Skip to main content

สยามพารากอน : สะกดทั้งเมืองวันนี้ (จะดีเหรอ?)

คอลัมน์/ชุมชน

 


 


14 ธันวาคม 2548 : 19.40 .


เขียนที่บ้าน


อ้อยเอ๋ย…


 


สาวกแฟชั่นโดยเฉพาะพวกไฮโซไฮซ้อของเมืองไทยมีที่ช๊อปปิ้งเกิดใหม่กลางกรุง (อีกแล้ว) !!!


 


จริงๆ เธอเองไม่น่าจะใช่กลุ่มเป้าหมายของห้างนี้สักเท่าไหร่ แต่ถือว่าเล่าสู่กันฟังแล้วกันจะได้รู้ว่าตอนนี้กรุงเทพเมืองแฟชั่น เอ้ย..เมืองฟ้าอมรของไทยเค้าล่วงหน้าอำเภอโซ่พิสัย หนองคายบ้านเธอไปถึงไหนต่อไหนแล้ว


 


มีห้างใหม่ใหญ่มหึมาชื่อสยามพารากอนเปิดแถวสยามสแควร์เมื่อศุกร์ที่แล้ว ครูไปเลียบๆเคียงๆ ทำตัวกลมกลืนกับพวกไฮโซได้พักใหญ่ก็ทนไม่ไหวต้องออกมาสูดอากาศนอกพื้นที่ห้าง 52 ไร่ มันเบียดคนไม่ไหว ไม่รู้ว่าจะด้วยวัยหรือสุขภาพที่เริ่มแก่แบบ (เสื่อม) โทรม แต่เริ่มมีอาการรับไม่ค่อยได้เวลาเห็นคนเยอะๆแห่แหนกันไปดูของใหม่  (ที่บางทีก็ไม่ค่อยจะเข้าท่าสมราคาคุย!! แต่งานนี้ต้องจำนนว่าใหญ่พอๆกับที่พีอาร์เค้าโม้ไว้)


 


สยามพารากอนเป็นห้างที่รองรับลูกค้ากลุ่ม A+(+) สามารถดึงและดูดเงินในกระเป๋าเราได้ในหลายกิจกรรม เช่นสยามโอเชียนเวิร์ลเป็นอะควาเรียมที่ใหญ่ที่สุด (แต่ของดีไม่มีดูฟรีอยู่แล้ว) ร้านหนังสือคิโนะคุนิย่าในพื้นที่ 2 พันตารางเมตร (อันนี้เข้าท่า) โรงหนังจุ 5,500 ที่นั่ง ไอแม็กซ์อีก 600 ร้านแบรนด์หรูที่เป็นแฟล็กชิปสโตร์ (หมายถึงร้านค้าต้นแบบ) อีกกว่า 250 แบรนด์ดัง ที่จอดรถระบบอัจฉริยะใต้ดินอีก 25 ไร่ เลนโบว์ลิ่งอีก 52 เลน ยังไม่รวมโชว์รูมรถยนต์หรูๆ ร้านเครื่องเพชร (Jewels of Asia) และต้นปีหน้าก็มีกำหนดจะเปิดสยามโอเปร่าเฮ้าส์ที่จุคนได้ 1,800 ที่นั่ง โรงแรมระดับห้าดาวและฟิตเนสระดับหกดาว ฯลฯ (อะไรมันจะขนาดนั้น!!)


 


