Skip to main content

รู้จักความจน

คอลัมน์/ชุมชน


ผมคิดว่ามีอยู่ร้อยแปดพันเก้าวิธีที่จะเข้าถึง ‘ความยากจน’ (แต่ส่วนใหญ่แล้วเวลาที่คนเรามันจะจนขึ้นมาจริงๆ ก็มักจะไม่ต้องใช้วิธีอะไรให้ยากเย็น ส่วนวิธีการที่ว่ามีอยู่มากมายนั้น ก็มักจะไม่มีใครอยากจะเข้าใจหรือเข้าถึงความยากจนกันเสียเท่าไหร่) ซึ่งหนทางหนึ่งก็คือการไปเป็นคนจนดูสักที


ชายหนุ่มหน้าตาดี กระทั่งเข้าขั้นว่าสำอาง ถูกชักชวนจากรายการโทรทัศน์รายการหนึ่ง ซึ่งว่าด้วยการเจาะลึกเข้าถึงกะเทาะชีวิตนานารูปแบบ ให้ลองทิ้งคฤหาสน์หรูที่เต็มไปด้วยคนรับใช้ รถยนต์ส่วนตัว เสื้อผ้าราคาแพง อาหารเพียบพร้อมบริบูรณ์ทุกมื้อ ไปเป็นคนเร่ร่อนไร้บ้านไร้การงาน ไม่มีเงินติดตัวแม้แต่บาทเดียว โดยใช้ชีวิตในเกาะรัตนโกสินทร์เป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์


ด้วยตัวละครที่มีคาแรกเตอร์เข้าขั้นขนาดนี้ พร้อมด้วยพล็อตสุดยอดที่ว่ามีใครสักคนที่อยู่ดีมีสุขเกิดมาบนกองเงินกองทองถึงขนาดว่าไม่เคยขึ้นรถโดยสารประจำทางไปไหนมาไหนด้วยตัวเองมาก่อน ต้องมา (แสร้ง) สละทุกสิ่งที่เคยมีไว้เบื้องหลังนั่งรถเมล์ไปลงสนามหลวงเพื่อกินอยู่สู้ชีวิตด้วยวิธีการสารพันท่ามกลางเรื่องราวของ ‘ความจน’ และคนจนอีกหลายๆ คน น่าจะเป็นเรื่องที่ชวนให้ผู้ชมทางบ้านติดตามได้ตอนแล้วตอนเล่าว่า ชีวิตของเจ้าชายตกยากจะพลิกผันหรือเดินผ่านความทุกข์ทนแบบคนจนไปได้อย่างไร


ผมเชื่อว่ามีผู้คนไม่น้อยที่ได้ติดตามชะตากรรมที่รายการเจาะใจหยิบยื่นให้กับคุณอานันทวีป  ชยางกูร ณ อยุธยา ชายหนุ่มที่เกิดในครอบครัวร่ำรวยที่ผมกล่าวถึงข้างต้น และคงเข้าใจที่ผมบอกว่า วิธีเข้าถึงความจนก็ต้องยอมไปเป็นคนจนดูจริงๆ ถึงจะรู้สึก


แต่ถามว่าจะมีใครสักกี่คนที่จะได้รับโอกาสให้ทำอะไรพรรค์นั้น ถ้าหากว่าคุณไม่ใช่คนเด่นคนดังหรือที่เรียกกันว่า ‘ไฮโซ’ ที่แค่เอ่ยชื่อหรือสกุลก็มีคนรู้จักเต็มบ้านเต็มเมืองมีหรือรายการโทรทัศน์ชื่อดังจะเชิญชวนให้คุณได้รับประสบการณ์แปลกใหม่ (เช่น การโดยสารรถเมล์ การเสิร์ฟ ก๋วยเตี๋ยว การนอนค้างคืนกลางทุ่งพระสุเมรุหรือสนามหลวง ช่วยขายลูกชิ้นปิ้ง ซักผ้าและล้างชาม ซึ่งเป็นงานบ้านที่ไม่ชอบทำสักเท่าไหร่!) เหมือนคุณอานันทวีปได้


