Skip to main content

พนาโภคภัณฑ์

คอลัมน์/ชุมชน

หากใครได้ชมการสนทนาเรื่องป่าชุมชน ใน "ถึงลูกถึงคน" จะพบว่า ผู้คนจำนวนไม่น้อยส่งข้อความเข้าไปเชียร์ให้พี่น้องประชาชนอยู่ในป่า มั่นใจว่าคนที่อยู่ในป่า จะรักษาป่าได้


 


แสดงให้เห็นว่า การต่อสู้ของคนเล็กคนน้อยมากว่าทศวรรษ เพื่อให้ได้สิทธิในทางกฎหมายในการอาศัยอยู่ในป่าในดง เริ่มเป็นที่เข้าใจและยอมรับของประชาชนมากขึ้น


 


คงเว้นแต่นักการเมือง ข้าราชการบางกลุ่มบางคน โดยเฉพาะคุณยงยุทธ ติยะไพรัช รมว.ทรัพยากรฯ ที่ดูเหมือนยังเชื่อว่าชาวบ้านอยู่ในป่า แล้วต้องทำลายป่า ต้องเอาชาวบ้านออกจากป่าไปให้ได้ (จะให้คนนับล้านอพยพไปอยู่เชียงราย หรือสันกำแพงดี)


 


คนกลุ่มนี้จึงเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชน ในขั้นการพิจารณาร่วมของกรรมาธิการสองสภา โดยมีการกำหนด "เขตอนุรักษ์พิเศษ" ขึ้นมา ให้เป็นเขตที่ห้ามประชาชนทำป่าชุมชน


 


ประเด็นก็คือว่า รัฐมนตรีมีอำนาจตีความคำว่า "เขตอนุรักษ์พิเศษ" ได้อย่างไพศาลมาก ตั้งแต่พื้นที่ป่าสมบูรณ์ มีความหลากหลาย/เปราะบางทางชีวภาพ ฯลฯ ตรงไหนถูกชี้ให้เป็นเขตอนุรักษ์พิเศษ ประชาชนต้องออกไป


 


การพิจารณาร่างกฎหมายป่าชุมชนที่ดูให้โอกาสแก่ประชาชนมาโดยตลอด แล้วจู่ๆก็ประกาศเขตอนุรักษ์พิเศษลงไปในโค้งสุดท้ายของการพิจารณาอย่างไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย จึงเป็นการขัดหลักการของป่าชุมชนโดยสิ้นเชิง และยังขัดต่อหลักการของกฎหมายฉบับนี้ที่ต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการรักษาป่าด้วย


 


ประเด็นที่อยากชวนคุยก็คือว่า จริงหรือไม่ที่ชาวบ้านอยู่กับป่า จะรักษาป่าไม่ได้?


 


ความจริงแล้วพื้นที่ป่าของประเทศไทยลดน้อยถอยลงเป็นลำดับ ว่ากันว่าเหลือเพียงร้อยละ ๒๕ จากที่เคยมีถึงร้อยละ ๘๐ นั่นส่วนหนึ่งเป็นเพราะรัฐโดยกรมป่าไม้ให้สัมปทานทำไม้แก่ธุรกิจเอกชนมาเกือบร้อยปี บางรายได้สัมปทานแล้ว ยังลักลอบตัดเกินสัมปทาน เช่น การตัดไม้สวมตอ


 


อีกส่วนหนึ่งก็คือ "ฝีมือ" ของเจ้าหน้าที่ เช่น ป่าไม้ ตำรวจ ฯลฯ ที่นอกจากไม่สามารถควบคุมการทำไม้เถื่อนได้แล้ว บางคนยังถูกสงสัยเอาด้วยว่าอาจมีเอี่ยวกับพ่อค้าไม้เถื่อนซะด้วย


 


และที่สำคัญก็คือประชาชนนี่แหละที่เข้าไป "ทำลายป่า" เพราะถูกผลักดันจากนโยบายการพัฒนาประเทศ ที่ให้เปลี่ยนวิถีการหาอยู่หากิน จาก "ปลูกในสิ่งที่กิน กินในสิ่งที่ปลูก" "มีเหลือจึงขาย" กลายมาเป็น "ปลูกพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยวเพื่อส่งออก"


 


ข้าวพันธุ์วิทยาศาสตร์ถูกแนะนำมาแทนข้าวพันธุ์พื้นเมือง ปอ อ้อย มัน ข้าวโพด ฯลฯ เรียงรายเป็นเอกภาพอยู่เต็มทุ่ง


 


ถนนหนทาง รถไฟ และท่าเรือ คือหลักฐานของนโยบายฯดังกล่าว เพื่อให้พ่อค้าคนกลางเอาผลผลิตจากไร่นาออกไปขายยังต่างประเทศ ซึ่งผู้ซื้อ และพ่อค้าคนกลางเป็นผู้กำหนดราคาสินค้า


 