เธอเอ๋ย..สิ่งที่ดูยิ่งใหญ่นอกเหนือจากร้านแบรนด์ (ดังและหรูจากทั่วโลก แต่แปลกที่ไม่มีคุ้นหูเป็นสินค้าไทยจากภูมิปัญญาชาวบ้าน) ก็คงจะเป็นพิธีเปิดห้างที่ฉลองกันแบบอลังการงานสร้างเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ด้วยเม็ดเงินโฆษณาและค่าจัดงานกว่า 200 ล้านบาท (เสียดายเงินเนอะ!!) ไม่ว่าจะดูทีวี, ฟังวิทยุคลื่นไหนหรือเปิดหนังสือพิมพ์ฉบับไหนก็เห็นแต่ภาพความใหญ่ของสยามพารากอนไปทุกทีทุกที่ เห็นการโฆษณาและประชาสัมพันธ์ห้างหรูแห่งนี้แล้ว "ตะลึงงึง" บอกได้คำเดียวว่า "Oh…Wow!! และ "พระเจ้า จอร์จ" รวมๆ แล้วเป็นการโฆษณาแบบทุ่มเงินไม่อั้น เห็นแล้วคุ้นๆ ว่าน่าจะเป็นกลยุทธ์การทำธุรกิจแบบเดียวกันกับ "HOW COME Strategy !!!" ที่ใช้สาระของคำว่า "เงินไม่อั้น" บวกกับ "คอนเนคชั่น" ให้เนียนๆ ไปจนกลายเป็นเนื้อเดียว จนอดอุทานเป็นเสียงเดียวกันไม่ได้ว่า โอ๊ค! เอ้ย โอ้ว! ฮาวคัม = เป็นไปได้ไง ?? (อ้อยอย่าลืมเตือนให้เก็บเรื่องนี้ไว้คุยกันต่อตอนเจอกัน)


 


อ้อยเอ๋ย..ว่ากันว่าการเปิดตัวของสยามพารากอนในปีนี้จะช่วยเติมเต็มช่องว่างตามนโยบายเมกกะโปรเจ็คกรุงเทพเมืองแฟชั่น จากภาพของตลาดนัดจตุจักรและถนนข้าวสารที่ฝรั่งมักนึกถึงเมื่อมาเที่ยวประเทศไทย จากนี้ไปชื่อของสยามพารากอนจะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ที่ใครๆ ก็อยากมา (ข่าวบอกว่าห้างดังอย่าง Pacific Place หรือ IFC Mall ในฮ่องกง Takashimaya บนถนน Orchard ในสิงคโปร์ Plaza 66 ในเซี่ยงไฮ้ Taipei 101 ในไต้หวัน และ Dubai Mall ในดูไบ กำลังเก้าอี้สะเทือนและสะท้านด้วยแรงดึงดูดมหาศาลของ The Pride of Bangkok ) ได้ยินอย่างนี้แล้วกลับรู้สึกสลด!! แค่คิดว่าอีกไม่นานภาพสวยๆ ของตลาดน้ำหรือตลาดนัดจตุจักรหรือถนนข้าวสารยามค่ำคืนบนโปสการ์ด "Bangkok" เก๋ๆตามร้านหนังสือที่ฝรั่งชอบซื้อจะถูกแทนที่ด้วยภาพลิฟท์แก้ว โดมแก้วหรือสยามโอเชี่ยนเวิร์ล หรือแม้แต่ภาพเพชร 101 กะรัต,รถยนต์ซุปเปอร์คาร์หรือภาพลานจอดรถระบบอัจฉริยะ บอกตรงๆ ว่ามันเป็นเรื่องน่าเศร้าของคนที่กำลัง "เฝ้าดู" ความเป็นไปที่เปลี่ยนแปลงของสังคมที่กำลังถูกโอบอุ้มด้วยเทคโนโลยีและความทันสมัยแบบ "เปลือกๆ"


 


เอาเป็นว่าครูเขียนจดหมายน้อยนี้แลกเปลี่ยนให้ฟังแล้วกันเผื่ออ้อยมีโอกาสเข้ากรุงเทพฯ จะได้คุยเรื่องสยามพารากอนกับเพื่อนๆ รู้เรื่อง ไม่รู้เหมือนกันว่าเรื่องของสยามพารากอนมันจะเป็น "Talk of the Town" ที่เป็นความภาคภูมิใจของคนไทยไปได้นานขนาดไหน แต่สุดท้ายก็อยากชวนคิดอยู่เหมือนกันว่า "The Pride of Bangkok" ในคำว่า "ภาคภูมิ" ของคนกรุงเทพตลอดจนความเป็นไทย กับแหล่งช็อปปิ้งใหม่ในชื่อ "สยามพารากอน" มันจะเกี่ยวหรือมีเอี่ยวกันตรงไหนนอกเหนือจากความเข้าใจที่จำกัดภายใต้กรอบว่า "โลกวัตถุ" "แฟชั่นนิยม" และ "วิถีทุน" กำลังไหลมารวมจนยากจะแยกออกจากสาระความจริงที่เป็น "กระพี้" ของความเป็นไทย


 


วันนี้ที่หมดแล้ว เอาเป็นว่ามากรุงเทพเมื่อไหร่ส่งข่าวด้วย จะชวนไปดูของแปลก…


 


อยากไปดูคนให้อาหาร "ปลาฉลาม" ที่สยามพารากอน!!!


