Skip to main content

สอนหลานให้อ่านอังกฤษ ตอนที่ 11

คอลัมน์/ชุมชน

 


 


วิธีสอนภาษาอังกฤษ (7)


 


อ่านหนังสือ  หนังสือนี้หมายถึงหนังสืออ่านเล่นหรืออ่านประกอบการเรียน มีขนาดต่างๆ กันตั้งแต่ขนาดฝ่ามือไปจนถึงใหญ่กว่ากระดาษ A4  กระดาษค่อนข้างหนาเพื่อให้ทนมือเด็ก  หากเป็นหนังสือเด็กโตกระดาษก็หนากว่าปกตินิดหน่อย  แต่ถ้าเป็นหนังสือเด็กเล็กกระดาษอาจจะหนาได้ถึงประมาณหนึ่งมิลลิเมตรเลยละครับ  หนังสือแต่ละเล่มมีเพียงประมาณ 10-20 หน้า  มีรูปประกอบทุกหน้า ส่วนมากมีสีสันสวยงาม  แต่ละหน้าอาจจะไม่มีตัวหนังสือเลย หรือมีเพียงหน้าละหนึ่งคำ ไปจนถึงหลายบรรทัด  ตัวหนังสือมีขนาดใหญ่อ่านได้ง่าย  ส่วนเนื้อหาก็มีหลากหลายสารพัดสารพันครับ  ตั้งแต่จำนวนนับหนึ่งถึงสิบ  รูปทรงเรขาคณิต  เรื่องตามจินตนาการที่มีตัวละครเป็นสัตว์หรืออะไรก็ได้ แต่อิงชีวิตประจำวันของคน  ไปจนถึงเรื่องในประวัติศาสตร์  หรือจักรวาลทางช้างเผือกไปโน่น  มีแต่เรื่องสนุกและน่าสนใจครับ โดยเฉพาะสำหรับเด็กที่ยังอยู่ในวัยเพ้อฝัน


 


ประเทศที่ได้ชื่อว่าพัฒนาแล้วมีลักษณะร่วมกันอย่างหนึ่งครับ คือ เมืองเล็กเมืองน้อยมักจะมีห้องสมุดสาธารณะ คงจะเพื่อแสดงความศิวิไลซ์ของเมือง ดังที่ Robert Wolverton บอกไว้ว่า "สติปัญญาของโลกอยู่บนชั้นหนังสือ"  และในห้องสมุดก็มักจะมีห้องหรือมุมหนังสือเด็กโดยเฉพาะ  เมืองสตาร์กวิลล์ที่พวกผมไปอยู่ชั่วคราวนี้ก็มีห้องสมุดครับ  และให้บริการทุกคนที่อาศัยอยู่ในเมืองนี้  ฟรีครับฟรี  ฟรีที่แปลว่าได้เปล่านั่นแหละครับ  เพียงแต่แสดงหลักฐานว่าเรามีถิ่นพำนักเป็นหลักแหล่งอยู่ในเมืองนี้เท่านั้น  ผมเลยใช้ใบขับขี่รถยนต์แสดงให้เจ้าหน้าที่ดู (ที่นี่ใช้ใบขับขี่แทนบัตรประชาชนครับ) เขาก็ทำบัตรห้องสมุดให้ทันที แล้วผมก็ยืมหนังสือได้ในทันใด  ฟรีจริงๆครับ ผมไม่ต้องจ่ายสักเซ็นต์


 


