Skip to main content

เยาวชนเป็นมากกว่าองศาปรากฏ

คอลัมน์/ชุมชน

อาจเป็นเพราะได้ถูกกำหนดให้เป็นอนาคตของสังคมก็เป็นได้ จึงทำให้เด็กและเยาวชนถูกจับตาดูมากกว่ากลุ่มคนอื่น ๆ ซึ่งเรื่องส่วนใหญ่ที่คนได้เห็นคือ ปรากฏการณ์ในด้านลบของเยาวชน เช่น การใช้ยาเสพติด การมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย การทะเลาะวิวาท เที่ยวกลางคืน สูบบุหรี่ดื่มเหล้า เป็นต้น


…….ด้วยพฤติกรรมที่แสดงออกด้านลบต่างๆ นี้ เด็กและเยาวชนจึงถูกมองว่าเป็นผู้สร้างปัญหาสังคม


เมื่อผู้คนได้เห็นปรากฏการณ์ต่าง ๆ พร้อมกับการนำเสนองานวิจัยของนักวิชาการถึงปัญหาของเยาวชนไทย จึงเป็นสัญญาณบอกเตือนสังคมว่า ปัญหาเยาวชนอยู่ในขั้นวิกฤต !?


วิกฤตจนต้องจัดระเบียบ ….


เพราะฉะนั้น จึงไม่แปลกที่ความคิดของคนในสังคมส่วนใหญ่ที่มองว่าเยาวชนเป็นปัญหา จึงเป็นที่มาของการจัดการปัญหาด้วยการ ควบคุม กำกับ และจำกัดพื้นที่ กล่าวคือ ถ้าเด็กสูบบุหรี่ ก็ห้ามไม่ให้สูบ ถ้าเด็กเที่ยวผับเธค ก็ห้ามไม่ให้เข้าหรือเที่ยว ถ้าเด็กก่อความรุนแรงก็จับมาปรับ หรือตั้งค่าหัว ซึ่งการแก้ปัญหาด้วยความหวังดีที่อยากเห็นเยาวชนมีคุณภาพชีวิตที่ปลอดภัยโดยการห้าม การควบคุม ไม่สามารถแก้ (สถานการณ์ที่ผู้ใหญ่มองว่าเป็น) ปัญหาได


เพราะไม่มีพื้นที่ที่เด็กจะมีโอกาสพูดว่าจริง ๆ แล้วเรื่องต่าง ๆเหล่าที่มันเป็นวิถีที่ผู้ใหญ่เองก็เคยเผชิญมาเหมือนกัน หรือเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้จะต้องแก้อย่างไร ต้องทำอย่างไร เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของเด็กและเยาวชน เพราะเด็กและเยาวชนคือคนที่เผชิญกับปัญหา


สิ่งที่ผู้ใหญ่เองจะต้องคำนึง คือการสร้างภูมิคุ้มกันทางสังคมให้เด็กและเยาวชน คือสร้างบรรยากาศที่ดีในสังคม ลดสถานประกอบการ ลดความเหลื่อมล้ำของคนในสังคม หยุดการสร้างสื่อที่กระตุ้นการบริโภคของเยาวชน หยุดการแสวงหาผลประโยชน์และกำไรจากเด็กและเยาวชนผ่านธุรกิจมือถือ อินเตอร์เน็ต และสร้างทักษะแก่เด็กและเยาวชนให้สามารถคิดวิเคราะห์กับสิ่งที่เผชิญอยู่ได้ ทั้งต้องเปิดพื้นที่ให้เด็กและเยาวชนมีโอกาสในการแสดงความคิดเห็น และเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจต่าง ๆ ร่วมกับผู้ใหญ่


องศาที่เราเห็นเพียงด้านเดียวที่เยาวชนส่วนหนึ่งเผชิญปัญหา ยังมีองศาอีกมากที่เด็กและเยาวชนเผชิญ ซึ่งรวมถึงการรวมตัวกันทำกิจกรรมในชุมชนของตนเองผ่านการดำเนินกิจกรรมและประเด็นต่าง ๆ เช่น การจัดค่ายเรื่องเอดส์ เพศศึกษา การทำสื่อละครรณรงค์เรื่องสิทธิเด็ก การทำศูนย์การเรียนรู้นอกห้องเรียน การจัดกิจกรรมนักสืบสายน้ำ การเรียนรู้วัฒนธรรมชุมชนของตนเอง และอื่น ๆ อีกมากมาย


