Skip to main content

"เบดานา กาตุน"

คอลัมน์/ชุมชน


1


"ฉันอยากจะกลับไปบอกคนในประเทศฉันว่า อย่ามาทำงานในต่างประเทศกันอีกเลย" เบดานา กาตุน หญิงหม้ายวัย 45 ปี จากบังคลาเทศบอก หลังจากที่ได้ไปพูดคุยและเห็นสภาพชีวิตของแรงงานข้ามชาติในประเทศมาเลเซีย


 


เบดานา อาศัยอยู่ในชุมชนศรีราชกง ในบังคลาเทศ ห่างจากกรุงธากาไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 80 ไมล์ ครอบครัวก็เคยมีความสุขดีกับการทำอาชีพค้าขายผ้าทอมือซึ่งเป็นสินค้าเลื่องชื่อของบังคลาเทศ โดยสามีนั้นนำผ้าเหล่านี้เดินทางไปขายที่ดูไบ ครอบครัวก็มีรายได้ดีพอสมควร


 


ต่อมาการเดินทางไปค้าขายที่นั่นกลับมีปัญหา ทำให้สามีของเธอต้องเดินทางไปค้าขายที่ประเทศอื่น แต่แล้วในระหว่างทางที่เดินทางกลับบ้านพร้อมกับเงินที่ขายสินค้าได้ทั้งหมดกลับถูกปล้นหมดตัว สามีกลับมาบอกเธอว่าเราไม่เหลืออะไรแล้ว จะทำอย่างไรกันดี


 


เธอได้รวบรวมทรัพย์สินที่มีอยู่ในบ้านไปจำนำได้เงินมา 15,000 ทากา หรือประมาณ 9,000 บาท ให้แก่สามีใช้การเดินเรื่องและเดินทางไปทำงานในมาเลเซีย  สามีของเธอจึงได้ไปเป็นคนงานก่อสร้างที่นั่น


 


นี่คือเหตุการณ์ที่ไปย้อนหลังไปเมื่อ 14 ปี ที่แล้ว หรือปี 2534  แต่เธอไม่เคยคิดเลยว่า อีก 1 ปีให้หลัง (2535) เหตุการณ์ที่เธอไม่เคยคาดฝันต้องมาเกิดขึ้นกับครอบครัวเธอ


 


มีคนส่งข่าวมาว่า มีคนบังคลาเทศที่มีชื่อคล้ายๆ กับสามีเธอถูกจับตัวไปไว้ในศูนย์กักกันแรงงานต่างชาติและได้เสียชีวิตลง เธอสังหรณ์ใจอย่างบอกไม่ถูกว่าอาจจะใช่สามีของเธอ และแม้ว่าจะภาวนาว่าอย่าให้เป็นเขาเลย แต่แล้วเธอก็ต้องเป็นลมล้มพับลงไปเมื่อหลานชายที่ทำงานอยู่ที่มาเลเซียโทรศัพท์มาบอกว่าเป็นสามีของเธอ


 


"ฉันรู้สึกมึนงงไปหมดแล้วฉันก็หมดสติไป พอฟื้นขึ้นมาก็พบว่ามีหลอดน้ำเกลือฉีดฉันอยู่ แล้วก็มีคนเต็มบ้านไปหมด" เธอย้อนอดีตให้ฟัง


 


ต่อมาหลานชายก็ได้โทรศัพท์มาขออนุญาตฝังศพสามีของเธอเสียที่มาเลเซียโดยบอกกับเธอว่า ไม่มีเงินพอสำหรับค่าใช้จ่ายที่จะส่งกลับ การดำเนินการก็ยากมาก ไม่มีใครช่วยเหลือ และที่สำคัญกว่านั้นแม้นายจ้างก็ปฏิเสธว่าเขาเป็นคนงานของตน และปฏิเสธความช่วยเหลือทั้งปวง


 


แม้ว่าใจของเธอนั้นอยากจะให้นำศพของสามีกลับไปที่บ้านมากแค่ไหนก็ตาม ทว่า เธอก็ทำได้แค่เพียงบอกว่า "ฉันไม่รู้ว่าการดำเนินการจะต้องเป็นอย่างไรบ้าง ให้เธอ (หลาน) จัดการไปเท่าที่จะทำได้ก็แล้วกัน"


 


แต่ขณะเดียวกัน เธอก็นำเรื่องนี้ไปปรึกษาที่คณะกรรมการชุมชน ในที่สุดก็มีการช่วยเหลือเธอโดยบริจาคเงินกันเพื่อให้ได้นำศพกลับมายังประเทศ และอีก 11 วันต่อมาศพของสามีของเธอก็ถูกนำกลับมาฝังที่บ้าน