ผมพาเจ้าหลานน้อยทั้งสองคนไปห้องสมุดของเมืองทุกวันเสาร์ แล้วให้พวกเขาไปเดินพลิกดูเลยว่าอยากอ่านหนังสือเล่มไหน โดยกำหนดให้ยืมคนละประมาณห้าเล่มต่อสัปดาห์ หากเป็นช่วงโรงเรียนเปิดก็ยืมน้อยหน่อย แต่หากเป็นช่วงปิดเทอมก็ยืมมากขึ้น  ตอนแรกก็ให้ยืมหนังสือง่ายๆ เช่นมีเพียงหน้าละคำเท่านั้น หนังสืออย่างนี้มีนะครับ เช่น จำนวนนับ หรือสี  หลังจากนั้นก็ค่อยๆผลักดันให้เลือกหนังสือที่มีคำมากขึ้นเป็นหนึ่งบรรทัด  สองบรรทัด  และหลายๆบรรทัดตามลำดับ  เมื่อได้หนังสือมาแล้วก็กำหนดเวลาให้พวกเขาอ่านหนังสือ หรือหากพูดให้ถูกต้องก็คือ ตัดเวลาดูโทรทัศน์และเล่นให้น้อยลง เท่าที่ดู พวกเขาก็ยอมรับและทำอย่างนี้ได้ตลอดครับ


 


ผมลองคำนวณคร่าวๆ ในช่วงเวลาหนึ่งปี หลานแต่ละคนได้อ่านหนังสือเด็กในห้องสมุดสาธารณะของเมืองนี้แล้วประมาณ 200 เล่ม  นี่ไม่รวมหนังสือที่พวกเขาต้องยืมจากห้องสมุดโรงเรียนในแต่ละสัปดาห์นะครับ  หากคิดว่าพวกเขาสามารถจำภาษาอังกฤษในหนังสือที่อ่านได้สัก 5 หรือ 10% ผมว่าก็เป็นเนื้อเป็นหนังพอสมควรนะครับจากการทำกิจกรรมนี้  คุณผู้อ่านที่ไม่ได้อยู่ใกล้ห้องสมุด หรืออยู่ใกล้ แต่ห้องสมุดไม่มีหนังสือสำหรับเด็ก หรืออาจจะมี แต่ไม่ให้คนนอกเข้าใช้ ก็คงจะใช้วิธีนี้ไม่ได้  และหากเป็นกรณีหลัง ก็ต้องให้ลูกหลานร้องขึ้นมาดังๆว่า "อนิจจาน่าเสียดาย  ..." ดังที่อังคาร กัลยาณพงศ์ ว่าไว้ละครับ


 


ผมขอเลี้ยวซ้ายออกนอกประเด็นหน่อยนะครับ  จะเห็นความสำคัญของการอ่านได้จากคำขวัญหนึ่งที่ติดอยู่ข้างห้องเรียนเกรดสามในรัฐมิสซิสซิปปี เขาบอกว่า "การอ่านทำให้ประเทศยิ่งใหญ่"  ต้องคิดนะครับประเด็นนี้  จะเห็นได้ว่าปรัชญาการเรียนการสอนในระดับประถมของเขาชัดเจนว่า มุ่งที่จะให้เด็กเรียนรู้การอ่านเพื่อว่าเมื่อโตขึ้นจะได้อ่านเพื่อเรียนรู้ได้เอง จึงไม่น่าแปลกใจที่ผู้ใหญ่อเมริกันจำนวนมากยังอ่านหนังสือกันเป็นประจำ ดังจะเห็นได้จากร้านหนังสือที่มีหนังสือประเภทต่างๆมากมายไว้ให้เลือกตามรสนิยม เพราะพวกเขาถูกสอนมาอย่างนี้นี่เอง


 


