Skip to main content

โฆษณา…มารร้าย?

คอลัมน์/ชุมชน


โฆษณามักเป็นเป้านิ่งให้วิพากษ์วิจารณ์ด้านร้ายกันบ่อยๆ เช่นโฆษณาดังต่อไปนี้


 







 


โฆษณาไทยประกันชีวิต....นำเสนอภาพที่รุนแรงเกินไป  โหดร้าย


โฆษณาสมุนไพรดอกบัวคู่ ..... น่าสงสาร ทำร้ายจิตใจคนผิวสี เหยียดผิว


โฆษณาก๊อกน้ำซันวา ..... ขายภาพยั่วยวน ไม่เหมาะสม


โฆษณาหนังแดจังกึม ผู้หญิงที่ใช้ลิ้นจนได้ดี .... ข้อความไม่เหมาะ สองแง่สองง่าม


โฆษณาโปรโมชั่นโทรศัพท์มือถือเครือข่ายต่างๆ ...... สนับสนุนให้ใช้โทรศัพท์มากเกินควรโดยไม่จำเป็น


ฯลฯ


 


 


 


 


 


 


 


 


 


 


 


เมื่อเปิดเข้าไปที่กระทู้ของพันทิปเกี่ยวกับเรื่องโฆษณาก็พบว่ามีความคิดเห็นด้านลบมากมาย


 


 


ทำไมโฆษณาชอบเน้นแต่รูปลักษณ์ภายนอกของผู้หญิงแบบโง่ๆออกมา ยอดขายมันคงขึ้นจริงๆ เลยต้องทำต่อไป ไม่รู้ขอบเขตความพอดี


 


เครื่องสำอาง หลายๆตัวเลย ผมสวย หน้าขาว ผิวขาว รักแร้ขาว ทำยังกะ ดำแล้วมันจะแย่ไปหมด


 


ครีมหน้าขาวตัวดี หลอกกันเห็นๆ สรรพคุณยิ่งกว่าเงาะถอดรูป แถมสร้างค่านิยมผิดๆให้เด็กๆคิดว่าต้องขาวเท่านั้นจึงจะสวย


 


สร้างค่านิยมไร้สาระให้สังคมด้วย แถมเป็น โฆษณาเกินจริงหรือไม่รับผิดชอบสังคม


 


เกลียดโฆษณาที่สื่อเรื่องเพศมากที่สุด


เอะอะอะไรก็ sex โดยไม่ดูว่ามันจำเป็นไหม


 


โฆษณาบัตรรูดปรึ๊ดดดด ดูแล้วแหม อยากรูดบ้าง รูดแล้วเท่ห์ จนไม่ว่า เป็นหนี้เป็นสินไม่ว่า เป็นทาสแบงค์ไม่ว่า ขอให้ได้รูดดดดด


 


โฆษณาพวกมอเตอร์ไซค์ก็ชอบนักเอาสาวๆมาเป็นสินค้าทางเพศ หลายยี่ห้อ


 


โฆษณาประกันชีวิต ที่เอาภาพคนถูกสาย seat belt รัดคอตาปลิ้นลิ้นจุกปาก โขกกระจกไปมา.... มาพร้อมภาพหน้าหม้อรถถูกบี้ยับเยิน โดยไม่คิดว่าเป็นการนำเสนอความรุนแรงถึงผู้สูงอายุ เด็ก และสตรีมีครรภ์หน้าจอ
ฯลฯ


 


ในการวิพากษ์วิจารณ์แต่ละครั้ง โฆษณามักถูกมองในแง่ร้ายเสมอ อาจเป็นเพราะว่า โฆษณาเป็นการพูดผ่านสื่อมวลชน นั่นคือมีผู้ชมเป็นจำนวนมากไม่จำกัดเพศและวัย ใครๆ ก็ดูได้ ใครๆ ก็อ่านได้ ดังนั้นการพูดแต่ละครั้งสามารถสร้างผลกระทบกับสังคมได้ ในประเด็นการนำเสนอ ดังนี้


๑.      ประเด็นที่คาบเกี่ยวกับวัฒนธรรม ศีลธรรม ของเรา โดยเฉพาะประเด็น เรื่องเพศ และความรุนแรง


๒.      ประเด็นการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์


๓.      ประเด็นการโฆษณาเกินจริง


 


