Skip to main content

" OUT "

คอลัมน์/ชุมชน

กระแสเสียงมหาศาลของประชาชนที่ชุมนุม ณ ลานพระบรมรูปทรงม้าเมื่อวันเสาร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ และที่จะเกิดขึ้นในวันพรุ่งนี้สะท้อนเสียงของคนต่างกลุ่มที่พร้อมสื่อสารถึงนายกฯ ด้วยถ้อยคำเดียวกันว่า ต้องการให้นายกฯ "ลาออก"


 


เป็นหน้าที่และจิตสำนึกโดยชอบของผู้บริหารแผ่นดินที่อาสา "รับใช้" ชาติควรต้องรับฟังทุกความต้องการของประชาชน  แม้ว่าเสียงนั้นจะเป็นเพียงหนึ่งเสียงเบาๆ ก็น่าจะมีค่าเกินพอที่ผู้มีอำนาจระดับนายกฯ จำเป็นต้องรับฟัง   ไม่น่าต้องรอให้เกิดการนัดชุมนุมรอบสองอีกครั้งเพื่อแสดงมติมหาชนโดยสงบสื่อถึงนายกฯ ด้วยประโยคง่ายๆ ที่มีแต่นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันเท่านั้นฟังไม่เข้าใจ


 


จะแปรญัตติ ปรับกฎหมายหรือเปลี่ยนมือผู้ถือหุ้นยังจะมีวิธีที่ซับซ้อนและยากต่อการทำความเข้าใจสำหรับชาวบ้านธรรมดามากกว่านี้นัก!!


 


แปลง่ายเมื่อเทียบกับวาทะนักวิชาการที่ออกมาบัญญัติสูตรสำเร็จการบริหารบ้านเมืองยุคซุกหุ้นว่า "โคตรนุวัตร" หรือ "อัคร-ยำประเทศ" ที่ยังต้องเสียเวลาแปลกันจนเมื่อย ยังไม่รวมความยากในการตีความศัพท์บัญญัติของใครต่อใครก่อนหน้าที่สะท้อนสรรพคุณอำนาจทุนของนายกฯ กับวิธีหากินกับบ้านเมืองที่เอื้อพวกพ้องตลอดห้าปี ที่สรุปได้คำเดียวว่า "เสื่อม"


 


สังคมคงอยากให้นายกฯ เลิกอ้างตัวเลข "19 ล้านเสียงที่เลือกผม"  วันเสาร์นี้โดยเฉพาะตอนแปดโมงกว่าๆ ที่หลายคนตั้งใจตื่นมาเปิดฟังรายการ "นายกฯ อยากคุย" เผื่อได้ฟังท่านปล่อยมุกใหม่ตะล่อมคนไทยให้หายสงสัยกันได้บ้าง


 


วันอาทิตย์ที่แล้วถ้าไม่เห็นภาพจะๆ ของจำนวนผู้ชุมนุมในหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ ไม่เว้นแม้แต่หนังสือพิมพ์เอาใจรัฐบาลอย่างไทยรัฐ เดลินิวส์ ก็คงจะคิดว่ามีพวกอยากร่วมขบวนการ "กู้ชาติ" กับสนธิเพียง 1,500 คนตามที่สื่อ "โมเดิร์นไนน์" รายงาน   ความสำคัญของเหตุการณ์และคุณค่าของความเป็นข่าวมีไม่มากเมื่อเทียบกับจำนวน "คนรักทักษิณ" ไม่กี่ร้อยที่เหมาดอกไม้ปากคลองมาอ้อนนายกฯ ซึ่งสังเกตว่าได้กลายเป็นข่าวใหญ่ที่พูดกันข้ามวันได้


 


อย่างไรก็ดี สื่อหนังสือพิมพ์ก็ยังเป็นที่พึ่งของประชาชนได้อยู่บ้าง ไม่เช่นนั้นภาพของการชุมนุมที่รับรู้ได้ของประชาชนคงจะจำลองขนาดได้เท่ากับงานโรงเรียนหรืออย่างเก่งก็งานวัด เพราะไม่อาจเสพข่าวสารของจริงในสื่อวิทยุและฟรีทีวีหลายช่อง ที่เห็นเป็นเพียงการรายงานบรรยากาศการชุมนุมในข่าวต้นชั่วโมงอย่างเสียไม่ได้ และไม่มีการตัดเข้ารายงาน "ประเด็น" หลักที่เป็นสาระสำคัญเมื่อผู้อภิปรายขึ้นพูด


นับเป็นความ "เสื่อม" รอบสองที่รับรู้กันได้จนกลายมาเป็นเรื่องชวนสังเกตในต้นอาทิตย์ที่ผ่านมา จนถึงการที่สภาสถาบันนักวิชาการสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทยต้องออกแถลงการณ์เพื่อเรียกร้องจุดยืนแท้จริงของการทำหน้าที่ฐานันดรที่สี่ในฐานะสื่อเพื่อประชาชนและตอกย้ำความซื่อตรงต่อความเป็นสื่อมืออาชีพ


 


การชุมนุมครั้งนี้มีผู้เฝ้าสังเกตการณ์เป็นจำนวนมากกำลังจับตามองความเคลื่อนไหวรวมถึงบทบาทสื่อในซีรี่ย์ "ขาดจริยธรรมขั้นพื้นฐาน"  ชวนสังเกตว่าขณะนี้ประชาชนกำลังเก็บกดเพราะตกอยู่ในภาวะ "หิว" ข่าวและข้อมูลเพื่อประกอบการทำความเข้าใจในประเด็นต่างๆ ที่ทั้งสนธิ, ฝ่ายค้าน, องค์กรครู, เอ็นจีโอ, กฟผ. ฯลฯ ตั้งคำถามและอยากได้คำอธิบายจากนายกฯ ที่มากไปกว่า "ผมไม่ผิดเพราะทำทุกอย่างถูกต้องตามกติกา" ที่ฟังกี่ทีก็ไม่เก็ท


