Skip to main content

การเดินทางของเวลา

คอลัมน์/ชุมชน




 


ศาลาสี่มุมสัปดาห์นี้  ขออนุญาตนำเรื่องราวส่วนตัวมาเล่าสู่กันฟัง


 


หลังปีใหม่อะไรๆ ก็ดูจะใหม่ไปหมด ไม่ทราบท่านผู้อ่านจะเห็นด้วยหรือไม่ว่าข้อดีของช่วงเทศกาล นอกจากได้หยุดกันยาวๆ เราก็มักนึกถึงความเพลินอภิรมย์ในเวลาแห่งความสุข


 


โดยทำให้หยุดพักและตั้งใจจะลืมนึกถึงวันธรรมดา ที่ใจเรามักเป็นทุกข์…


 


ปีใหม่ที่ผ่านมาพยายามเติมความรื่นรมย์ให้ชีวิตด้วยการมอบหนังสือนิทานธรรมะเอกเขนก ของคุณขวัญ เพียงหทัย ผู้เขียน "ธรรมะรอบกองไฟ" และ "ช้อปปิ้งบุญ" ให้กับคนข้างๆ ที่ต่างเป็น "ที่รัก" รอบๆ ตัว  นับเป็นความสุขเล็กๆ ที่รวมกันแล้วทำให้หัวใจของเราพองโตได้นานอยู่เหมือนกัน


 


ช่วงรอยต่อเคาน์ดาวน์ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ก็ปลีกวิเวกไปเติมความสุขรอบสองด้วยการเกาะกระแสวัยรุ่นไปสวดมนต์ (ข้ามปี) ที่ศูนย์วิปัสสนาแห่งหนึ่งที่เน้นการปฏิบัติตามแนวทางสำรวมกายวาจาใจให้อยู่กับสิ่งที่เรียกว่า "ปัจจุบัน" ไม่ให้ล้วงอดีตที่ผ่านไปและไม่เอื้อมอนาคตที่ยังมาไม่ถึง ซึ่งเชื่อเหลือเกินว่าเป็นอีกหนึ่งวิธีที่นำเราไปสู่การ "พักใจ" แบบยั่งยืน


 


ที่สำคัญได้เอาบุญมาฝากทุกท่านอย่างทั่วถึง!!


 


ปีหนึ่งพ้นไป…เวลาก็ติดปีกบินผ่านเราไปเร็วโดยแท้ เมื่อเวลาหมุนเร็ว ตัวเลขที่บ่งบอกอายุก็ล่วงเลยผ่านไปมารวดเร็วไม่แพ้กัน


 


พ้นปีใหม่ วันของเด็กก็กำลังจะมาถึง ทุกวันเสาร์ที่สองของเดือนมกรา สังคมให้ความสำคัญกับประเด็น "เด็กๆ" กันอย่างเหลือเฟือจนลืมเลือนอีกวัยสำคัญในสังคมเช่นวัยเกษียณหรือสูงอายุ


 


ชวนสังเกตด้วยตามีความรู้สึกว่าผู้สูงอายุมีมากขึ้นกว่าแต่ก่อน สัดส่วนของผู้สูงอายุกับวัยอื่นๆ มีเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว มีการคำนวณไว้ว่าในปี 2553 และ 2563 จำนวนประชากรผู้สูงอายุในประเทศไทยจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 11.36 และ 15.28 ของประชากรทั้งหมดตามลำดับ


 


ทราบข้อมูลแล้วทำให้นึกถึงพ่อ แม่ ครูบาอาจารย์และมิตรรักรุ่นพี่ รุ่นน้า อยู่หลายคน อีกไม่นานคนรู้จักส่วนใหญ่ก็จะพุ่งเข้าสู่วังวนของชีวิตในวัยชราแบบไม่ช้าอย่างที่คิด


 


นักวิชาการฝรั่งด้านสุขภาพจิตท่านหนึ่งให้คำจัดความของผู้สูงอายุไว้ว่า "A feather of old age is the atrophy of the ability to project oneself into the future" แปลเป็นไทยแบบกระท่อนกระแท่นได้ว่าคือ "ผู้ที่กระบวนการคิดถึงอนาคตข้างหน้าเหี่ยวเฉาลง"


 


"เหี่ยวเฉา" ในความหวังที่อยากจะมีชีวิตอยู่ เพราะหาคำตอบได้ไม่ถูกใจว่าจะอยู่ไปทำไมและเพื่อใคร กลุ่มผู้สูงอายุมักเป็นช่วงวัยที่เผชิญกับภาวะความสูญเสียสิ่งสำคัญของชีวิต ทั้งการสูญเสียคู่สมรสจากการตาย สูญเสียบุตรที่แยกย้ายไปประกอบอาชีพตามวิถีทางใครทางมัน แม้แต่การสูญเสียสถานะทางสังคมที่เคยมีและเคยเป็นในอดีต การสูญเสียเหล่านี้ทำให้ผู้สูงอายุเกิดความรู้สึกว่างเปล่าจากชีวิตที่เหลืออยู่


 


และ "เหี่ยวเฉา" ที่ไม่พร้อมจะเข้าสู่ภาวะ "เตรียมใจก่อนจากไป" เป็นปัจจัยหนึ่งที่คุกคามผู้สูงอายุให้เป็นคนขี้หงุดหงิด ใจน้อย กังวลกับความเปลี่ยนแปลงและความผิดปกติของร่างกายและแสดงความกังวลในแบบของการปฏิเสธ พบว่ามีผู้สูงอายุกลับวัยมาเที่ยวเตร่ ติดสุรา บางท่านลุกขึ้นมาแต่งตัวคล้ายหนุ่มสาว ที่กำลังป่วยก็ปฏิเสธการรักษาและไม่ยอมรับคำวินิจฉัยของแพทย์ก็มี


