Skip to main content

อันดามัน ขุนเขา เงาอดีต

คอลัมน์/ชุมชน

 


 



 


 


คุณเคยไหม…ที่จู่ๆ ก็มีอะไรมาจุกที่คอ จนพูดอะไรไม่ออก


คุณเคยไหม…ที่จู่ๆ ก็สัมผัสถึงบรรยากาศแห่งความสลดหดหู่และกลิ่นอายแห่งความตายได้ ทั้งที่ ณ ช่วงเวลานั้นคือเที่ยงวัน และดวงอาทิตย์ก็ยังทอแสงอยู่บนฟากฟ้าตามปรกติ


 


ผมเคยมาแล้ว…


 


1


 


เช้าที่อากาศขมุกขมัวกลางเดือนตุลาคม 2548


 


ผมยืนสงบนิ่งอยู่บนหาดอันเวิ้งว้างของหมู่บ้านชาวประมงเล็กๆ แห่งหนึ่งในจังหวัดระนอง โดยมีฉากตรงหน้าเป็นทะเลเรียบ สายลมพัดเอื่อยๆ กับหาดทรายที่ร้างไร้ผู้คน


 


เปล่าเลย นี่ไม่ใช่ชายหาดซึ่งเคยคึกคักด้วยนักท่องเที่ยว หากแต่เป็นหาดที่ครั้งหนึ่งเคยคึกคักไปด้วยเด็กๆ ในชุมชนเล็กๆ ที่เรียกว่า "บ้านนานอก" ซึ่งอยู่ติดกับบริเวณ "หาดนานอก" ส่วนหนึ่งของอุทยานฯ แหลมสน


 


เกือบหนึ่งปีก่อนหน้านี้ จู่ๆ เปลือกโลก 2 แผ่นใต้ทะเลอันดามันแถวเกาะสุมาตราก็เกิดชนกันจนสั่นไหวขึ้นอย่างรุนแรงถึงระดับ  9  ตามมาตรวัดริกเตอร์ ซึ่งถือว่าเป็นแผ่นดินไหวที่แรงติดอันดับต้นๆ ในประวัติศาสตร์ที่มนุษย์เคยรู้จัก ทั้งยังมีทิศทางการชนกันแล้วแผ่นหนึ่งเคลื่อนมุดอีกแผ่นเข้าไปในแนวดิ่ง


 


แน่นอน อย่างที่พวกเราทุกคนรับรู้กันดี


ผลต่อเนื่องคือ "คลื่นสังหาร" ที่เข้าถล่มชายฝั่งรอบมหาสมุทรอินเดีย อินโดนีเซีย ไทย พม่า บังกลาเทศ อินเดีย ศรีลังกา หมู่เกาะอันดามันนิโคบาร์ หมู่เกาะมัลดีฟส์ ชายฝั่งตะวันออกของทวีปแอฟริกาบางส่วน…ทั้งหมดนี้กลายเป็นพื้นที่ภัยพิบัติภายในไม่เกิน 5 ชม. หลังแผ่นดินไหว


 


เมื่อไม่นานมานี้ ทีมนักธรณีวิทยาจากจุฬาฯ ได้เปิดเผยผลการวิจัยออกมาแล้วว่า สึนามิซึ่งซัดกระหน่ำภาคใต้ฝั่งตะวันตกของไทยเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 นั้น ในบริเวณเวิ้งอ่าวและชายหาดที่มีภูมิประเทศเอื้ออำนวย มันได้ยกตัวขึ้นสูงถึง 15 เมตร หรือสูงระดับตึก 6 ชั้น ก่อนจะถล่มทุกสิ่งทุกอย่างที่ขวางหน้าจนราบ


 


10 เดือนแล้ว…  ความเสียหายทั้งที่บ้านน้ำเค็ม เขาหลัก จังหวัดพังงา รุนแรงดุจโดนแทรกเตอร์ยักษ์ทำลายในคราเดียวเช่นไร ความเสียหายส่วนหนึ่งที่บ้านนานอกที่ผมยืนอยู่ก็มีสภาพไม่ต่างกันมากนัก


 


สนทะเลยืนแห้งตายเป็นแนวยาวตลอดหาด รัศมีราว 3 กิโลเมตรจากชายทะเลเต็มไปด้วยซากอิฐปูนกระจายเป็นหย่อมๆ บางแห่งเนินทรายถูกพัดขึ้นมาจนพูนตัวสูง และ…สุดถนนสายที่พุ่งเข้าสู่ชายทะเล หากไม่บอก คนต่างถิ่นก็ไม่มีทางทราบเลยว่า ณ ตรงนี้ เคยมีถนนสายเลียบหาดผ่านมาบรรจบ ด้วยส่วนหนึ่งถูกคลื่นฉีกจนขาดสะบั้นแล้วกวาดกลับมหาสมุทรตั้งแต่ปีก่อน


