Skip to main content

who is he?

คอลัมน์/ชุมชน




ผมเชื่อว่า ที่ผู้คนจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ออกมาขับไล่ทั่นผู้นำ เป็นเพราะปัญหาที่ทั่นสร้างขึ้นมาเอง ไม่ว่าจะปัญหาโกงกิน ปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน เล่นพวกเล่นพ้อง และ หาประโยชน์ใส่ตัวโดยเอา "เอกราชของชาติ" ไปแลก



 


แต่ผมก็เชื่อว่า คนจำนวนมากก็ยังมองเห็นมุมดีๆ ของทั่นผู้นำมากกว่ามุมมืด เหตุส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะการแทรกแซงองค์กรอิสระต่างๆ และสื่อมวลชน โดยเฉพาะวิทยุและโทรทัศน์ จนทำให้ "ความจริง" ไม่สามารถปรากฏต่อสาธารณะได้


 


สังเกตไหมละครับ เวลานี้มีพิธีกรหรือรายการวิทยุโทรทัศน์แห่งใด ที่ตรวจสอบทั่นผู้นำอย่างเอาจริงเอาจังบ้าง (ยกเว้นหนังสือพิมพ์บางฉบับ และประชาไท (ฮา))


 


นอกจากการแทรกแซงองค์กรอิสระ และสื่อมวลชนแล้ว ที่สำคัญคือ ความสามารถส่วนบุคคล (หรือทีมงานสื่อสาร) ในการ "สร้างความจริง" ผ่านสื่อที่อยู่ในเครือข่าย เพื่อหว่านล้อมให้คน "รู้สึก" "คิด" "เข้าใจ" ในแบบที่ทั่นต้องการ โดยเฉพาะให้เห็นแต่ "ความดี" ของทั่น


 


รูปแบบแรกในการสร้างความจริงคือ การเชิดชูความสามัคคี ใครก็ตามที่ริอ่านไปไถ่ถามเรื่องที่ทำให้ทั่นสะเทือนใจ เช่น ความเห็นแย้งต่อการแก้ปัญหาภาคใต้ หรือ การชุมนุมขับไล่ผู้นำ ทั่นจะย้อนถามว่า "คนไทยหรือเปล่า" "คิดแบบนี้เลือดสีอะไร" "คนไทยต้องสามัคคีกันไว้"


 


แล้วยังสำทับว่า ขอให้ทุกคนเล่นตามกติกาของประชาธิปไตย (เอาเข้าจริงใครกันแน่ที่ชอบฝ่าฝืนกติกา) เพราะประเทศเรามีสภาคอยตรวจสอบรัฐบาลอยู่แล้ว??? – แหะแหะ ขอลายเซ็นให้ฝ่ายค้านสัก ๗๖ คนได้ไหมครับ (ฮา)


 


แท้จริงแล้ว "ความสามัคคี" กับ "การเห็นแย้ง" อาจจะเป็นเรื่องเดียวกัน หรือคนละเรื่องกันก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าใครจะอดทนน้อยกว่า แล้วลุกขึ้นมา "ล้มกระดาน" จนเสีย "สามัคคี"


 


กล่าวอีกนัยหนึ่ง ประเทศชาติจะดีขึ้น หากประชาชนเลือกสามัคคีกับ "บางคน" ต่างหาก


 


รูปแบบการสร้างความจริงแบบที่สองคือ การหว่านล้อมให้คนเชื่อว่า "สื่อไทยมีเสรีภาพ" อยู่แล้ว หรือถึงขั้น "มีเสรีภาพมากเกินไปด้วยซ้ำ" จนต้องปรามๆ เอาไว้ไม่ให้ไประรานคนดีๆ (อย่างทั่น)


 


แท้จริงแล้ว การจัดลำดับเสรีภาพของสื่อ ๑๖๗ ประเทศทั่วโลก โดยองค์กรนักข่าวไร้พรมแดน (Reporters Without Borders) ได้ลดลำดับเสรีภาพของสื่อไทยในรอบปีที่ผ่านมาจากลำดับ ๕๔ ดิ่งเหวสู่ลำดับ ๑๐๗


 


สมใจทั่นผู้นำที่กำลังคิดว่า สื่อไทยมีเสรีภาพมากเกินไปอย่างพอดิบพอดีเชียว


 


ข่าวคราวด้านการแทรกแซงสื่อ มีซุบซิบไปทั่วเมือง หรือมีหลักฐานมากมายตามห้องสมุดต่างๆ ในรูปแบบของงานวิจัยหรือวิทยานิพนธ์ หรือถึงขั้นถูกตีแผ่ผ่านสื่อมวลชนอยู่เนืองๆ เช่น กรณีสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยออกจดหมายเปิดผนึกเมื่อวันที่ ๑๗ ก.พ.ว่า ผู้ชุมนุมที่ลานพระรูปไม่ควรไม่พอใจการทำงานของนักข่าวโทรทัศน์ที่ทำงานอย่างเหน็ดเหนื่อย เพราะเนื้อหาข่าวที่ปรากฎในหน้าจอ เป็นวิจารณญาณของบรรณาธิการต้นสังกัด


