Skip to main content

วันนี้..ที่ยังไร้คำตอบ กับความคืบหน้าที่ไร้ความคืบหน้าใดๆ

คอลัมน์/ชุมชน

 


 


แม้เวลาจะล่วงเลยมาแล้วกว่า ๕ เดือน คดีฆาตกรรม พระสุพจน์ สุวโจ ก็ยังไร้คำตอบ หรือกระทั่งความคืบหน้าใดๆ อย่างเป็นรูปธรรม ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งและแรงปะทะทางการเมืองระดับต่างๆ ก็ดูเหมือนจะยิ่งทำให้เรื่องราวของความสูญเสียของปัจเจกบุคคลเลือนหายไปจาก "พื้นที่สาธารณะ" ที่สื่อมวลชนเคยมอบให้ แม้ว่าเขา(และเธอ)เหล่านั้นจะเคยมีคุณูปการต่อสังคมมาอย่างมากมายก็ตาม


 


เมื่อวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ได้มีการแถลงข่าว "ความคืบหน้าแห่งความไม่คืบหน้า" ในคดีภายใต้ความรับผิดชอบของ "กรมสืบสวนคดีพิเศษ" ๓ คดี คือ คดีการสังหารนายเจริญ วัดอักษร คดีการ "อุ้มฆ่า" ทนายสมชาย นีละไพจิตร และคดีฆาตกรรม พระสุพจน์ สุวโจ ขึ้น ณ ห้องประชุม ๔๐๑ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งมีรายละเอียดเฉพาะคดีของ พระสุพจน์ สุวโจ ดังที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้


 


........................


 


แถลงข่าว


คดีฆาตกรรม พระสุพจน์ สุวโจ


โดย พระกิตติศักดิ์ กิตฺติโสภโณ ประธานมูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์


วันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๔๘ เวลา ๑๓.๐๐ น.


ณ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ


 


ความเป็นมา


 


พระสุพจน์ สุวโจ(ด้วงประเสริฐ) อายุ ๓๙ ปี (อายุการบวช ๑๓ พรรษา) สังกัดวัดชลประทานรังสฤษฏ์ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ถูกฆาตกรรมอย่างโหดร้ายทารุณ ด้วยของมีคมไม่ทราบชนิดและขนาด จากคนร้ายไม่ทราบจำนวน มีบาดแผลฉกรรจ์กว่า ๒๐ แผล ทั้งที่ ศีรษะ ใบหน้า ลำคอ มือ แขน และลำตัว กระทั่งถึงแก่มรณภาพ ห่างจากกุฏิที่พักกว่า ๓๐๐ เมตร ริมทางเดิน(ห่างจากถนนระหว่างหมู่บ้าน ประมาณ ๑๐ เมตร)ในเขตสถานปฏิบัติธรรม "สวนเมตตาธรรม" บ้านห้วยงูใน ต.สันทราย อ.ฝาง จ.เชียงใหม่


 


ในชั้นต้น ตำรวจท้องที่ตั้งสมมติฐานว่า การฆาตกรรมเกิดจากชาวบ้านมาลักลอบตัดไม้ไผ่ ๑ – ๒ ลำ เมื่อผู้ตายได้ยินเสียงตัดไม้ก็ออกมาห้ามปราม หรือดุด่า จนชาวบ้านบันดาลโทสะ ใช้ขวานตัดไม้ทำร้ายถึงแก่ชีวิต


 


แต่ญาติและผู้เกี่ยวข้อง ตลอดจนชาวบ้านที่คุ้นเคยกับพระในสถานปฏิบัติธรรม "สวนเมตตาธรรม" ไม่เห็นด้วย เนื่องจากทราบดีว่าผู้ตายมีอัธยาศัยนุ่มนวลอ่อนโยน โอบอ้อมอารี และให้การช่วยเหลือชาวบ้านในบริเวณใกล้เคียงมาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้น ผู้ตายยังจบการศึกษาระดับสูง จากคณะสัตวแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อุปสมบทโดยมี พระพรหมมังคลาจารย์ (ปัญญานันทภิกขุ) เป็นพระอุปัชฌาย์ และเป็นศิษย์ใกล้ชิดของ ท่านพุทธทาสภิกขุ เคยมีหน้าที่รับผิดชอบสำคัญในสวนโมกขพลาราม อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี มาก่อน


