Skip to main content

สังคมนิยม ‘รวย’

คอลัมน์/ชุมชน


แทบไม่ทันตั้งตัว  เงิน ‘ล้าน’ ที่ว่าเยอะนักเยอะหนาก็เข้ามาแนบประชิดตัว  เมื่อหลานสาวผู้หวังดี เกิดหยิบยื่นโอกาสออกรายการ ‘เกมเศรษฐีฯ’ มาให้  หลังจากได้ชมรายการโทรทัศน์รายการนี้ พร้อมกันที่บ้านแล้ว ผมเกิดเปรยออกมาให้ได้ยินชนิดทีเล่นทีจริงว่า  ถ้าได้ไปออกรายการนี้คงจะสนุกดี  คำถามที่ถามๆ กันก็เหมือนว่าจะตอบได้  เผลอๆ น่าจะได้เงินรางวัลติดไม้ติดติดมือกลับบ้านด้วยไม่น้อย แล้วหลังจากนั้นเธอก็ไปดำเนินการจนสามารถนำตัวผมไปถึงห้องบันทึกเทปรายการนี้จนได้


 


ผมขออนุญาตไม่เฉลยหรอกนะครับว่าตกลงผมได้ไปเข้าแข่งขันในรายการหรือได้ขึ้นแท่นไปประลองเชาว์ปัญญากับคุณไตรภพ ลิมปพัทธ์ด้วยหรือไม่ เพราะความน่าสนใจของเหตุการณ์ที่หยิบยกมาเล่าสู่กันฟัง อยู่ตรงขั้นตอนก่อนการบันทึกเทปซึ่งผู้ที่ได้รับการติดต่อให้ไปเล่นเกมเศรษฐีฯ นั้นนอกจากจะต้องตอบข้อมูลส่วนตัว การศึกษา ประวัติชีวิตการทำงานที่ค่อนข้างละเอียดแล้ว ทุกคนล้วนจะต้องตอบคำถามคำถามหนึ่งที่ว่า


 


ถ้าได้เงินล้านหนึ่งจะเอาไปทำอะไร"


 


สารภาพตามตรงว่าถึงแม้จะเคยดูรายการนี้มาบ้าง แต่ผมไม่รู้หรือไม่ทันตั้งตัวจริงๆ ว่า ฝ่ายรายการที่โทรฯ มาตั้งคำถามนี้กับเรา ผมจึงเกิดอาการอึกอัก เพราะคิดไม่ออก ไม่เคยคิดไว้มาก่อนว่า ถ้าเงินหนึ่งล้านมากองอยู่ตรงหน้าแล้วจะเอาไปทำอะไร


 


อีกฟากหนึ่งของสายโทรศัพท์เมื่อเห็นผมเงียบไปและอึกอักไม่รู้จะตอบอะไรออกไป จึงรีบเอ่ยสวนออกมาว่า "จะคิดมากทำไมกัน…เงินแค่ล้านเดียว"


 


ซึ่งจริงๆ แล้วผมไม่เพียงแต่ไม่คิดมาก แค่เพียงไม่ทันได้เคยคิดไว้มาก่อนจริงๆ กับตัวเลขเงินมหาศาลที่ถูกเขียนไว้กลางอากาศว่าอาจจะเป็นของเรา ถ้ามีฝีมือและบังเอิญโชคเข้าข้าง…


 


แต่เมื่อผ่านเหตุการณ์นั้นมาแล้ว คำพูดคำนั้นที่ว่า…เงินแค่ล้านเดียว (จะคิดมากทำไมกัน) ก็ยังติดอยู่ในหูของผม  ตั้งแต่เล็กจนโตไม่ว่าจะเก็บหอมรอมริบขนาดไหน ตั้งใจเรียน เรียนจบออกมาประกอบอาชีพทำงาน ทำมาหากินและเก็บออม กระทั่งลงทุนเล็กๆ น้อยๆ จนถึงทุกวันนี้ หากเอาตัวเลขในบัญชีธนาคารและเม็ดเงินที่ข้องเกี่ยวกับการใช้ชีวิตมาไล่เรียง ผมก็ยังรู้สึกอยู่ดีว่าเงินหลักล้านไม่ใช่เรื่องนิดเดียวสำหรับผมและคนหลายๆ คน


 


แล้วเมื่อไรและอย่างไรกันที่ทำให้อีกหลายๆ คนคุ้นชินกับตัวเลขหลักล้าน กระทั่งรู้สึกว่า ‘หนึ่งล้าน’ ยังน้อยเกินไป  ผมคิดว่ามีกระบวนการสร้างความคุ้นชินกับเงินล้านให้คนไทย เพื่อปลุกปั้นสังคมไทยให้กลายเป็นสังคมนิยมความร่ำรวย (หากคิดในมุมนี้ก็ย่อมจะต้องปฏิเสธหรือรังเกียจความยากจน) อยู่หลายทางด้วยกัน ไม่ว่าจะโดยตั้งใจไม่ตั้งใจหรือรู้ตัวไม่รู้ตัวกันอยู่ก็ตาม


 


เรื่องแรกนั้นน่าจะเป็นกระแสข่าวที่ว่ามีคนร่ำรวยจากการถูกหวยถูกล็อตเตอรี่ตามข่าวหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์แทบจะทุกเมื่อเชื่อวัน  และทำท่าว่าตัวเลขของเงินรางวัลที่ปรากฏบนพาดหัวข่าวนั้นนับวันยิ่งเป็นเงินหลายสิบหลายร้อยล้านบาท ยิ่งสามารถทำให้คนอ่านข่าวตาโต ร้องโอ้โฮว่าทำไมถึงได้โชคดีอย่างนี้ ก็ยิ่งดี


 


อีกทางหนึ่งที่พาให้คนไทยมองเงินล้านเป็นเรื่องจิ๊บจ๊อย น่าจะอยู่ที่แคมเปญพิชิตเงินล้านอย่างง่ายดาย รวยเงินล้านแบบฟ้าผ่าจากการกินใช้สินค้าหลายๆ ตัวในท้องตลาดขณะนี้ ซึ่งกำลังแข่งขันกันส่งเสียงว่าสินค้าของตัวให้เงินล้านง่ายกว่าหรือแจกล้านแจกจริง…30 ฝา 30 ล้าน อะไรทำนองนั้น


 


ผมเพียงแต่คิดต่อไปว่าโฉมหน้าทางความคิดของสังคมจะเป็นอย่างไร ถ้าคนในสังคมถูกหล่อหลอมหรือหยิบยื่นแนวคิดให้นิยมความร่ำความรวย หรือมองเห็นเงินล้านว่าอาจได้มาง่ายๆ แบบเหงื่อไม่เคยตกหรือลงมือทำอะไรจริงๆ จังๆ


 


ผมเคยได้ยินคำกล่าวของมหาตมะคานธีถึง ‘บาป 7 ประการ’ ในทัศนะของท่าน ซึ่งข้อหนึ่งมีอยู่ว่า ‘ความร่ำรวยอันเกิดจากการไม่ได้ทำงาน’ ถือเป็นบาปประการหนึ่ง…


 


เรื่องนี้ไม่มีข้อสรุปนอกจากจะบอกว่า ทุกวันนี้ผมก็ยังต้องทำงานและเงินล้านยังเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับผม


 


 

 

กลับหน้าแรกประชาไท