Skip to main content

คูนดอกสุดท้าย..ในชีวิต

คอลัมน์/ชุมชน

 



(ภาพจาก  http://www.naiin.com/bigbook.asp?sku=BK74929369749696)


 


                                                                                                                                  


 


โดย..น้ำตาฟ้า


เจ้…กลับไปหาแม่กัน"   น้องสาวของฉันบอกพร้อมกับยื่นหนังสือเล่มนี้คืนให้ 


 


ไม่เชื่อใช่ไหมว่า หนังสือเล่มเล็ก ๆ จะทำให้คนอ่านเกิดความรู้สึกแบบนี้ได้  ถ้าอย่างนั้นคงต้องพิจารณาสิ่งที่บรรจุอยู่ในหนังสือเล่มนี้เสียแล้ว     ตามมาติด ๆ นะคะ  ระวังจะพลัดหลงกัน  แล้วจะพลาดความงามที่แตกต่างไปเสียนั่น


 


 "พอเริ่มเข้าหน้าฝน  แม่จะพาลูก ๆ ตื่นแต่เช้าเพื่อไปเก็บ "บักม่วงน้อย" เพื่อนำมากวนทำเป็น มะม่วงแผ่น หรือไม่ก็กินตอนเช้า โดยปาดหัวด้านบนเอาเมล็ดออก  จากนั้นเอาข้าวเหนียวที่นึ่งเสร็จใหม่ ๆ ใส่ลงไปแทนเมล็ด บีบให้เนื้อมะม่วงและข้าวเหนียวเข้ากัน  ได้รสชาติอร่อยไปอีกแบบ" 


 


"เช้าบางวัน แม่พาตื่นแต่เช้า เพื่อไป "ขวยกุดจี่"  ผมจะถือหม้อขาวสำหรับใส่กุดจี่ที่แม่หาได้  เราจะนำมาคั่วหรือไม่ก็ใส่แกงรวมมิตร หรือแกงหน่อไม้"


 


เห็นไหมคะ  เพียงสองใจความสั้น ๆ เท่านี้  ลูกข้าวเหนียวอย่างฉันก็ต้องส่งยิ้มอย่างอ่อนโยนให้กับหนังสือในมือ  กลิ่นอวล นัว ปลาร้าที่ปรุงกับข้าวฝีมือแม่จ่ออยู่ที่ปลายจมูก  "คูนดอกสุดท้าย" เป็นหนังสือมีชีวิตค่ะ


 


คงเพราะจากถิ่นฐานบ้านเกิดมานานนักหนาจนแทบจะลืมทางกลับบ้านไปแล้วอย่างที่ผู้เฒ่าในหมู่บ้านหยอกเอินทุกครั้งที่เห็นฉันโผล่หน้าแป้นแล้นกลับไป   ทำให้ลูกข้าวเหนี่ยวเยี่ยงฉันมีอาการโหยหาในกำพืดของตนเองอยู่มิวาย   ส้มตำปู ปลาร้าเจ้าไหนที่ว่าอร่อย  แต่สู้มะละกอคลุกน้ำปลาร้าของแม่ฉันไม่ได้สักราย    โรงภาพยนตร์ชั้นหนึ่งที่ว่าเจ๋งยังไง  ก็เทียบไม่ได้กับหนังกลางแปลงที่ฉันและน้องต้องหนีแม่ไปนอนตากน้ำค้างฟังเขาขายยาฆ่าพยาธิสารพัดชนิดก่อนจะได้ดูตอนจบ    แม้จะต้องแลกกับการถูกแม่หวดด้วยไม้เรียวทันทีที่กลับถึงบ้านก็ไม่ทำให้พวกเราครั่นคร้ามได้


 


"บางวันผมกับเพื่อนไปขุดแย้   หลังฝนตกและมีแดดออกจะหาง่ายมาก  แย้จะวิ่งเร็ว พอเจอแย้วิ่งลงรูเราจะใช้เสียมขุด  พอจับแย้ได้ก็เอามาปล่อยที่สนามโรงเรียนและวิ่งไล่จับเป็นที่สนุกสนาน" 


 


ศาสตร์และศิลป์ในการหาความบันเทิงเริงใจรอบ ๆ ตัวเช่นนี้ ถ้าไม่ใช่ลูกข้าวนึ่งตัวจริงเสียงจริง ขอบอกว่ายากที่จะรื่นรมย์กับมัน


 


"ช่วงปิดเทอม ผมจะชอบไปนอนที่บ้านเพื่อน ต้องตื่นแต่เช้า  เวลาไปทำนาที่อยู่ห่างออกไป ปกติหมู่บ้านต่างๆ  จะมีทางเกวียนซึ่งใช้สัญจรไปมา  รวมทั้งเป็นเส้นทางเดินของวัวควาย  เทียบกับปัจจุบัน ถ้าเป็นทางรถยนต์ก็เรียก "มอเตอร์เวย์  (Motorway)"  ถ้าเป็นทางควายแบบเมื่อก่อนก็คงจะเรียก "บัฟฟาโลเวย์ (Buffaloway)"


