Skip to main content

การรับรู้กับความเป็นจริง

คอลัมน์/ชุมชน


ภาพจาก www.diesel-ebooks.com


 


 


"Perception is reality.  Don’t get confused with facts."  


 


แจ็ค เทราท์ (Jack Trout) นักการตลาดชื่อดัง เขียนไว้ในหนังสือ Trout on Strategy   ผู้เขียนขออนุญาตแปลคำที่เป็น Key word 3 คำ ดังนี้


 


Perception = การรับรู้ข่าวสารต่างๆ ของประชาชน


Reality = ความเป็นจริง


Facts = รายละเอียดข้อมูลที่แท้จริงของสิ่งนั้นๆ (ทั้งที่ดี และไม่ดี)


           


รายละเอียดข้อมูลที่แท้จริงของสิ่งนั้นๆ (Facts) กับสถานการณ์ที่เป็นจริงตามการรับรู้ของประชาชน (Reality) แตกต่างกัน  เทราท์ กล่าวว่า  ในโลกของการสื่อสารในปัจจุบัน ประชาชนจะไม่สนใจ Facts หรือรายละเอียดข้อมูลที่แท้จริงของสิ่งนั้นๆ อีกต่อไป เพราะยิ่งมีข้อมูลมากก็จะยิ่งทำให้สับสน และประชาชนก็ไม่ชอบความสับสน รวมทั้ง Facts ของสิ่งต่างๆ ล้วนมีทั้งด้านดีและด้านร้าย ทุกอย่างมีคุณ ก็มีโทษ ดังนั้น สิ่งที่ควรทำก็คือ การสื่อสารเพื่อสร้างการรับรู้ (Perception) ด้านบวกให้เด่นชัดในเรื่องนั้นๆ ให้สั้น และกระชับที่สุด ไม่ต้องไปสนใจที่จะแจงรายละเอียด การรับรู้ของประชาชนจะนำไปสู่ความเชื่อมั่น และเป็นสิ่งที่จริงแท้แน่นอนที่สุด


 


การสื่อสารจึงเข้ามามีบทบาทอย่างมากที่จะสร้างการรับรู้แก่ประชาชน นี่เป็นเหตุผลสำคัญที่สื่อต่างๆ มีราคาแพงมากๆ เพราะสามารถเป็นช่องทางที่จะสร้างการรับรู้แก่ประชาชนได้ ใครมีอำนาจด้านการสื่อสาร ก็จะมีอำนาจที่จะบงการสิ่งต่างๆ ได้ดี โดยเฉพาะบงการการรับรู้ของประชาชน อยากให้รับรู้อะไร ไม่อยากให้รับรู้อะไร


 


นักการเมืองในยุคปัจจุบันได้ดำเนินการตามแนวคิด Perception is Reality. อย่างจริงจัง จะทำแต่งานอย่างเดียวโดยไม่ออกสื่อให้ประชาชนรับรู้ไม่ได้อีกต่อไป ต้องชิงพื้นที่สื่อสร้างข่าวเพื่อให้ประชาชนรับรู้ว่าได้ทำดีอะไรบ้าง เพราะถ้าไม่บอกผ่านสื่อประชาชนก็จะไม่รับรู้ว่าได้ทำอะไรไปแล้ว ทำดีแค่ไหน (Facts) ประชาชนก็ไม่เกิดการรับรู้ (Perception) ที่ทำไปอาจสูญเปล่า สมัยหน้าอาจไม่ถูกเลือกตั้งเข้ามาอีก


 


ยกตัวอย่าง Reality Show ของท่านนายกฯ ถ้าลงไปแก้ปัญหาเฉยๆ ไม่ออกสื่อ ประชาชน (ทั่วประเทศ) ก็ไม่เกิดการรับรู้ ที่ได้ลงไปวางแผนแก้ปัญหาต่างๆ แม้จะมากมายเพียงใดหากประชาชนไม่เกิดการรับรู้ก็อาจสูญเปล่าได้ไม่คุ้มเหนื่อย ยุคนี้หมดยุคปิดทองหลังพระแล้ว เป็นยุคที่ทำอะไร ก็ต้องป่าวประกาศให้เกิดการรับรู้ อย่างผู้ว่า กทม. ก็เหมือนกัน ท่านเป็นผู้ว่าฯ ที่ปรากฏตัวผ่านสื่อบ่อยมากๆ แทบทุกวัน แถมทุกเทศกาล ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนเกิดการรับรู้ว่าท่านได้ทำงานอะไรบ้าง ประชาชนก็จะรับรู้เฉพาะสิ่งที่นำเสนอผ่านสื่อนี่แหละ อะไรที่เป็นสิ่งที่ดี เสริมภาพลักษณ์ก็นำเสนอผ่านสื่อ สร้างการรับรู้แก่ประชาชน