 


"นาน อีกนานทีเดียว"  พี่บุญลือ ผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแหลมสนที่นำผมมาที่นี่พร้อมนักเขียนรุ่นพี่อีกคนหนึ่ง กล่าวด้วยน้ำเสียงราบเรียบ ถึงเวลาที่ต้องใช้เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศซึ่งมีทั้งชายหาด ป่าชายฝั่ง และถึงที่สุด "จิตใจ" ของคนบ้านนานอก ที่อยู่ห่างทะเลไม่กี่ร้อยเมตร ด้วยพวกเขาทั้งสูญเสีย เศร้าโศก และลืมอดีตไม่ลง


 


ไม่ว่างานวิจัยของคณาจารย์จากจุฬาฯ ฉบับนั้นจะระบุว่าสึนามิที่ถล่มหาดนานอกสูงขนาดไหน แต่ผลที่ปรากฎชัดเจนคือความแรงและเร็วของคลื่นทิ้งร่องรอยไว้อย่างชัดเจนกับโรงเรียนแห่งหนึ่ง


 


"โรงเรียน" ซึ่งบัดนี้เหลือเพียง "ซาก" ไม่ต่างกับตึกบางแห่งในตะวันออกกลางที่ถูกจรวดโทมาฮอว์ค อเมริกันถล่ม


 


ไม่มีอะไรเหลือมากไปกว่าเศษอิฐและกองปูนที่มาทับซ้อนรวมกันอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมรวมไปถึงเสาธงที่ตั้งตระหง่านอยู่โดดเดี่ยว โดยที่บนยอดมีธงชาติขาดๆ ค้างอยู่


 


ดั่งจะบอกผู้มาเยือนว่า "กาลครั้งหนึ่ง" ที่นี่เคยมีชีวิต


 


"แปลกนะ หลายที่เลยครับเป็นแบบนี้ ธงมักขาดเหลือแต่เสาธงอยู่แบบนั้น" วันนี้รอบโรงเรียนเป็นลานดินโล่ง หญ้าระบัดใบขึ้นเป็นหย่อมๆ และเมื่อผมเดินเข้าไปบนอาณาบริเวณนั้นก็นึกไปถึงคำพูดของพี่บุญลือ


 


"เห็นต้นไม้ เห็นขุนเขานั่นไหม คลื่นขึ้นไปไปถึงที่นั่น ซัดคนไปตายหลายคนตรงนั้น"  เรื่องราวพรั่งพรูออกมาจากสมองของเจ้าหน้าที่ป่าไม้คนนี้เป็นฉากๆ ความโศกเศร้าเหือดแห้งไปจากใจเขาแล้ว ถึงวันนี้เหลือแต่ความสลดใจในชะตากรรมของผู้คน โดยเฉพาะนักเรียนตัวน้อยๆ ราว 10 คน ซึ่งวันเกิดเหตุคุณครูนัดซ้อมเต้นรำ ก่อนจะประสบชะตากรรมเศร้าสลดจากคลื่นสังหารในช่วงสายๆ  


 


ผมเดินเข้าไปที่มุมหนึ่งในบริเวณที่เคยเป็นอาคารของโรงเรียน มองออกไปสู่ทะเล บรรยากาศเบื้องหน้าคล้ายหนังโศกนาฏกรรม…


 


ในวันนั้น "อันดามัน" ดู "สงบ" อย่างไม่น่าเชื่อ


 


2


 


3 พฤศจิกายน 2548 …


 


แรงสะเทือนจากแผ่นดินไหวส่งผลให้แวดวงวิชาการที่เกี่ยวข้องสั่นไหวตามไปด้วย


10 เดือนให้หลัง นักธรณีวิทยาต่างตื่นตัวแล้วหันมาวิจัยรอยเลื่อนของเปลือกโลกที่คาดว่าจะมีพลังมากกว่าแต่ก่อน นักอุตุนิยมวิทยากลับมาทบทวนการทำงานของตนเองหลังการเตือนภัยล้มเหลว


 


เช่นเดียวกัน ในแวดวงนักประวัติศาสตร์ ธรณีพิบัติภัยครั้งนี้ทิ้งโจทย์ใหญ่ไว้ให้พวกเขาหาคำตอบ


 


