Skip to main content

นโยบายและบทเรียนการทำงานเอดส์กับคนใช้ยา

คอลัมน์/ชุมชน


รูดม่านปิดฉากไปแล้วสำหรับ "งานเอดส์ภาคประชาชน" ที่จัดขึ้น ณ ท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ 23-25 พ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการรวมตัวและร่วมมือกันจากเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชน กลุ่มผู้ติดเชื้อเอชไอวี และกลุ่มประชาสังคมต่างๆ จำนวน 19 เครือข่าย เพื่อเป็นการกระตุ้นความสนใจและสร้างความตื่นตัวให้เกิดขึ้นกับสังคม ในการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับเอชไอวี/เอดส์


 


หากจะพูดถึงเรื่องปัญหา "เอชไอวี/เอดส์" ที่หลายต่อหลายองค์กรทั้งหน่วยงานของภาครัฐและเอกชนกำลังให้ความสนใจในการแก้ปัญหา หรือส่งเสริมให้มีความรู้ความเข้าใจอยู่ในขณะนี้ ต่างก็พุ่งเป้าไปที่ปลายเหตุของปัญหาเสียเป็นส่วนใหญ่ โดยไม่ค่อยจะสนใจในการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ โดยเฉพาะกับกลุ่มคนที่มีความเสี่ยง และมีอัตราเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ อย่าง "ผู้ใช้ยา" 


 


ที่ผ่านมา การแก้ปัญหายาเสพติดของภาครัฐ ใช้มาตรการความรุนแรงในการแก้ปัญหา ซึ่งก็จะได้ผลในการลดปริมาณยาเสพติดให้ลดน้อยลงไปบ้างในสังคม แต่ก็ต้องยอมรับความจริงว่า การทำให้ยาเสพติดหมดไปจากสังคมไทยเป็นเรื่องที่ยาก หรืออาจจะเป็นไปไม่ได้เลย เพราะที่ผ่านมาการแก้ปัญหาของภาครัฐมาจากความไม่เข้าใจในปัญหาด้านยาเสพติดอย่างชัดเจน


 


การใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหายาเสพติดไม่ใช่วิธีที่ถูกต้อง  การแก้ปัญหาที่ถูกต้องคือ ความเข้าใจถึงที่มาที่ไปของปัญหา  นอกจากนี้ปัญหายาเสพติดไม่ใช่แค่เรื่องของปัญหาสุขภาพที่รอการรักษาเหมือนที่หลายฝ่ายมอง แต่เป็นเรื่องของการพัฒนาให้ผู้ใช้ยาได้เข้าใจและใส่ใจในการดูแลสุขภาพของตนเองมาเป็นอันดับแรก และเรื่องของสิทธิมนุษยชนก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เป็นเรื่องที่ต้องมีการผลักดันและทำให้สังคมได้เห็นว่า ทุกคนควรมีสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน  


 


การทำงานในการแก้ไขในระบบพื้นที่  การเข้าถึงผู้ใช้ยา เพื่อเผยแพร่ให้ความรู้ ข้อมูลข่าวสารด้วยความจริงใจเป็นอีกหนึ่งปัจจัยหลักของการทำงานกับผู้ใช้ยา แต่ที่ผ่านมา การเข้าถึงผู้ใช้ยาเป็นเรื่องที่ยากลำบากพอสมควร เพราะผู้ใช้ยามักมองตัวเองว่า เป็นส่วนเกินของสังคม สังคมรังเกียจ จึงทำให้ผู้ใช้ยาไม่ค่อยที่จะเปิดเผยตัวออกมาสู่สังคมเท่าที่ควร นอกจากนี้อาสาสมัครที่ทำงานในด้านนี้ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นอดีตผู้ใช้ หรือกำลังบำบัดรักษาอยู่ เมื่อเข้าไปทำงานในพื้นที่ที่มีการรวมตัวกันของผู้ใช้ยา ก็มักจะถูกมองหรือเพ่งเล็งจากทั้งตำรวจ ทำให้การทำงานในบางครั้งก็เป็นไปด้วยความยากลำบาก


 


การทำงานด้านยาเสพติดและเอดส์ ต้องมีการประสานกับหน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนรับผิดชอบในพื้นที่ อาทิ ตำรวจ หรือ ป.ป.ส. เพื่อให้ทราบถึงนโยบายและแนวคิดในการทำงานของแต่ละฝ่ายให้ชัดเจน และจะต้องมีการนำเสนอรูปแบบ หรือผลของการทำงานที่ผ่านออกมานำเสนอหรือขยายผลให้สังคมได้รับรู้ว่า การทำงานที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดส่งผลดี หรือให้ประโยชน์ในด้านใดต่อสังคมส่วนรวม เพื่อป้องกันความเข้าใจที่อาจจะคลาดเคลื่อนได้ และสิ่งที่สำคัญที่สุดของการทำงานด้านยาเสพติดขององค์กรพัฒนาเอกชนไทยทั้งหลาย คือ การทำงานประสานกันอย่างจริงจังและจริงใจ เพื่อผลักดันให้เห็นว่า แนวคิดหรือนโยบายที่ตนเองใช้อยู่นั้นสัมฤทธิ์ผลมากกว่าการทำงานของภาครัฐที่กระทำอยู่ในปัจจุบัน