Skip to main content

ชาวนาน้ำตาร่วง (อีกแล้ว)

คอลัมน์/ชุมชน

เกี่ยวเถอะนาแม่เกี่ยว เอาละวา เกี่ยวเถอะแม่เกี่ยว ………..เสียงเพลงเกี่ยวข้าวที่เคยร้องกันอย่างครึกครื้นในอดีต ปัจจุบันคงไม่เหลืออีก กลายเป็นตำนานเล่าเรื่องราวของอดีต สมัยนี้เพลงที่ชาวนาที่ตำบลสายคำโห้ อำเภอวังทรายพูนร้อง คงต้อง "เกี่ยวเถอะนะแม่เกี่ยว ไม่มีรถเกี่ยวแลเหลียว ข้าวเหี่ยวกรอบแห้งคานา"


 


เกิดอะไรขึ้นกับชาวอำเภอวังทรายพูน ทำไมรถเกี่ยวไม่เหลียวแล ปล่อยให้ข้าวแห้งกลางท้องนา ก่อนจะตอบคำถาม เรามารู้จักพื้นที่วังทรายพูนกันก่อนดีกว่า พื้นที่ที่เป็นปัญหาไม่มีรถเกี่ยวนี้ อยู่ในเขตตำบลสายคำโห้ หนองปลาไหลบางส่วน พื้นที่ทั้งหมดประมาณ 2,800 ไร่


 


อำเภอวังทรายพูน เป็นอำเภอที่ข้าวนาปีเป็นส่วนใหญ่ ไม่รู้ว่าโชคดีหรือไม่ ที่พื้นที่ส่วนใหญ่เจาะบ่อบาดาลไม่ได้  ต้องทำนาโดยอาศัยน้ำฝนอย่างเดียว หลายปีมาแล้วที่พื้นที่แห่งนี้ ทำข้าวนาปีที่หลากหลายพันธุ์ ชาวนาแต่ละรายก็จะแบ่งทำข้าวหอมมะลิประมาณ 5–10 ไร่ ซึ่งจะเกี่ยวได้ต้นเดือนพฤศจิกายน ข้าวหอมสุรินทร์ 5–10  ไร่เช่นกัน  เกี่ยวประมาณปลายเดือนพฤศจิกายน ต่อมาก็ข้าว 85 แสงหมึก ขาวขโมย หรือขาวอากาศ ประมาณ 5– 10 ไร่ ซึ่งเกี่ยวประมาณ ต้นเดือนธันวาคม ข้าวหนักที่สุดแล้วเกี่ยวช้าที่สุด คือ ข้าวขาวตาแห้ง ข้าวขาวกอเดียว และทองไพสี เกี่ยวประมาณมกราคม  การมีข้าวที่หลากหลายพันธุ์ เกี่ยวไม่พร้อมกัน ทำให้มีการกระจายแรงงานได้พอเพียงกับข้าวในท้องทุ่ง


 


ช่วงปี 2547 กระแสข้าวหอมมะลิราคาแพง รัฐบาลประกันราคาสูงมาก แปดพันบาทต่อเกวียนขึ้นไป ซึ่งราคาระดับนี้นับว่าสูงในสายตาของชาวนา ใครที่ทำข้าวหอมมะลิช่วงนี้ จึงถูกมองด้วยสายตาอิจฉา แล้วชาวนาที่ทำข้าวพันธุ์อื่น ๆ ก็ได้แต่คิดในใจว่า "ฮึ ปีหน้าถึงทีข้าบ้างล่ะกัน"


 


มาถึงปี 2548 ท้องทุ่งทั้งหมดจึงเต็มไปด้วยข้าวหอมมะลิ แรงจูงใจที่ผลักดันให้เลือกข้าวหอมมะลิ นอกจากแรงจูงใจด้านราคาจากปีที่ผ่านมาแล้ว แรงประชาสัมพันธ์ของภาครัฐ ว่าปลูกข้าวหอมมะลิจะร่ำรวย เป็นอีกส่วนหนึ่ง แล้วยังมีชาวนาหัวใสหลายคนคิดว่า ถ้าท้องทุ่งเต็มไปด้วยข้าวหอมมะลิ การเกี่ยวน่าจะแสนง่ายเพราะจะได้เกี่ยวพร้อมกันทั้งหมด อนิจจาผลที่คาดหวังกลับไม่เป็นเช่นนั้น


 


ข้าวหอมมะลิ แม้จะเป็นข้าวที่หลายคนบอกว่าราคาสูง แต่เป็นข้าวที่มีข้อด้อยเช่นกัน คือ ปริมาณต่อไร่น้อย ประมาณ 40 ถังต่อไร่ (สถิติพื้นที่แถบนี้) ประกอบกับเป็นข้าวที่ต้องเกี่ยวในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน ซึ่งเป็นช่วงปลายฝนต้นหนาว ถ้าปีใดมีฝนดี เช่นปีนี้ ข้าวมะลิก็จะโดนฝน ทำให้ข้าวหักง่าย นั่นก็หมายถึงการถูกกดราคาจากโรงสีลงอีก