 


ดีกรีความแรงเพื่อทดแทนความเหี่ยวเฉาในวัยสูงอายุมีไม่เท่ากัน ท่านที่ไม่พอใจอดีต เช่นเห็นว่าชีวิตไม่ประสบความสำเร็จ น่าผิดหวังก็จะมีอาการเหี่ยวเฉาเอาการ ในขณะที่ผู้สูงอายุที่พึงพอใจในประสบการณ์ชีวิตในอดีตและปัจจุบันจะมีจิตใจที่มั่นคง และท้ายสุดสามารถยอมรับความจริงแท้แห่งชีวิตผ่านวัยชราด้วยใจที่นิ่งสงบกว่าและควบคุมความเฉาทางอารมณ์ได้ดียิ่งกว่า


 


ปัจจัยสำคัญอีกประการลองสังเกตดูว่าผู้สูงอายุใกล้ตัวกำลังอยู่ในสภาวะไร้บทบาท (Rolelessness) ทางสังคมหรือไม่ ภาวะนี้เป็นรากของการวิเคราะห์ปัญหาสุขภาพจิตที่สำคัญในวัยสูงอายุ ความไม่ชัดเจนในบทบาทหลัก บทบาทรองและบทบาทประกอบซึ่งดูคลุมเครือในชีวิตจริง ทำให้ขาดความชัดเจนในการวางแผนชีวิตและท้ายสุดเกิดความรู้สึก "ไร้ทิศทาง" ในการวางตัวเองในซีน (scene) ต่างๆ ของสังคม ส่งผลให้หลายท่านเครียด สับสน สูญเสียความเชื่อมั่นและภาคภูมิใจ เป็นต้นเหตุทำให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตตามมา


 


"พวกเรา" เป็นกลุ่มใหญ่ในสังคมที่เพิ่งเริ่มปฐมบทแห่งประสบการณ์ใช้ชีวิต ยังไม่ทันได้นึกถึงบทจบเพราะยังสนุกกับการละเลงเวลาอยู่กับการงานและการเรียนแบบพัลวัน


 


นักศึกษาและบัณฑิตหมาดๆ โหยหาและเรียกร้องประสบการณ์นอกห้องเรียนกันเป็นกิจวัตร ด้วยคิดว่าจะเป็นข้อมูลรอบห้องที่เติมเต็มความรอบรู้ได้จากของจริง


 


อยากชวนพวกเราไปเรียนรู้ประสบการณ์ทางลัดนอกตำราด้วยการหาเวลาพูดคุยกับผู้สูงอายุที่บ้าน ทั้งพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย และหากใครโชคดีคงได้มีคุณทวดนั่งล้อมวงเล่าเรื่องราวสมัยก่อนท่ามกลางบรรยากาศแห่งรอยยิ้มและความสุขระหว่างวัน


 


เป็นบทสรุปของความสัมพันธ์ที่น่าจะ "win-win" กันทั้งสองฝ่าย!!!


 


ผู้เยาว์กว่าได้รับความรู้และการถ่ายทอดประสบการณ์ที่ผู้สูงอายุคัดสรรมาเล่าจากคลังข้อมูลชีวิตมากกว่า 60 ปีขึ้นไปเป็นประกัน


 


ผู้สูงอายุมีบทบาทในชีวิตที่ชัดเจนขึ้น เติมเต็มความว่างเปล่าและเพิ่มกระบวนการคิดถึงอนาคตข้างหน้าในบั้นปลายด้วยความสดชื่นแทนที่ความเหี่ยวเฉาทางอารมณ์


 


ความรู้เป็นสิ่งที่ค้นคว้ากันได้อย่างไม่สิ้นสุดตลอดชีวิต ทั้งความรู้จากการอ่าน การฟัง การดู จากประสบการณ์โดยตรงและอ้อมจากผู้ที่อาบน้ำร้อนมาก่อน


 


เยาวชนรุ่นหลังโชคดีที่สามารถสะสมประสบการณ์ "มือสอง" ได้จากการเรียนรู้ผ่านชีวิตผู้สูงอายุ เป็นบันไดอีกขั้นที่ทำให้เด็กไทยรอบรู้และลึกซึ้งในความหมายของแต่ละช่วงชีวิตอย่างแท้จริงโดยไม่ต้องมีสัญลักษณ์แสดงระดับความฉลาดด้วยจานดาวเทียมที่ติดไว้บนหัวเด็กภายใต้แคมเปญ "ความรู้คืออำนาจ"


 


ว่าด้วยเรื่องของวันเด็ก…ปีก่อนปีที่แล้ว นายกรัฐมนตรีให้คำขวัญไว้ว่า "รักชาติ รักพ่อแม่ รักเรียน รักสิ่งดีๆ อนาคตดีแน่นอน"


 


ปีที่แล้วนายกรัฐมนตรีให้คำขวัญวันเด็กไว้ว่า "เด็กรุ่นใหม่ ต้องขยันอ่าน ขยันเรียน กล้าคิด กล้าพูด"


 


ส่วนปีนี้ ท่านนายกฯ ให้คำขวัญวันเด็กไว้ว่า "อยากฉลาด ต้องขยันอ่าน ขยันคิด"


 


ถ้าเด็กไทยสักคนได้ใกล้ชิดผู้สูงอายุ เพื่อเรียนรู้วิธีเขียนกาพย์กลอนและมุมสอนให้ตรงใจ และบังเอิญจับพลัดจับผลูให้กลายเป็นนายกรัฐมนตรีในอีก 30-40 ปี ต่อจากนี้


 


ในวันข้างหน้า…ประเทศไทยคงจะมีคำขวัญสอนใจวันเด็ก ที่คล้องจองกว่าในหลายปีที่ผ่านมา