 


ไม่เชื่อถามท่านด็อกฯ "กูรูทอง" คนสนิทก็ได้ คำตอบคงไม่ต่างไปจากที่แถลงข่าวกับสื่อมวลชนที่โรงแรมหรูกลางกรุงเมื่อสองสัปดาห์ที่ผ่านมา นายกฯ รอดได้จากการตีความลายลักษณ์อักษรที่ระบุไว้ใน "กติกา" โดยปราศจากตัวชี้วัดคือ มโนสำนึกแห่งจริยธรรมขั้นพื้นฐานและธรรมาภิบาลที่ผู้นำประเทศไม่ว่าชาติไหน "จำเป็นต้องมี"


 


สัปดาห์นี้ความร้อนระอุจากพลพรรค "ไม่เอา" ทักษิณทวีจำนวนขึ้น การเคลื่อนไหวต่างๆ อาจไม่ได้มาจากกลุ่ม "กู้ชาติ" เพียงเท่านั้น แต่ยังผนวกกำลังของมวลชนตัวจริงเสียงจริงที่ยอมไม่ได้กับการกระทำที่ไร้จริยธรรมของผู้นำประเทศ ผนวกกับกำลังเสียงของนักวิชาการที่มีเจตจำนงไปในทิศทางเดียวกัน รวมทั้งกลุ่มวุฒิสภาเพื่อการปฏิรูปการเมือง, นิสิตนักศึกษาหรือแม้แต่สื่อมวลชนรายบุคคลหลายสำนักก็แสดงสิทธิ์ตามระบอบประชาธิปไตยด้วยการประกาศจุดยืน "ไม่เอาทักษิณ" ออกมาอย่างชัดเจน จนสุดท้ายกลายเป็นการรวมกลุ่มในนามองค์กรพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่มีจุดหมายของการเคลื่อนไหวคล้ายๆ กัน


 


การจับตามองความเคลื่อนไหวจึงเป็นเรื่องใหญ่ในสายตาประชาชนผู้รับสาร รวมถึงการที่สื่อมวลชนแขนงต่างๆ โหมโรงบรรยากาศวาระก่อนชุมนุมอย่างชวนติดตาม แต่สุดท้ายกลับต้องผิดหวังที่ไม่ได้ดูและไม่ได้รับรู้ของจริงจากลานพระรูปฯ สัปดาห์ที่แล้ว ผู้รับสารจำนวนหนึ่งมีทางเลือกจากสื่ออินเตอร์เน็ตติดตามความเคลื่อนไหวแต่ละช่วงได้อย่างใกล้ชิด แต่ก็เทียบเป็นสัดส่วนน้อยนักเมื่อคิดยอดรวมของคนส่วนใหญ่ที่กำลัง "รอข่าว" สุดท้ายต้องยอมบริโภคข่าวขยะแบบด้อยคุณภาพด้วยการทนดูข่าวหน้าจอและฟังวิทยุเพื่อรับทราบภาพรวมอันน้อยนิด


 


หนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมา "ทักษิณ" ยังไม่สามารถชี้แจงคำถามคาใจเกี่ยวกับแอมเพิลริชอย่างโปร่งใสได้ในสายตาประชาชน ยังไม่รวมถึงข้อกังขาใหม่ๆ รวมถึงประเด็นเก่าที่ถูกเก็บ คงไม่น่าแปลกใจหากวันพรุ่งนี้จะมีผู้ชุมนุมมากเท่าเดิมหรือมากกว่าเพื่อสื่อสารกับนายกฯ ในประโยคเดิมๆแต่ความดังเพิ่มขึ้นว่า "เราต้องการให้ทักษิณลาออก"


 


อีกไม่กี่ชั่วโมงจะถึงวันเสาร์ที่ 11 กุมภา ประชาชนธรรมดาส่วนหนึ่งเฝ้าตามข่าวเหตุการณ์นี้อย่างใจจดจ่อ และไม่หวังอะไรจากสื่อมากไปกว่าการทำความจริงให้ปรากฎ ด้วยการรายงานข้อเท็จจริงจากการชุมนุม ด้วยความตั้งมั่น ซื่อสัตย์อย่างมืออาชีพ พร้อมตอบสนองความ "หิวข่าว" ด้วยการเสนอข้อมูลตามข้อเท็จจริง และไม่ทำให้ผู้บริโภคข่าวอึดอัดเพราะถูกปิดกั้นหรือปิดบังข้อมูลเหมือนสัปดาห์ที่ผ่านมา


 


เป็นเรื่องธรรมดาว่าคนเราหน้ามืดกันได้เพราะความหิว และเมื่อเกิดความหิวอะไรๆ ก็ดูน่ากินไปเสียหมด จากหนึ่งคนหิวกลายเป็นสิบคนหิว กลายเป็นร้อยคนหิว กลายเป็นพัน เป็นหมื่นและเป็นแสนที่หิวจนไม่เหลือน้ำใจแบ่งใครต่อใคร เว้นแต่กลุ่ม "ไม่เอาทักษิณ" ที่ถึงหิวอย่างไรก็ยังอยากแสดงน้ำใจด้วยการมอบพืชผักพื้นบ้านแบบไทยๆ หน้าตาคล้ายผัก "ฟักแม้ว" แทนดอกไม้เพื่อเป็นกำลังใจให้ท่านเริ่มตั้งแต่วันพรุ่งนี้