เรื่องเพศ และความรุนแรงในโฆษณา


 


ยังจำโฆษณาคาราบาวแดง ชุด นายขนมต้มได้หรือไม่ ฉากการต่อสู้ด้วยแม่ไม้มวยไทย นับเป็นภาพที่มีความรุนแรงไม่น้อย โดยเฉพาะ กับเด็ก คนชราและสตรีมีครรภ์  แต่ก็เป็นโฆษณาที่ประสบความสำเร็จมากๆ กับกลุ่มเป้าหมายของสินค้า


 


 




 


นักโฆษณาเป็นนักโน้มน้าวใจ การโฆษณาที่ได้ผล ต้องทำให้คนเชื่อ และคล้อยตาม ดังนั้นโฆษณาก็ต้องนำเสนอสิ่งที่ดีๆ ของสินค้าที่โฆษณา ประกอบกับ นำเสนอด้วยภาพ ข้อความที่สามารถทำให้คนสนใจ และจำได้ เพราะ เรามักจะซื้อสินค้าที่เราจำยี่ห้อนั้นได้ดี อย่างเช่น ถ้าถามว่าจะซื้อก๊อกน้ำยี่ห้ออะไร เชื่อว่าหลายๆ คนคงตอบว่า ก๊อกน้ำซันวา เพราะจำยี่ห้อได้จากโฆษณา รวมทั้งไม่มียี่ห้ออื่นโฆษณา แต่ไม่ใช่เพราะชอบโฆษณา


 




ประเด็นเรื่องความรุนแรงและเพศนั้นได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์กันมากในด้านความเหมาะสมสำหรับเยาวชน ว่าจะเป็นแบบอย่างที่ไม่ดี ได้เคยทำการวิจัยกับวัยรุ่นมัธยม โดยให้ดูตัวอย่างชิ้นงานโฆษณาที่มีภาพความรุนแรง และภาพที่ค่อนข้างโป๊ (ดังภาพโฆษณาที่นำมาเป็นตัวอย่าง) ได้คำตอบของวัยรุ่นต่อความรุนแรงในโฆษณา เช่น


 


"คิดว่าผมเห็นจนชินก็ได้ตามภาพยนตร์ จึงไม่รู้สึกรุนแรง"


"ภาพยนตร์ก็เคยดูแบบนี้"


และ ความคิดเห็นของวัยรุ่นต่อโฆษณาที่นำเสนอด้านเพศ ภาพโป๊ เช่น


"โฆษณาก็ดูน่าสนใจดี แต่ไม่ชอบ เพราะโป๊เกินไป…โฆษณาแบบอื่นก็ได้ ไม่เห็นต้องทำแบบนี้ ควรเปลี่ยนวิธีการนำเสนอสินค้า"


"มันวาบหวิวและโป๊...มีภาพยั่วยุ กามรมย์ ออกโป๊ ๆ ไม่เหมาะสม"


 


            จากคำตอบดังกล่าวสรุปได้ว่า วัยรุ่นไทยมีวิจารณญาณว่าสิ่งที่นำเสนอในโฆษณาควรแก่การนำไปปฏิบัติ หรือ เป็นแบบอย่างหรือไม่ และจริงๆ แล้ว โฆษณาผ่านสื่อต่างๆ ก็เป็นเพียงช่องทางหนึ่งที่นำเสนอภาพเหล่านี้ และ ไม่ใช่ช่องทางเดียวที่เยาวชนสามารถเข้าถึงได้ ยังมีช่องทางอื่นๆ อีก เช่น ภาพยนตร์ อินเทอร์เน็ต ฯลฯ การจะมาเหมารวมว่าโฆษณาชี้นำสังคมในทางไม่ดี คงไม่ใช่


 


การโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอร์


 