 


ที่ผ่านมา ทั่นผู้นำชอบสร้างภาพให้สื่อเป็นผู้มีหรือใช้เสรีภาพมากเกินเหตุ เพื่อที่ผู้คนจะได้เห็นด้วยกับทั่นในการกำราบสื่อ มีการทำโพลล์ประเภท กด ๑ หรือ กด ๒ ทางทีวีทีไร คนมักเชียร์ให้รัฐบาล "จัดการกับสื่อ" เป็นประจำ


 


ทว่าในโลกแห่งสื่อเสรี ผู้ที่จะชี้ถูกชี้ผิดให้สื่อมวลชนได้คือ (๑) สำนึกของสื่อเอง (๒) สมาคมวิชาชีพด้านสื่อ (หรือสภาวิชาชีพ เช่น สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ) (๓) ศาลยุติธรรม และ (๔) ประชาชนผู้บริโภค


 


ฝ่ายบริหารไม่มีสิทธิ์ชี้ถูกชี้ผิด เพราะมีแนวโน้มว่าผู้มีอำนาจย่อมแทรกแซงสื่อที่กำลังเปิดโปงความชั่วร้ายของรัฐบาลให้ประชาชนได้รับรู้


 


รัฐธรรมนูญมาตรา ๔๑ จึงบัญญัติให้ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ มีอิสระในการทำหน้าที่ตราบเท่าที่ไม่ทำผิดจรรยาบรรณ โดยห้ามรัฐบาลหรือเจ้าของธุรกิจเข้าไปแทรกแซงหรือเซ็นเซ่อร์


 


หลักฐานที่ผ่านมาสะท้อนว่า ทั่นผู้นำและบริวาร ทำผิดรัฐธรรมนูญมาคณานับแล้วครับ


 


รูปแบบถัดไปคือ การเชิดชู ๑๙ ล้านเสียงในมือ ซึ่งมีมากกว่า "ม๊อบข้างถนน" "พวกเสียผลประโยชน์" "พวกขี้อิจฉา" "พวกขาดสติ" "พวกขาดความรู้" "พวกไม่เล่นตามกติกา"


 


สติสัมปชัญญะของทั่นผู้นำข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่า ทั่นให้คุณค่าคนไทยและคน ๑๙ ล้านคนเป็นเพียง "คนหย่อนบัตร" เข้าทำนอง "หย่อนแล้วหย่อนเลย อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดได้มาอยู่ที่ข้าฯแล้ว ฮ่า ฮ่า ฮ่า"


 


แต่ก็อย่างที่บอกครับ หากสื่อสามารถ "ฝ่าด่านอเวจี" ให้ข้อมูลที่รอบด้านเกี่ยวกับความฉ้อฉลของทั่น  ครอบครัวทั่น และบริวาร เชื่อแน่ว่าคน ๑๙ ล้านคนนี้ย่อมคิดวิเคราะห์ได้ว่าพวกเขาควรจะทำอย่างไรกับบัตรเลือกตั้ง สส.ในครั้งหน้า


 


แบบที่สี่ ซึ่งเป็นแบบสุดท้ายคือ การ "ขู่" กับประชาชน เช่น หากไม่มีทั่นเป็นผู้นำแล้ว ปัญหายาเสพติดจะกลับมา การ "ปล่อยเงิน" สู่ระบบ เช่น กองทุนหมู่บ้านจะต้องชะงักงัน และไม่กี่วันมานี้ก็ใช้ "ยาหอม" โดยนำภาษีประชาชนไปขึ้นเงินเดือนให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้านทั่วประเทศ


 


ประมาณว่า หากไม่มีทั่นแล้ว ไม่มีใครหน้าไหนจะเนรมิตประเทศนี้ให้น่าอยู่ได้หรอก


 


เรื่องการปราบปรามยาเสพติดนั้น เอาเข้าจริงเป็นโครงการ "ฆาตกรรมหมู่ประชาชน" อย่างเหี้ยมโหดจนเป็นที่สยองขวัญไปทั่วโลก และไม่ได้ทำให้ยาหมดไป แต่ราคาดีขึ้น


 


ส่วนกองทุนหมู่บ้านนั้นกำลังเป็น "เอ็นพีแอล" อย่างกว้างขวาง เพราะผู้กู้ไม่ได้เอาเงินไปลงทุน แต่นิยมเอาไปถอยมือถือ ทีวี มอเตอร์ไซค์ ฯลฯ เงินหมุนในชุมชน "รอบเดียว" ก็พุ่งเข้ากระเป๋านักธุรกิจการเมืองทันที


 


"ความจริง" ที่ทั่นและคณะ "สร้างขึ้น" ล้วนเป็นข้อ "เท็จ" (และ) "จริง" ที่ปั่นให้คนหลงเชื่อ จนทำให้ทั่นผู้นำมีหนวดดกขึ้น รวยขึ้น และเป็น "ความหวังเดียวของคนไทย"


 


ผู้นำแบบนี้ ต้องลาออก และออกไปจากประเทศไทยเท่านั้น


เพื่อให้ความจริงได้ปรากฏซะที