ทำไปทำมาพ่อค้ายิ่งรวย เกษตรกรยิ่งจน ต้องฟันป่าขยายพื้นที่ทำกิน ต้องระดมทุนซื้อปุ๋ยซื้อยามาใส่ เพื่อสูบความอุดมสมบูรณ์จนหยดสุดท้ายมาจากแม่พระธรณี แล้วหาเงินไปส่งพ่อค้า หารายได้ไปให้เสี่ยขายเคมีเกษตร และหาดอกไปส่ง ธกส.ในที่สุด       


 


นโยบายรัฐบาลแบบนี้ ต่อให้มี "หนึ่งตำบล หนึ่งอธิบดีกรมป่าไม้" ก็ยังยากที่จะรักษาป่าไว้ได้


 


อย่างไรก็ตาม ในระยะสองถึงสามทศวรรษมานี้ ชาวบ้านเริ่มตั้งคำถามกับนโยบายรัฐที่ทำให้ตัวเองเหนื่อยขึ้น มีหนี้ท่วม และสิ่งแวดล้อมเสียหาย ชาวบ้านจึงมองหาทางเลือกใหม่ให้แก่ตัวเอง เช่น ทำเกษตรผสมผสาน ทำธุรกิจชุมชน (แบบเอื้ออาทรกันจริงๆ ไม่ใช่โอทอป) และช่วยกันฟื้นฟูสภาพป่าขึ้นมา เพราะป่าก็คือซูเปอร์มาร์เก็ตของชุมชน เปิดฟรี ๒๔ ชั่วโมง ไม่มีวันหยุด อยากกินอยากได้อะไรก็ไปเก็บกิน เก็บใช้จากป่าของชุมชน โดยมีกติกากำกับการใช้ป่าอย่างเข้มงวด


 


ไม่มีเงิน แต่ไม่มีอด ได้อาหารสดๆ สูดอากาศดีๆ มีคุณภาพชีวิต – น่าอิจฉาไหม?


 


ไม่เพียงเท่านั้น ชาวบ้านยังมีส่วนเป็นกำลังสำคัญในการเฝ้ารักษาป่า เพราะเขาจะไม่ยอมให้ใครหน้าไหนเข้าไปทำลาย หรือใช้ "ซูเปอร์ฯ" อย่างล้างผลาญได้ ชาวบ้านจึงเป็นเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ที่รักษาป่าได้อย่างดี โดยรัฐบาลไม่ต้องจ้างสักบาท


 


ปรากฏการณ์ป่าชุมชนที่กล่าวถึงนี้ เกิดขึ้นทั่วภูมิภาคของประเทศไทย ตั้งแต่เชียงราย เชียงใหม่ น่าน ตาก พิษณุโลก สกลนคร นครพนม โคราช อุบลฯ กาญจนบุรี เรื่อยไปถึงยะลา 


 


ไม่เชื่อคุณยงยุทธกับทั่นๆทั้งหลาย ขอยืมแอร์ฟอร์ซวันของนายใหญ่ ขี่ไปดูได้ รับรองเห็นป่าชุมชน ไม่มีผักชีสักต้นเดียว


 


อย่างไรก็ตามมีคนกระซิบกระซาบให้ฟังว่า มีป่าชุมชนตัวเป็นๆ กระจายอยู่ทั่วเมืองไทยแบบนี้ มีหรือที่ทั่นๆ จะไม่รู้ เพียงแต่อาจต้องทำเป็นไม่รู้ เพราะ "หวังผล" บางอย่างรึเปล่า


 


ลองจับภาพสองภาพนี้ดู... ภาพแรก กรรมาธิการร่วมสองสภามีมติรับตามข้อเสนอของคุณยงยุทธให้เพิ่ม "เขตอนุรักษ์พิเศษ" ลงในร่างกฎหมาย เมื่อวันที่ ๒๒ กันยายน ๒๕๔๘ ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ การพิจารณาร่างกฎหมายก็ดูจะให้โอกาสแก่ประชาชนในการทำป่าชุมชนมาโดยตลอด แม้จะเพิ่มความเข้มงวดขึ้นบ้างในบางประเด็นก็ตาม


 


ภาพที่สองเกิดขึ้นเมื่อ ๑๗ พฤศจิกายน เมื่อคุณยงยุทธเปิดเผยแผนปฏิรูปป่าไม้ของประเทศไทย โดยมีสาระสำคัญคือจะทำป่าเป็น ๓ เขต ได้แก่ ()เขตหวงห้าม พวกต้นนํ้าลำธาร () เขตบริการ เพื่อการวิจัยและท่องเที่ยว และ () เขตป่าเศรษฐกิจ เพื่อกระจายการถือครองที่ดินให้แก่ประชาชน


 


ที่น่าสนใจก็คือ ในพื้นที่ป่าเศรษฐกิจนี้จะวางแผนเพื่อกำหนดพืชที่จะปลูกในพื้นที่ต่างๆด้วย


 


เห็นนายห้างผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรยืนลูบคางสบายใจ หัวร่อต่อกระซิกกับนายหัวและเครือญาติไหมนั่น...