 


.แป๋ม


………………………………………………………


 


เขียนที่... แดนดินถิ่นโซ่พิสัย เมืองหนองคายริมฝั่งลำน้ำโขง...


วันที่ 15 ธันวาคม 48


สวัสดีค่ะอาจารย์…


 


ก่อนอื่นอ้อยต้องขอขอบคุณอาจารย์มากๆ เลยค่ะที่ยังคิดถึงกันและอุตส่าห์ถ่อเอาสังขารที่สุขภาพเริ่มแก่แบบ(เสื่อม)โทรม (อันนี้อาจารย์บอกมาเองนะอ้อยไม่ได้ว่าเลย)  ออกไปสำรวจความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นและนำมาเล่า(แอบผสมโซดาหน่อยๆ)สู่กันฟัง


 


ความจริงอ้อยอยู่ "โซ่พิสัย" ก็ได้ดูทีวี ฟังวิทยุและอ่านหนังสือพิมพ์เจอบ้างเกี่ยวกับสยามพารากอนซึ่งส่วนมากก็รับข้อมูลที่ "สื่อ" เขาคัดเลือกและตัดมาให้เรารู้ ซึ่งมันก็ทำให้แปลกใจอยู่เหมือนกันว่าคนจะแห่แหนไปชื่นชมอะไรนักหนากะแค่ "ห้างสรรพสินค้า" แต่พออาจารย์สาธยายความอลังการงานสร้างของสยามพารากอนให้ฟัง เออ...คนที่เขาชอบความอลังฯ เขาก็น่าจะแห่ไปอยู่หรอก


 


แต่ประเด็นที่มันติดอยู่ในใจจนทุกวันนี้ก็คือทำไมสยามพารากอนต้องเป็น "The Pride of Bangkok" ด้วยไม่เข้าใจจริงๆ ??? เอ...รึว่ามันเป็นเพราะเขาดำเนินกลยุทธ์ "How Come Strategy" จนคนรู้สึกว่ามันเป็นจริงๆ หว่า ฮ่า ฮ่า ฮ่า  เอาเถอะจะด้วยอะไรก็ช่างแต่ประเด็นของเราตอนนี้อยู่ที่ว่า สยามพารากอน "ถูกกระทำ" ให้กลายเป็น "The Pride" ในใจหลายคนแล้ว


 


คิดดูแล้วมันก็น่าน้อยใจแทนตลาดนัดจตุจักร ถนนข้าวสาร ถนนราชดำเนิน สนามหลวง ฯลฯ นะคะที่ที่เหล่านั้นไม่เคยถูกหยิบยกขึ้นมาทำให้เป็น "The Pride of Bangkok หรือ The Pride of  Thailand" กับเขาบ้าง อย่างน้อยน่าจะมีหน่วยงานของรัฐสักที่ทำสถานที่เหล่านั้นให้เป็นที่ภาคภูมิใจของคนไทยทั้งชาติเหมือนที่ Agency บางแห่ง (ขอละไว้ในฐานที่เข้าใจ) ทำให้สยามพารากอนเป็นที่ภาคภูมิใจของใครหลายๆ คน หรือเพียงเพราะว่าสถานที่เหล่านั้นมันไม่ "อินเตอร์" เพียงพอที่คนทั้งโลกจะยอมรับและควรค่ากับการถูกหยิบยกให้เป็นความภาคภูมิใจของไทย (ทั้งชาติ) ได้


 