จากการสำรวจข้อมูลของเครือข่ายเด็กและเยาวชนภาคเหนือตอนบนประมาณ ปี พ.ศ. 2546 พบว่า มีกลุ่มเยาวชนในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ ประมาณ 200 กลุ่ม และจากลักษณะการรวมตัวของกลุ่มเยาวชน จำนวน 134 กลุ่ม จาก 9 จังหวัด พบว่า 41.05% รวมกลุ่มกันเองด้วยความสนใจ, 35.07% ถูกกระตุ้นโดยองค์กรพัฒนาเอกชน, 16.42% ถูกกระตุ้นโดยองค์กรภาครัฐ, 3.73% ถูกกระตุ้นโดยคนในชุมชน ได้แก่ ผู้ใหญ่บ้านและผู้นำชุมชน, 1.49% ถูกกระตุ้นให้รวมกลุ่มกันทั้งจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน


ข้อมูลที่สำรวจพบในพื้นที่ภาคเหนือ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของกลุ่มเยาวชนที่รวมกลุ่มกันทำงานในพื้นที่อื่น ๆ มากกว่า 700 กลุ่มในภาคใต้ ตะวันออกเฉียงเหนือ กลาง ตะวันออก และตะวันตก


แต่การทำงานของกลุ่มเยาวชนในชุมชนหรือพื้นที่ต่าง ๆ ไม่ค่อยได้ถูกนำเสนอแก่คนในสังคมมากสักเท่าใด จึงทำให้คนมองเห็นเยาวชนเพียงมุมเดียวคือมองว่าเยาวชนอยู่ในขั้นวิกฤต มองไม่เห็นความสัมพันธ์ของตัวเองกับชุมชน


เด็กและเยาวชนที่รวมกลุ่มทำกิจกรรมในชุมชนนั้นมีความหลากหลายของการดำเนินชีวิต บางคนเป็นกลุ่มแก๊ง บางคนใช้ยาเสพติด บางคนเที่ยวกลางคืน แต่อีกมุมหนึ่งก็รวมกลุ่มทำกิจกรรมในชุมชนและการที่ดำเนินชีวิตไม่เป็นไปตามบรรทัดฐานของสังคมที่กำหนดอาจทำให้เยาวชนคนนั้นมีบทเรียนและประสบการณ์ในการใช้ชีวิตมากกว่าคนอื่นๆ ก็ได้


อาจต้องมาดูกันมากขึ้นว่า เด็กและเยาวชนมีความหลากหลายและมีหลายองศาที่ควรมอง คงไม่ต้องกังวลมากว่าเยาวชนจะทำอะไรผิด หยุดระแวงเยาวชน หยุดทัศนคติที่คับแคบและควบคุม ควรเคารพในศักดิ์ศรีการตัดสินใจ เปิดโอกาสให้เยาวชนได้มีทางเลือกในการดำเนินชีวิตที่หลายหลาก และความแตกต่างทางเพศ เชื้อชาติ และวัฒนธรรม


เราทุกคนต้องร่วมกันมองหากระบวนการพัฒนาเยาวชนในเชิงบวกมากยิ่งขึ้น มากกว่าการควบคุมที่คุ้นชินมาโดยตลอด มองว่าเยาวชนคือพลังในการเปลี่ยนแปลงสังคม (อาจเปลี่ยนแปลงได้หลายทาง) ควรมีกิจกรรรมและพื้นที่ทางสังคมของเยาวชนมากยิ่งขึ้น กล่าวคือ หากคนไหนแข่งรถ ก็ควรมีสนามแข่งให้ คนไหนต้องการปรึกษาเรื่องเอดส์เพศ หรือรับบริการถุงยางอนามัย ก็ควรมีแหล่งบริการที่เป็นมิตรให้ มีพื้นที่จัดกิจกรรมทางสังคม เป็นต้น


สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เป็นไปได้ การพัฒนาเยาวชนในเชิงบวกเป็นไปได้ หากตระหนักในการให้เด็กและเยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดและตัดสินใจร่วมกันกับผู้ใหญ่ หรือคนในชุมชน


ในบทความต่อไป ผมจะอาสานำประสบการณ์การทำงานของเยาวชนคนหนุ่มสาวที่ทำในชุมชนหรือผ่านกิจกรรมอื่นๆ ในรูปแบบและเนื้อหาที่ต่างกันมาบอกกล่าวโดยทั่วกัน เนื่องเพราะการดำเนินงานของเยาวชนในพื้นที่ชุมชนจะเป็นพื้นที่รูปธรรมที่บอกได้ว่าเยาวชนเองเป็นผู้สร้างสรรค์สังคมและสนใจสังคมไม่น้อยไปกว่าผู้ใหญ่ หรือคนอื่น ๆ เพียงแต่ที่ผ่านมาโอกาสในการสื่อสารกับสังคมมีไม่มาก


อย่างน้อยจะได้เห็นวิธีคิด บทเรียนการทำงาน และวิถีชีวิตของเยาวชนที่มากกว่า ที่พบเห็นกันมา และมากกว่าองศาที่มองเห็นเพียงมุมเดียว




ล.ป. ลืมไปครับ วันอาทิตย์ที่ 13 กุมภาพันธ์ 2548 เวลา 16.00 - 21.00 น. ขอเชิญเพื่อนๆ พี่ ป้า น้า อา และท่านผู้สนใจ ผู้มีจิตศรัทธาทุก ๆ ท่าน ร่วมกิจกรรม "Valentine Volunteer" อาสาสมัคร...รักเพื่อสาธารณะ
ณ ลานกิจกรรม Victory Point อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ กรุงเทพมหานคร


งานนี้จัดขึ้นโดยความร่วมมือขององค์กรและกลุ่มพันธมิตรเครือข่ายเยาวชน อาทิ เครือข่ายเยาวชนด้านเอดส์ ประเทศไทย, YIY, สภาเยาวชนกรุงเทพมหานคร, กลุ่มเยาวชน GIGSY, กลุ่มเยาวชน 4-nil, เครือข่ายเยาวชนคลองเตย, เครือข่ายเยาวชนไทยต้านภัยเอดส์, เครือข่ายเยาวชนขบวนการตาสับปะรด, กลุ่มเยาวชน Action Aid, กลุ่มเยาวชน Bangkok Forum และ ฯลฯ


โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ เผยแพร่การทำงานด้านอาสาสมัครของเยาวชน ผู้มีจิตสาธารณะให้สังคมได้รับรู้และมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมเพื่อสังคม และระดมสรรพกำลังด้านบุคลากรที่จะร่วมทำงานด้านอาสาสมัครให้มากขึ้นในสังคม ตลอดจนให้เด็กและเยาวชนได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม และปลูกฝังจิตสาธารณะโดยผ่านกิจกรรมของอาสาสมัคร ตลอดจนเกิดเครือข่ายการทำงานร่วมกันของเยาวชนกรุงเทพฯ และระดับภูมิภาค
โดยมีกิจกรรมที่น่าสนใจดังนี้
1. กิจกรรมบนเวที
2. ลานกิจกรรม / เกม / นิทรรศการ
3. ซุ้มรับสมัครอาสาสมัครเพื่อสังคม
4. ซุ้มแสดงผลงานของกลุ่มเยาวชน และ องค์กรที่เข้าร่วมงาน
5. ซุ้มบอร์ดที่สื่อต่อความรักสาธารณะ ในเทศกาลวันวาเลนไทน์


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือ ร่วมสมทบทุนจัดกิจกรรมติดต่อที่
คุณ ปนัดดา ขวัญทอง (ต่าย) 09-2521085 หรือ คุณสุริยา บุตรพันธ์ (ตี๋) 09-6019264