Skip to main content

ว่าด้วยเรื่องป้ายโฆษณาหาเสียง

คอลัมน์/ชุมชน

ใกล้วันเลือกตั้งเข้ามาทุกที ขอร่วมสมัยเขียนเรื่องนี้กับเขาบ้างก็แล้วกัน ...ป้ายโฆษณากลางแจ้งนับเป็นสื่อยอดนิยมของการหาเสียง เป็นเพราะสามารถเจาะกลุ่มเป้าหมายได้เฉพาะเขตเลือกตั้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งมี Impact สูงเพราะมีขนาดใหญ่ เห็นได้ชัดเจน ทำให้ตอนนี้ใช้รถใช้ถนนไม่ว่าจะเส้นทางไหนในกรุงเทพฯ หันทางซ้าย หันทางขวา ก็เจอะเจอกับป้ายโฆษณาเต็มไปหมด มีทุกขนาดไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ ซ้ำแหงนหน้าก็เจอบิลบอร์ดอีกเต็มกรุง ใครผ่านไปทางเขตที่มีการแข่งขันกันสูสี คู่คี่ อย่างเช่น ดอนเมือง ก็จะเห็นป้ายติดถี่ยิบทุกเสาข้างทางประกบซ้าย ประกบขวา มีสีสันดีแท้


แต่การติดป้ายมาก ๆ ถี่ ๆ จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ประชาชนไปเลือกพรรคนั้น ๆ หรือเปล่า อันนี้ไม่แน่ใจ...ก็ต้องรอดูผลหลังวันที่ 6 กุมภาพันธ์นี้อีกที

มองดูป้ายหาเสียงตอนนี้ ทำให้อดนึกถึงป้ายหาเสียงสมัยก่อน (ซัก 10 ปีที่แล้ว) ไม่ได้ว่ามีการเปลี่ยนไปมากทีเดียว สมัยก่อนป้ายหาเสียงของผู้สมัครจะเป็นในแบบที่ทำให้ดูน่าเชื่อถือ โดยเฉพาะเมื่อก่อนไม่ได้มีข้อกำหนดว่าผู้สมัครเป็นผู้แทนต้องจบปริญญาตรี ดังนั้นการศึกษาจึงนับเป็นจุดขายที่ดี ใครได้ปริญญา รูปบนป้ายหาเสียงจะต้องเป็นรูปหน้าตรง (…และไม่ยิ้ม เพื่อให้เห็นหน้าชัดเจนและดูจริงจัง ซึ่งจะว่าไปแล้วส่วนมากจะคล้ายรูปถ่ายในบัตรประชาชน) และสวมชุดครุยรับปริญญาของสถาบันต่าง ๆ เพื่อบ่งบอกระดับความรู้ให้ดูน่าเชื่อถือ หรือใครเคยรับราชการ หรือเคยเป็นผู้แทนเก่า รูปบนป้ายก็จะแสดงยศ ตำแหน่งนั้น ๆ ซึ่งก็ยังพบอยู่บ้างตามที่ได้ผ่านไปยังบางเขต



 


รูปแบบป้ายในลักษณะนี้ในสถานการณ์ปัจจุบันอาจไม่ค่อยน่าสนใจเท่าใดนัก มองแล้วก็ดูเฉย ๆ เพราะป้ายโฆษณาแบบนี้แม้จะทำหน้าที่สมบูรณ์ในการบอกว่า ผู้สมัครเป็นใคร และมีประวัติ มีการศึกษาอย่างไร แต่ยังไม่ดึงดูดใจเพียงพอให้สะดุดตา ทั้งนี้เพราะป้ายบนถนนมันเยอะเหลือเกิน


