดยไม่ให้ความสำคัญกับการแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอของเด็ก


ข่าวที่เกี่ยวข้องกับเด็ก คนแสดงความคิดเห็นก็หนีไม่พ้นบรรดานักวิชาการ และผู้ใหญ่หลาย ๆ คน (แต่มีน้อยนะครับ) ออกมาแสดงความคิดเห็น ซึ่งส่วนหนึ่งผมเห็นว่าดีเป็นอย่างยิ่งที่ออกมาแสดงความคิดเห็น เพื่อนำไปสู่หนทางที่ดีแก่เด็กและเยาวชน แต่อีกมุมหนึ่ง ประเทศนี้มีเด็กและเยาวชนถึง ๒๐ กว่าล้านคน จะไม่มีเด็กสักคนหรือที่ต้องการออกมาแสดงความคิดเห็น ผมขอตอบว่ามีอย่างแน่นอน แต่ว่าโอกาสในการเข้าถึงสื่อ หรือเวทีในการสื่อสารกับสังคมหรือผู้ใหญ่มีน้อยเหลือเกิน


เวทีที่เด็กและเยาวชนสามารถพูดได้อย่างเต็มที่ก็คือ รอให้ถึงวันสำคัญ ๆ ที่แต่ละจังหวัด แต่ละหน่วยงาน เค้าจะจัดกัน เป็นมหรสพสำคัญ นั้นก็คือ วันเด็ก วันเยาวชน เวทีเหล่านี้แหละที่จะให้เด็กและเยาวชนได้บอก ได้กล่าวในสิ่งที่เกี่ยวข้องและส่งผลกระทบกับตัวเอง แต่กว่าวันสำคัญต่าง ๆ เหล่านี้จะเวียนมาบรรจบทีหนึ่งก็นานหลายเดือน เรื่องบางเรื่องที่เป็นสถานการณ์ร้อน ๆ ทางสังคมก็กลายเป็นเรื่องที่นำไปปฏิบัติแล้ว ซึ่งบางเรื่องก็เป็นแนวทางที่ไม่สอดคล้องกับความต้องของเด็กและเยาวชน บางเรื่องก็เป็นการจำกัดสิทธิ อย่างเห็นได้ชัด


น่าเสียดายที่สังคมไทยให้ความสำคัญกับเด็กและเยาวชนเพียงวันสองวันเท่านั้น เรามักได้ยินเสมอว่า หากจะรักพ่อแม่ ไม่ต้องรอให้ถึงวันพ่อหรือวันแม่วันเดียว ต้องให้ความรักและเคารพทุก ๆ วัน ซึ่งอีกทางน่าจะกล่าวได้ว่า หากจะให้ความสำคัญกับเด็กและเยาวชนต้องให้ความสำคัญทุกวันเหมือนกัน ไม่เพียงแค่วันเด็กหรือวันเยาวชนวันเดียวเท่านั้น เพราะการลงทุนเพื่อเด็ก ไม่ใช่ลงทุนได้วันเดียว แต่ต้องลงทุนทุกวัน ลงทุนด้วยหัวใจ รับฟังเสียงของเด็กและเยาวชนทุกวัน



ที่กล่าวมามิใช่เพียงแต่รัฐหรือสถาบันการเมืองเท่านั้นที่เป็นผู้นำไปสู่การปฏิบัติ แต่กระนั้นสถาบันครอบครัว ซึ่งเป็นหน่วยย่อยที่สำคัญของสังคม ก็ต้องให้ความสำคัญแก่เด็กและเยาวชนที่เป็นลูกหลานของท่าน บางครอบครัวทะเลาะกันบ่อยมาก พอถึงวันยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี ก็หยุดทะเลาะหนึ่งวัน พอไม่นานอีกกี่วันก็ทะเลาะกันอีก ก็กลายเป็นความรุนแรงต่อไปเรื่อย ๆ


ผมคิดว่าการให้ความสำคัญกับเรื่องหนึ่ง ๆ คงไม่ต้องรอให้ถึงวันสำคัญนั้น ๆ เพียงแต่เริ่มที่วันนี้เลยเถิดครับ ครั้งหนึ่งเคยมีคนถามผู้เข้าร่วมประชุมห้องหนึ่งว่า หากวันพรุ่งนี้โลกจะแตกหรือระเบิดคุณอยากทำอะไรมากที่สุด ก่อนที่คุณจะไม่มีชีวิตอยู่? ผู้คนในห้องต่างอภิปรายต่าง ๆ บ้างก็จะไปบอกรักกับคนรัก ไปกราบเท้าพ่อ แม่ ไปขอโทษครู จะไม่ดื่มเหล้า และอื่นอีกมากมายที่อยากทำ แต่พอกลับมามองว่าวันนี้พวกเรายังมีเวลาเหลืออีกมาก และไม่รู้ด้วยว่า จะไม่มีลมหายใจเมื่อไหร่ เวลาที่เหลืออยู่ยังสามารถทำอะไรได้อีกมากมาย ทำไมไม่ทำในสิ่งที่อยากทำก่อนที่วันนั้นจะมาถึง


เช่นกันครับ การให้ความสำคัญกับความรุนแรงในครอบครัว การรับฟังเสียงของเด็กและเยาวชน การเปิดโอกาสให้เด็กมีโอกาสได้ทำกิจกรรม ได้เรียนรู้นอกห้องเรียน ได้อยู่กับครอบครัวที่อบอุ่น ก็ไม่ต้องรอแต่เพียงวันสำคัญ ๆ ที่จะมาถึง หากแต่สามารถที่จะปฏิบัติได้ทุกวัน อย่างสม่ำเสมอ เพียงแต่ว่าต้องให้ความจริงใจกับสิ่งที่ทำเพราะสิ่งนั้นเป็นคุณค่าที่เราได้ทำ เป็นสิ่งดี ๆ ที่คนมีให้แก่กัน


หวังเช่นกันว่า คำสัญญาจากสองเรื่องสองเวลาที่ต่างกันจากทั้งกระทรวงและพรรคการเมือง จะไม่ใช่คำสัญญาเพียงวันเดียวแต่จะเป็นคำสัญญาที่จะปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ เพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทุกวันนี้ก็เป็นที่ปรากฏว่า หลายฝ่ายได้ให้ความสำคัญกับเด็กและเยาวชนอยู่เสมอ กลัวเพียงแต่ว่าคำมั่นสัญญาที่ให้เด็กและเยาวชนในแต่ละครั้ง จะนำไปสู่เกมการเมืองอันแสนจะแยบยล ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง อีกไม่นานสังคมไทยคงจะได้เห็น "นโยบายเยาวชนนิยม" อย่างแน่นอน