แต่หากเรียนจบแล้วก็เลิกอ่านหนังสือเหมือนอย่างในบ้านเรา อย่างนี้ไม่ได้เรื่องแน่ครับ  Mark Twain ได้พูดไว้ว่า "คนที่ไม่อ่านไม่ได้เหนือกว่าคนที่อ่านไม่ออก" คงหมายถึงว่าถ้าไม่อ่านหนังสือบ้างก็จะมีสภาพ "หัวปึก" พอๆ กับคนที่อ่านหนังสือไม่ออกกระมัง เพราะ "หนังสือเป็นส่วนขยายของสมอง ทำให้ความจำโดยรวมของเรามีสมรรถภาพสูงกว่าที่คนหนึ่งคนใดจะพึงมี" Carl Zimmer ว่าไว้อย่างนี้  แม้ว่าหนังสือมีประโยชน์มาก ก็ไม่ใช่ว่าทุกเล่มมีคุณค่าเท่ากันนะครับ  Francis Bacon บอกว่า "หนังสือบางเล่มเหมาะสำหรับชิมนิดๆหน่อยๆ  เล่มอื่นๆ สำหรับรีบกลืนให้หมดๆ ไป  และมีเพียงไม่กี่เล่มเหมาะที่จะค่อยๆ เคี้ยวและย่อย"  คุณผู้อ่านคงจะสงสัยว่าผมไปหาหยิบยกคำพูดเหล่านี้มาจากไหน  จากการอ่านกับอ่านและอ่านครับ


 


กลับมาเข้าประเด็นต่อดีกว่า  เนื่องจากเด็กยังชอบเล่นมากกว่าเรียน ผมจึงกำหนดให้เจ้าหลานชายทั้งสองต้องอ่านหนังสืออย่างสม่ำเสมอ โดยทำเหมือนว่าเป็นกิจวัตรประจำวันเช่นเดียวกับการเล่นและดูโทรทัศน์  เท่าที่ดูพวกเขาก็ยอมรับโดยปริยายไม่ได้ต่อต้านอะไร  ในช่วงแรกๆ ผมจะให้เขาอ่านเองก่อนครับ หากเจอคำที่ไม่รู้จักก็ให้เปิดดูจากดิกฯ แล้วเขียนไว้ในกระดาษตามลำดับ  พอตอนเย็นหรือค่ำวันไหนที่ผมอารมณ์ดีๆ ก็จะเรียกให้มาอ่านหนังสือให้ฟังทีละคน  ผมก็คอยดูตามที่เขาอ่านไปด้วยทุกคำ คำที่เขาออกเสียงอ่านไม่ได้ก็จะบอกให้  หรือหากเขาหยุดผิดที่  เช่น หยุดในประโยค หรือไม่หยุดเมื่อหมดประโยค ผมก็จะเตือนเขา  พอหมดแต่ละหน้าก็ให้แปล โดยดูรายการศัพท์ที่เขาหาไว้ก่อนหน้านี้ประกอบ  ผมจะช่วยก็ต่อเมื่อเขาแปลไม่ได้ใจความ เช่นกลับหน้ากลับหลัง


 


ในช่วงหลังๆ เมื่อเขาเริ่มอ่านหนังสือได้บ้างแล้วพร้อมกับได้สำเนียงฝรั่งนิดหน่อย และเริ่มยืมหนังสือที่มีเนื้อเรื่องยาวขึ้น ผมไม่มีเวลามากพอก็จะให้เขาอ่านอย่างเดียวโดยไม่ต้องแปล  แต่เมื่ออ่านจบแล้วผมก็จะถามเพื่อดูว่าเขาพอจับใจความได้ไหม เช่น หนังสือเล่มนี้เกี่ยวกับอะไร? ลองเล่าเรื่องย่อๆ  ใครเป็นตัวเอก?  คนเขียนมีวัตถุประสงค์อะไร? หรือเรื่องนี้สอนให้รู้ว่าอะไร?  ชอบหรือไม่ชอบเรื่องนี้? เพราะอะไร?  หากเขาเป็นคนเขียนเรื่องนี้ เขาอยากจะแก้ไขเนื้อเรื่องตรงไหน? เพราะอะไร?  ผมไม่ได้คิดคำถามเหล่านี้เองหรอกครับ นักวิชาการศึกษาของสหรัฐฯ แนะนำเอาไว้ให้ผู้ปกครองเอาไปทำดู เพื่อช่วยลูกหลานให้อ่านหนังสือได้ดีขึ้นที่เขาเรียกว่าการอ่านอย่างมีจุดมุ่งหมาย  ไม่ใช่สักแต่ว่าอ่านให้หมดเล่ม พอถามว่าอ่านไปทำไม อ่านแล้วได้อะไร ก็ตอบไม่ถูก 


