Skip to main content

ซอกเล็กๆ ที่ซ่อนอยู่ใน ‘มรดกโลก’

คอลัมน์/ชุมชน

 


 


ติล์ม ตะวันออก—เรื่อง


เพื่อนเริก-คิม—ภาพ


 


"เราจะไปเที่ยวต่อที่ไหนกันดี?" เป็นคำถามที่ต่างคนต่างไม่มีคำตอบให้กัน ทุกคนรู้แต่เพียงว่าจะต้องไปเที่ยวที่ไหนกันอีกสักแห่งก่อนที่รถไฟจะออกตอนบ่ายสามโมงครึ่งของวันนี้ และทุกคนก็ตระหนักดีว่าต้องออกจากหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติทับลาน ทง.13 (สวนห้อม) อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ภายในช่วงสายของวันนี้เพื่อโบกรถนักท่องเที่ยวออกไปยังถนนสายหลัก


 


คำตอบที่ได้คือการหยิบยื่นหนังสือแผนที่เพื่อสำรวจสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นทางผ่านหรืออยู่บริเวณใกล้เคียง ส่วนใหญ่ที่เราพบเป็นชื่อน้ำตกเล็กๆ ที่พอจะคาดเดาได้ว่าสายน้ำจะเป็นเช่นไรในช่วงหน้าฝนเช่นนี้ ในที่สุดทุกคนก็ตัดสินใจไป ‘แก่งหินเพิง’ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อันเป็นสถานที่ล่องแก่งอันเลื่องชื่อของประเทศ ซึ่งพวกเรายังไม่ได้สัมผัสน้ำตกกันเลย นอกจากแหงนมองและเดินหาสายธารที่หลบหลงอยู่ในทางป่ารก


 


 


การเดินทางครั้งนี้ต้องแข่งกับเวลาพอสมควร สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือเจ้าของรถที่จะจอดรับให้พวกเราติดสอยห้อยตามไปด้วยนั่นเอง  แต่เรามั่นใจว่านักท่องเที่ยวผู้มีจิตใจโอบอ้อมธรรมชาติรักป่าเขาลำเนาไพรฉันใด ย่อมมีจิตใจงามและพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือเอื้ออารีต่อนักท่องเที่ยวผู้ร่วมเผชิญชะตาเดียวกันฉันนั้น


 


................


 


เราออกมาสู่ถนนสายหลักโดยไม่เสียเวลานัก ด้วยความเอื้อเฟื้อของครอบครัวหนึ่ง เราไหว้ขอบคุณพร้อมรอยยิ้มและสอบถามแม่ค้าไก่ย่างข้างทางถึงการเดินทางต่อไป แล้วรถโดยสารก็พาเราไปยังปากทางที่จะไปถึงแก่งหินเพิงในที่สุด แต่ว่าเราต้องต่อรถสองแถวอีกคันไปยัง อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี แล้วหลังจากนั้นก็ไม่มีใครให้คำตอบได้อีกว่าเราจะเข้าสู่แก่งได้อย่างไร


 


คงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่เราคอยโบกรถบริเวณปากทางแยกไป อ.นาดี แล้วไม่มีใครจอดรับพวกเราสักคัน  ด้วยความเป็นเมืองใช่ไหมที่สะท้อนให้เห็นถึงความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกันเช่นนี้  เราคิดดูแล้วก็คงไม่เลวร้ายขนาดนั้นเป็นแน่  แต่ที่นี่มีรถโดยสารวิ่งอยู่แล้วจึงอาจไม่จำเป็นที่จะต้องช่วยเหลือคนเดินทางที่หวังพึ่งพาอย่างเรา  นั่นหมายความว่าเมื่อการบริการเป็นเรื่องเฉพาะของการแลกเปลี่ยนเงินตราไปเสียแล้ว  การให้บริการน้ำใจจึงกลายเป็นสิ่งที่ไม่มีมูลค่าใดๆ อีกต่อไป


 


..................