 


นอกจากนั้น ก่อนเกิดเหตุกว่า ๒ ปี สถานปฏิบัติธรรมแห่งนี้ ก็ถูกข่มขู่คุกคามจากผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น ซึ่งมีความเกี่ยวโยงกับขบวนการค้ายาเสพติด และนักการเมืองระดับชาติ ในเขตเลือกตั้งนั้น มาอย่างต่อเนื่อง เพราะหวังจะใช้ประโยชน์ จากที่ดินซึ่งมีสภาพเป็นป่าต้นน้ำ ที่สถานปฏิบัติธรรมดูแลอยู่


 


อีกทั้ง ผู้ตายและเพื่อนภิกษุ ยังมีบทบาทการเคลื่อนไหวทางสังคม ด้านการใช้ศาสนธรรมเพื่อระงับความขัดแย้ง ตลอดจนการแก้ปัญหาความรุนแรง(อันเกิดจากการกระทำของรัฐและฝ่ายทุน)ด้วยสันติวิธี ร่วมกับขบวนการและเครือข่ายภาคประชาชน จนก่อให้เกิดความไม่พอใจ จากเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือผู้บริหารราชการแผ่นดินระดับสูงอยู่เสมอ


 


ในส่วนนี้ เมื่อคณะกรรมาธิการ ทั้งจากสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา เช่น คณะกรรมาธิการตำรวจ คณะกรรมาธิการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน และคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร ตลอดจน คณะกรรมาธิการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ วุฒิสภา ได้เชิญผู้เกี่ยวข้องมาให้ข้อเท็จจริง ก็มีความเห็นสอดคล้องกับญาติและผู้เกี่ยวข้องกับ พระสุพจน์ สุวโจ ว่าคดีนี้มีเงื่อนงำ และความไม่ชอบมาพากลอยู่หลายประการ ตลอดจนมีความเป็นไปได้สูง ที่คดีจะไม่คืบหน้า เนื่องจากเกี่ยวข้องกับผู้มีอิทธิพล และการตั้งสมมติฐานที่ผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ระดับท้องถิ่น


 


ความไม่คืบหน้าของคดี


 


หลังจากข่าวการมรณภาพของ พระสุพจน์ สุวโจ ได้รับการเผยแพร่ออกไป และได้รับความสนใจจากหลายฝ่ายอย่างกว้างขวาง การทำงานของตำรวจท้องที่ สถานีตำรวจภูธรอำเภอฝาง ซึ่งแต่เดิมพยายามสรุปและปิดคดีโดยเร็ว ก็ถูกยกระดับขึ้นสู่กองบัญชาการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่ และกองบัญชาการตำรวจภูธร ภาค ๕


 


มีการส่งเจ้าหน้าที่ทั้งฝ่ายสืบสวนและสอบสวนจำนวนมากเข้ามาในพื้นที่ แต่เนื่องจากความพยายามยืนยันสมมติฐานว่าเป็นการ "ก่อเหตุซึ่งหน้าเนื่องจากบันดาลโทสะ" จึงทำให้การรวบรวมหลักฐาน วัตถุพยาน และการจัดการกับที่เกิดเหตุเป็นไปอย่างไม่รอบคอบรัดกุม แม้ว่าจะมีการทักท้วงจากประธานคณะกรรมาธิการตำรวจ ประทานคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร ตลอดจนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ให้ดำเนินการอย่างครอบคลุมทุกสมมติฐานแล้วก็ตาม


 


ด้วยเหตุดังกล่าว แม้เวลาจะผ่านไปนับเดือน ก็ไม่มีความคืบหน้าใดๆ ในทางคดี ที่จะเป็นประโยชน์ หรืออำนวยความยุติธรรมให้เกิดขึ้นได้


 