 


สิ่งที่เธอได้รับฟังจากปากคำของหลานชายก็คือ สามีเธอซึ่งทำงานอยู่ที่ไซต์งานก่อสร้างนอกเมือง มีทั้ง ใบอนุญาตทำงานและมีหนังสือเดินทางเข้าเมืองอย่างถูกต้องตามกฎหมาย อยู่มาวันหนึ่งได้เข้าไปในเมืองและตำรวจก็เข้ามาขอดูหนังสือเดินทางแล้วยึดหนังสือเดินทางไปพร้อมกับจับตัวเขาไปในค่ายกักกันผู้ที่หลบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย เขาถูกตำรวจซ้อมอย่างทรมาน เจ็บหนักจนกระทั่งต้องนำไปส่งโรงพยาบาล และกลับมาก็โดนทรมานอีก เพียง 3 วันเท่านั้นที่เขาใช้ชีวิตอยู่ในค่ายกักกัน จากนั้นเขาก็ได้เสียชีวิตลง  


 


เขาได้มีโอกาสส่งเงินกลับบ้านไปเพียง 2 ครั้งเป็นเงิน 35,000 ทากา หรือประมาณ 20,000 บาท  ดูเหมือนว่าช่างไม่คุ้มกันเลยกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับเขาและครอบครัว


 


เบดานา ย้อนถึงอดีตด้วยความเศร้าใจว่า ถ้ารู้ว่าเหตุการณ์จะเป็นอย่างนี้ ฉันจะไม่ยอมให้สามีฉันต้องจากบ้านมาแน่ แม้ว่าเราจะต้องอดอยากยากจน


 


"เรายอมอยู่อย่างยากจนและตายอยู่ที่บ้านเรา ยังดีกว่าจะต้องมาถูกทรมานและต้องตายอยู่ต่างแดน" เธอพูดทั้งน้ำตา


 


2


เมื่อกลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เธอกับกลุ่มผู้หญิงอีกประมาณ 10 กว่าคนที่ทำงานภายใต้โครงการ Spouse Program ซึ่งสนับสนุนโดยองค์กร CARAM Asia องค์กรที่ทำงานด้านแรงงานข้ามชาติในเอเชียที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ประเทศมาเลเซีย ได้มีโอกาสจะเข้ามาดูงานและเยี่ยมชมบริเวณแรงงานข้ามชาติอาศัยอยู่และได้พบปะกับกลุ่มแรงงานที่มาจากประเทศตัวเอง


 


พื้นที่ที่ไปเยี่ยมนั้นมีแรงงานจากประเทศอินเดีย เนปาล บังคลาเทศ พม่า และเวียดนาม  มีจำนวนกว่า 5-6 หมื่นคนที่ทำงานอยู่ในโรงงานอุตสาหกรรมในมาเลเซีย แน่นอนว่า คนงานเหล่านี้มีความฝันเช่นเดียวกับคนทั่วๆ ไปที่ฝันอยากจะมีชีวิตที่ดีขึ้น  เช่นเดียวกับที่เบดานาและสามีเคยคิด และเมื่อมาเห็นสภาพแล้ว เบดานาก็ได้แต่บอกว่าเข้าใจแล้วว่าชีวิตที่นี่เป็นอย่างไร


 


"ฉันเคยคิดว่า มาเลเซียเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว  แต่มาวันนี้ ฉันได้มาเห็นสภาพที่แท้จริงแล้วว่า ก็ใช่ มีการพัฒนาแล้วจริงๆในเรื่องตึกรามบ้านช่อง ถนนหนทางที่สวยงาม แต่สำหรับคนงานต่างชาติแล้ว พวกเขากลับไม่ได้ปฏิบัติกับคนเหล่านั้นเยี่ยงมนุษย์ที่เท่าเทียมกันเลย"  เธอกล่าวผ่านล่าม


 


เธอบอกว่า เธอเห็นภาพเหมือนที่สามีเคยเขียนจดหมายไปเล่าให้ฟังทุกอย่างว่า เขาไม่มีเวลาที่จะเขียนจดหมายมากนัก เพราะแม้กระทั่งเวลาจะกินอาหารก็ไม่มี เขาได้แต่กินข้าวกับไข่ต้ม และความเป็นอยู่ก็ลำบาก  เงินนั้นก็ไม่ได้เท่าที่คิดว่าควรจะได้


 