 


การทำอย่างนี้ยังเป็นการฝึกเด็กให้เจอปัญหาตั้งแต่ยังเล็ก จะได้รู้จักแก้ไขเมื่อโตขึ้น สอดคล้องกับที่ Roger Lewin ได้พูดไว้ว่า "แทนที่จะให้ปัญหากับลูกหลานเราไว้ฝึกแก้ไข เรากลับบอกคำตอบให้พวกเขาจำเอาไว้ใช้มากเกินไป"  เอ๊ะ คนละเรื่องเดียวกันหรือเปล่า?


 


เมื่ออ่านเสร็จแต่ละเล่มก็ต้องมีการให้คะแนนใช่ไหมครับ  เดี๋ยวเด็กจะไม่รู้สึกว่างานนี้มีความสำคัญ  ผมให้เขาเตรียมตารางประเมินผลการอ่านหนังสือ  มีช่องวันที่  ชื่อหนังสือ  ผลการประเมิน  ลายเซ็นผู้ประเมิน  ถามว่าเขียนเป็นภาษาอะไรหรือครับ? ก็ต้องเป็นภาษาอังกฤษสิครับ เรากำลังสร้างสภาพแวดล้อมให้อบอวลไปด้วยภาษาอังกฤษให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ครับ  ผมว่าอย่างน้อยก็คงช่วยให้เขาคุ้นเคยการเขียนภาษาอังกฤษขึ้นอีกนิดหนึ่ง


 


ในการให้คะแนนผมให้เป็นสัญลักษณ์หน้าคนตามที่อาจารย์ของเขาเคยให้ครับ  ลองเอียงหน้าลงมาทางซ้ายมือแล้วดูนะครับ  สัญลักษณ์  =(  หมายความว่าแย่   ส่วน =I  หมายความว่าธรรมดา  ในขณะที่ =)  หมายความว่าดี  หากมุมปากฉีกไปถึงด้านบนของลูกตาก็แสดงว่าดีมาก  เวลาเขียนก็เขียนตรงปกติแหละครับ   เจ้าหลานทั้งสองคนได้ลุ้นทุกครั้งแหละครับว่างวดนี้จะออกเลขอะไร  เพราะเมื่อคะแนนสะสมได้ระยะหนึ่ง ประมาณหนึ่งถึงสองเดือน ก็หมายถึงโอกาสได้เลือกของเล่นก่อน  คุณผู้อ่านอย่าไปคิดถึงของเล่นจากร้านดังๆนะครับ เป็นแค่ของเล่นจากร้านขายของเก่าใช้แล้วครับ แต่เพียงเท่านี้พวกเขาก็พอใจสุดๆแล้ว


 


ผมว่าการสอนหรือเรียนภาษาอังกฤษด้วยการอ่านหนังสือนี้เป็นวิธีที่ดีมากวิธีหนึ่ง อย่างที่นักการศึกษาของสหรัฐฯ แนะนำให้ทุกคนในครอบครัวทำกิจกรรมนี้ร่วมกันทุกวันหรือบ่อยที่สุด เพื่อช่วยให้เด็กมีพัฒนาการในด้านนี้เร็วขึ้น  นอกจากเจ้าหลานน้อยทั้งสองจะได้ความรู้ต่างๆ ที่เกี่ยวกับภาษา โดยเฉพาะทักษะการอ่านแล้ว  พวกเขายังมีประสบการณ์ในการหาและเลือกหนังสือในห้องสมุด  ได้เห็นภาพวาดที่สวยงามชวนให้เกิดจินตนาการ  ได้ความรู้ในด้านอื่นๆ เช่น ธรรมชาติวิทยา หรือดาราศาสตร์ เป็นต้น 


 