โจทย์ที่ว่า ทำไมประวัติศาสตร์ทางการของไทยเกือบ 700 ปี ไม่มีบันทึกเกี่ยวกับสึนามิ? ทั้งๆ ที่ความน่าจะเป็นในการบันทึกควรจะมีเมื่อพิจารณาจากปัจจัยหลายอย่าง


 


ไม่ว่าจะเป็นการที่นักธรณีวิทยาอย่าง ผศ.ดร.ปัญญา จารุศิริ แห่งจุฬาฯ คาดการณ์ว่าแผ่นดินไหวที่สามารถก่อให้เกิดสึนามิในทะเลอันดามันอาจจะมีระยะการเกิดประมาณ 150 ปี ต่อหนึ่งครั้ง


 


หรือคาดการณ์จากสามัญสำนึกของผู้คนซึ่งรับรู้และรอดชีวิตจากเหตุการณ์เมื่อปลายปี 47 ที่ต่างก็ประจักษ์ใจแล้วว่า สึนามิคือภัยธรรมชาติที่ก่อความเสียหายระดับมหาวินาศ


 


การมาเยือนของคลื่นยักษ์แต่ละครั้งจึงสมควรยิ่งที่จะถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ของคนทุกชาติที่ตั้งถิ่นฐานรอบมหาสมุทรอินเดีย เพื่อบอกกล่าวและส่งผ่านประสบการณ์สู่คนรุ่นหลังไม่ว่ากรณีใดๆ


 


แล้วเหตุใดเล่า ที่คนโบราณจึงไม่บันทึกเรื่องราวเหล่านี้เอาไว้ให้ลูกหลานทราบ


 


การเปิดปูมประวัติศาสตร์แผ่นดินและผืนน้ำส่วนที่ได้รับผลกระทบจากคลื่นสังหารปีกลาย มีขึ้นในการประชุมประจำปีที่สมาคมจดหมายเหตุไทยจัดขึ้นเมื่อวันที่ 3-5 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ณ หาดในยาง จังหวัดภูเก็ต


 


ช่วงหนึ่งของการประชุม นักวิชาการผู้คร่ำหวอดประวัติศาสตร์อุษาคเนย์อย่าง ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ได้ยกตัวอย่างปรากฎการณ์ธรรมชาติในอดีตที่รุนแรงระดับเดียวกับสึนามิครั้งล่าสุดซึ่งเกิดขึ้นในแถบนี้เมื่อไม่กี่ร้อยปีก่อน


 


"ผมนึกถึงการระเบิดของภูเขาไฟ ‘กรากะตัว’ เมื่อ พ..2426 ซึ่งถือว่าไม่นาน แค่ร้อยกว่าปีที่ผ่านมานี้เอง ภูเขาไฟลูกนี้ตั้งอยู่บริเวณช่องแคบซุนดา ระหว่างเกาะสุมาตราและเชวา ว่ากันว่าการระเบิดครั้งนั้นรุนแรงเสียจนทำให้ภูเขากรากะตัวจมลง เกิดภูเขาไฟเล็กๆ เรียกว่า  ‘อนัก กรากะตัว’ ขึ้น"


 


การระเบิดของกรากะตัวที่อาจารย์ชาญวิทย์กล่าวนั้น ประวัติศาสตร์บันทึกว่าทำให้เกิดสึนามิคร่าชีวิตผู้คนไปถึง 36,380 ราย ทำลายหมู่บ้าน 163 หมู่บ้าน หินลาวาจากปล่องภูเขาไฟกระเด็นไกลถึง 34 ไมล์ (ข้อมูลจากกองธรณีวิทยา กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม)


 


"ทั้งๆ ที่การระเบิดในครานั้นทำให้ท้องฟ้าทั่วอุษาคเนย์มืดมัวไปหมด แต่ก็ไม่มีหลักฐานบันทึกเรื่องนี้ปรากฏในบ้านเราเลย ซึ่งต้องกล่าวไว้ในที่นี้ว่า ผมยังไม่ได้สอบถามทางหอจดหมายเหตุแห่งชาติ เพียงแต่มีความสงสัย หรืออาจมีแต่เรายังค้นไม่เจอก็เป็นได้"


 


ดังนั้นประเด็นเรื่อง ‘กรากะตัว’ จึงเป็นกรณีศึกษาที่อาจนำมาตอบคำถามเรื่องสึนามิที่ไม่เคยถูกบันทึกในประวัติศาสตร์ได้ ประเด็นนี้ถูกที่ประชุมผ่านไปอย่างรวดเร็วสู่การทำความรู้จักอันดามันและคาบสมุทรมลายูผ่านแผนที่โบราณ จารึก และบุด สมุดข่อย)  แต่ความน่าสนใจยังคงอยู่ นักวิชาการต้องหาคำตอบจากการค้นคว้าต่อไป