และกระทั่งต่อมา เมื่อคณะกรรมการกรมสืบสวนคดีพิเศษ(DSI)ได้พิจารณารับคดีนี้เข้ามาอยู่ในความรับผิดชอบแล้ว สำนวนการสืบสวนสอบสวนตลอดจนข้อมูลต่างๆ ซึ่งได้มาจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในชั้นต้น ก็แทบจะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ เลย นอกเหนือจากการใช้เป็นข้อมูลเบื้องต้น เพราะข้อมูล หลักฐาน และผลการสอบปากคำ ล้วนแล้วแต่อยู่ในขอบเขตของสมมติฐานว่าการมรณภาพของพระสุพจน์ สุวโจ เกิดจากการบันดาลโทสะซึ่งหน้าเป็นด้านหลัก


 


ในส่วนของคณะทำงานของกรมสืบสวนคดีพิเศษเอง แม้เบื้องต้น ก็ยังต้องเสียเวลาดำเนินการภายใต้สมมติฐานเดิมอยู่ระยะหนึ่ง ทั้งการสอบปากคำผู้เกี่ยวข้อง และผู้ต้องสงสัยเดิม จนในที่สุด เมื่อไม่สามารถหาข้อเท็จจริงและหลักฐานใดๆ มาสนับสนุนสมมติฐาน "ก่อเหตุซึ่งหน้าเพราะบันดาลโทสะ" ได้ จึงเริ่มดำเนินการอย่างจริงจังในประเด็นที่หลายฝ่ายเรียกร้องมาตั้งแต่ต้น


 


กล่าวคือ การให้ความสนใจต่อการสมคบกันของฝ่ายการเมือง ผู้มีอิทธิพล และนักค้ายาเสพติด ในลักษณะ "สมประโยชน์" ที่ว่า เมื่อ "ฆ่าพระ" ในสถานปฏิบัติธรรม "สวนเมตตาธรรม" รูปใดรูปหนึ่งไปแล้ว ย่อมสร้างความหวาดหวั่นทั้งต่อพระและชาวบ้านใกล้เคียง ซึ่งจะส่งผลให้คนกลุ่มนี้มีโอกาสเข้ามาแสวงหาประโยชน์จากที่ดิน ทั้งในเขตป่าสงวนและเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ซึ่งมีอยู่จำนวนมาก และยังอาจส่งผลสะเทือนต่อการเคลื่อนไหวทางสังคมของพระสงฆ์กลุ่มนี้ ดังที่เคยมีนักการเมืองระดับชาติกล่าวกับหัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่ว่า "ทำอย่างไรจะให้พระพวกนี้เลิกวิจารณ์นายกรัฐมนตรีและรัฐบาล จากพื้นที่นี้ หรือพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่เสียที"


 


แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่ากรมสืบสวนคดีพิเศษจะรับคดีนี้เข้ามาอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบ แต่ถึงบัดนี้ ซึ่งเวลาล่วงเลยมากว่า ๕ เดือนแล้ว ก็ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ อย่างเป็นรูปธรรมเลย แม้แต่การแถลงผลงานของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของหน่วยงานนี้ในระยะที่ผ่านมา ก็มิได้กล่าวถึงคดีการฆาตกรรม พระสุพจน์ สุวโจ ออกสู่สาธารณะเลยแม้แต่น้อย


 


ผลกระทบ


 


หลังจากการฆาตกรรม พระสุพจน์ สุวโจ ถัดมาไม่นานนัก ในต้นเดือนกรกฎาคม ก็มีการ "ลอบวางเพลิง" บ้านพักของ นางคำ เหล้าหวาน ผู้พบศพคนแรก จนเสียหายหมดทั้งหลัง กรณีนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภอ.ฝาง พยายามจะตั้งข้อหาประมาทเป็นเหตุให้เสียทรัพย์กับนางคำ ซึ่งเป็นผู้เสียหาย ต่อเมื่อได้รับการทักท้วง ทั้งจากกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และพระสงฆ์ จึงได้ยุติความพยายามไป


 