 


ในที่สุด เรานั่งรถสองแถวไปยัง อ.นาดี เราถามผู้ร่วมเดินทางบนรถว่า "จะไปแก่งหินเพิงอีกไกลไหมครับ?" "แล้วมีรถเข้าไปถึงหรือเปล่าคะ?"  เป็นคำถามที่ดูตื่นๆ โดยที่เรายังไม่รู้เลยว่าหลังจากลงรถคันนี้แล้วจะทำยังไงต่อไป  มียายใจดีเล่าให้ฟังถึงการเดินทางและแก่งหินเพิงที่แกรู้จักมาอย่างดี


 


"โอ๊ย หนู เข้าไปไม่ถึงแก่งหินเพิงหรอก ต้องเดินเข้าป่าไปอีกลึก เดินเป็นสิบกิโล แล้วก็ต้องมีคนนำเข้าไปด้วยนา ถ้าไปถึงแล้ว จะเห็นหินเป็นเพิง สวยมาก  น้ำตกมาเหมือนคลื่นในทะเลเลยแหละ น้ำก็เย็นเหมือนน้ำแข็งเลยนะ"  คำบอกเล่าของยายทำให้เราทั้งท้อทั้งตื่นเต้นไปด้วย เราตั้งใจฟังยายเล่ามาตลอดทาง  ขณะที่ผู้โดยสารคนอื่นๆ ได้แต่ยิ้มน้อยๆ ให้กับเรา คงจะคิดในใจเหมือนกับเราว่า "ที่พูดน่ะ โม้เกินครึ่งนะ อย่าไปหลงเชื่อเชียว" แต่เราก็มีความสุขที่ได้นั่งฟังและซักถามกับแก ขณะที่แกยังชิงเล่ายาวเหยียดจนเราแทบไม่ทันตั้งคำถาม


 


หลังจากรถสองแถวส่งยายลงรถเป็นคนสุดท้ายแล้ว เราต้องเหมารถสองแถวคันเดิมเข้าไปยังแก่งหินเพิงตกคนละ 100 บาท ประมาณสิบกว่ากิโลเมตร เราเริ่มรู้สึกเป็นกังวลปนเปกันไปหมดทั้งจุดหมายปลายทาง เงินที่เสียไปและเวลาที่เหลืออยู่น้อย


 


บริเวณด่านทางเข้าแก่งหินเพิงมีเจ้าหน้าที่ป่าไม้และนักท่องเที่ยวเตรียมแบกเรือล่องแก่งเป็นจำนวนมาก พวกเราหวังว่าที่นี่จะมีสายน้ำเชี่ยวให้ได้ลงเล่นกันบ้าง แต่เราก็รู้สึกเสียความรู้สึกทันทีที่ด่านทางเข้าด้านหน้า


 


"ค่าเข้าคนละ 20 บาทครับ" พร้อมนิ้วชี้ยกขึ้นลงและสายตาสอดส่ายนับหัวคน พวกเรามาเที่ยวกัน 6 แล้วยังนับรวมทั้งคนรถ คนขับรถ เข้าไปอีก ทั้งๆ ที่เขา 2 คนไม่ได้เข้าไปเที่ยวด้วยสักหน่อย เราถึงกับงงและไม่เข้าใจ คิดว่ามันโหดร้ายเกินไปแล้วนะ พร้อมกับเสียงแว่วตามหลังมาว่า "เราต้องเข้มงวดมากเพราะที่นี่ประกาศเป็นมรดกโลกแล้วนะครับ"


 


ทันทีที่ได้ฟังน้ำเสียงเข้มและดุดันนั้น เรารู้สึกหัวใจพองโตว่า โอ้โฮ เราได้มาเที่ยวมรดกโลกเชียวนะเนี่ย แต่ที่วิ่งปี๊ดมาติดๆ เลยก็คือถ้าไม่อยากให้มาเที่ยวนักก็ปิดเลยก็ได้ จะได้คงความเป็นมรดกโลกอยู่อีกนาน หรือว่าป่าไม้พวกนี้จะใจดีกับเฉพาะบริษัทธุรกิจล่องแก่งอย่างเดียวก็ไม่รู้ เห็นพวกเราโทรมๆ ไม่มีตังค์กันแน่ ยิ่งคิดก็ยิ่งแค้นรู้สึกหงุดหงิดซะแล้ว