 


ในค่ำวันที่สองของการประชุม อาจารย์สมฤทธิ์ ลือชัย ได้วิเคราะห์เรื่องนี้ให้ผมฟังว่า "ที่สึนามิในอดีตไม่ปรากฏในพงศาวดารเพราะไม่มีการบันทึก ใช่ ! สึนามิอาจเกิดขึ้นจริงในอดีตไม่กี่ ร้อยปีก่อนหน้าเรา แต่มันทำลายหมู่บ้านไม่กี่แห่ง ผู้รับผลกระทบก็เป็นเพียงชาวบ้านธรรมดา ซึ่งขณะนั้นอาจไม่มีวัฒนธรรมจดบันทึกเลยก็ได้ ทั้งศูนย์กลางอำนาจที่มีวัฒนธรรมนี้ก็คงไม่มีสาเหตุหรือเหตุผลที่จะต้องเขียนเรื่องของท้องถิ่นเหล่านี้ลงไป ผมสรุปได้ว่า วัฒนธรรมการบันทึกคือกุญแจไขข้อสงสัยนี้"


 


ผมนึกไปถึงคำพูดของพี่บุญลือ ที่ตั้งข้อสังเกตจากประสบการณ์ว่า


"รู้สึกว่าหาดตรงไหนเป็นที่ราบน่าจะเคยเกิดสึนามิ ไม่งั้นป่าชายหาดแถบนั้นคงจะต้องเป็นป่าชายหาดที่รก ไม่ใช่โปร่งแบบที่เห็น คนจากกรมทรัพยากรธรณีเขาเคยคุยให้ผมฟังว่า ลองขุดชั้นผิวดินดูพบทรายเป็นชั้นๆ คิดว่าสักสี่ซ้าห้าร้อยปีมันน่าจะมาสักที นี่เป็นวงจรปรกติ จริงๆ คนเราอาจจะมาบุกรุกที่ของเขาเองทำให้เสียหายมากๆ แบบที่เห็น ถ้ามันเป็นจริงอย่างที่คิด คนรุ่นปู่ย่าเราผมว่าก็ไม่ทันสึนามิครั้งก่อน ต่างกับมอแกนที่บรรพบุรุษของเขาอยู่กับทะเลแล้วบอกลูกหลานต่อๆ กันมา"


 


ปัจจุบัน การทำความรู้จักสึนามิและทะเลอันดามันจึงกำลังอยู่ในภาวะที่ขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวางเกิดการตื่นตัวในหมู่คนทั่วไป รวมไปถึงในแวดวงวิชาการ


 


ทั้งยังมีการรวบรวมเอกสารหลักฐานโดยสมาคมหอจดหมายเหตุไทย


 


3


 


เช้าที่อากาศขมุกขมัวกลางเดือนตุลาคม 2548


 


ผมยืนสงบนิ่งอยู่บนหาดอันเวิ้งว้างของหมู่บ้านชาวประมงเล็กๆ แห่งหนึ่งในจังหวัดระนอง โดยมีฉากตรงหน้าเป็นทะเลเรียบ สายลมพัดเอื่อยๆ กับหาดทรายที่ร้างไร้ผู้คน


 


หลังสึนามิถล่มเกือบครบปี  ความชอกช้ำระกำใจยังอยู่ในแววตาของคนอันดามัน


 


อีก 1 ศตวรรษข้างหน้า หากฐานความรู้เรื่องสึนามิมีการจัดการอย่างเป็นระบบ ประวัติศาสตร์ย่อมไม่ซ้ำรอย


 


สึนามิจะมา และเพียงแค่พัดโรงเรียนหายไป เด็กนักเรียนตัวน้อยจะยังอยู่และเรียนรู้สิ่งที่เกิด ก่อนจะส่งต่อคบไฟแห่งความรู้นั้นสู่คนรุ่นต่อไป


 


จะไม่มี "เงาอดีต" ที่น่าสังเวชใจเช่นนี้ เกิดขึ้นอย่างแน่นอน


 


ขอขอบคุณ


- สมาคมหอจดหมายเหตุไทย


* หากมีหลักฐานเกี่ยวกับสึนามิเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 ไม่ว่าจะเป็นภาพถ่าย เรื่องราว สิ่งของ  ติดต่อมอบกับสมาคมหอจดหมายเหตุไทยได้ที่ โทร 02-613-3840-1