Skip to main content

จะเพ็ด ผู้ยืนหยัดบนเส้นทางฝันเพื่อการศึกษาของชาวลาหู่

คอลัมน์/ชุมชน

 


เส้นทางแห่งความฝันของชายคนนี้ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ และไม่ได้เป็นเส้นตรง บางช่วงชีวิตมีลดเลี้ยวคดเคี้ยว มีหักศอกบ้าง ขรุขระบ้าง และบางช่วงก็ต้องเปลี่ยนใช้เส้นทางอื่นในการเดินทางเพื่อจะได้ไปสู่จุดหมายที่ตั้งไว้  สิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ที่เส้นทางนั้นจะไกลสักแค่ไหน แต่อยู่ที่ก่อนถึงจุดหมาย เราสามารถยืนหยัดและเดินบนเส้นทางแห่งความฝันนี้ได้นานแค่ไหนต่างหาก


 


ตามรอยฝันตอนนี้ขอนำเสนอเรื่องราวความใฝ่ฝันของจะเพ็ด เลขาธิการองค์กรพัฒนาชนชาติลาหู่ หรือ Lahu National Development Organization (LNDO) ผู้ยืนหยัดบนเส้นทางแห่งความฝันของตนเองมาตลอด 40 ปี


จะเพ็ด ชายลาหู่วัย 58 ปี บ้านเกิดอยู่ที่เชียงตุงในรัฐฉาน มีพี่น้องทั้งสิ้น 8 คน เขาเป็นคนที่ 3 ตอนเด็กๆ แม้ว่าพ่อแม่จะเป็นครูสอนศาสนาคริสต์และให้ความสำคัญกับการศึกษา แต่ด้วยฐานะทางบ้านไม่ค่อยสู้ดีนัก ดังนั้น หากลูกคนใดต้องการเรียนสูงกว่าระดับประถมศึกษาก็ต้องกระเสือกกระสนและขวนขวายเอง จะเพ็ดเลือกเส้นทางชีวิตให้กับตนเองด้วยการเรียนต่อในระดับมัธยม เขาต้องย้ายไปอยู่กับพี่สาวที่รัฐคะฉิ่นเพื่อจะได้มีโอกาสเรียนต่อ บางครั้งต้องทำนาควบคู่ไปกับเรียนหนังสือ ทุกวันต้องกินผักบุ้งกับน้ำพริกกะปิ ส่วนอาหารมื้อพิเศษซึ่งนาน ๆ ครั้งจะได้กินก็เป็นเพียงแค่ถั่วเหลืองเท่านั้น แต่สิ่งเหล่านี้ไม่เคยทำให้ชายผู้นี้ย่อท้อ เขากลับนำมันมาเป็นพลังให้ตนเองต่อสู้และบากบั่นกับการเรียน เพราะการได้เรียนหนังสือในระดับสูง ๆ คือสิ่งที่เขาต้องการ ด้วยหวังว่า สักวันหนึ่งจะได้กลับมาเป็นหมอหรือไม่ก็เป็นข้าราชการระดับสูง อันเป็นความปรารถนาในวัยเด็ก


 


ช่วงชีวิตในวัยเรียน จะเพ็ดต้องย้ายที่อยู่หลายครั้ง นับตั้งแต่อยู่กับพี่สาวที่รัฐคะฉิ่นแล้วก็ต้องย้ายไปอยู่กับพี่ชายคนโตที่ย่างกุ้ง แต่ยังไม่ทันเรียนจบในระดับมัธยมปลายก็ต้องย้ายไปเรียนที่ล่าเสี้ยวภาคเหนือของรัฐฉาน หลังจากเรียนจบมัธยมปลาย เขาได้มีโอกาสไปเที่ยวที่เมืองหนามปอง ซึ่งขณะนั้นมีชาวลาหู่จำนวนมากอพยพเข้ามา


 