 


เราไม่มีเวลาที่จะเดินเท้าไปยังแก่งหินเพิงตามที่มุ่งหวังไว้ เนื่องจากมีเวลาเพียงชั่วโมงเดียว กับเส้นทาง 2.5 กิโลเมตร (ยายเคยบอกไว้ว่าเป็นสิบกิโล) เมื่ออ่านชื่อแก่งจากป้ายมีประมาณ 7 แก่งด้วยกัน เราจึงตัดสินใจไปยังแก่งที่อยู่ใกล้ที่สุดเพียง 100 เมตร จากด่านตรวจ นั่นคือ ‘แก่งวังไทร’ ที่ซุกตัวอยู่หลังพุ่มไม้ใกล้ๆนี่เอง


 


 


เมื่อเดินทางตากลมห่มฝุ่นมานาน หัวเรืองๆ ด้วยแดดยามบ่ายทำเอาเราเหนื่อยล้าไปตามๆ กัน แต่พอเจอสายน้ำใสกว้างประมาณ 20 เมตร ที่ไหลเชี่ยวผ่านพุ่มไม้ กองหินและเกาะแก่ง บ้างไหลวน บ้างตกกระทบทางน้ำต่างระดับ เสียงระรื่นของสายน้ำอิสระเคล้ากับเสียงหัวเราะครื้นเครงของผู้คนที่มาจับจองริมสายน้ำสอดรับกันเป็นอย่างดี บ้างกำลังเล่นน้ำตัวเปียกปอน บ้างกำลังพูดคุยริมชะง่อนหิน ใต้ร่มไม้ เรารู้สึกสดชื่นและเป็นสุขขึ้นมาทันที


 


หลังจากนั้นเราเลือกทำเลที่ใกล้ๆ หน่วยกู้ภัยของกรมป่าไม้ แม้ว่าจะเล่นน้ำไม่ได้มาก เนื่องจากน้ำไหลแรง มีชะง่อนหินแหลมคม แต่ก็ยังมีรากไม้และร่มป่าช่วยให้เราเล่นน้ำกันอย่างมีความสุขสนุกสนาน


 


เวลาผ่านไปไม่นาน เรือของนักท่องเที่ยวแต่งชุดชูชีพและหมวกกันน็อคสีสดใสก็ผ่านหน้าเราไปอย่างเงียบๆ อาจเนื่องจากบริเวณนี้ไม่มีแก่งใหญ่ระดับที่ทำให้หวาดเสียว เราตะหงิดใจขึ้นมาว่าเหล่านี้คือสิ่งแปลกปลอมทางสายตาและสายน้ำ แต่ก็สามารถสร้างสีสันให้คนริมฝั่งอย่างพวกเราชะเง้อมองด้วยไม่มีปัญญาจ่ายเงินหลักพันเพื่อแลกกับความสนุกและความเสี่ยงเช่นนี้


 


 


ความสุขใจที่ได้มาท่องเที่ยวและมีสายน้ำโอบประโลมความสบายใจแก่เรา มันคุ้มค่าเกินกว่าราคาความเสี่ยงและสนุกสนานในการล่องแก่ง แม้เวลาจะมีน้อยแต่เราเห็นว่าเพียงพอแล้วกับ ‘ทริปไปตายเอาดาบหน้า’ ในครั้งนี้



 


……….


 


เมื่อฤดูกาลหมุนเวียนเปลี่ยนไป สายฝนเริ่มห่างหาย สายน้ำเริ่มเหือดแห้ง มีเพียงสายลมหนาวเข้ามาแทนที่ การเดินทางครั้งใหม่กำลังจะเริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง พร้อมกับใจที่ออกเดินทางล่วงหน้าไปเยี่ยมเยือนม่านหมอกและทะเลภูเขา


 


แม้วันเวลาจะไม่เคยย้อนกลับแต่ทุกๆแห่งยังคงหยุดนิ่งอยู่ ณ จุดเดิมในใจ ทุกๆที่ที่เราผ่านมาและจากไปได้เติมชีวิตและบทเรียนใหม่ๆ อยู่เสมอ ไม่เว้นแม้สักครั้งเดียว.....