ทั้งนี้ ทางคนงานที่ได้ไปเยี่ยมเยียนมานั้นเล่าให้ฟังว่า บางคนต้องเช่าอพาร์ตเมนต์เองรวมๆกับเพื่อนๆ หรือบางคนทางโรงงานจะจัดให้โดยให้อยู่กันห้องละ 7 คน โดยในสัญญาที่จะมาทำงานนั้นระบุชัดเจนว่าจะจัดที่พักให้ และจ้างในอัตราเงินเดือน 1,000 ริงกิต หรือ 750 ริงกิตบ้างก็แล้วแต่งาน ทว่า ไม่มีใครได้รับเท่าที่ระบุไว้ในสัญญาก่อนมาทำงานเลย คนที่ถูกบอกว่าจะได้ 1 พันนั้นก็ได้เพียง 750 ริงกิต หรือคนที่บอกว่าจะได้ 750 ริงกิตนั้นก็ได้แค่ 450 ริงกิต (4,500 บาท) เท่านั้นเอง


 


ในสัญญานั้น มีการระบุว่าจะทำงานวันละ 8 ชั่วโมง และถ้าเกินกว่านั้นก็จะมีค่าล่วงเวลา แต่ในความเป็นจริงคือเขาต้องทำงานกันเป็นกะ และทำทุกวันไม่มีวันหยุด คนที่เริ่มงาน 7 โมงเช้า จะเลิกงาน 1 ทุ่ม และคนที่เข้างาน 1 ทุ่มจะออก 7 โมง โดยจะมีเวลาว่างคือการที่ไม่ได้เข้ากะกลางวันเท่านั้นเอง และในบางที่ก็มีค่าล่วงเวลาให้หากทำงานเกินกว่านี้โดยระบุว่าจะให้ชั่วโมงละ 17 ริงกิต แต่ว่าในนั้นกลับถูกหักออกไปอีก 2 ริงกิต โดยบอกว่าเป็นค่าต่อวีซ่า


 


แรงงานอินเดียคนหนึ่งบอกว่า เดิมตอนอยู่อินเดียหาเงินได้เดือนละ 6,000 รูปี (ประมาณ 5,400 บาท) แต่มาทำงานที่นี่เพราะคิดว่าจะได้ 750 ริงกิต (7,500 บาท) + ค่าล่วงเวลา แต่ทุกอย่างก็ไม่ได้เป็นไปตามนั้น เขาบอกผ่านล่ามชาวอินเดียว่า "ถ้าได้รับพาสปอร์ตคืนจากนายจ้างเมื่อไรก็จะกลับอินเดียทันทีและจะไม่มาที่นี่ (มาเลเซีย) อีกแล้ว"


 


ทว่า เขาอาจจะทำได้ ในขณะที่หลายๆ คน อย่างชายหนุ่มจากเนปาลวัย 32 บอกว่าเมียและลูก อีก 3 คนและแม่ของเขากำลังรอเขาอยู่ที่โน่น ซึ่งสัญญา 3 ปีของเขากำลังจะหมดลง และเขาคงจะเดินทางกลับไปภายใน 2 เดือนนี้ แต่ที่โน่นคือหมู่บ้านของเขา เขาเองก็ไม่รู้ว่าจะทำอะไรเลย


 


3


เบดานาและกลุ่มผู้หญิงที่มาด้วยกันบอกว่า ภาพที่เห็นที่นี่กับภาพที่เคยคิดไว้นั้นช่างต่างกันอย่างสิ้นเชิง


"เราเคยคิดว่า การไปทำงานต่างประเทศนั้นคงจะดูดีและคงจะสบาย เราไม่คิดเลยว่าสภาพของพวกเขาต้องเป็นอย่างนี้" หญิงอินเดียคนหนึ่งกล่าว


 


หลายคนก็คิดเช่นเดียวกับเบดานาที่ว่า เราไม่ควรจะมาทำงานที่ต่างประเทศกันอีกหากต้องอยู่ในสภาพแบบนี้  แต่ชีวิตใช่ว่าจะเลือกได้ คนที่ต้องจากบ้านมาก็เพราะไม่มีงานทำที่บ้านตัวเอง หากไม่มีความจำเป็น เชื่อว่าคงไม่อยากจะมีใครละถิ่นฐานตัวเองหรอก


 


ในการเดินทางไปที่มาเลเซียของกลุ่มผู้หญิงจาก Spouse Program นั้น สามีของผู้หญิงคนหนึ่งรู้ว่าภรรยาจะมาก็ดีใจมาก โทรศัพท์พูดคุยและเตรียมตัวอย่างดีที่จะได้มาพบกับภรรยาที่จากกันมาถึง 2 ปี แต่ทว่า เมื่อถึงวันนั้นหัวใจเขาก็ห่อเหี่ยวลงทันใด เพราะนายจ้างไม่อนุญาตให้ออกมาพบกันได้ เนื่องจากวันนั้นไม่ใช่วันหยุดของเขา