เนื่องจากเกิดการสู้รบระหว่างทหารไทยใหญ่ ทหารว้า และทหารพม่าในเขตรัฐฉาน แต่ชาวลาหู่เหล่านี้ไม่ค่อยได้รับการดูแลจากรัฐบาลพม่าเท่าที่ควร โดยเฉพาะทางด้านการศึกษา ไม่มีแม้กระทั่งโรงเรียน จะเพ็ดจึงตัดสินใจช่วยสอนอยู่ที่นี่ 1 ปี  ประสบการณ์จากการสอนหนังสือที่นี่และการย้ายที่เรียนบ่อยครั้ง ทำให้เขาเห็นว่า ชาวลาหู่ได้รับการศึกษาน้อยมาก ซึ่งอาจเป็นผล มาจากความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและผลจากสงครามที่ทำให้การศึกษาในประเทศต้องหยุดชะงักไป



ความฝันที่อยากเป็นหมอของเขาเริ่มค่อย ๆ จางหายไป ภาพความเป็นครูเริ่มเข้ามาแทนที่และชัดเจนมากยิ่งขึ้นเมื่อเขาตัดสินใจไปเรียนต่อในวิทยาลัยครูเพื่อสอนหนังสืออย่างจริงจัง และใฝ่ฝันว่าสักวันหนึ่งชาวลาหู่จะต้องได้รับการศึกษามากขึ้น และมีโอกาสได้เรียนภาษาลาหู่เพื่อที่จะได้รักษาวัฒนธรรมของตนไว้


 

เพียงแค่ปีเดียว ชายคนนี้ก็ได้เป็นครูอย่างเต็มตัวและเป็นเวลาเดียวกันกับที่โรงเรียนเดิมที่เขาเคยสอนได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลให้ตั้งโรงเรียนอย่างเป็นทางการ ซึ่งอาจเรียกได้ว่า เป็นโรงเรียนที่ดีที่สุดในขณะนั้น แม้จะมีโรงเรียนแต่การสอนภาษาลาหู่ในโรงเรียนก็ยากเต็มที เพราะรัฐบาลมีนโยบายห้ามสอนภาษาชนกลุ่มน้อยในโรงเรียน แม้ว่าจะมีนักเรียนและผู้สนใจเรียนจำนวนมาก แต่พวกเขาก็ต้องแอบสอนกันอย่างลับ ๆ ในโรงเรียน และในโบสถ์


 


จะเพ็ดเป็นครูสอนที่นี่อยู่ 8 ปีก็ต้องย้ายมาสอนที่เชียงตุง บ้านเกิดของเขา แม้จะย้ายที่อยู่อีกครั้งหนึ่งแต่อุดมการณ์ของเขาที่ยังทำเพื่อชาวลาหู่ยังคงมีอยู่เช่นเดิม ที่นี่นอกจากการเป็นครูสอนในโรงเรียนแล้ว เขายังได้สอนภาษาลาหู่ในโบสถ์และแถมยังต้องแบ่งเวลาไปทำนาเพราะเงินเดือนเท่าเดิมแต่ค่าครองชีพสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ด้วยการที่เขาทุ่มเทให้กับการสอนและการพยายามที่จะสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับภาษาและวัฒนธรรมลาหู่ ทำให้เขาเป็นที่รักและเคารพของคนที่นั่น


 


การเปลี่ยนแปลงในชีวิตครั้งสำคัญเกิดขึ้นอีกครั้งในปี 2517 เมื่อเกิดสงครามคอมมิวนิสต์ เขาถูกเกณฑ์ไปเป็นทหารพม่าเพื่อช่วยพม่ารบกับทหารคอมมิวนิสต์ จะเพ็ดกล่าวว่า "สงครามเป็นตัวสร้างความยุ่งยากและความไม่สงบ ไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่าผมจะต้องมาจับปืนร่วมรบในสงคราม หากเลือกได้ขอเลือกถือชอล์กไว้ในมือและสอนหนังสือเด็ก ๆ มากกว่า"


 