 


แต่สิ่งที่ตั้งใจนำเสนอผ่านสื่อ ไม่ใช่รายละเอียดข้อมูลที่แท้จริงของสิ่งนั้นๆ (Facts) ทั้งหมด ข้อมูลที่นำเสนอผ่านสื่อมักเป็นข้อมูลที่คัดสรรแล้วว่าเป็นข้อมูลเชิงบวก เพื่อสร้างการรับรู้ด้านบวก


 


แต่ในรอบ 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่า ข่าวด้านบวกเกี่ยวกับการเมืองแทบจะไม่มีเอาเสียเลย มีแต่ข่าวด้านลบซึ่งหลักๆ เกี่ยวกับ การขายหุ้น การฮั้วประมูล และล่าสุด คือเรื่องรถดับเพลิงของกทม.


           


ไม่ว่ารายละเอียดข้อมูล (Facts) จะเป็นอย่างไร การนำเสนอข่าวของแต่ละฝ่ายต่างก็ทำเพื่อสร้างการรับรู้ของประชาชนให้เป็นไปตามที่ฝ่ายตนต้องการ เช่นเรื่องที่ฮอตที่สุดอย่างเรื่องหุ้นของบริษัทชินฯ ตัวแทนของครอบครัวท่านนายกฯ ก็จะสร้างการรับรู้แก่ประชาชนว่าเป็นการกระทำที่ถูกกฎหมายทุกขั้นตอน (โดยไม่ได้เสนอรายละเอียด หรือข้อมูลที่เป็นจริงทั้งหมด (Facts) เน้นแต่เพียงว่าเป็นการกระทำที่ถูกต้องตามกฎหมาย ในขณะที่ตัวแทนพรรคฝ่ายค้านก็จะโต้แย้งเพื่อสร้างการรับรู้ว่าการกระทำท่านนายกฯ เป็นการกระทำที่ไม่สมควร โดยเฉพาะ ในฐานะที่เป็นผู้นำประเทศ


 


อย่างไรก็ตาม เทราท์ ได้กล่าวถึงการรับรู้ไว้ว่าเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงยากมาก เพราะเมื่อเกิดการรับรู้ และเชื่อมั่นในสิ่งใดแล้วการที่จะทำให้เปลี่ยนแปลงเท่ากับต้องไปลบล้างสิ่งที่เชื่อมั่นมาแต่ดั้งเดิมยาวนาน ดังนั้น ประชาชนจึงมักเลือกที่จะรับรู้ในสิ่งที่ตรงกับความเชื่อของตน และปฏิเสธที่จะรับรู้ในสิ่งที่ขัดกับความเชื่อของตน


 


ต้องมาคอยดูกันว่า มีประชาชนที่เชื่อมั่นในตัวท่านนายกฯ อย่างจริงจังมากน้อยแค่ไหน 19 ล้านเสียงที่เลือกท่าน เป็น 19 ล้านเสียงที่เชื่อมั่นในตัวท่านจริงๆ หรือไม่ เพราะถ้าเป็น19 ล้านเสียงที่เชื่อมั่นท่านอย่างจริงจัง ไม่ว่าอีกฝ่ายจะสร้างการรับรู้อย่างไรคงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงความนิยมในตัวท่านได้ แต่หาก 19 ล้านเสียงนี้อาจมีบางส่วนไม่มากก็น้อยที่เลือกท่านเพราะความจะเป็น (เช่นไม่มีตัวเลือกอื่นที่เหมาะสมกว่านี้) ไม่ใช่เพราะความเชื่อมั่น การสร้างการรับรู้ของฝ่ายตรงข้ามก็น่าจะสามารถสร้างอิทธิพลได้เป็นอย่างดี