 


ส่วนอีกคนหนึ่งนั้นดูเหมือนฝันใกล้จะเป็นจริง เพราะในตอนที่เดินทางเข้าไปในพื้นที่ที่เป็นเขตแรงงานต่างชาตินั้น อยู่ใกล้กับที่ที่สามีของเธอพักอยู่มาก และสามีก็กำลังจะมาหาและจะมาถึงในอีก 5 นาที ทว่า รถที่นำคณะไปเยี่ยมในพื้นที่นั้นได้ออกไปเสียก่อนที่สามีเธอทันจะมาถึง  เนื่องจากเธอไม่กล้าที่จะบออกให้ผู้นำทีมรอเธออีกสัก 5 นาที


 


เธอมีแววตาที่เศร้าหมองมากในขณะที่นั่งรถกลับ แม้ปากจะบอกว่า "ไม่เป็นไร" แต่เธอก็นั่งเงียบไปตลอดทาง ไม่ได้ออกมาร้องเพลงกับกลุ่มเพื่อนเหมือนกับขามา


 


ในการเดินทางครั้งนี้ อโรคยา ปีเตอร์ วัย 28 ปี จากอินเดียดูเหมือนจะโชคดีที่สุด เมื่อสามีตามหาตัวเธอจนเจอ พร้อมกับซื้อเครื่องดื่ม นำเงินและของบางอย่างให้ ทั้งคู่ได้พบกับเป็นเวลาประมาณชั่วโมงกว่าๆ พร้อมกับกลุ่มคนงานอินเดียอื่นๆ อีกนับร้อยคน โดยไม่ได้มีแม้แต่นาทีเดียวที่เป็นเวลาส่วนตัวหลังจากที่ทั้งคู่จากกันมาเป็นเวลานานถึง 1 ปี กับ 2 เดือนแล้วก็ตาม


 


อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าใครจะได้เจอกับสามีของตัวเองที่มาทำงานอยู่หรือไม่  แต่อย่างน้อยทุกคนก็รู้ว่าสามีของพวกเธอยังอยู่และสบายดี ขณะที่เบดานาไม่มีโอกาสเช่นนั้นแล้ว แต่การไปมาเลเซียในครั้งนี้ เธอมีความตั้งใจมั่นว่า สักครั้งหนึ่งในชีวิตที่จะขอติดตามไปดูว่าสามีอยู่อย่างไร และที่ไหนกันหนอที่เป็นที่อยู่ครั้งสุดท้ายของสามีก่อนที่จากไปอย่างไม่มีวันกลับ


 


4


เบดานา กาตุน คงไม่ใช่หญิงคนเดียวในโลกที่ต้องพบสภาพเป็นหญิงหม้ายหลังจากสามีไปทำงานต่างประเทศ แรงงานในมาเลเซียก็คงจะไม่ใช่คนงานในประเทศเดียวที่ถูกละเมิด แรงงานไทยไปต่างแดน แรงงานต่างชาติที่มาในเมืองไทย  แรงานจากที่ไหนๆ ก็ตาม เมื่อไม่ได้อยู่ในประเทศตัวเองล้วนแต่ถูกกดขี่และเอาเปรียบ


 


ทั้งๆ ที่การเคลื่อนย้ายแรงงานเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นปกติทั่วโลก และการเดินทางเข้าไปยังอีกประเทศหนึ่งของคนอีกประเทศหนึ่งในฐานะแรงงานนั้น ไม่ได้ไปเพื่อการแย่งทรัพยากร  แต่กลับไปเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่คนในชาตินั้นๆ จะได้ไม่ต้องทำงานที่ตัวเองคิดว่าหนักหนา ไปเพื่อให้ภาคการผลิตมีความลื่นไหล เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจของชาตินั้นๆ  


 


ทว่า เคยมีสักครั้งไหม หรือเคยมีสักประเทศหนึ่งไหมในโลก  ที่ทั้งนโยบายของประเทศ นายจ้าง และประชาชนของชาตินั้นจะรู้สึก "ยอมรับ" และ "ขอบคุณ" ที่มีแรงงานพวกนี้อยู่ และปฏิบัติต่อเขาด้วยความรู้สึกซาบซึ้งใจ


 


จะมีสักครั้งไหมที่แรงงานระดับล่าง และแรงงานไร้ฝีมือจากต่างประเทศจะได้รับการรับรองใน "ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์"ที่เท่าเทียมกับคนในชาตินั้นๆ