อย่างไรก็ตาม เขาต้องทำหน้าที่ทั้งสองอย่างไปพร้อม ๆ กัน ในยามที่ถูกเรียกตัวไปเป็นทหาร บทบาทความเป็นครูก็จะยุติไปชั่วคราว ยามใดที่สถานการณ์ดีขึ้นเขาก็จะกลับมาเป็นครูสอนหนังสืออีกครั้งหนึ่ง


 


ผลจากสงครามทำให้เขาต้องสูญเสียขาไปข้างหนึ่ง เมื่อเอ่ยถามว่าเขารู้สึกอย่างไรกับสิ่งที่เกิดขึ้น เขากลับไม่เสียใจกับขาที่ขาดไปแม้แต่น้อย กลับแสดงอาการสงสารชาวบ้านในพื้นที่ที่ต้องได้รับผลกระทบจากการสู้รบมากกว่า นั่นคือสิ่งที่ทำให้เรารู้ว่า  แม้อวัยวะบางสิ่งในร่างกายจะหายไป แต่อุดมการณ์และความใฝ่ฝันของครูชาวลาหู่คนนี้ไม่เคยจางลงแม้แต่น้อย มันยังคงฝังแน่นอยู่ในหัวใจเขาตลอดเวลา


 


กว่าหนึ่งปีที่เขาต้องรักษาตัวเพื่อให้ร่างกายหายเป็นปกติ แต่หลังจากนั้นก็ต้องกลับมาเป็นทหารและทำหน้าที่ครูเช่นเดิม



จะเพ็ดได้ยุติบทบาททางทหารและให้ความสำคัญกับการเป็นครูมากขึ้นตั้งแต่เข้ามาช่วยงานของพี่ชาย ซึ่งทำหน้าที่เป็นหัวหน้ากลุ่มองค์การพัฒนาชนชาติลาหู่ หรือ LNDO ในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2542 และภาระหน้าที่นี้ก็เป็นของเขาอย่างเต็มตัวเมื่อพี่ชายของเขาเสียชีวิตลง


 

เมื่อมาอยู่เมืองไทย  สิ่งแรกที่เขาเล็งเห็นคือปัญหาด้านภาษาของชาวลาหู่ในไทย ที่แม้ว่าเด็กจะสามารถพูดลาหู่ได้แต่ก็ไม่สามารถอ่านเขียนได้ อันเป็นปัญหาเดียวกับที่ชาวลาหู่ในพม่าได้ประสบมา รวมทั้งความรู้ความเข้าใจด้านศิลปวัฒนธรรมลาหู่ก็น้อยเต็มที ดังนั้น ความต้องการให้ชาวลาหู่ ไม่ว่าจะเป็นชาวลาหู่ในประเทศไทยหรือในพม่าได้รับการศึกษา มีโอกาสได้เรียนภาษาลาหู่ เป็นสิ่งที่จะเพ็ดใฝ่ฝันมาตลอด


 


เขาได้สานฝันของตนเองให้เป็นจริงอีกครั้ง โดยได้ทำแบบเรียนภาษาลาหู่เพื่อเผยแพร่ให้กับคนลาหู่และผู้ที่สนใจ


แบบเรียนที่ทำขึ้นนี้เป็นแบบเรียนขั้นต้น สอนให้รู้จักพยัญชนะลาหู่ การประสมคำ และการอ่าน เมื่อเรียนจบแล้วก็สามารถอ่านและเข้าใจได้ด้วยตนเองเพราะเขาได้นำประสบการณ์ด้านการสอนภาษาลาหู่ในพม่ามาประยุกต์ใช้ แม้จะติดขัดเรื่องงบประมาณอยู่บ้าง เขาก็ไม่ละความพยายามในการหาเงินทุนมาสนับสนุน เพื่อหวังว่าจะได้พิมพ์หนังสือในจำนวนที่มากขึ้น และจะได้เผยแพร่อย่างทั่วถึง เพราะปัจจุบันหนังสือแบบเรียนที่ทำนั้น มีจำนวนพอแจกจ่ายเฉพาะอาจารย์ที่สอนภาษาลาหู่เท่านั้น แต่ยังไม่พอเพียงสำหรับนักเรียน