อ้อยว่ามันแปลกที่เราจะมานั่งรู้สึกภูมิใจในอะไรที่ประเทศอื่นเขาก็มี ตกลงแล้วคนไทย (แต่ขอย้ำว่าไม่ใช่ทุกคน) ก็กำลังภูมิใจในความ "ยิ่งใหญ่กว่าแต่หาเอกลักษณ์ไม่ได้" แค่นี้เองหรือ? โอว์ พระเจ้าจอร์จคนไทยนี้ยอดจริงๆ !! เมืองไทยเราน่าจะสร้างบางสิ่งที่ทำให้คนไทยทั้งชาติมี "ความรู้สึกร่วม" ว่านี่แหล่ะคือความภูมิใจของฉันอย่างมี "เอกลักษณ์" ดีกว่าการสร้างในสิ่งที่คิดกันเอาเองว่าเป็นสากลและมุ่งทำให้มันเป็น "ที่สุด" หรือเหนือกว่าคนอื่น แต่สุดท้ายแล้วมันก็เป็นเพียงความเจริญทางวัตถุที่ปราศจากความเป็น "เรา" ที่สำคัญนักท่องเที่ยวจากประเทศที่พัฒนาแล้วที่ดั้นด้นมาเมืองไทยก็ไม่ได้อยากดูห้างสรรพสินค้าสำหรับลูกค้าระดับ A+(+) หรอกเพราะบ้านเขาคงดีกว่าเราหลายเท่า!!


 


ตายแล้ว...พูดมาทั้งหมดนี่ดูเหมือนสยามพารากอนจะไม่มีดีในสายตาอ้อยเลยเน้ออาจารย์ อย่างว่าแหละอ้อยอาจจะไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายของเขา เลยไม่ค่อยจะมีอารมณ์ร่วมสักเท่าไหร่ สรุปแล้วมันก็เป็นสิทธิส่วนบุคคลว่าใครจะให้อะไรเป็น "The Pride" ในใจเขา อย่างคนหนองคายเองก็มีบั้งไฟพญานาคเป็น "The Pride" ในใจเราเหมือนกัน ฮ่า ฮ่า ฮ่า !!


 


เอาเข้าจริงอ้อยก็เริ่มมองเห็นข้อดีของสยามพารากอนขึ้นมาบ้างแล้วล่ะอาจารย์ มันก็ดีไปอีกแบบนะคะถ้าคนแห่ไปช็อปกันที่สยามพารากอนกันเยอะๆ ผู้ถือหุ้นใหญ่อย่างตระกูล "อัมพุช" (เจ้าของเครือเดอะมอลล์) เขาจะได้ร่ำรวยๆ ขึ้นจนเบียดเศรษฐีอันดับต้นๆ ของเมืองไทยได้ ใครจะไปรู้ว่าตอนนี้ ไม่ว่าจะเป็น "ชินวัตร" , "ศิริวัฒนภักดี" , "มาลีนนท์" ฯลฯ อาจจะกำลังร้อนๆ หนาวๆ อยู่ก็ได้


 


อาจารย์คะ อ้อยว่าจดหมายฉบับนี้คงต้องจบไว้แค่นี้แล้ว สายแล้วถึงเวลาที่ต้องไปช่วยตาปล่อยวัวออกจากคอก ตอนนี้อากาศที่หนองคายดีมาก อากาศเย็นชวนให้เปลี่ยวใจได้อย่างดีเชียวล่ะ อะฮ้า !! เอาเป็นว่าวันไหนจะเข้ากรุงเทพฯ จะแจ้งให้ทราบอย่างด่วนเลยค่ะ อาจารย์จะได้จัดตารางให้ว่างแล้วพาอ้อยไปดู "ของแปลก" ไปดูคนให้อาหาร "ปลาฉลาม" ที่สยามพารากอนกัน !!! … อากาศที่กรุงเทพก็คงเริ่มเย็นแล้วอาจารย์รักษาสุขภาพด้วยนะคะ


 


คิดถึงอาจารย์ คณะของเรา และตึกโดมทุกวันค่ะ


 


                                                                                                            อ้อย ^0^


 


หมายเหตุผู้เขียน


ขอขอบคุณ co-writer คุณรักสุดาณี มูลเพ็ญ ผู้สื่อข่าว e-finance.com อดีตนักศึกษาวารสารศาสตร์ฯ ที่มาช่วยตอบจดหมายต่อความคิดเกี่ยวกับสยามพารากอนให้ใหญ่ขึ้น


 


 

 กลับหน้าแรกประชาไท