นอกจากนี้ประเด็นที่กล่าวมา ยังมีประเด็นด้านการโฆษณาสนับสนุนการขายสินค้าที่ไม่ดี คือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งมีการห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตั้งแต่ ตี 5 – 4 ทุ่ม และหลังเวลาดังกล่าวอนุญาตให้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์สามารถทำการโฆษณาได้ ในรูปแบบ การโฆษณาเพื่อเสริมภาพลักษณ์องค์กร (Corporate ad.) เท่านั้น ทั้งนี้ก็แสดงให้เห็นว่าโฆษณาต้องมีผลอย่างมากกับการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างแน่นอน รวมทั้งการห้ามโฆษณาบุหรี่ (พวกโลโก้ต่างๆ)ในสื่อทุกสื่ออีกด้วย ประเด็นนี้ทำให้โฆษณาถูกมองว่าเป็นเครื่องมือการสื่อสารที่ส่งเสริมสิ่งที่ไม่ดีอย่างได้ผล แต่จะจริงแค่ไหน โดยส่วนตัวแล้วไม่เชื่อว่าโฆษณาจะมีพลังอำนาจที่จะโน้มน้าวใจขนาดนั้นได้ ไว้ถ้ามีโอกาสทำการวิจัยโดยเฉพาะผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะถามว่าโฆษณามีอิทธิพลที่ทำให้เกิดพฤติกรรมการดื่มได้จริงหรือ ??? หรือมีปัจจัยอื่นๆ เช่น ปัจจัยด้านสังคม ปัจจัยด้านครอบครัว ฯลฯ เข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งถ้าพบว่าเหตุผลหลักที่ดื่มไม่ใช่โฆษณาแล้ว โฆษณาคงจะได้ลดความเป็นมารร้ายของสังคมไปได้บ้าง


 


การโฆษณาเกินจริง


 


ประเด็นการนำเสนอคุณสมบัติสินค้าที่เกินจริงและหลอกลวง ก็เป็นประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากเช่นกัน เช่น โฆษณาเครื่องปรับอากาศที่โฆษณาชอบว่าสามารถช่วยกำจัดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย  ไรฝุ่น ฯลฯ ซึ่งจริงๆแล้วไอ้เจ้าเชื้อโรคต่างๆมันมีเป็น สิบ เป็นร้อยชนิด แต่ในการทดลองของบริษัทผู้ผลิตอาจจะใช้เพียง ไวรัส 1 ชนิด เชื้อแบคทีเรีย1 ชนิด เท่านั้น แต่เวลาโฆษณาก็มาเหมารวมว่ากำจัด ไวรัส แบคทีเรียได้ ให้เข้าใจว่า กำจัดได้ทุกชนิด หรืออย่างเจ้าตัวไรฝุ่นนี่ก็เช่นกัน มันจะอยู่ติดแน่นกับที่นอน ต้องใช้แรงดูดมหาศาลจึงจะหลุดได้ ดังนั้นเครื่องปรับอากาศยี่ห้อไหนก็ทำไม่ได้ตามที่โฆษณา อย่างนี้เขาเรียกว่าโฆษณาเกินจริง 


 


แม้ว่าจะมีหน่วยงานที่คอยรับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภค คือ สคบ.  แต่เรื่องนี้ประชาชนต้องคิดให้ทันโฆษณา อย่าเชื่อตามโฆษณาทุกอย่าง ใช้สินค้าตามคุณสมบัติจริง เครื่องปรับอากาศ ใช้ทำความเย็น ไม่ใช่ทำให้อากาศสะอาด ถ้าอยากได้อากาศสะอาด ต้องใช้เครื่องฟอกอากาศ โฆษณาพยายามสร้างคุณค่าเพิ่มให้กับสินค้า ให้สินค้ามีความคุ้นค่าในสายตาผู้บริโภคเท่านั้น ดังนั้นเราต้องรู้ทันโฆษณาอย่าหลงเชื่อ  และที่สำคัญนักโฆษณาก็ต้องมีจรรยาบรรณโฆษณาตามจริงอย่าบิดเบือนให้ผู้บริโภคเข้าใจผิด


 


ผู้ที่สนใจโฆษณา วันอังคารที่ ๑๓ ธันวาคมนี้ เวลา ๙.๐๐-๑๒.๐๐ น. คณะวารสารศาสตร์ฯ ธรรมศาสตร์ จัดสัมมา เรื่อง โฆษณา...ผู้ร้ายของสังคม..จริงหรือ ? ผู้ร่วมสัมมนา เช่น คุณ ชัยประนิน วิสุทธิผล นายกสมาคมโฆษณาธุรกิจแห่งประเทศไทย คุณ ปิยะ บุญฑริก Executive Creative Director จาก Y&R เป็นต้น งานนี้ไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆค่ะ  สำรองที่นั่งได้ที่  ๐๒-๒๒๑๐๘๓๐


 


 


กลับหน้าแรกประชาไท