 


การเกี่ยวข้าวในช่วงสิบปีก่อนแรงงานคนยังเป็นกำลังสำคัญในการเกี่ยวข้าวแต่มาปัจจุบัน เทคโนโลยีรถเกี่ยวเข้ามาชาวนาก็สบายขึ้น วันสองวันข้าวก็เกี่ยวเสร็จ แล้วในช่วงดังกล่าว ประมาณ ปี 2546 ถึง 2547 รถเกี่ยวก็มีมากมาย มาจากหลายพื้นที่ ทั้งอยุธยา นครปฐม นนทบุรี พอถึงทีจะเกี่ยว นายหน้าที่อยู่ในพื้นที่ก็เข้ามาติดต่อขอเกี่ยวข้าว           ราคาเกี่ยวต่อไร่ไม่สูงมากประมาณ 300 ถึง 350 บาทต่อไร่


 


นายหน้าในพื้นที่จำนวนมากจนรับกันไม่หวาดไม่ไหว ปัญหาการเกี่ยวข้าวจึงแทบเป็นเรื่องที่ชาวนาในพื้นที่นี้บอกว่า  "แทบไม่ต้องคิด  ถึงเวลาก็มีรถเกี่ยวมาติดต่อเอง "


 


เมื่อดูภาพอย่างฉาบฉวยปัญหารถเกี่ยวนี่ไม่น่าจะมีอะไรเลย แต่ปัญหาเล็ก ๆ มักนำไปสู่ปัญหาใหญ่ ๆ ถึงจุดวิกฤติในที่สุด ปัญหาที่บอกคือ การที่ชาวนาฝากความหวังไปกับนายหน้าหารถเกี่ยว แล้วนายหน้าบางรายเมื่อรับเงินจากเกษตรกรไปแล้ว กลับไม่เอาไปให้รถเกี่ยว เมื่อเกิดขึ้นกับรถเกี่ยวหลายรายขึ้น การบอกต่อปากต่อปากระหว่างรถเกี่ยวจึงกลายเป็นชื่อเสีย เรื่อง "การเกี่ยวแล้วไม่ได้เงิน"  ของพื้นที่แห่งนี้ไปโดยปริยาย


 


เมื่อปัญหาหลายด้านเชื่อมโยงกัน สะสม ๆ จนถึงเวลาปะทุ วิกฤติจึงเกิดขึ้น วันที่ 5 พฤศจิกายน 2548 เป็นวันที่ข้าวทั้งท้องทุ่ง 2,800 ไร่น่าจะต้องได้รับการเกี่ยวไปแล้ว แต่ถึงวันนี้ 24 พฤศจิกายน ข้าวยังคงสุกงอมแห้งกรอบคาท้องทุ่ง ยิ่งนานวันราคาก็ลดลงไปเรื่อย ๆ แถมข่าวร้ายจากโรงสีรับจำนำหลายรายบอกว่า "ไม่รับจำนำข้าวหอมมะลิแล้ว" นั่นหมายถึงชาวนาเจ้าของข้าวหอมมะลิต้องปรับข้าวหอมมะลิของตนเองเป็นข้าวขาวทั่วไป  ซึ่งราคาจำนำจาก 7,000 ลงมาเป็น 6,000 บาท


 


ส่วนราคารถเกี่ยวจากเดิมปีที่แล้ว 350 บาท มาปีนี้ ชาวนาใจป้ำ ขึ้นไปให้ 700 บาท จากการแย่งรถเกี่ยวกัน แถมราคาประมาณนี้ พี่ประสิทธิ์ พิลา ซึ่งเป็นแกนนำเกษตรกรในพื้นที่และคร่ำหวอดการค้าข้าวมานาน บอกว่า "ราคาขนาดนี้ยังไม่มีรถเกี่ยวเลย" เมื่อลองเทียบกับต้นทุนและผลกำไรที่จะได้ จะเห็นว่า นี่คือ "การขาดทุนอย่างป่นปี้" แต่ด้วยสถานการณ์การบีบคั้นรอบด้าน ชาวนาจึงขอแค่เอาข้าวที่อยู่ในนาออกไปขาย  ส่วนราคานั้นจะได้เท่าไหร่ก็ไม่ว่ากัน


 


ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้น พี่ประสิทธิ์บอกว่า "เราคงต้องหันมาพึ่งตนเอง ไปพึ่งคนอื่นมากเหมือนเมื่อก่อนไม่ได้ ส่วนชาวนาคนอื่นๆ น่าจะ คุยกันง่ายขึ้น ที่จะกลับไปทำพันธุ์ข้าวหลายพันธุ์เหมือนเดิม"


 


ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ทุกฝ่ายไม่เฉพาะชาวนา คงต้องเรียนรู้และนำไปเป็นบทเรียน เพื่อที่จะไม่สร้างหรือสมัครใจเป็น  "เหยื่อของกระแส" อีกต่อไป