Skip to main content

บ้านของคนรุ่นใหม่

คอลัมน์/ชุมชน

ผมนั่งอยู่ในบ้านและกำลังพลิกดูหนังสือ ‘บ้าน’ หรือที่แท้จริงคือ นิตยสารตกแต่งบ้าน ซึ่งมีเรื่องราวและข้อเขียนถึงการตกแต่งบ้านทั้งภายนอกและภายใน  การจัดสวนหรือกระทั่งการเลือกซื้อหาข้าวของอย่างไรให้เข้ากับบ้าน เพื่อการทำให้บ้านสวยงามน่าอยู่ มีมุมน่านั่งน่าใช้สอย แม้กระทั่งการทำห้องน้ำ ห้องครัวให้ดูมีเรื่องราวแตกต่างมากไปกว่าหน้าที่ธรรมดาสามัญ


 


ในบ้านของผมเองไม่ได้มีนิตยสารบ้านที่ว่ามาอยู่เล่มเดียวหรือเพียงหัวหนังสือใดหัวหนังสือหนึ่ง  ค่าที่ในปัจจุบันมีนิตยสารเหล่านี้อยู่หลายหัวให้เลือกอ่าน เช่น Elle decoration, ROOM, Home& Décor, House Beautiful และ Living etc. เป็นต้น และส่วนมากออกกันเป็นรายเดือน แต่ละเดือนพอมีเล่มใหม่วางแผงก็มักจะมีเรื่องหรือภาพที่ดึงดูดใจชวนให้ซื้อหามาอ่าน ด้วยหวังว่าอาจจะช่วยให้มีรสนิยมวิไลในการทำบ้านให้สวยงามน่าอยู่ขึ้นมาบ้าง


 


ด้วยสมมุติฐานเดียวกัน ผมเดาเอาว่าทั้งผมและผู้อ่านหลายท่านเองก็คงถูกแวดล้อมอยู่ด้วยหนังสือ (นิตยสาร) ว่าด้วยการมีบ้านสวยงามหลากหลายรูปแบบไม่น้อยไปกว่ากัน


 


จริงอยู่การเสพรับนิตยสารเฉพาะทางเรื่องใดเรื่องหนึ่งในภาวะปัจจุบันเป็นเรื่องที่ธรรมดาเกินกว่าที่จะนำมากล่าวถึง  เรามีนิตยสารและคนที่ติดตามอ่านนิตยสารว่าด้วยภาพยนตร์ ดนตรี การใช้ชีวิตและการดูแลสุขภาพ  นิตยสารผู้หญิงและผู้ชาย กระทั่งกีฬาที่ฉีกออกไปเป็นเรื่องกอล์ฟหรือฟุตบอลก็ว่ากันไป  แต่ใครจะปฏิเสธได้ว่านิตยสารบ้านไม่ใช่เซ็คเม้นต์หรือส่วนแบ่งของตลาดนิตยสารบ้านเราที่โตวันโตคืน และมีการออกหัวหนังสือใหม่ๆ อยู่เสมอ ขณะที่เล่มที่มาก่อนก็มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเพื่อยึดฐานคนอ่านเอาไว้ให้เหนียวแน่น


 


ทั้งนี้ไม่นับรวมนิตยสารเฉพาะทางประเภทอื่นๆ (เช่น นิตยสารผู้หญิงหรือท่องเที่ยวไลฟ์สไตล์) ที่มีคอลัมน์ประจำ หรือการให้น้ำหนักกับเรื่องราวของบ้าน การตกแต่งบ้าน บ้านคนดังหรือบ้านที่โดดเด่นด้วยสไตล์และไอเดียที่น่าเอาเยี่ยงอย่างมาฝากผู้อ่าน ไม่เว้นแม้แต่รายการโทรทัศน์อีกหลายรายการที่จัดแบ่งช่วงเวลาการนำเสนอไว้เพื่อเรื่องนี้โดยเฉพาะหรือแม้กระทั่งจัดเป็นรายการเกี่ยวกับบ้านโดยตรง


 


จึงไม่น่าแปลกใจที่ ‘ใครๆ ก็ต่างชื่นชอบบ้านสวย’  จากภาพสวยๆ ที่ปรากฏบนหน้านิตยสารหน้าแล้วหน้าเล่า  เมื่อเราต่างก็ถูกแวดล้อมด้วยบรรยากาศของสื่อดังที่ว่ามาและยังจากนิตยสารบ้านเล่มแล้วเล่มเล่าที่เราจัดหามาดูยั่วน้ำลายและย้อมใจตัวเองอยู่ทุกวี่วัน


 


ผมพบความจริงที่เปลี่ยนแปรไปจากการพลิกหนังสือบ้านอยู่ในมือว่า คนรุ่นเรา (หมายถึงคนที่เติบโตหาเลี้ยงชีวิตและว่ายวนอยู่ในกระแสของการค้นหาตัวเองและการว่ายน้ำขึ้นไปสู่ฟากฝั่งของความสำเร็จ)  มอง-คิด-และทำในเรื่องราวของบ้านแตกต่างออกไปจากรุ่นพ่อรุ่นแม่ของเราเอง


 


ตรงนี้ไม่รู้จะกล่าวได้หรือไม่ว่า เราพอจะมองเห็นรสนิยมหรือความเป็นไปในความต้องการบ้านของคนรุ่นใหม่ว่า พวกเขา (และเราเอง) ต้องการบ้านมากกว่าความหมายของการที่อยู่อาศัย ต้องการบ้านที่มากกว่าความมั่นคงแข็งแรงอันจะสืบเนื่องไปถึงการเป็นสถานที่ลงรากฐานอนาคตของทายาท และมากกว่าความสวยงามซึ่งเป็นความพึงพอใจของผู้อยู่อาศัย


 


‘บ้าน’ อันเป็นเรื่องราวที่ปรากฏอยู่บนหน้านิตยสารเล่มแล้วเล่มเล่า กลายเป็นเครื่องมือในการเสริมส่ง ‘อัตตา’ ของผู้อยู่อาศัยด้วยคำว่ามาตรฐาน (จากการเลือกใช้) คำว่าสไตล์ (จากการเลือกรับและทำ) และคำว่าดูมีระดับ (จากการมองข้าวของและองค์ประกอบของบ้านในระดับปกติธรรมดาที่เป็นอยู่ว่าไร้ระดับ)  ทั้งนี้ทั้งนั้นผมคงไม่อาจก้าวล่วงหมายความว่า ผู้อ่านนิตยสารบ้านทุกคนจะเป็นเช่นที่ผมว่ามาทั้งหมด


 


ผมเพียงแต่นึกว่า เราทำบ้าน มองเห็นตัวบ้าน และอยู่อาศัยอยู่ในบ้าน แต่เรา "อยู่" บ้านนั้นจริงๆ หรือว่าถูกทำให้ต้องอยู่ หรือผูกอยู่กับบ้านด้วยค่านิยมอะไรบางอย่างนอกเหนือจากตัวเอง  บ้านที่สวยใช่แล้วล่ะหรือว่าจะหมายถึงบ้านที่มีความสุข  หากปราศจากข้อตกลงว่าจะอยู่ร่วมกันระหว่างผู้คนและชีวิตต่างๆ กับบ้านอันเป็นอิฐหินดินทรายธรรมดา เพื่อค้นหาความหมายของการอยู่อาศัยที่แท้จริง