นอกจากนั้น ก็มีการบุกรุกเข้ามาในบริเวณสำนักงานประสานงานของมูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ซึ่ง พระสุพจน์ สุวโจ เป็นกรรมการ และเป็นองค์กรต้นสังกัดของสถานปฏิบัติธรรม "สวนเมตตาธรรม" เหตุเกิดเมื่อเวลาใดไม่ทราบชัด แต่เจ้าหน้าที่ของมูลนิธิฯ และตำรวจจากกองบังคับการปราบปรามพบว่ามีคนมาซุ่มอยู่ และกระโดดข้ามกำแพงหลบหนีไป เมื่อเวลาประมาณ ๒๑ นาฬิกาเศษ เมื่อต้นเดือนสิงหาคม ๒๕๔๘ เมื่อตรวจสอบก็พบร่องรอยการเข้ามาซุ่มอยู่เป็นเวลานาน กรณีนี้มีการแจ้งความร้องทุกข์ไว้ที่ สน.ศาลาแดง กรุงเทพฯ


 


สำหรับในพื้นที่สถานปฏิบัติธรรม ในเดือนกันยายน เจ้าหน้าที่ตำรวจระดับสารวัตรคนหนึ่ง ซึ่งถูกย้าย เพราะมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมในคดีนี้ ให้ไปปฏิบัติงานในกองบัญชาการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่ หรือกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค ๕ ก็ไม่เป็นที่แน่ชัด ยังนำคณะบุคคลเข้ามาในเขตสถานปฏิบัติธรรม แล้วแสดงท่าทีที่ไม่เหมาะสม ทั้งการกล่าวดูหมิ่น และวิพากษ์วิจารณ์อันก่อให้เกิดความเสียหายกับคณะสงฆ์ในสถานปฏิบัติธรรม ในลักษณะโจมตีให้ร้าย ให้ผู้ฟังเกลียดชัง อย่างเปิดเผย ต่อหน้าเจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองบังคับการปราบปราม ซึ่งให้การอารักขาพยานในคดีนี้


 


กองบังคับการปราบปรามกับการคุ้มครองพยาน


 


แม้ว่าการคุกคามทั้งทางตรงและทางอ้อมดังที่กล่าวแล้วข้างต้น หรือการโทรศัพท์เข้ามาสอบถามความเคลื่อนไหวของพยาน จะมีอยู่อย่างต่อเนื่อง แต่ถึงกระนั้น กองบังคับการปราบปราม ซึ่งได้รับการร้องขอจากสำนักงานคุ้มครองพยานกรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน กระทรวงยุติธรรม ให้จัดกำลังเจ้าหน้าที่เพื่อให้การคุ้มครองพยานในคดีนี้ ก็ยังมีความพยายามอย่างต่อเนื่อง ที่จะถอนกำลังกลับ อีกทั้งยังพยายามขัดขวางหรือไม่อำนวยความสะดวกต่อการรับสิทธิประโยชน์จากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจในสังกัด ผู้ให้การอารักขาพยาน ตามการร้องขอที่กล่าวแล้วข้างต้น


 


กล่าวคือ เมื่อสิ้นเดือนสิงหาคม ผู้บังคับการปราบปราม พล...วินัย ทองสอง ได้แสดงความประสงค์ที่จะถอนกำลังกลับ โดยอ้างเหตุผลว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องให้การคุ้มครองต่อไป แม้ว่าพยานจะยืนยันถึงความจำเป็นก็มิได้ใส่ใจรับฟัง ต่อเมื่อประธานคณะกรรมาธิการตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร ได้ร้องขอโดยวาจา จึงมีการผ่อนผันต่อมาถึงสิ้นเดือนกันยายน และต้องร้องขออีกครั้งในสิ้นเดือนกันยายน จึงจัดกำลังอารักขาต่อมากระทั่งออกพรรษา ในวันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๔๘


 