 


สำหรับโครงการต่อไปนั้น หลังจากที่มีคนเข้าใจและอ่านภาษาลาหู่ได้มากขึ้น จะเพ็ดมีโครงการทำหนังสือเพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมให้กับชาวลาหู่และทำคู่มือการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรที่อยู่บนฐานของความพอเพียง และการรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเพ็ดจะสามารถเผยแพร่ความรู้ด้านสิ่งแวดล้อมและการอนุรักษ์วัฒนธรรมลาหู่ไปด้วย  


สำหรับความฝันสูงสุด จะเพ็ดหวังว่าสักวันหนึ่งจะมีโรงเรียนสอนภาษาลาหู่เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการในประเทศไทย ทั้งนี้เพื่อเยาวชนจะได้เรียนรู้และเข้าใจภาษาลาหู่อย่างถ่องแท้ และนำความรู้ที่ได้มาไปใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยการสร้างความรู้และพัฒนาสิ่งใหม่ให้กับสังคม


 


เป็นระยะเวลาเกือบ 40 ปีแล้วที่เขายังคงยืนหยัดที่จะสร้างฝันบนเส้นทางที่ตนเองได้เลือก เราจะเฝ้ารอและเป็นกำลังใจให้เขาเดินไปสู่จุดหมายโดยเร็ว เพราะความฝันที่เขาสร้างขึ้นไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์สำหรับตนเอง แต่ประโยชน์จะตกอยู่กับลูกหลานชาวลาหู่ทุกคน


 


หมายเหตุ


- องค์กรพัฒนาชนชาติลาหู่หรือ Lahu National Development Organization ( LNDO ) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2540 ซึ่งจะเน้นการการพัฒนาชาวลาหู่ในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาหรือวัฒนธรรม และด้านสิ่งแวดล้อม ในปี 2544 ที่ผ่านมาองค์กรลาหู่ออกรายงานผลกระทบโครงการระเบิดแก่งในเขตรัฐฉานตะวันออก และก่อนหน้านี้ได้จัดทำรายงานที่มีชื่อเสียงมาก คือ รายงานการอพยพว้าจากชายแดนจีนสู่ชายแดนไทย หรือ Unsettling Moves : The Wa forced resettlement program in EasternShanState


 


- ชาวลาหู่ หรือ มูเซอ มีภูมิลำเนาเดิมอยู่ในประเทศธิเบต เมื่อถูกชาวจีนรุกรานก็ค่อย ๆ ถอยร่นลงมาทางใต้ในศตวรรษที่ 17 และ 18 ชาวลาหู่ได้ตั้งอาณาจักรอิสระของตนเองบริเวณชายแดนพม่า-จีน มีหัวหน้าปกครอง เมื่อ พ.ศ.2423-2433 ชาวลาหู่ถูกจีนรุกรานอีกจึงอพยพลงมาทางใต้ บางพวกเข้าไปอาศัยอยู่ในลาว รัฐฉาน และประเทศไทย ปัจจุบันประเทศไทยมีชนเผ่าลาหู่อาศัยอยู่ราว 1.5 - 2 แสนคน โดยกระจายอยู่ตามหมู่บ้านต่าง ๆ ตามแนวชายแดนไทย-พม่ากว่า 800 หมู่บ้าน พื้นที่ที่ชาวลาหู่อาศัยอยู่มากได้แก่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำปาง ตาก กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ และพะเยา สำหรับภาษาลาหู่เป็นภาษาในตระกูลภาษาย่อยธิเบต- - พม่า (Tibeto-Burman) สาขา (Burmese-Lolo) ลักษณะภาษามักเป็นคำโดด ๆ พยางค์เดียว ไม่มีตัวสะกด มีเสียงสูงต่ำเพียง 3 เสียงเท่านั้น


(ข้อมูลจากเว็บไซต์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินทร www.sac.or.th)


 


สาละวินโพสต์ ฉบับที่ 21 ( 16 กุมภาพันธ์ - 1 เมษายน 2548)