Skip to main content

สอนลูก

คอลัมน์/ชุมชน





ปวา มี เลอ เปลอ เหน่ จี แว             ผู้เฒ่าเมื่อก่อนสอนเอาไว้                                       


ปวา ปว่า เลอ เปลอ เหน่ จีแว           ผู้แก่เมื่อก่อนสอนเอาไว้


โข่ ที เบาะ ซะ หน่า ปว่า บู              หัวกะโหลกยังอ่อน  หน้าอกยังบาง                           


ออ เต่อ เล่อ โช โหม่เต่อ บู             กินยังไม่ครบ  รู้ยังไม่หมด


 


ปวา มี เลอ เปลอ โส่ เก ปวา            ผู้เฒ่า ผู้แก่ได้สั่งสอน                                


โพ ลี เต่อ ผ่า โด เก่อหน่า               เราลูกหลานได้ยินได้ฟัง


แค อี เหย่อ เก่อ แตะ เอะ นา           วันนี้ฉันจะมาบอกอีกครั้ง                


โอะ โคะ กว่า หล่า โด เก่อ หน่า        ฟังเสียงเตหน่าก่อน


ต่า เก เลอ เป่อ โหม่ โอะ ดิ              เดี๋ยวฉันจะเล่าต่อ


           


ต่า เก  เลอ เป่อ ป่า  โอะ ดิ             ความอุดมเมื่อแม่ยังอยู่                              


ทอ ลอ เหน่ เป่อ แคะ เต่อ ลี           ความสมบูรณ์เมื่อพ่อยังอยู่


ทอ ลอ เหน่ เป่อ ควะ เต่อ  ลี           ใส่ด้ามมีดเตรียมไว้ให้เรา                           


เมอ เป่อ แล กลอ บือ ข่อ ธิ             ใส่ด้ามคราดเตรียมไว้ให้เรา


           


เปอ แล กลอ แว โกะ หมื่อ  นี          ให้เราดายหญ้าพรวนดิน                             


ตือ เหม่ เลอ เป่อ มา บือ วี              หมั่นดูแลรักษาต้นข้าว


ซู ถ่อ บือ พอ ตู่ ฉี่  เต่อ มวี             เมื่อถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยว  สร้างยุ้งข้าวรอรับเลี้ยงแขก     


 


เบื้องหลังเพลงนี้มาจาก  "หมู่บ้านผาขาว"  หมู่บ้านกลางป่าใหญ่ในเขต อ.แม่แจ่ม  อำเภอแห่งขุนเขาของ จ.เชียงใหม่  หลังจากคืนนั้น   ขณะที่ผมเล่นดนตรีร่วมกับพ่อ  ผู้คนเข้ามาชมดูกันล้นหลาม  จนเวลาล่วงไปใกล้เที่ยงคืน  งานเลิก  เราพากันไปพักผ่อนหลับนอนกันในบ้านหลังหนึ่งของชาวบ้าน  ซึ่งเป็นญาติพี่น้องของเรา  "คนปวาเก่อญอ


 


ก่อนรุ่งสาง...มีเสียงปลุกให้ผมตื่น  เป็นเสียงปลุกที่มิอาจจะหลับนอนต่อไปได้  มันสั่นสะเทือนไปทั้งแผ่นดิน  บ้านหลังที่ผมนอนก็สั่นไหวเช่นกัน   เป็นเสียงครกตำข้าวจากสาว ๆ ปวาเก่อญอนั่นเอง   โดยปกติแล้ว  ครกตำข้าวจะอยู่ใต้ถุนบ้าน  เวลาตำข้าวในตอนเช้า ๆ  หลายคนจึงบอกกันว่า  เสียงตำข้าวนั้นถือว่าเป็นการปลูกสมาชิกในบ้านไปภายในตัว


 


"โป๊ก ปะ ลก ๆ ๆ ๆ ๆ..."  เสียงตำข้าวยังดังลั่นไปทั่ว


หลังจากที่ผมฝืนทนฟังเสียงครกตำข้าวต่อไปไม่ไหว  ต้องตื่นขึ้นมา  หน้าตางัวเงีย  เดินลงไปท้ายหมู่บ้านไปล้างหน้าล้างตาในลำห้วย  พร้อมกับไปทำธุระส่วนตัวในป่า  เพราะในหมู่บ้านไม่มีส้วม ไม่มีประปา  ต้องใช้แม่น้ำเป็นห้องน้ำ ใช้ป่าเป็นห้องส้วม  เวลาปลดทุกข์  ต้องเบ่งและตบยุงไปพร้อม ๆ กัน ครั้นเดินออกจากป่า  ต้องย้อนกลับมาที่แม่น้ำ  ล้างมือเสร็จก็เดินกลับไปยังบ้านที่มาพัก


 


แต่กว่าจะถึงบ้านหลังดังกล่าว ผมได้เหงื่อหลายหยดเหมือนกัน  เพราะต้องไต่ขึ้นกับระยะทางที่มีความชันไม่ต่ำกว่า 65 องศา  จึงทำให้ต้องค่อย ๆ  เดินพร้อมกับถือโอกาสกวาดสายตาและชมทัศนียภาพสองข้างทางไป


 