นอกจากนี้ยังได้คติสอนใจเป็นของแถมในบางเรื่อง  แต่วิธีนี้ทำได้ไม่ง่ายนัก ผู้ปกครองต้องให้เวลาลูกหลานมากเป็นพิเศษ นอกเสียจากว่าคุณผู้อ่านต้องการเรียนภาษาอังกฤษไปด้วยก็จะไม่รู้สึกว่าเสียเวลามาก แถมยังได้พัฒนาภาษาอังกฤษเอาไปใช้ในชีวิตประจำวันได้อีกด้วย


 


มีปัญหาที่ผมเจอด้วยตัวเองก็คือ คำบางคำเราออกเสียงไม่ถูกต้อง  จะดูคำอ่านจากดิกฯไทยก็ไม่แน่ใจ  หากดูจากดิกฯอังกฤษก็อ่านตัวสัญลักษณ์ไม่ค่อยออก  ผมก็ออกเสียงตามตัวหนังสือที่สะกดและจำไว้ในหัวมาอย่างนั้น  แต่พอมาได้ยินฝรั่งพูดหรือจากในโทรทัศน์ถึงได้รู้ตัวว่าออกเสียงผิด อย่างน้อยก็ผิดจากคนอเมริกัน เพราะมีคำอังกฤษหลายคำที่ประเทศต่างกันออกเสียงต่างกัน นี่ว่ากันเฉพาะประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาทางการนะครับ  ปัญหานี้ก็คงเข้าลักษณะลุงปูสอนหลานปูนั่นแหละครับ  อย่างไรก็ตาม ผมก็ยังสนับสนุนให้ผู้ปกครองส่งเสริมให้ลูกหลานอ่านหนังสือภาษาอังกฤษเท่าที่จะทำได้  ที่จะทำไม่ได้ก็คือหาหนังสือไม่ได้ หรือหาได้ แต่หนังสือมีราคาแพงเกินฐานะ


 


ถึงตรงนี้ผมขอหยุดข้างทางอีกครั้งนะครับ  ที่เมืองไทยก็พอจะมีหนังสือแบบนี้ขายเหมือนกัน  แต่จะมีสักกี่คนที่พอจะควักกระเป๋าซื้อให้ลูกหลานอ่านได้ และจะเหลือสักกี่คนที่สามารถซื้อได้บ่อยๆ  ขนาดหนังสือภาษาไทยยังไม่ซื้อให้อ่านเลย นับประสาอะไรกับหนังสือภาษาอื่น  คุณผู้อ่านที่อยู่ใกล้ห้องสมุดดีๆ ที่มีหนังสือเหล่านี้ก็ถือว่าโชคดีถูกลอตเตอรี่เลขท้าย แต่จะได้ไปรับเงินรางวัลหรือเปล่ายังไม่รู้ เพราะจะมีสักกี่คนที่มีเวลาพาลูกหลานไปห้องสมุดเป็นประจำ  นอกจากนี้ สิ่งที่ทำให้ปวดหัวใจก็คือ ห้องสมุดบางแห่งจะเก็บเงินจากคนนอกที่เข้าไปใช้บริการนะครับ


 


คุณผู้อ่านที่กำลังฝันจะหาหนังสือประเภทนี้มาให้ลูกหลานอ่านอย่าเพิ่งฝันสลายนะครับ  ผมเคยเห็นตัวอย่างหนึ่งที่น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับคนที่คิดอยากทำเพื่อส่วนรวม คือมีภรรยาสามีชาวอเมริกันคู่หนึ่งเคยขอหนังสือประเภทต่างๆ ที่เป็นภาษาอังกฤษมาให้สถาบันการศึกษาหลายแห่งในภาคอีสาน  ถ้าผมจำไม่ผิด เขาขอมาจาก International Book Project (ผมลองหาดู อยู่ที่ www.intlbookproject.org) แต่ผมคิดว่าน่าจะมีองค์กรอื่นแจกจ่ายหนังสือเช่นกัน  ท่านที่สนใจอาจลองหารายละเอียดเพื่อดูช่องทาง เผื่อจะได้หนังสือประเภทนี้มาใช้ประโยชน์ในชุมชนของตนบ้าง