 


รู้อะไรไหมคะ    ยิ่งอ่านภาพความทรงจำในวัยเยาว์ที่ถูกเก็บไว้อย่างมิดชิดในลิ้นชักในสมองของฉันก็ถูกเปิดแง้มออกทีละน้อย ๆ   และนั่นทำให้ภาพยิ่งฉายชัดขึ้นทุกที    เรื่องราวของผู้เขียนไม่แตกต่างไปจากฉันเลยโดยเฉพาะความอิ่มเอมกับเรื่องราวชีวิตวัยเยาว์  ที่แม้จะไม่สุขสบายเมื่อต้องไปเทียบกับใคร ๆ   หากแต่ฉันก็รับรู้และสัมผัสได้ทุกความสุขที่ส่งผ่านตัวอักษรออกมา  


 


และเมื่อเพ่งพิศอย่างถี่ถ้วนถึงบทที่ 14 นี่แหละชีวิต    ก็ยิ่งพบความงดงามของวิถีชีวิตชนบทที่ผู้เขียนได้นำมาเปรียบเทียบกับปัญหาหลายต่อหลายอย่างที่พบเห็นในเมืองได้อย่างแหลมคม   และจับใจเหลือเกิน


 


"ทฤษฎีเขียดโม่ :  เวลาที่ผมไปหาเขียดกับแม่  หลังจากที่เอาเขียดใส่ลงไปในกระแป๋ง  เขียดที่อ่อนแอกว่าจะถูกเขียดที่แข็งแรงกว่าเหยียบทับลงไป  เขียดที่อ่อนแอด้านล่าง ไม่มีแม้อากาศหายใจ ตัวที่อยู่บนสุดจะรอดในขณะที่เหยียบอยู่บนตัวอื่น   ความเป็นไปของผู้คนในสังคม ผู้ที่แข็งแกร่งกว่าเท่านั้นจึงจะยืนหยัดอยู่ได้ มันคือสัจธรรมชีวิตที่เกิดมาในโลกนี้"


 


 "ปั่นหัวให้กัดกัน  : ตอนเป็นเด็ก ผมกับเพื่อนหาจิ้งหรีดมากันกัน ถ้ามันไม่กัดก็ใช้ด้ายที่ดึงมาจากผ้าขาวม้ามาผูกคอจิ้งหรีด ปั่นให้เชือกหมุนเป็นวง  จิ้งหรีดคงจะเวียนหัวหรือเมาตาลาย จากไม่กัดกันก็กัดได้  เหมือนกับคนเราที่มีอยู่มากมายที่ถูกปั่นหัวให้ทะเลาะกัน  ดังเช่นปั่นหัวจิ้งหรีด"


 


ทุกจังหวะย่างก้าวของการดำเนินเรื่องคูนดอกสุดท้าย  ผู้เขียนผูกพันกับผู้เป็นแม่ยิ่งนัก  ทำให้ฉันซึมซับความผูกพันนั้นได้ด้วยหัวใจที่ถวิลหาอ้อมอกแม่อยู่มิวายเช่นเดียวกัน   นานแค่ไหนแล้วหนอ  ที่ฉันไม่ได้เห็นหน้าแม่  ทั้ง ๆ ที่แม่จะเฝ้ารอลูก ๆ อยู่อย่างเดียวดาย  และหากระยะทางของการรอคอยนั้นสามารถแปรเปลี่ยนเป็นสายน้ำมันก็คงยาวเทียบเท่าแม่น้ำโขงที่ไหลผ่านนานาประเทศนั่นเลยทีเดียว  แม่เคยร้องขอสิ่งใดหรือก็เปล่าทั้งสิ้น คงรออยู่อย่างสงบ เจียมตัว ทั้งที่เวลาในการรอคอยนั้นสั้นลงทุกทีๆ


 


พลันที่อ่านหนังสือเล่มนี้จบลง  ฉันก็หันไปบอกน้องสาวด้วยประโยคเดียวกันกับตอนที่เธอยื่นหนังสือเล่มนี้คืนฉัน "น้อง..ไปหาแม่กัน"


 


 "ไปกินข้าว  แม่ตำแจ่วปลาแดกไว้ให้แล้ว "  เสียงแม่บอกหลังโอบกอดฉันและน้องด้วยความปีติเชื่อเถอะว่า  แจ่วปลาแดก (น้ำพริกปลาร้า) ฝีมือแม่ฉันหาใครเทียมได้ในแผ่นดินนี้


 


เหนืออื่นใดฉันกับน้องก็ได้กลับไปกราบแทบเท้า  "คูนดอกสุดท้าย …ในชีวิตของเราทั้งคู่" ที่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ชูช่อเหลืองอร่าม  เบ่งบานเป็นมงคลให้ชีวิตของฉันกับน้องเสมอมา