พอมาถึงบ้านพักหลังเดิม  ผมตกใจและแปลกใจ  เพราะมีชาวบ้านเกือบสิบคนมารออยู่ในบ้านหลังนั้น


"เขาต้องมาขอซื้อเทปแน่ ๆ เลย"  ผมยิ้มอยู่ในใจ และพูดกับตัวเอง  นั่นหมายความว่าผมจะได้ค่าน้ำมันรถกลับบ้าน


 


ผมยังไม่ทันถามว่า ลุงจะเอากี่ม้วน


"อ่อเม  อ่อเม..." เสียงลุงพูดขึ้นแทรกก่อนหน้าผม ชวนผมไปกินข้าวที่บ้าน


ผมขออนุญาตเจ้าของบ้านหลังที่ผมพัก  แล้วผมก็ตามลุงคนนั้นไป


"ผิดคาดเลยเรา  กลายเป็นว่า  ที่ชาวบ้านมานั่งรอเรา ไม่ใช่ต้องการซื้อเทปเพลง   แต่รอเชิญเราไปกินข้าวที่บ้าน" ผมรำพึงในใจ


 


เมื่อหันกลับไปมองข้างหลัง   ผมมองเห็นชาวบ้านทุกคนพยายามตามผมมา


ผมกินข้าวที่บ้านลุงคนนั้นยังไม่ครบห้าคำ 


"กินที่นี่เสร็จแล้ว ไปกินที่บ้านป้าต่อนะ" ป้าคนหนึ่งยิ้มและพูดกับผม


ผมพยักหน้ารับคำเมตตาอารีของเขา  


"ต่าบรื้อ  พะตี"  ผมกล่าวขอบคุณคุณลุงคนนั้น  ก่อนขอตัวลุกขึ้น  ก้าวเท้าเดินตามป้าคนนั้นไป


 


เมื่อผมหันกลับไปข้างหลัง   ผมนึกแปลกใจ  ที่ชาวบ้านกลุ่มนั้นยังตามผมอยู่อย่างนั้น


ผมกินข้าวที่บ้านป้ายังไม่ครบห้าคำ  ชาวบ้านอีกคนหนึ่งก็ชวนผมไปกินข้าวที่บ้านอีก


คนแล้วคนเล่า บ้านแล้วบ้านเล่า กินแล้วกินเล่า... ตอนเช้าวันนั้น ท้องผมแทบจะแตกตาย


 


หลังสุดท้ายที่ผมไปกินคือ บ้านที่ผมไปพัก ผมทานได้สองสามคำ  ผมแทบจะอาเจียนออกมา เพราะกินข้าวเข้าไปจนล้นท้อง  เหมือนกับว่าเมล็ดข้าวที่ผมกินนั้นขึ้นมาถึงต้นคอ 


"เป็นผู้ชาย หัดเป็นคนฉลาดบ้าง  หมาตัวผู้ ก่อนจะหมอบ มันวนเจ็ดรอบ เกิดเป็นคน ก่อนจะกินให้เป่า ก่อนจะพูดให้คิด ก่อนจะทำให้ใคร่ครวญ" พ่อต่อว่าให้ผม


 


ผมไม่มีอะไรจะแก้ตัว  มันเป็นประสบการณ์อีกครั้งหนึ่งของผม  กับวัฒนธรรมการต้อนรับแขกของชนเผ่าปวาเก่อ ญอของผมเอง  ไปหมู่บ้านปวาเก่อญอ หากเป็นหมู่บ้านดั้งเดิม เหมือนหมู่บ้านผาขาวแห่งนี้  เขาจะถือว่าแขกผู้มาเยือนเป็นตัวนำโชคสำหรับหมู่บ้าน   


 


เพราะฉะนั้นเขาจึงปรารถนาที่จะให้แขกขึ้นไปรับประทานอาหารในบ้านเขา  หากแขกมาแล้ว ไม่ยอมขึ้นไปรับประทานอาหารในบ้านเขา   ถือว่าเขาจะเสียโอกาสในการได้รับบุญ  เสียโอกาสได้รับพรอย่างใหญ่หลวง  จึงทำให้เกิดประเพณีการเรียกแขกกินข้าว 


 


เมื่อผมกลับไปถึงบ้านบนดอย  ดินแดนป่าสนวัดจันทร์  ในค่ำคืนนั้น  ผมนั่งคุยถึงที่มาที่ไปถึงประเพณีนี้กับพ่ออีกครั้งหนึ่ง  และถามถึงคำ "ธา" เกี่ยวกับข้าว เกี่ยวกับแขก


 


"พ่อ  ผมอยากแต่งเพลงที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างข้าวกับแขกของชนเผ่าของเรา" ผมเอ่ยกับพ่อ


 


พ่อผมไม่ปฏิเสธข้อเสนอของผม  ซ้ำยังเป็นตัวหลักในการแต่งเพลงนี้ขึ้น


 


ผมเพียงแค่ประคับประคองทำนอง และจังหวะ  ส่วนเนื้อร้องพ่อผมเหมาเกือบหมด


สำหรับเพลง "สอนลูก" นี้ อยากจะบอกว่า  เนื้อร้อง ทำนอง โดย พนา   พัฒนาไพรวัลย์  เรียบเรียง


และขับร้องโดย ลูกชายของเขา.