หรือแม้หากว่ามีคนทาบทามจริงๆ ว่าให้เราทิ้งบ้านหรือห้องหับที่ไม่ได้สะดวกสบายหรูหรามีระดับ เครื่องอำนวยคามสะดวกประดามีกับเงินติดกระเป๋าไม่กี่บาทเท่าที่มีไปเร่ร่อนไร้บ้านอยู่ตามพื้นที่สาธารณะแล้วจะมีใครสักกี่คนอาสาอยากจะไปเป็นคนจนอยู่บ้าง


สิ่งที่ติดค้างอยู่ในความคิดของผมนั้น ไม่ใช่สิ่งที่พิธีกรในรายการพยายามจะสรุปว่าได้พาชีวิตชายหนุ่มผู้ร่ำรวยไปตกระกำลำบากจนมองเห็นความจริงของชีวิตอย่างไรบ้าง หรือสิ่งที่ตัวเอกของเราบ่นให้ฟังผ่านหน้าจอทีวีชนิดส่ายหัวทำหน้าตาเหนื่อยยากสุดชีวิตว่า การเป็นคนจนนั้นมันไม่ง่ายเอาเสียเลย หรือการที่คนจนจะหาสตุ้งสตางค์ได้ทีละห้าบาทสิบบาทนั้นมันต้องใช้เวลาและความพยายามมากกว่าที่เขาคิด (แต่ผมชอบบริบทของคำว่า ‘น้ำใจ’ ที่เขาเอ่ยถึงในขณะลองใช้ชีวิตแบบจนๆ ว่าเออนะ ไม่ว่ายากดีมีจนถ้าเพียงคนเรามีน้ำใจให้แก่กันสักนิด ชีวิตก็จะน่าอยู่ขึ้น) แต่ประเด็นของเรื่องราวน่าจะอยู่ที่ ‘สิทธิในการเลือก’ มากกว่า


ใช่หรือไม่ที่คนจนคือคนที่ไม่มีตัวเลือกหรือมีสิทธิในการเลือกสิ่งที่ต่างๆ เข้ามาสู่ชีวิตของตัวเองเพื่อให้เกิดวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี แม้แต่ในขั้นปกติสุข อย่าว่าแต่จะให้ดูดีมีระดับกับใครเขาเลย ลำพังแค่ไม่ขาดแคลนปัจจัยพื้นฐาน กินอิ่มนอนอุ่นก็นับว่ายากแล้ว


คุณอานันทวีปที่แต่เดิมก็เกิดมามีฐานะดีร่ำรวย ในชีวิตจริงก็่เลือกสิ่งนั้นสิ่งนี้เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ดีที่สุดอยู่แล้ว พอมาอยู่ในรายการช่วงเรียลลิตี้คนดังของเจาะใจแล้วยังมีสิทธิ ‘เลือก’ อีก ที่ชัดเจนที่สุดคือการเลือกรับบทเป็นคนจน แต่ถ้าเข้าใจความจนหรือคนจนในสังคมจริงๆ แล้ว ย่อมจะรู้ว่าคนจนคือคนอีกที่ถูกลิดรอนตัวเลือกหรือตัดขาดจากสิทธิในการเลือก หรือพูดง่ายๆ - ไม่มีทางเลือกนั่นเอง


น้ำใจที่คนรวยหรือคนที่พอมีอันจะกินตั้งใจจะหยิบยื่นแบ่งปันหลังจากได้ผ่านวีรกรรมของการเลือกที่จะยอม ‘จน’ จึงน่าจะเปลี่ยนแปลงความยากจนแค่ในระดับปรากฏการณ์หรือระดับปัจเจก ชนิดที่เราเดินไปเจอคนจนก็หยิบยื่นห้าบาทสิบบาทหรือมีรอยยิ้มให้อย่างไม่เดียดฉันท์ แต่การที่สังคมจะเดินผ่านความจนหรือรู้จักความจนไปพร้อมๆ กันนั้น ผมคิดว่าเราต้องการมากกว่าน้ำใจ และสิ่งนั้นคือความเข้าใจกันและกันต่างหาก


 

 กลับหน้าแรกประชาไท