ดังนั้น การออกแบบป้ายหาเสียงให้ดูสะดุดตานับว่ามีความสำคัญเพิ่มมากขึ้น


มาดูป้ายหาเสียงที่เรียกได้ว่าเป็นที่สะดุดตาในสมัยนี้บ้าง จากที่ลองขับรถไปในหลายๆเขตพบว่าป้ายหาเสียงของผู้สมัครพรรคต่างๆที่เด่นสะดุดตา น่าสนใจ จะมีรูปแบบหลากหลาย มองดูแล้วอาจแบ่งป้ายหาเสียงเป็น 2 ลักษณะ ตอบโจทย์การเลือกตั้งว่าให้เลือกพรรค และบุคคล เพราะฉะนั้นป้ายหาเสียงของพรรคต่าง ๆ จึงมีทั้ง ป้ายบอกนโยบายของพรรคการเมือง และป้ายของผู้สมัครในเขตต่าง ๆ ซึ่งป้ายของพรรคการเมืองมักจะเป็นรูปหัวหน้าพรรคในอิริยาบถต่าง ๆ หรือเป็นข้อความโฆษณาบอกนโยบายพรรค ซึ่งป้ายโฆษณาจะเน้นที่สีที่เป็นเอกลักษณ์ของพรรคอย่างชัดเจน เช่น พรรคเบอร์ 4 ก็จะเน้นสีแดงและน้ำเงิน พรรคเบอร์ 9 ก็เน้นสีฟ้าและเขียวอ่อนส่วนพรรคเบอร์ 11 จะเน้นสีแดง



 


ส่วนป้ายโฆษณาหาเสียงของผู้สมัครในแต่ละเขตก็จะต่างกันไป จากที่ลองขับรถไปในหลาย ๆ เขต และพบว่าสะดุดตาก็มีป้ายที่ถ่ายภาพมาให้ดูนี้ ที่ใช้การอุปมาอุปมัย เห็นภาพแล้วข้อความอ่านแล้วต้องคิดต่อว่ามันแปลว่าอะไร แถมยังไม่มีรูปผู้สมัครอีกต่างหาก แหวกแนว และโดดเด่นสะดุดตามาก แต่ก็ไม่รู้ว่าประชาชนในเขตนั้นจะเข้าใจได้แค่ไหน



นอกจากนี้พบว่า รูปของผู้สมัครบนป้ายหาเสียงก็ปรับเปลี่ยนไป ดูสวยดูหล่อยิ้มแย้มเป็นนายแบบนางแบบกัน น่าเลือกไปหมด ที่สำคัญทำให้รู้สึกว่าผู้สมัครดูเป็นกันเองกับเรามากขึ้น (เขียนถึงตรงนี้ทำให้นึกถึงป้ายหาเสียงของผู้ว่า กทม. คราวที่แล้วที่มีป้ายคุณเฉลิมอุ้มเด็ก….)



นอกจากนี้การใช้การใช้หัวหน้าพรรคหรือแกนนำพรรคที่เป็นที่รู้จักและนิยมชมชอบของประชาชน มาทำรีทัช (Retouch) ประกบกับผู้สมัครในเขตต่าง ๆ ก็เป็นที่นิยมมากเช่นกัน คือถ้าประชาชนรักหรือนิยมชมชอบหัวหน้าพรรคหรือแกนนำของพรรค ก็อย่าลืมไปเลือกผู้สมัครของพรรคในเขตนั้น ๆ ด้วยก็แล้วกัน (คล้าย ๆ กับการนำดารามาโฆษณาสินค้าต่าง ๆ ที่เราเรียกกันติดปากว่าใช้พรีเซนเตอร์นั่นแหล่ะ)


 



นอกจากป้ายต่าง ๆ ที่กล่าวมา บนถนนก็ยังมีสื่อเคลื่อนที่วิ่งไปมาให้ทั่ว ยิ่งตอนนี้ใกล้วันเลือกตั้งเข้าไปทุกที ก็มีขบวนรถหาเสียงของผู้สมัครพรรคต่าง ๆ ตกแต่งสีสันสะดุดตาวิ่งกันเต็มไปเมืองหมด อีกทั้งยังมีสื่อตามท้ายรถตู้สายต่าง ๆ อีกด้วย แต่จะสะดุดตามากแค่ไหน ก็อย่ามัวแต่ดูเพลินจนลืมไปใช้สิทธิ์กันวันที่ 6 กุมภาพันธ์นี้ก็แล้วกัน