พร้อมๆ กันนั้น ก็มีข้อสังเกตบางประการที่น่าสนใจ ว่าทางผู้บังคับการกองบังคับการปราบปราม พยายามชี้แนะให้พยานทำหนังสือร้องขอกำลังอารักขาโดยตรงจากตน แทนที่จะปฏิบัติตามการร้องขอของสำนักงานคุ้มครองพยาน โดยอ้างว่าเพื่อให้เจ้าหน้าที่ที่จะทำการอารักขาสามารถเบิกจ่ายเบี้ยเลี้ยงและสิทธิประโยชน์จากต้นสังกัดได้ ทั้งที่ในทางปฏิบัติ เมื่อปฏิบัติตามคำแนะนำดังกล่าว ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้คุ้มครองพยานและพยานเอง ต้องใช้เวลาหลายวันในการดำเนินการขออนุมัติ-อนุญาต ทุกเดือน โดยเวลาที่เสียไปนั้น เจ้าหน้าที่ผู้คุ้มครองพยานไม่สามารถเบิกเบี้ยเลี้ยงได้ตามเวลาที่ปฏิบัติงานจริง


 


มิหนำซ้ำ นับตั้งแต่วันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๔๘ – ๑๘ ตุลาคม ๒๕๔๘ เจ้าหน้าที่ตำรวจชั้นผู้น้อยจำนวน ๔ นาย จากกองบังคับการปราบปราม ก็ไม่เคยได้รับเบี้ยเลี้ยง ในส่วนที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติม จากสำนักงานคุ้มครองพยาน ตามข้อตกลง ระหว่างสำนักงานคุ้มครองพยานและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่อย่างใดเลย


 


กรมสืบสวนคดีพิเศษกับการคุ้มครองพยาน


 


ระยะที่กองบังคับการปราบปรามเตรียมถอนกำลังกลับ พยานได้หารือกับหัวหน้าคณะทำงานของกรมสืบสวนคดีพิเศษที่รับผิดชอบคดีนี้ เกี่ยวกับความจำเป็นที่จะต้องขอการคุ้มครองอีกระยะหนึ่ง ซึ่งได้รับการตอบรับจาก นายชาติชาย โทสินธิติ พนักงานสืบสวนคดีพิเศษ ว่าจะดำเนินการให้ อีกทั้งนายชาติชาย ยังได้แจ้งต่อผู้บังคับการกองบังคับการปราบปราม ว่ากรมสืบสวนคดีพิเศษจะรับช่วงต่อ ในการคุ้มครองพยานเอง แต่ในที่สุด เมื่อกองบังคับการปราบปรามถอนกำลังกลับ นายชาติชาย โทสินธิติก็แจ้งกับพยานว่า ไม่สามารถจัดกำลังให้ได้ ทำให้พยานขาดการคุ้มครองจากเจ้าหน้าที่รัฐนับแต่บัดนั้น


 


การประสานงานของสำนักงานคุ้มครองพยาน


 


เมื่อพยานทราบชัดจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ ว่าไม่อาจคุ้มครองพยานได้ พยานได้แจ้งต่อผู้อำนวยการสำนักงานคุ้มครองพยาน เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป และได้รับการชี้แจงว่า สำนักงานคุ้มครองพยานได้สอบถามไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษแล้ว ได้รับการยืนยัน ว่าพยานคดีนี้ยังสมควรที่จะได้รับการคุ้มครองต่อไป และได้ดำเนินการส่งเรื่องไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติแล้ว ซึ่งสนักงานตำรวจแห่งชาติก็มีความเห็นสอดคล้องกัน ว่าควรมีการคุ้มครองพยานต่อไป


 


แต่อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่วันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๔๘ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามถอนกำลังกลับ จนถึงบัดนี้ ซึ่งเวลาล่วงเลยมาแล้วกว่า ๑ เดือน ยังมิได้มีการจัดกำลังเจ้าหน้าที่หน่วยงานใดๆ มาคุ้มครองพยานเลย


 


มิหนำซ้ำ เจ้าหน้าที่ตำรวจจากสถานีตำรวจภูธรอำเภอฝาง ซึ่งเคยรับนโยบายและคำสั่งให้ส่งกำลังสายตรวจเข้าไปดูแลสถานปฏิบัติธรรม "สวนเมตตาธรรม" ซึ่งในระยะแรกที่คดียังได้รับความสนใจจากสื่อได้มีการจัดสายตรวจเข้าไปวันละ ๒ – ๓ ครั้ง ถึงบัดนี้ ในบางสัปดาห์ มิได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปในบริเวณ "สวนเมตตาธรรม" เลยแม้แต่คนเดียว


 


ข้อเรียกร้องและทวงถาม


 


. ใครหรือหน่วยงานใด จะเป็นผู้รับผิดชอบ หรือจะแสดงความรับผิดชอบอย่างไร ต่อการสืบสวนสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจท้องที่ ซึ่งปฏิเสธการดำเนินการตามข้อเสนอแนะของญาติและผู้เกี่ยวข้องกับ พระสุพจน์ สุวโจ ในการตั้งสมมติฐานให้ครอบคลุมต่อสาเหตุการฆาตกรรม กระทั่งส่งผลเสียหายต่อรูปคดี และการเก็บหลักฐาน-วัตถุพยาน ตลอดจนการสอบปากคำ ดังเช่นที่เป็นอยู่


 


. ใครหรือหน่วยงานใด จะเป็นผู้รับผิดชอบ และจะต้องแสดงความรับผิดชอบอย่างไร ต่อการละเลยมิได้ปฏิบัติหน้าที่ หรือการบกพร่องต่อหน้าที่ ในการคุ้มครองพยาน ในคดีสำคัญซึ่งสร้างความสะเทือนขวัญต่อพุทธศาสนิกชน เช่น คดีการฆาตกรรม พระสุพจน์ สุวโจ


 


๓. ใครหรือองค์กรใด จะเป็นผู้รับผิดชอบ ต่อความเสียหายด้านต่างๆ ที่เกิดขึ้น หรือเนื่องมาจากความล่าช้า และมิอาจนำมาซึ่งความยุติธรรม ในการดำเนินคดีระดับต่างๆ ทั้งต่อผู้ยังอยู่ และผู้ที่ต้องจากไปอย่างเจ็บปวด และทุกข์ทรมาน อันเนื่องมาจากการลอบสังหารที่โหดเหี้ยมและทารุณ ซึ่งมักเกิดขึ้นเพราะความไร้ประสิทธิภาพในการทำงานของรัฐและบุคคลากรภายใต้การดูแลรับผิดชอบของรัฐเป็นด้านหลัก


 


หมายเหตุ


 


สิ่งหนึ่งที่ต้องตราไว้ เพื่อเป็นหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์สังคมไทย ก็คือ ตำรวจชั้นประทวนนายหนึ่ง ซึ่งอยู่ในกลุ่มตำรวจจากกองบังคับการปราบปราม ที่เคยอารักขาพยาน พระกิตติศักดิ์ กิตฺติโสภโณ และพระมหาเชิดชัย กฺวิวํโส ประธานและกรรมการมูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ซึ่งถูกคุกคามจากผู้มีอิทธิพล เนื่องมาจากคดีฆาตกรรม พระสุพจน์ สุวโจ และถูกต้นสังกัดเรียกตัวกลับ ด้วยเหตุผลว่ามีกำลังพลไม่เพียงพอ นั้น


 


บัดนี้ได้รับมอบหมายภารกิจ ร่วมกับเพื่อนตำรวจหน่วยปฏิบัติการพิเศษ กองบังคับการปราบปรามอีกหนึ่งนาย ให้ไป "อารักขา" ญาติหนุ่มผู้หนึ่ง ในวงศ์วานว่านเครือภรรยาผู้นำประเทศ ที่กำลังเจ็บป่วยเรื้อรังเนื่องจากติดยาเสพติดอย่างรุนแรง อยู่ที่โรงพยาบาลพระรามเก้า โดยมีการขอตัวไปช่วยราชการ ณ กองบัญชาการสอบสวนกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ภายใต้การบังคับบัญชาของ คุณเพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ พี่ชายคุณหญิงพจมาน ชินวัตร อย่างถูกต้องตามระเบียบของทางราชการไทย